โอลิมปิก 2004: ความสำเร็จของกีฬาไทย…สู่การพัฒนาที่ต่อเนื่อง

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศกรีซระหว่างวันที่ 13- 29 สิงหาคม 2547 นี้ มีความหมายอย่างยิ่งต่อประเทศไทยเพราะเพียงแค่ 2 วันแรกของการแข่งขันประชาชนชาวไทยก็ได้ฟังเพลงชาติไทยดังกระหึ่มภายในสนามกีฬาแห่งกรุงเอเธนส์และยังดังกึกก้องไปทั่วโลก อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่านักกีฬาชาติไทยมีความสามารถในเชิงกีฬาระดับโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬายกน้ำหนักหญิงของไทย ที่ส่งไปร่วมการแข่งขันทั้งหมด 4 รุ่นนั้น ก็สามารถคว้าชัยชนะได้รับเหรียญรางวัลครบทั้ง 4 คน ผู้ที่ได้ 2 เหรียญทอง และ 2 เหรียญทองแดง นับเป็นเกียรติประวัติศาสตร์แห่งวงการกีฬายกน้ำหนักและวงการกีฬาของไทย ทั้งนี้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 27 เมื่อปี 2543 นั้น นักยกน้ำหนักหญิงของไทยเคยทำประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาโอลิมปิกมาแล้ว โดยสามารถคว้าเหรียญทองแดง นอกจากนี้ยังมีกีฬาประเภทมวยสากลสมัครเล่นที่ได้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน โดยนักชกไทยสามารถคว้าเหรียญทองได้ 1 เหรียญ เหรียญเงิน 1 เหรียญ และ เหรียญทองแดง 1 เหรียญ จากที่ส่งไปร่วมแข่งขันทั้งหมด 6 รุ่น

ยิ่งไปกว่านั้นเทควันโดก็เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ไทยสามารถคว้าหรียญทองแดงได้ 1 เหรียญ ในศึกเอเธนส์เกมส์ 2004 ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของวงการกีฬาไทยในการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้รับเหรียญรางวัลมากที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

พัฒนากีฬาไทยสู่ความสำเร็จ: เร่งกำจัดจุดอ่อน….เสริมจุดแข็ง

ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 2495 ซึ่งเป็นการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 15 ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันเพียง 6 คน เท่านั้นเอง จากสถิติการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่าขณะนี้วงการกีฬาของไทยได้มีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากเหรียญรางวัลที่ได้รับมีมากขึ้นดังตาราง

นับได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้และเป็นโอกาสที่ดีที่ทางการไทยจะได้เร่งพัฒนาการกีฬาไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การที่จะพัฒนาให้องค์กรกีฬาไทยก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่องนั้น รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายควรเร่งดำเนินการในเรื่องต่างๆดังนี้คือ

1. การกำหนดนโยบายด้านการกีฬาอย่างชัดเจน แม้ว่ารัฐบาลได้มีนโยบายให้การสนับสนุนโครงการพัฒนากีฬาด้านต่างๆมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ทว่าการพัฒนากีฬาในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่า การส่งเสริมการกีฬานั้นจะมุ่งเน้นไปทางการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพหรือการเล่นกีฬาที่มุ่งเน้นไปในเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันนี้การส่งเสริมทางด้านกีฬายังคงเป็นไปตามกระแสความนิยม ซึ่งเมื่อกระแสความนิยมนั้นหมดลงกีฬาชนิดนั้นก็จะหยุดการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย

ข้อเสนอแนะ: ภาครัฐควรให้การสนับสนุนทางด้านกีฬาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดเป็นมาตรการระยะยาว ซึ่งมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้ และไม่ควรเป็นไปตามกระแสนิยม นอกจากนี้จะเห็นได้ว่านักกีฬาที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่นั้นมาจากต่างจังหวัด ดังนั้นรัฐควรมุ่งดำเนินโครงการต่างๆในต่างจังหวัดให้มากขึ้น เช่น จัดตั้งโครงการสร้างนักกีฬาในระดับโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในระดับท้องถิ่น ซึ่งมีความต้องการงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์การกีฬามาใช้ในการพัฒนาทักษะการกีฬาให้กับนักเรียนด้วย ควรให้การสนับสนุนและให้การส่งเสริมสถาบันวิทยาลัยพละในการพัฒนากิจการกีฬา และการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนกีฬาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

2. การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาคเอกชน ถึงแม้ว่าการพัฒนาทางด้านกีฬานั้นจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณ แต่ต้องยอมรับว่ากีฬาบางประเภทนั้นจำเป็นต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมากในการจัดซื้ออุปกรณ์ แต่งบประมาณอาจจะไม่เพียงพอที่จะจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาได้ ทุกวันนี้วงการกีฬาไทยยังคงขาดการช่วยเหลือสนับสนุนจากภาคเอกชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นั่นอาจเป็นเพราะวิธีการทำตลาดที่แตกต่างไป จึงทำให้ภาคเอกชนให้การสนับสนุนกิจการกีฬาไม่มากเท่าที่ควร

ข้อเสนอแนะ: ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในกิจการกีฬาแบบมืออาชีพ โดยเป็นการร่วมลงทุนกับภาครัฐ หรือเป็นการลงทุนเฉพาะกลุ่มเอกชน ซึ่งถ้าภาคเอกชนหันมาส่งเสริมการกีฬาอย่างเต็มที่ วงการกีฬาไทยก็จะมีการตื่นตัวมากขึ้น

3. การสนับสนุนและส่งเสริมนักกีฬาไทยอย่างจริงจัง มุมมองของการเป็นนักกีฬาในไทยและในต่างประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีการปลูกฝังให้เล่นกีฬาด้วยใจรัก และนักกีฬาต่างชาติยังสามารถที่จะเล่นกีฬาให้เป็นอาชีพได้ ซึ่งต่างจากนักกีฬาไทยที่ไม่สามารถทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมได้อย่างเต็มที่ เนื่องมาจากฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวไม่เอื้ออำนวยให้หันมาเล่นกีฬาและบางครั้งไทยต้องสูญเสียนักกีฬาที่มีความสามารถอย่างแท้จริงไป เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

ข้อเสนอแนะ: สนับสนุนนักกีฬาที่มีความรู้ความสามารถให้สามารถยึดกีฬาให้เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งขณะนี้นักกีฬาในระดับเยาวชนที่มีความสามารถในด้านกีฬาเห็นว่า การเล่นกีฬานั้นไม่สามารถทำให้เป็นอาชีพได้ในอนาคต ทำให้เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องหันหลังให้กับกีฬา ทั้งนี้การพัฒนากิจการกีฬาให้เป็นไปในเชิงพาณิชย์ก็จะสามารถดึงดูดความสนใจให้ผู้ที่มีความสามารถในด้านกีฬากลับมาฝึกฝนอย่างจริงจัง การสนับสนุนกีฬาให้เป็นไปในเชิงพาณิชย์นั้นยังสามารถที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านความสามารถของนักกีฬา เพราะจะเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น นักกีฬาจำเป็นที่จะต้องเคร่งครัดในการฝึกซ้อมเพื่อให้ผลงานออกมาดี อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดให้ภาคเอกชนหันมาให้ความสนใจในการสนับสนุนการกีฬาไทยอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เจลีกส์ที่ญี่ปุ่น ที่มีการสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลให้เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศ ซึ่งถือเป็นการประสบความสำเร็จอย่างสูง

4. ขาดบุคลลากรที่มีความชำนาญในด้านโภชนาการที่ดี ขณะนี้ประเทศไทยยังขาดที่ปรึกษาที่มีความรู้ทางด้านโภชนาการที่จะให้ความรู้ต่อนักกีฬาในเรื่องของสารอาหารที่มีผลต่อร่างกาย เนื่องจากการเล่นกีฬาแต่ละประเภทนั้นต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันไปเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย สร้างกล้ามเนื้อ และให้พลังงานในระดับที่เพียงพอแก่ร่างกาย ซึ่งในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญมากในเรื่องของนักกีฬากับการโภชนาการที่ดี

