เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบมากเฉลี่ย 1.21 ดอลลาร์/ยูโร เนื่องจากการแถลงสถานการณ์เศรษฐกิจของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Alan Greenspan ต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดเงินไม่มั่นใจในทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศ ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น ซื้อขายอยู่ในอัตราเฉลี่ยราว 109 เยน/ดอลลาร์ เพราะนักค้าเงินรอประกาศการปรับตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสที่สองของญี่ปุ่น สำหรับเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่าอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินดอลลาร์ เป็นผลจากธนาคารกลางอังกฤษตัดสินใจรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยคงเดิม ช่วยตอกย้ำการคาดคะเนที่ว่าอังกฤษคงไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ หลังจากปรับเพิ่มมาแล้ว 5 ครั้ง ในขณะที่ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ โน้มต่ำลงเล็กน้อย ทะลุแนวต้าน 400 ดอลลาร์/ออนซ์
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเข้มแข็งเพียงชั่วขณะในตอนต้นสัปดาห์ เป็นผลมาจากตัวเลขการจ้างงานเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯสดใส อีกทั้งยังมีการปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในช่วงเดือนก่อนหน้าอีกด้วย แต่เงินดอลลาร์ก็มีค่าอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา เมื่อตลาดเงินเริ่มพะวงเกี่ยวกับการแถลงรายงานเศรษฐกิจสหรัฐฯของนาย Greenspan ทำให้มีการชะลอการซื้อเงินดอลลาร์เลื่อนออกไป ยิ่งไปกว่านั้น เงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากความเข้มแข็งของค่าเงินยูโรและค่าเงินเยน เนื่องจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเยอรมัน ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมเพิ่ม 3% สูงกว่าที่คาดไว้ถึง 3 เท่า ขณะที่ยอดใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 2 ก็เพิ่มขึ้น 10.7% สูงสุดตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ทำให้นักลงทุนหันไปถือสกุลเงินยูโรและเงินเยนญี่ปุ่นมากขึ้น
ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินดอลลาร์มีค่าผันผวน หลังจากที่นาย Greenspan ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯแผ่วลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เป็นผลจากยอดงบประมาณขาดดุลและอัตราเงินเฟ้อ โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯได้เตือนถึงภัย “stagflation” ที่เคยเกิดกับเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นภาวการณ์ที่เศรษฐกิจอ่อนแรงลงในขณะเดียวกันเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูง ทำให้การเยียวยาเป็นไปด้วยความยากลำบาก การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวส่งผลให้ตลาดเงินไม่มั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินช่วงปลายเดือนกันยายนนี้หรือไม่ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ตลาดเก็งว่าแบงก์ชาติสหรัฐฯจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง หลังจากปรับเพิ่มมาแล้วรวม 2 ครั้งตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ บรรดานักลงทุนจึงไม่รีบซื้อเงินดอลลาร์ และรอฟังรายงานตัวเลขยอดดุลการค้าของสหรัฐฯตอนปลายสัปดาห์
เงินเยนญี่ปุ่น ได้รับแรงสนับสนุนในช่วงแรก จากยอดการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของเอกชนในไตรมาสที่สองเพิ่ม 10.7% ผลักดันให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นคึกคักและหนุนค่าเงินเยน แต่น่าเสียดายที่รายงานยอดสั่งซื้อเครื่องจักรในเดือนกรกฎาคมกลับลดลงถึง 11.3% จากเดือนก่อน ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าลดลง 2.5% ทำให้ตลาดเงินไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือไม่
เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าหวั่นไหว ปัจจัยสำคัญที่ฉุดค่าเงินปอนด์ ได้แก่ ยอดผลผลิตจากโรงงานเดือนกรกฎาคมลดลง 0.2% จากเดือนก่อน ขณะที่ยอดค้าปลีกเดือนเดียวกันลดลง 1.8% จากปีที่แล้ว ล้วนสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการเข้มงวดทางการเงินของแบงก์ชาติอังกฤษในระยะที่ผ่านๆมา เริ่มส่งผลลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจอังกฤษลงบ้างแล้ว และอาจทำให้ธนาคารกลางอังกฤษไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกในเร็วๆนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษเมื่อวันที่ 9 กันยายน มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ดังเดิม ก็นับเป็นสัญญาณชี้ว่าอังกฤษเริ่มชะลอการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแล้ว
ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ซื้อขายอยู่ในช่วง 397-402 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยราคาทองเคลื่อนไหวสวนทิศทางกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดเงินไม่มั่นใจแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ราคาทองคำพลอยแกว่งไปมาด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า วิกฤตการณ์รุนแรงในรัสเซียและเหตุการณ์ระเบิดในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ไม่ได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำมากนัก ทั้งนี้เพราะนักลงทุนมัวสนใจเกี่ยวกับการแถลงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯของนาย Greenspan
อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 7 กันยายน 2547 เทียบกับวันที่ 9 กันยายน 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2106 ดอลลาร์/ยูโร (1.2197 ดอลลาร์/ยูโร) 109.32 เยน (109.73 เยน) และ 1.7734 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.7831 ดอลลาร์/ปอนด์)
ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 เท่ากับ 402.60 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 397.80 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2547