อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องของไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นไปตามภาวะความต้องการปลาทูน่ากระป๋องในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องกลับมาเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการส่งออกที่สดใสอีกครั้งหนึ่ง ส่วนตลาดในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามกระแสความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามปัจจุบันการผลิตปลาทูน่ากระป๋องของไทยยังคงต้องพึ่งพาการเข้าวัตถุดิบคือ ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ดังนั้นเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องอย่างยั่งยืนรัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะพัฒนากองเรือสำหรับจับปลาทูน่า ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในด้านวัตถุดิบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ไทยเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่สำคัญอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาคือ สหรัฐฯและสเปน เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ ทำให้ไทยเป็นผู้นำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวเมื่อปี 2545 โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 290,000 ตัน หลังจากที่ผลผลิตปลาทูน่ากระป๋องลดลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามภาวะการค้าปลาทูน่ากระป๋องในตลาดโลก แนวโน้มสำคัญที่น่าจับตามองคือ ปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อิตาลี และฝรั่งเศสเริ่มมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาเรื่องต้นทุนแรงงาน โดยประเทศเหล่านี้หันมาพึ่งพิงการนำเข้ามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศที่กำลังพัฒนามีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันตลาดปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวที่อยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากปัจจุบันคนไทยหันมาสนใจในเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับปลาทูน่ากระป๋องมากขึ้น โดยเฉพาะคุณค่าทางโภชนาการของปลาทูน่า และความสะดวกในการนำไปประกอบอาหาร ดังนั้นปลาทูน่ากระป๋องก็เป็นทางเลือกที่คนไทยยอมรับมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจปลาทูน่ากระป๋องยังหันมาเจาะขยายตลาดในประเทศมากขึ้น ซึ่งตลาดในประเทศยังมีโอกาสในการขยายตลาดอีกมาก บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่าตลาดปลาทูน่ากระป๋องในประเทศปี 2547 เท่ากับ 700 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10-15
ในด้านการส่งออกประเทศไทยยังคงครองอันดับหนึ่งในการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในตลาดโลก โดยรูปแบบการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยคือ ปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมันพืช และปลาทูน่าในน้ำเกลือ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ในปี 2547 เท่ากับ 935 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2546 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ประเด็นสำคัญคือ คาดว่ามูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องจะเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีการคาดกันว่าราคาปลาทูน่าจะลดลงมาต่ำกว่า 700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากที่เคยเพิ่มขึ้นไปสูงถึง 950-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในเดือนมิถุนายน 2546 อันเป็นผลมาจากการเข้าสู่ฤดูการจับปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาปลาทูน่ากระป๋องมีแนวโน้มลดลง ทำให้ยอดขายปลาทูน่ากระป๋องกระเตื้องขึ้น นอกจากนี้ราคาปลาทูน่าของไทยเริ่มต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ดังนั้นคำสั่งซื้อน่าจะกลับมาที่ผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2547
ตลาดส่งออกปลาทูน่ากระป๋องที่สำคัญของไทย มีดังนี้
– สหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 25.4 ของมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องทั้งหมด ในช่วงปี 2543-2544 โรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องในสหรัฐฯปิดกิจการและปลาทูน่ากระป๋องยี่ห้อสำคัญในตลาดมีการเปลี่ยนเจ้าของกิจการ ทำให้ตลาดสหรัฐฯหันมาพึ่งพาการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังสหรัฐฯเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไทยไปยังตลาดสหรัฐฯไทยต้องเผชิญการแข่งขันกับฟิลิปปินส์ และประเทศผู้ผลิตรายใหม่ในแถบอเมริกาใต้โดยเฉพาะเอกวาดอร์ เนื่องจากมีผู้ประกอบการโรงงานปลาทูน่ากระป๋องจากสเปนเข้าไปลงทุนในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในยุโรปเข้าไปลงทุนในประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ทำให้คาดหมายได้ว่าประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นคู่แข่งในการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องที่สำคัญของไทยในอนาคต
– ตลาดสหภาพยุโรป ตลาดสหภาพยุโรปมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องทั้งหมด ความต้องการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอิตาลีและเยอรมนี ซึ่งความต้องการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในปี 2546 ในตลาดสหภาพยุโรปนั้นอังกฤษเป็นผู้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งอังกฤษนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการนำเข้าของประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปซึ่งแหล่งนำเข้าหลักของอังกฤษคือประเทศในเอเชีย และหมู่เกาะในแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ส่วนฝรั่งเศสนั้นนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากเอเชียน้อยมาก ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศแถบแอฟริกา เดิมนั้นประเทศทางแอฟริกาตะวันตกจะครองตลาดปลาทูน่ากระป๋องในฝรั่งเศส แต่ปัจจุบันแหล่งนำเข้าสำคัญคือ หมู่เกาะแคนารี่ในมหาสมุทรอินเดีย ส่วนอิตาลีนั้นเริ่มหันมานำเข้าปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น หลังจากที่อิตาลีเคยเป็นประเทศผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพื่อการบริโภคภายในประเทศ