ข้อเสนอแนะ: ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในด้านโภชนากร โภชนาการที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักกีฬา รัฐควรให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งสถาบันเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับนักกีฬา เพื่อสามารถสร้างบุคลากรที่มีความชำนาญทางด้านโภชนาการไว้คอยให้คำแนะนำแก่นักกีฬาของไทย

5. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนากิจการกีฬาไทย การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการกีฬานั้นเริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒานาทางด้านกีฬา จะเห็นได้ว่าการแข่งขันกีฬาในทุกวันนี้จะมีการทำลายสถิติเกิดขึ้นกันบ่อยครั้ง ทั้งนี้เนื่องมาจากการมีส่วนของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการศึกษา ซึ่งขณะที่ต่างประเทศได้นำเอาระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อหาแนวทางการเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพของนักกีฬาเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการกีฬา (Information Technology for Sport Management) โดยการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการบันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวของร่างกาย ระดับการเต้นของหัวใจ เพื่อใช้วิเคราะห์ถึงระดับสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาและหาข้อผิดพลาด เพื่อนำมาแก้ไขการฝึกซ้อมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศไทยนั้นยังขาดการส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับมาตรฐานการกีฬา เนื่องจากการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬานั้นต้องอาศัยงบประมาณและบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ

ข้อเสนอแนะ: จัดตั้งศูนย์วิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเร่งพัฒนาด้านการกีฬาของไทย เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนากิจการกีฬาประเภทต่างๆที่มีศักยภาพสูงแบบมืออาชีพในทุกระดับทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับโลก

6. เน้นความสำคัญในการส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาโค้ช ในขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนโค้ชที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคใหม่ๆที่จะมาพัฒนาการนักกีฬาไทย ซึ่งทำให้จำเป็นต้องจ้างโค้ชชาวต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาการกีฬาของไทยในกีฬาหลายๆประเภท

ข้อเสนอแนะ: จัดตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนาโค้ชไทย เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาความรู้ความสามารถของโค้ชในกีฬาประเภทต่างๆอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ควรมีการจัดการสัมมนาโค้ชระหว่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆในการที่จะนำมาใช้พัฒนานักกีฬาไทย

7. เร่งปลูกฝังค่านิยมในการเล่นกีฬา ขณะนี้ไทยยังขาดการปลูกฝังค่านิยมในการเล่นกีฬาที่ถูกต้อง การเล่นกีฬานั้นไม่ใช่เพียงแต่อาศัยความสามารถของนักกีฬา การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาประสิทธิภาพร่างกาย หรือโภชนาการที่ดีเข้ามาช่วยเท่านั้น แต่การเล่นกีฬาที่จะให้ประสบความสำเร็จได้นั้นจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังนักกีฬาให้มีค่านิยมในการเล่นกีฬาที่ถูกต้องด้วย เช่น ความเคร่งครัดและวินัยในการฝึกซ้อม ที่จะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ: ควรปลูกฝังค่านิยมในการเล่นกีฬาให้ถูกต้องตั้งแต่ในกลุ่มเยาวชน ค่านิยมในการเล่นกีฬานั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก การเล่นกีฬาจะประสบความสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องเกิดมาจากความรักและความชอบกีฬาในจิตใจ การรักที่จะอยู่ในระเบียบวินัยในการฝึกซ้อมเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดสูงสุด ตัวอย่างเช่น นักฟุตบอลของประเทศอิรัก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าอิรักกำลังประสบปัญหาทางด้านการเมือง ความพร้อมในการเตรียมการแข่งขันนั้นย่อมน้อยลง แต่ทว่าทีมฟุตบอลอิรักกลับประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก นอกจากนี้ประเทศเจ้าภาพอย่างกรีซที่เพิ่งจะประสบความสำเร็จในศึกฟุตบอลยูโรที่ผ่านมา ซึ่งสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลยูโรได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เป็นต้น ดังนั้นรัฐบาลจึงควรที่จะมีการจัดการประชาสัมพันธ์ ปลูกฝังค่านิยมในการกีฬาให้เกิดขึ้น โดยเริ่มจากระดับเยาวชนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และกีฬาระดับสโมสรต่างๆของประเทศไปจนถึงการกีฬาระดับชาติ เป็นต้น

