อี-เลิร์นนิ่ง : ทางสายใหม่….การศึกษาไทย

การศึกษานับเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาความรู้และความสามารถมนุษย์ แต่ทุกวันนี้มิใช่ทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะปัจจัยในหลายๆด้าน เช่น จำนวนสถานศึกษาไม่ทั่วถึง ความพร้อมของบุคลากรทั้งผู้สอนและผู้เรียน ระบบการจัดการ และปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเข้ามามีบทบาทในการเสริมและพัฒนาระบบการศึกษา หรือที่เรียกว่า การเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่ง (E-Learning) ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต เอ็กซ์ทราเน็ต ดาวเทียม และซีดีรอม เป็นต้น มาสู่คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่มีวัตถุประสงค์ที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

ในขณะนี้สถาบันการศึกษาหลายแห่งของไทยเริ่มมีการเปิดระบบการเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งบ้างแล้ว ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถดาวน์โหลดบทเรียน หรือข้อมูลผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเรียนผ่านทางวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ (Video Conference) แต่ยังไม่มีการเปิดเรียนแบบหลักสูตรออนไลน์ที่เป็นมาตรฐาน รูปแบบการศึกษาที่มีอยู่เป็นลักษณะให้อิสระแก่ผู้เรียน อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลได้มีการเสนอแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินหลักสูตรในระดับปริญญาในระบบศึกษาทางไกล ซึ่งเมื่อมีการอนุมัติเกิดขึ้นแล้ว ทางสถาบันศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถเปิดทำการสอนหลักสูตรระดับปริญญาผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทันที
การเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่ง : 4 รูปแบบมาตรฐานสากล

การเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งนั้นสามารถเรียนได้ทั้งแบบเต็มหลักสูตรออนไลน์ หรือเรียนแบบทางไกล เช่น ระดับอนุปริญญา และระดับปริญญา โดยนักศึกษาจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความสามารถและความสนใจ โดยเนื้อหาของบทเรียนจะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Web Browser) การเรียนลักษณะนี้ ผู้เรียนและผู้สอนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปรึกษาผ่านทางอีเมล์ หรือทางเว็บบอร์ด และการนำระบบอี-เลิร์นนิ่งพื่อเป็นการเสริมหลักสูตรบทเรียน โดยผู้เรียนยังต้องเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก แต่สามารถดาวน์โหลดบทเรียนได้จากเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ทำให้รูปแบบการเรียนแตกต่างจากการเรียนแบบเดิม สร้างความแปลกใหม่และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้ามากขึ้น ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งนั้น สามารถแบ่งได้ดังนี้

1. การเรียนจากสื่อบันทึก วีดีโอ และซีดีรอม การเรียนจากสื่อวีดีโอและซีดีรอมนั้น ผู้เรียนสามารถเปิดเรียนที่ไหนก็ได้ การใช้ซีดีรอมนั้น ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เช่น การฝึกบทเรียนภาษาต่างประเทศและการปฐมนิเทศน์ เป็นต้น

2. การเรียนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต ซึ่งเป็นการเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนออนไลน์และสามารถโต้ตอบกับผู้สอน หรือสามารถดาวน์โหลดข้อมูลมาศึกษาภายหลังได้

3. การเรียนผ่านระบบวีดีโอ-คอนเฟอร์เร้นซ์ การเรียนในรูปแบบนี้สามารถเรียนได้หลายๆคนพร้อมกันในห้องเรียน ซึ่งเป็นการเรียนที่สามารถเปิดโอกาสให้โต้ตอบได้ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนทำให้ได้บรรยากาศของการเรียนในห้องเรียน เนื่องจากเห็นภาพของผู้เข้าร่วมชั้น

4. การเรียนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ พีดีเอ ซึ่งจะมีการพัฒนารูปแบบของเนื้อหาที่มีความกระชับ ผู้เรียนสามารถดาวน์โหลดบทเรียนลงในโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

การปรับตัวเพื่อรองรับการเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่ง : บทบาทภาครัฐและเอกชน

การเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งในประเทศไทยนั้นได้มีการจัดทำมาหลายปีแล้ว แต่ทว่ายังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าที่ควร เนื่องมาจากปัจจัยหลายๆด้านที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการนำระบบอี-เลิร์นนิ่งมาใช้ ได้แก่ ความพร้อมในการปรับตัวของบุคลากรในด้านผู้สอนและผู้เรียน การจัดทำเนื้อหาหลักสูตรซึ่งต้องได้มาตรฐาน ความพร้อมในด้านการจัดหาอุปกรณ์เนื่องจากราคาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เซิฟเวอร์ เครือข่ายอิเทอร์เน็ต มีราคาที่สูงมาก ปัญหาในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เข้ากับบทเรียนของไทย และการพัฒนาจัดระบบข้อมูลการศึกษาให้เข้ากับความต้องการของผู้เรียน เป็นต้น ขณะนี้องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เนื่องจากมองว่าระบบอี-เลิร์นนิ่งนี้จะมีการขยายในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น โดยมีบทบาทดังต่อไปนี้

– บทบาทของภาครัฐ

รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ทั้งนี้รัฐบาลได้บรรจุระบบการเรียนอี-เลิร์นนิ่ง (E-Learning) ให้เป็นหนึ่งใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ E-Government, E-Commerce, E-Industry, E-Education และ E-Society ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ได้มีการกำหนดกรอบนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ และต้องการให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในส่วนท้องถิ่นสามารถมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนทางด้านงบประมาณด้านการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาแบบอี-เลิร์นนิ่ง เช่น โครงการติดตั้งคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ โครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คราคาถูก โครงการความร่วมมือพัฒนาระบบการเรียนอี-เลิร์นนิ่งระหว่างกลุ่มอาเซียน และโครงการอี-ยูนิเวอร์ซิตี้ รวมไปถึงการผลักดันให้ค่าบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) มีราคาถูกลง

– บทบาทของสถาบันการศึกษา

สถาบันการศึกษาหลายแห่งต่างให้ความสนใจในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในระบบการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนมากขึ้น และอีกไม่นานอาจมีการนำมาใช้แทนการเรียนการสอนแบบเดิม ซึ่งนอกจากสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการทางด้านการศึกษาแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทำให้ทางสถาบันสามารถเพิ่มจำนวนนักเรียน นักศึกษาประเภทศึกษาด้วยตนเองทางออนไลน์มากขึ้นได้ ในต่างประเทศได้มีการนำระบบการเรียนแบบออนไลน์มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตีรเลีย และอังกฤษ เป็นต้น

– บทบาทของผู้ประกอบการ

ในปัจจุบันทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศต่างให้ความสนใจมาลงทุนตลาดการเรียนระบบอี-เลิร์นนิ่งในไทยอย่างมาก กระแสการลงทุนที่เริ่มมีมากขึ้นนั้นเกิดมาจากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาระบบการเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่งอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่ได้เห็นจากโครงการต่างๆของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต กับโครงการการเรียนระบบอี-เลิร์นนิ่งที่ภาครัฐได้จัดขึ้น เช่น โครงการ DLFe-learning (Distance Learning Foundation) เฉลิมพระเกียรติ ในมูลนิธิการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) รวมกับองค์กรเอกชน ในการจัดทำระบบและหลักสูตรการเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อขยายโอกาสการศึกษาแก่ผู้เรียน นอกจากนี้สถาบันการศึกษาต่างๆหันมาให้ความสนใจกับการเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจด้านการจัดทำระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์รวมไปถึงระบบเครือข่ายความเร็วสูง และพัฒนาหลักสูตรเนื้อหาเพื่อการศึกษา ทำให้ธุรกิจด้านอี-เลิร์นนิ่งในช่วงปีที่ผ่านมามีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาการจัดทำระบบถูกลงในอนาคต

การเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่ง : ผลดี และ ผลเสีย

จากการที่การเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในหลายๆสถาบันการศึกษา ในรูปแบบหลักสูตรเสริมระบบการเรียนและการสอนแบบเดิม แต่ในอีกไม่ช้าจะมีการเปิดการเรียนแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามการนำระบบออนไลน์มาใช้แทนการเรียนการสอนแบบเดิมทั้งหมดนั้นย่อมมีผลกระทบทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ ดังนี้

– ผลดีของการเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การนำระบบอี-เลิร์นนิ่ง (E-Learning) เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนนั้น จะทำให้เกิดความคล่องตัวแก่ผู้สอนและผู้เรียน ดังนี้

ผลดีสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกลสถาบันการศึกษา เป็นระบบการเรียนที่สามารถให้บุคคลผู้ที่มีความประสงค์อยากเรียนรู้ แต่ไม่ได้รับความสะดวกเพราะอยู่ห่างไกลสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งมีเพียง 24 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนมีอยู่ประมาณ 56 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและเขตปริมณฑล เป็นจำนวนถึง 37แห่ง จากสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ประมาณ 80 แห่ง ทั้งประเทศ