จากการที่ไทยและฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลกในกรณีที่สหภาพยุโรปเลือกปฏิบัติในการลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากแอฟริกัน แคริบเบียนและแปซิฟิค (African Carribean and Pacific Countries : ACP) รวมทั้งกลุ่มแอนเดรียน(Andean) ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องในตลาดสหภาพยุโรป ทำให้สหภาพยุโรปต้องลดอัตราภาษีในโควตา(Tariff Rate Quota : TRQ) 25,000 ตันต่อปี เป็นเวลา 5 ปี โดยลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 12 หากมีการส่งออกเกินจากโควตานี้จะเรียกเก็บในอัตราภาษีเดิมคือร้อยละ 24 คาดว่าส่งผลให้ยอดการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยและฟิลิปปินส์ไปยังตลาดสหภาพยุโรปขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3.0 ในปี 2547 ส่วนการขยายตัวของการส่งออกในช่วงปี 2548-2550 นั้นต้องพิจารณาอัตราการขยายตัวของตลาดปลาทูน่ากระป๋องในสหภาพยุโรปจึงจะคาดการณ์ได้
-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักสำหรับปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งเพื่อใช้บริโภคโดยตรง โดยญี่ปุ่นมีความต้องการนำเข้าประมาณปีละ 90,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 75 ของปริมาณการค้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง โดยคนญี่ปุ่นนิยมบริโภคปลาดิบ(Sashimi)ที่ใช้ปลาทูน่าเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะปลาทูน่าสายพันธุ์Bluefin ซึ่งเป็นปลาทูน่าขนาดใหญ่ รองลงมาคือ สายพันธุ์BigeyeและYellowfin แหล่งปลาทูน่าที่นิยมคือปลาทูน่าที่จับได้จากแถบทะเลแอตแลนติกและแปซิฟิก ซึ่งช่วงเทศกาลที่คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคซาชิมิคือ ช่วงวันหยุดยาวในเดือนพฤษภาคม(Golden Week in May) เทศกาลไหว้บรรพบุรษในเดือนสิงหาคม(The Bon Festival in August) และเทศกาลปีใหม่
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีแนวโน้มในการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องลดลง กล่าวคือ จากรายงาน “Household Survey Yearbook 2000” พบว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทะเลกระป๋องลดลงเหลือ 2,898 เยนในปี 2543 จากที่เคยอยู่ในระดับ 3,191 เยนในปี 2542 ซึ่งนับว่าเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนแบ่งของปลาทูน่ากระป๋องคิดเป็นร้อยละ 50 ของตลาดอาหารทะเลกระป๋องทั้งหมด เนื่องจากชาวญี่ปุ่นหันไปสนใจบริโภคอาหารสดมากขึ้น อันเป็นผลมาจากกระแสความสนใจในเรื่องการรักษาสุขภาพ โดยสัดส่วนการหันไปซื้ออาหารเพื่อมาปรุงรับประทานเองที่บ้าน และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งบริการส่งอาหารปรุงสำเร็จถึงที่ทำงานและบ้านขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของห้องเย็นและการคมนาคมขนส่งที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่าตลาดนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องของญี่ปุ่น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของตลาดปลาทูน่าทั้งหมดในญี่ปุ่นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
1.ปัจจุบันปลาทูน่ากระป๋องนำเข้ายังคงมีสัดส่วนตลาดมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องทั้งหมด และร้อยละ 50 ของมูลค่าการนำเข้า แม้ว่าปริมาณการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องของญี่ปุ่นยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มูลค่าการนำเข้ามีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากญี่ปุ่นนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่มีราคาถูกลง โดยแหล่งนำเข้าหลักของญี่ปุ่น คือไทยและอินโดนีเซีย
การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์จากไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นในปี 2547 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปญี่ปุ่นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2547 เท่ากับ 32.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าไปญี่ปุ่นในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2547 เท่ากับ 16.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ซึ่งนับว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดเดียวที่ยังมีการขยายการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทูน่าในขณะที่ตลาดนำเข้าอื่นๆนำเข้าลดลง
2.การนำเข้าปลาแซลมอนกระป๋องของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันสัดส่วนของปลาแซลมอนกระป๋องอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.1 ของปริมาณการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องทั้งหมด แต่อัตราการขยายตัวของการนำเข้าเป็นไปในลักษณะก้าวกระโดด โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เท่าตัวในแต่ละปี นอกจากนี้การนำเข้าไข่ปลาคาร์เวียก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับตลาดปลาทูน่ากระป๋องที่น่าสนใจคือ แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ นอกจากนี้ประเทศอินเดียและจีนก็นับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ยังเก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องในอัตราที่สูง ทำให้อัตราการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องในทั้งสองประเทศนี้น้อยมาก ดังนั้นถ้ามีการเจาะขยายตลาดทั้งสองประเทศนี้ได้ก็เท่ากับว่าเป็นการขยายตลาดส่งออกปลาทูน่ากระป๋องที่น่าสนใจ
ตลาดปลาทูน่ากระป๋องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2546 เนื่องจากความต้องการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ถึงอนาคตการส่งออกที่มีแนวโน้มแจ่มใส อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพัฒนากองเรือจับปลาน้ำลึก หรือกองเรือทูน่า ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกนั้นคาดว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจากคู่แข่งเดิมคือฟิลิปปินส์ และการแข่งขันจากผู้ผลิตรายใหม่จากประเทศในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้