8. นำหลักจิตวิทยามาใช้ในการแข่งขันกีฬา การที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬานั้นนอกจากความสามารถของนักกีฬาแล้ว ยังมีส่วนสำคัญอื่น ได้แก่ การมีสมาธิของนักกีฬา และการรู้จักแก้ปัญหาในสภาวะความกดดัน เป็นต้น ดังนั้นจิตวิทยาจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ

ข้อเสนอแนะ: ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ทางด้านจิตวิทยา โดยมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาความรู้ทางด้านจิตวิทยา เพื่อนำหลักจิตวิทยามาใช้ในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยให้นักกีฬามีความพร้อมในเรื่องของจิตใจให้สามารถทนต่อสภาพความกดดันจากการแข่งขัน และสามารถรู้จักควบคุมอารมณ์ไม่ให้คล้อยตามสถาณการณ์ได้

9. การสนับสนุนหลักสูตรการกีฬาในสถาบันการศึกษา ทั้งนี้การศึกษาหาความรู้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะนำไปประกอบอาชีพในอนาคต ดังนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างจึงมุ่งเน้นไปทางการส่งเสริมด้านวิชาการเป็นหลัก เพื่อจะช่วยให้เยวชนสามารถพัฒนาความรู้ให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

ข้อเสนอแนะ: ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนกีฬา หลักสูตรการเรียนควรมีแนวทางให้นักเรียนสมารถเลือกที่จะพัฒนาทักษะทางการกีฬาควบคู่ไปกับการศึกษาด้วย เพื่อให้นักเรียนที่มีความสามารถทางกีฬาเลือกการศึกษาทางวิชาการควบคู่ไปกับกีฬาได้ ทั้งนี้หลักสูตรการเรียนนั้นควรมีการส่งเสริมทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน นอกจากนี้ยังควรมีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง เช่น จากระดับประถมสู่ระดับชาติ เป็นต้น

10. ขยายศูนย์พัฒนากีฬาไปสู่ส่วนท้องถิ่นให้ทั่วถึง ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการส่งเสริมการสร้างศูนย์กีฬา และโรงเรียนกีฬาขึ้นมาเพื่อให้เยาวชนไทยสามารถเข้าไปฝึกซ้อมได้อย่างเต็มที่ แต่ทว่าในขณะนี้จำนวนศูนย์กีฬาและโรงเรียนกีฬายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากศูนย์กีฬาและโรงเรียนต่างๆยังคงอยู่ตามจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี และขอนแก่น เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ: ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์พัฒนากีฬาไปสู่ส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้รัฐบาลควรมีการจัดตั้งศูนย์กีฬาตามจังหวัด และอำเภอต่างๆ ให้ทั่วถึง เพื่อให้เยวชนในส่วนท้องถิ่นได้มีโอกาสเข้าถึงการกีฬามากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เยวชนสามารถฝึกฝนและพัฒนาความสามารถในการเล่นกีฬาให้ถูกต้องด้วย และเพื่อเป็นการสานต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้ด้วย

บทสรุป

โดยสรุปแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การที่จะพัฒนานักกีฬาไทยให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นและสานต่อความสำเร็จจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางภาครัฐบาลที่จะต้องมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลเป็นเป็นรูปธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการฝึกซ้อมของนักกีฬาในระดับชาติ การกระจายศูนย์ส่งเสริมกีฬาไปยังส่วนต่างๆให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนาโค้ชไทย การให้ความสำคัญในเรื่องของโภชนาการที่ปัจจุบันนี้มีการปฏิบัติกันมากในกลุ่มนักกีฬา หรือแม้แต่การชักจูงให้ภาคเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนทางด้านกีฬามากขึ้น นโยบายเหล่านี้จะช่วยทำให้การกีฬาไทยสามารถพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งได้ และอีกไม่นานการกีฬาไทยจะสามารถพัฒนาให้อยู่ในระดับแนวหน้าเทียบเท่ากับประเทศอื่นอย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น