ผลดีสำหรับบุคคลพิการและผู้ป่วยซึ่งไม่สามารถเดินทางไปสถานศึกษาได้ การเรียนรู้แบบอี-เลิร์นนิ่งอำนวยประโยชน์มากสำหรับบุคคลกลุ่มนี้ เนื่องจากสามารถศึกษาหาความรู้ได้ตามความต้องการ และเป็นการเปิดโอกาสบุคคลเหล่านี้ได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

ผลดีสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาพอที่จะไปเรียนที่สถาบันความเจริญของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบการศึกษา ทำให้สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูง แต่ไม่สามารถเข้าไปนั่งศึกษาในห้องเรียนได้ เช่น ผู้ที่ทำงาน จะสามารถศึกษาด้วยตนเองเวลาไหนก็ได้ และไม่จำกัดสถานที่ แม้ว่าจะอยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงาน

ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ให้กับผู้เรียนด้วย เนื่องจากความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในสถานที่ทำงานมีมากขึ้น การเรียนการสอนระบบออนไลน์ นอกจากช่วยให้ผู้ศึกษาได้ศึกษาวิชาที่ตนเองต้องการแล้วยังเกิดผลพลอยได้ที่ทำให้ผู้ศึกษามีความคุ้นเคยและชำนาญในการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ควบคู่ไปด้วย

ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ในวงกว้าง ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นหาเพิ่มเติมไม่จำกัดเพียงแค่ในบทเรียน และสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผูที่เรียนวิชาเดียวกันแต่อาจจะอยู่คนละประเทศ เป็นการสร้างแนวทางการศึกษาแบบไร้พรมแดน

ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าบุคลากรทั้งผู้สอนและผู้ดูแลสถานที่ ค่าไฟ ค่าเอกสาร ค่าเดินทางทั้งของผู้สอนและผู้เรียน ฯลฯ และยังสามารถจัดตารางบรรยายซ้ำหลายครั้งได้ตามต้องการอีกด้วย

จุดอ่อนของการเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แม้ว่าการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ จะเป็นทางเลือกที่ดีและมีความยืดหยุ่นก็ตาม แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่

คุณภาพของการสอนอาจจะไม่เท่ากับผู้ที่นั่งเรียนในห้อง โดยเฉพาะวิชาที่ต้องมีการทำการทดลองหรือมีภาคปฏิบัติ เช่น วิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิชาที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าคุณภาพการสอนระหว่างการเรียนแบบออนไลน์จะมีคุณภาพเท่ากับการเรียนแบบเดิมหรือไม่ ซึ่งจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตท พบว่า การเรียนผ่านออนไลน์ นักศึกษาทำคะแนนสอบได้น้อยกว่า เนื่องจากนักศึกษาไม่สามารถใช้แนวคิดที่ได้มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงได้ จึงทำให้พบว่าหลักสูตรที่จะนำมาใช้กับการเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่งควรเป็นหลักสูตรเบื้องต้น

ปัญหาของเนื้อหา การจัดเนื้อหาของวิชาเรียน ในรูปแบบของการจัดเนื้อหาของวิชาเรียนนั้น การสอนผ่านทางเว็บไซต์ค่อนข้างจะยากกว่าการสอนในห้องเรียน เนื่องจาก ผู้สอนไม่สามารถทราบได้ว่าผู้เรียนมีความเข้าใจกับเนื้อหาในทางเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้เพราะความรู้พื้นฐานของแต่ละคนนั้นต่างกัน การจัดทำเนื้อหาจำเป็นต้องทำให้กระชับและมีใจความที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย เพราะจำเป็นต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการดาวน์โหลดข้อมูล

ขาดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อผู้เรียนเกิดปัญหาไม่เข้าใจในบทเรียนไม่สามารถได้รับคำตอบได้ทันทีเหมือนกับการนั่งเรียนในห้องเรียน ซึ่งหากผู้เรียนมีคำถามหรือข้อข้องใจก็สามารถตั้งคำถามและได้คำตอบในขณะนั้นที่เดียว แต่การเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งนั้น ผู้เรียนต้องส่งคำถามผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) และแม้ว่าจะมีการจัดห้องสนทนา (Chat Room) ที่มีการตอบคำถามได้ทันทีแต่บางครั้ง ก็ไม่สามารถได้คำตอบตามที่ต้องการ ซึ่งการเรียนในห้องเรียนจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้มากกว่า อีกทั้งการเรียนระบบออนไลน์นั้น ยังมีผู้เรียนน้อยและยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จึงทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลาย นอกจากนี้ผู้ศึกษาจะต้องมีความตั้งใจศึกษาอย่างจริงจัง

มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเรียนในห้องเรียน ด้วยเหตุที่รูปแบบการศึกษาอี-เลิร์นนิ่ง เป็นแนวทางใหม่และกำลังเป็นที่นิยม ทำให้ถูกมองไปในเชิงพาณิชย์ เพราะต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างระบบและหลักสูตร เพื่อรองรับบริการซึ่งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้เรียนจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถรองรับการใช้งานด้านมัลติมีเดีย และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีกด้วย

การเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่ง : แนวทางสู่ความสำเร็จ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การที่จะพัฒนาระบบอี-เลิร์นนิ่งให้เป็นที่ยอมรับและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น ควรต้องกำหนดมาตรฐานและควบคุมคุณภาพของระบบการเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่ง ดังนี้

1. รัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานการศึกษาผ่านออนไลน์ โดยรัฐควรจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแล และวางกฎเกณฑ์ในการวัดคุณภาพของการศึกษาระบบออนไลน์โดยเฉพาะ เพื่อยกระดับระบบการเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่ง ให้เทียบเท่าการศึกษาภาคปกติ เช่น ระดับประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท เป็นต้น

2. เร่งดำเนินการจัดทำหลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับตัวแทนสถาบันการศึกษาในแต่ละระดับจัดทำหลักสูตรวิชาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาหลักหรือวิชาพื้นฐาน รวมไปถึงวิชาอื่นๆอีกด้วย และกำหนดให้สถาบันการศึกษาที่ต้องการเปิดหลักสูตรการเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่ง สามารถนำหลักสูตรมาตรฐานนี้ไปใช้ อันเป็นการช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ

3. ควบคุมอัตราค่าหน่วยกิจ หรือการลงทะเบียนเรียนให้มีราคาเหมาะสมและเป็นราคาเดียวกัน เช่น อัตราค่าลงทะเบียนสำหรับวิชาหลัก หรือวิชาพื้นฐานควรจะเท่ากันทุกสถาบัน และสามารถโอนหน่วยกิจข้ามสถาบันกันได้ โดยใช้รหัสวิชาที่เหมือนกัน เป็นต้น

4. กำหนดมาตรฐานของซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับจัดทำระบบอี-เลิร์นนิ่ง รัฐต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอย่างใกล้ชิดในการกำหนดมาตรฐานของซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับจัดทำระบบอี-เลิร์นนิ่ง ให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน เช่น การนำมาตรฐานสากลเข้ามาช่วยเป็นแนวทางการพัฒนาระบบอี-เลิร์นนิ่ง มาตรฐานอี-เลิร์นนิ่งที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ มาตรฐาน SCROM (Shareable Courseware Object Reference Model) มาตรฐาน AICC (Aviation Industry CBT Committee) และมาตรฐาน IMS (Instructional Management System)

การนำเอาระบบมาตรฐานเข้ามาใช้นั้นมีประโยชน์ ได้แก่ 1.สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ทั้งที่มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์แพลทฟอร์ม (Platform)ที่ต่างกัน ฮารด์แวร์และซอฟต์แวร์ที่ต่างกัน ภาษาการเขียนโปรแกมที่ใช้ต่างกัน เช่น HTML XML และ Javascript และการใช้มาตรฐานของระบบอี-เลิร์นนิ่งที่ต่างกัน 2. สามารถพัฒนาระบบอี-เลิร์นนิ่งต่อไปได้ในอนาคต 3. สามารถใช้ซอฟท์แวร์ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลงและแก้ไข ถ้ามีการใส่ข้อมูลใหม่เข้ามา 4. สามารถเข้าถึงและค้นหาข้อมูลตามที่ต้องการได้ ทั้งนี้มาตรฐานนี้จะทำให้ประหยัดงบประมาณในการจัดการวางระบบอี-เลิร์นนิ่ง ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการศึกษาสามารถดำเนินการจัดทำระบบได้รวดเร็วขึ้น

5. ควรจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง จึงต้องจัดทำข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา ดังนั้น นอกจากการจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดทำระบบแล้ว การสนับสนุนงบประมาณด้านการบำรุงรักษาระบบก็มีความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกันและจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

