การขยับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกนับตั้งแต่กลางปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลให้รัฐบาลประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งพึ่งพาน้ำมันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ต่างกำลังขะมักเขม้นกับการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงานหรือการอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชะงักงันของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
เนการาบรูไนดารุสซาลาม หรือ บรูไน ประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปชนิดนี้ นับเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุที่ว่า ทุกๆดอลลาร์ของราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน ย่อมส่งผลดีโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ทว่าบรูไนกำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำมันแห่งอนาคตเช่นกัน ทั้งนี้หน่วยงานเศรษฐกิจของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย?คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันสำรองของบรูไนจะหมดไปภายในอีก 14 ปีข้างหน้า หากบรูไนยังคงเดินหน้าสูบน้ำมันดิบด้วยอัตราการผลิตดั่งเช่นในปัจจุบัน การวางยุทธศาสตร์ของประเทศให้สามารถเคลื่อนผ่านรอยต่อของความมั่งคั่งด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจที่ปราศจากทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลบรูไนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาวะวิกฤตน้ำมันที่รัฐบาลประเทศอื่นๆกำลังเผชิญในปัจจุบัน
บรูไน: ขุมทรัพย์ทองคำดำ
ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงบรูไน สิ่งที่ผ่านเข้ามาในห้วงจินตนาการล้วนเกี่ยวพันถึงความร่ำรวย ความสงบสุข และความกินดีอยู่ดี ด้วยสวัสดิการอันเยี่ยมยอดที่รัฐบาลบรูไนจัดหาให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ การศึกษา ตลอดจนการรักษาพยาบาล ความคิดดังกล่าวมิได้ผิดแผกไปจากความเป็นจริง เมื่อพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นซาอุดิอาระเบียแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
บรูไน เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีปริมาณการผลิตเฉลี่ย 200,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรก๊าซธรรมชาติที่เกื้อหนุนให้บรูไนเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก ด้วยปริมาณการผลิตประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งหมด คือ สินค้าส่งออกหลักที่แปรเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศกลับคืนสู่บรูไน โดยมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศไทย เป็นตลาดส่งออกหลัก ทั้งนี้ น้ำมันดิบเป็นสินค้าอันดับหนึ่งที่ไทยนำเข้าจากบรูไน และนำเข้าในปริมาณสูงเป็นอันดับ 7 จากแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของไทย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย เยเมน โอมาน มาเลเซีย และกาตาร์
น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจบรูไน โดยรายได้จากการส่งออกพลังงานดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นอกจากนี้ รายรับจากการจัดเก็บภาษีของภาครัฐกว่าร้อยละ 80 ล้วนมาจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้บรูไนเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 12,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผงาดเคียงข้างรายได้ประชาชาติของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งยังปราศจากหนี้สินต่างประเทศ แม้ว่าบรูไนเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก
ในปี 2546 รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของบรูไนมีมูลค่าประมาณ 3,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 87.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า การที่ระดับราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้และยังคงยืนอยู่ ณ ระดับเฉลี่ยที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา จะส่งผลดีทวีคูณต่อความมั่งคั่งของบรูไน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกๆครั้งที่ระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความเคลื่อนไหว GDP ของบรูไนจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของน้ำมันที่มีต่อระบบเศรษฐกิจบรูไนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบรูไนพยายามควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันจาก 250,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ให้ลดลงอยู่ในระดับ 200,000 บาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน เพื่อชดเชยกับอัตราการค้นพบแหล่งน้ำมันที่ชะลอลงและต่ออายุให้กับการแสวงหาผลประโยชน์จากปริมาณน้ำมันสำรองที่มีอยู่
บรูไน: สูงสุดสู่สามัญ … สร้างสรรแผนรองรับ
การค้นพบน้ำมันบนพื้นดินของบรูไนเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2472 พัฒนาเข้าสู่ยุคทองของการร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติในช่วงปี 2513-2523 ที่มีการขยายไปสู่การสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตามแนวชายฝั่งอย่างกว้างขวางในระยะเวลาต่อมา ปัจจุบันบรูไนมีบ่อน้ำมันบนพื้นดิน 3 แห่งและตามแนวชายฝั่งอีก 8 แห่ง รัฐบาลบรูไนตระหนักดีถึงจุดอ่อนของการพัฒนาประเทศซึ่งพึ่งพารายได้จากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก
คุณสมบัติทางธรรมชาติของทรัพยากรน้ำมันที่ใช้แล้วหมดไป ทำให้การเร่งรีบตักตวงผลประโยชน์แห่งอนาคตมาใช้อาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างคาดไม่ถึง เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้รัฐบาลบรูไนจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมอัตราการผลิตน้ำมันดังกล่าว ประกอบกับผลการประเมินที่ระบุว่า ปริมาณน้ำมันสำรองและก๊าซธรรมชาติของบรูไนอาจจะหมดไปในปี 2561 และปี 2576 ตามลำดับ หากบรูไนยังคงอัตราการผลิตดั่งเช่นปัจจุบันและไม่สามารถสำรวจพบแหล่งน้ำมันสำรองหรือแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ ซึ่งนับเป็นระยะเวลาอีกเพียง 14 ปีเท่านั้นสำหรับการเก็บเกี่ยวรายได้หลักจากน้ำมัน การผ่อนปริมาณการผลิตน้ำมันลงจึงเปรียบเสมือนการต่อเวลาให้กับประเทศได้มีโอกาสปรับตัวสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ
นอกเหนือไปจากการฝากความหวังของประเทศไว้ที่การขยายพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำมันใหม่ๆในเขตทะเลน้ำลึก ซึ่งต้องเผชิญทั้งปัญหาความไม่แน่นอน และค่าใช้จ่ายสูง ตลอดจนความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียในเรื่องการล่วงล้ำน่านน้ำ หรือกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรทลีส์ซึ่งล้วนแต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอนาคต บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนรองรับของทางการบรูไน ในช่วงการปรับตัวสู่ยุคเศรษฐกิจไร้ทรัพยากรน้ำมัน ดังนี้
– แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 ของบรูไนซึ่งใช้ดำเนินการระหว่างปี 2544-2548 วางเป้าหมายไปที่การเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลักไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อม การส่งเสริมการเกษตรและประมงเพื่อลดการนำเข้า แต่การดำเนินงานยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังสมัครใจที่จะทำงานรับราชการที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงมากกว่าการประกอบธุรกิจส่วนตัว หรืองานที่ใช้แรงงาน ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 7,075 คนในปี 2546 ทั้งๆที่บรูไนจำเป็นต้องมีการจ้างแรงงานต่างชาติสูงถึง 100,000 คน ทั้งนี้ บรูไนมีประชากรราว 365,000 คน ซึ่งกว่าร้อยละ 68 อยู่ในวัยทำงานและมีการศึกษาดี
– การผลักดันให้บรูไนเป็นศูนย์กลางทางการเงินและธนาคารอิสลามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้ ปัจจุบันสถาบันการเงินจากแคนาดาได้รับอนุญาตให้สามารถดำเนินการได้แล้ว อย่างไรก็ตาม บรูไนยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างภาพลักษณ์ของระบบบัญชีที่โปร่งใสและมีความเป็นสากล เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ โดยมีมาเลเซียเป็นคู่แข่งสำคัญในวงการการเงินและธนาคารอิสลามในภูมิภาคนี้
– การยกระดับให้บรูไนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำหรับกลุ่มนักเดินทางระดับกลางขึ้นไป ตามโครงการรณรงค์ท่องเที่ยวบรูไนที่ริเริ่มขึ้นในปี 2544 แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ที่ยังคงความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก จึงน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะยาวในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สร้างประทับใจให้แตกต่างไปจากความดึงดูดใจของทัศนียภาพที่เกิดจากการรังสรรค์ด้วยฝีมือมนุษย์
– สำนักงานการลงทุนของบรูไน (Brunei Investment Agency : BIA) จัดตั้งขึ้นเพื่อนำเงินรายได้จากการค้าน้ำมันส่วนหนึ่งไปลงทุนในรูปของการถือหุ้นหรือซื้อพันธบัตรในประเทศตะวันตกหรือตลาดที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเมื่อต้นปี 2546 ที่ผ่านมา BIA ได้ตกลงที่จะร่วมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการไทย (กบข.) ในการจัดตั้งกองทุนไทยทวีคูณ โดยมีวงเงินราว 200-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้เข้าถือหุ้นในธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า BIA น่าจะผันเงินบางส่วนมาลงทุนในประเทศให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจมากกว่าการมุ่งหวังเงินลงทุนจากต่างชาติ
ที่ผ่านมา บรูไนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความมั่งคั่งและความสงบสุขของประเทศมิได้สั่งสมมาจากคุณประโยชน์ของทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งกำลังจะหมดไปเพียงอย่างเดียว หากเกิดจากการยึดหลักธรรมาภิบาลในการวางแผนและบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน และขณะนี้ รัฐบาลบรูไนกำลังเผชิญกับความท้าทายของการสานต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก สู่โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้นแต่ยังไม่ใคร่คุ้นเคยเท่าไรนัก วิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ได้วางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคตคงไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลมากนัก
หากความท้าทายที่แท้จริงน่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในชาติให้ยอมรับและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น สำหรับประเทศไทย ซึ่งได้รับอานิสงส์ด้านพลังงานน้ำมันที่นำเข้าจากบรูไนมาโดยตลอด คงต้องเร่งรัดมาตรการประหยัดพลังงานและผลักดันโครงการพลังงานทางเลือกให้มีผลทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการมุ่งแสวงหาแหล่งน้ำมันอื่นมาทดแทน ซึ่งทัศนคติต่อการบริโภคน้ำมันของคนในประเทศนับว่าเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่ทางการบรูไนกำลังเผชิญ