6. จัดตั้งสถาบันอี-เลิร์นนิ่ง เพื่อเป็นทางเลือกในการศึกษาอย่างทั่วถึง เช่น จัดหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านกฎหมาย การเกษตร หรืออื่นๆ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างไม่จำกัด

7. สถาบันการศึกษาควรร่วมมือกันกับภาครัฐอย่างจริงจังในการจัดทำและพัฒนาคุณภาพของเนื้อหาหลักสูตรการศึกษาให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะหลักสูตรภาคภาษาต่างประเทศ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ระบบการศึกษาของไทยสามารถแลกเปลี่ยนกับสถาบันการศึกษาอื่นๆในต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ควรบรรจุหลักสูตรเสริมด้าน อี-เลิร์นนิ่ง เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความคุ้นเคยกับระบบการเรียนแบบใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบอี-เลิร์นนิ่งมีจุดอ่อนในเรื่องการประเมินผลคุณภาพในการศึกษา ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมของการศึกษาด้วยระบบนี้อาจต้องมีการผสมผสานกับการเรียนแบบปกติ เช่น จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อให้นักศึกษาออนไลน์ได้เข้าร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นระยะๆ

8. ภาคเอกชนควรส่งเสริมวัฒนธรรมใหม่ ในองค์กรให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เทคโนโลยี เช่น จัดอบรม จัดสัมมนา โดยผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งนอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้ว ยังทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

9. สร้างค่านิยมในการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาที่มุ่งเน้นการค้นคว้าด้วยตนเองมากกว่าการรับเอาจากตำราอย่างเดียว เนื่องจากการศึกษาด้วยระบบอี-เลิร์นนิ่งมีความยืดหยุ่นสูงในเงื่อนเวลาและข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด หากผู้เรียนขาดวินัยและใส่ใจในการค้นคว้าเพิ่มเติมก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก ดังนั้น การใช้ระบบอี-เลิร์นนิ่งควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ในด้านความพร้อมของนักเรียนนักศึกษาและผู้สอนส่วนใหญ่ เนื่องจากการเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่ง ทั้งผู้เรียนและผู้สอนจะต้องให้ความใส่ใจต่อกัน ผู้เรียนต้องปรับระบบการเรียนโดยต้องสร้างวินัยในการศึกษามากกว่าเดิมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการศึกษาด้วยตนเอง ส่วนผู้สอนก็จะต้องให้ความใส่ใจ และตอบคำถามข้อสงสัยของนักศึกษาที่เรียนผ่านออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ

10. เร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคม ควรเร่งขยายโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคมไปสู่ท้องถิ่น เนื่องจากในปัจจุบันนี้ยังอีกหลายพื้นที่ยังต้องการระบบโทรคมนาคม เช่น คู่สายโทรศัพท์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การเรียนการสอนด้วยระบบอี-เลิร์นนิ่งแบบเต็มหลักสูตรประสบผลสำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีชุมชนที่ห่างไกลรัฐควรส่งเสริมโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เช่น ไปรษณีย์ อำเภอ หรือสถานีตำรวจ จัดตั้งศูนย์การศึกษาออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าใช้บริการทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง

บทสรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การนำเอาระบบอี-เลิร์นนิ่งเข้ามาใช้ในการศึกษาของไทยนั้นรัฐควรกำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพให้เป็นในทิศทางเดียวกัน พร้อมผลักดันและเร่งสร้างระบบสารสนเทศขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้กระจายทั่วถึงและราคาถูกลง ในกรณีชุมชนที่ห่างไกลรัฐควรส่งเสริมโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เช่น ไปรษณีย์ อำเภอ หรือสถานีตำรวจ จัดตั้งศูนย์การศึกษาออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทั่วถึง

นอกจากนี้รัฐควรเร่งสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในการจัดทำหลักสูตร และแลกเปลี่ยนเนื้อหาระหว่างกันได้ พร้อมทั้งยกมาตรฐานการศึกษาแบบอี-เลิร์นนิ่งขึ้นเป็นระดับประกาศนียบัตร อนุปริญญาและปริญญาตามลำดับ

ซึ่งนอกจากจะทำให้การศึกษาด้วยระบบอี-เลิร์นนิ่งเป็นที่เปิดกว้างแก่ประชาชนทุกระดับแล้ว หากหลักสูตรการศึกษาของไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล น่าจะเป็นการชักชวนให้ต่างประเทศสนใจศึกษากับสถาบันการศึกษาของไทย เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษามิติใหม่ผ่านระบบการเรียนการสอนแบบใช้เทคโนโลยีอันเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย