WEEE และ RoHS:ระเบียบใหม่ EU…ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งปรับตัว

ท่ามกลางกระแสการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่เน้นเรื่องการลดภาษีอากรขาเข้าเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้าของทุกฝ่ายที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีแล้ว ยังมีอีกหลายมาตรการในด้านต่างๆ ที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีอากร (Non-Tariff Barrier : NTB) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นปราการปกป้องผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมในประเทศของตน และดูเหมือนว่ามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมนับเป็นมาตรการที่ประเทศต่างๆทั่วโลกให้ความสำคัญ ทั้งในเชิงป้องกัน (Preventive Approach) และเชิงแก้ไข (Corrective Approach) และมักจะใช้กับสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ

ซึ่งสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าอุตสาหกรรม ที่มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น การหาผู้รับผิดชอบในการกำจัดขยะไฮเทค (e-Waste) ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานลง ซึ่งเพิ่มปริมาณสูงขึ้นเรื่อยมา และการเน้นการจำกัดหรืองดการใช้สารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งล่าสุดกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union : EU) ได้เริ่มประกาศใช้ ระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษซากเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste, Electrical and Electronic Equipment : WEEE) และ ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Restrictions on Harzardous Substances : RoHS) ซึ่งระเบียบทั้งสองนี้ ได้ถูกบัญญัติขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบที่เกิดจากสารอันตรายที่ตกค้างอยู่ในขยะไฮเทค

WEEE : ระเบียบใหม่ที่มุ่งแสวงหา “ผู้รับผิดชอบ”

ประมาณการณ์ว่า ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union : EU) มีขยะไฮเทคเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 6 ล้านตัน1 นับเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาที่มีประมาณ 12 ล้านตันต่อปี1 และโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษนั้น ปริมาณขยะไฮเทคต่อประชากรหนึ่งคนจะอยู่ที่ปีละประมาณ 14 กิโลกรัม และร้อยละ 902ของขยะไฮเทคในประเทศอังกฤษนี้ได้ถูกกำจัดด้วยการฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะไฮเทคในประเทศเดียวกันนี้ได้มีการประมาณการณ์ไว้ที่ 455 ล้านปอนด์ หรือประมาณกว่า 3,300 ล้านบาทในแต่ละปี3

ดังนั้น ระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste, Electrical and Electronic Equipment : WEEE) จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อหาผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะไฮเทคที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานลงในประเทศที่เป็นสมาชิกEU โดยมีขอบเขตที่กว้างขวางและครอบคลุมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกประเภท ทั้งที่เป็นแบบใช้ภายในบ้านและใช้ในอุตสาหกรรมที่วางจำหน่ายในตลาดEU โดยได้มีการจำแนกประเภทไว้ 10 ประเภทดังนี้

1.1 เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เตาไฟฟ้า เป็นต้น
1.2 เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านขนาดเล็ก เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องเป่าผม เป็นต้น
1.3 อุปกรณ์สื่อสารและสารสนเทศ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องคำนวณ เครื่องโทรสาร เป็นต้น
1.4 เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี เป็นต้น
1.5 อุปกรณ์แสงสว่าง เช่น หลอดฟลูโอเรสเซนต์ หลอดโซเดียม เป็นต้น
1.6 เครื่องมือไฟฟ้า เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า จักรเย็บผ้าไฟฟ้า เป็นต้น
1.7 ของเล่นและอุปกรณ์กีฬาที่ใช้ไฟฟ้า เช่น วีดีโอเกมส์ ลู่วิ่งไฟฟ้า เป็นต้น
1.8 อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น อุปกรณ์ทางรังสีวิทยาแบบต่างๆ เป็นต้น
1.9 อุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ เช่น เทอร์โมสตัด แผงควบคุมต่างๆ เป็นต้น
1.10 เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น เครื่อง ATM เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ระเบียบ WEEE ก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บางประเภท เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการทหาร เครื่องมือขนาดใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรม อุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ฝังหรือยึดติดกับร่างกาย รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นชิ้นส่วนประกอบย่อยของอุปกรณ์อื่น ๆ เป็นต้น

ระเบียบดังกล่าวได้ประกาศออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ ผู้ผลิต (Producers) ที่หมายความรวมถึงผู้ผลิตสินค้าเอง (manufauturers) หรือว่าจ้างผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง หรือผู้ส่งออก/นำเข้าไปยังตลาด EU ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ได้หมายความรวมถึงผู้ค้าปลีก-ส่ง เป็นผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะไฮเทคที่เกิดจากสินค้าที่ตนเป็นผู้ผลิต/ส่งออก/นำเข้า ซึ่งอาจเป็นไปได้ในรูปของการนำกลับประเทศไปทำลายหรืออุดหนุนค่าใช้จ่าย (Financial Responsibility) ให้กับผู้ดำเนินการจัดการขยะไฮเทคในประเทศนั้นๆ และทุกประเทศใน EU จะต้องนำระเบียบนี้มาใช้อย่างช้าไม่เกินวันที่ 13 สิงหาคม 2548 เป็นต้นไป4 โดยในรายละเอียดปลีกย่อยของระเบียบจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ

RoHS : มุ่งลดผลกระทบจากพิษภัยแฝงในขยะไฮเทค

ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Restrictions on Harzardous Substances : RoHS) เป็นมาตรการที่จำกัด การใช้สารอันตรายบางชนิดที่ใช้ในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเข้าไปวางจำหน่ายในตลาด EU หลังจากเดือน กรกฎาคม ปี 25494 เนื่องจากสารอันตรายเหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากแพร่กระจายลงสู่ดินหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อีกทั้งการดำเนินการกำจัดก็มีใช้ค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องลดการใช้ให้อยู่ในปริมาณที่จำกัดหรืองดการใช้สารอันตราย 6 ชนิด ดังต่อไปนี้

– ตะกั่ว(Lead) เป็นโลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเวลาช้านาน โดยใช้ในการฉาบจอแก้วของหลอดรังสีแคโทด (Cathode Ray Tube : CRT) ของหลอดภาพเครื่องรับโทรทัศน์และจอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ และยังใช้ในการบัดกรีส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ลงบนแผงวงจรไฟฟ้า

— แคดเมี่ยม(Cadmium) พบได้ในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วัสดุกึ่งตัวนำ (Semiconductors) อุปกรณ์ตรวจจับอินฟราเรด (Infrared Detectors) และหลอดภาพรุ่นเก่า เป็นต้น และยังใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกอีกด้วย ประมาณการณ์ว่า ในระหว่างปี 1997– 2004 จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก่าหมดสภาพการใช้งานจากทั่วโลกรวมประมาณ 315 ล้านเครื่อง คิดเป็นปริมาณแคดเมี่ยมที่ต้องกำจัดประมาณ 9 แสนกิโลกรัม5

– ปรอท (Mercury) ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในชิ้นส่วนไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เทอร์โมสตัด (Thermostat) รีเลย์ แบตเตอรี่ และสวิทซ์ขนาดเล็กบนแผงวงจรของอุปกรณ์ตรวจวัด (Measuring Equipment) นอกจากนั้น ปรอทยังได้นำไปใช้ในอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ การสื่อสาร โทรคมนาคม อีกด้วย และจากการประมาณการณ์ว่า ในระหว่างปี 1997 – 2004 ที่จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก่าหมดสภาพการใช้งาน จากทั่วโลกรวมประมาณ 315 ล้านเครื่อง เช่นที่กล่าวมาแล้ว พบว่ามีปริมาณปรอทที่ต้องกำจัดประมาณ 2 แสนกิโลกรัม5

– เฮกซาวาเล้นท์โครเมี่ยม (Hexavalent Chromium or Chromium VI) เป็นสารที่ใช้เคลือบโลหะเพื่อป้องกันการผุกร่อนสำหรับชิ้นส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลกทรอนิกส์ที่ผลิตจากโลหะแผ่น และเป็นพิษต่อส่งแวดล้อมหากนำไปฝังกลบหรือเผาทำลายอย่างผิดวิธี และจากปริมาณเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก่าหมดสภาพการใช้งานรวมประมาณ 315 ล้านเครื่องในระหว่างปี 1997-2004 พบว่ามีปริมาณเฮกซาวาเล้นท์โครเมี่ยมที่ต้องกำจัดประมาณ 5.5 แสนกิโลกรัม5

– โพลี-โบรมิเนท-ไบเฟนิล (Poly Brominated Biphenyls : PBB) นิยมใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เป็นสารทนไฟ (Flame-Retardants) ซึ่งใช้ผสมในเนื้อพลาสติกที่ใช้เป็นส่วนประกอบ เช่น แผงวงจร (Printed Circuit Board) ข้อต่อไฟฟ้า(Connectors) สายไฟฟ้า และส่วนประกอบอื่นๆ ที่เป็นพลาสติก เช่น โครงฝาครอบเครื่องรับโทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งที่ใช้ในสำนักงาน และที่ใช้ในบ้าน เป็นต้น

– โพลี-โบรมิเนท-ไดเฟนิล-อีเทอร์ (Poly Brominated Diphenyl Ethers : PBDE) นิยมใช้เป็นสารทนไฟเช่นเดียวกันกับ PBB โดยใช้ผสมในชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติก ทั้งในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

สำหรับในบางกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงไม่สามารถหาวัสดุใหม่ทดแทนได้ซึ่งระเบียบ RoHS ก็อาจมีข้อยกเว้นให้ในบางกรณี เช่น

• การใช้สารโลหะหนักที่ต้องห้าม เนื่องจากไม่สามารถหาวัสดุอื่นทดแทนได้ เช่น การใช้ปรอท ในการผลิตหลอดไฟฟ้าบางประเภท การใช้ตะกั่วในการผลิตหลอดภาพโทรทัศน์และจอมอนิเตอร์ ตะกั่วที่เป็นส่วนผสมในเนื้อโลหะบางชนิด เป็นต้น
• การใช้ตะกั่วเป็นวัสดุบัดกรี สำหรับ Server หรือระบบจัดเก็บข้อมูล จะได้รับการยกเว้นจนถึงปี 25536
• การใช้ตะกั่วเป็นวัสดุในการบัดกรีในอุปกรณ์ในระบบเครือข่ายงาน (Network) เช่น อุปกรณ์ในการสับเปลี่ยนสัญญาณ (Switching) และส่งสัญญาณ(Signaling) เป็นต้น จะได้รับการยกเว้นจนกว่าจะมีประกาศแก้ไขเพิ่มเติม
• การใช้สารอันตราย 6 ประเภทดังกล่าวในรูปแบบอื่นๆ ที่มีข้อพิสูจน์ทางเทคนิคว่ายังไม่สามารถหาวัสดุอื่นที่ดีกว่ามาทดแทนได้

ผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ส่งออกไทยอันเนื่องมาจาก WEEE และ RoHS

ผู้ผลิต/ส่งออกผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปเข้าไปยังตลาด EU อาจได้รับผลกระทบในด้านของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการประกาศใช้ระเบียบ WEEE เนื่องจากบางประเทศใน EU อาจกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ใช้สินค้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ หรือรับผิดชอบร่วมกัน ในการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากสินค้าที่ได้จำหน่ายออกไปอยู่ในความครอบครองของผู้ใช้สินค้าก่อนวันที่ 13 สิงหาคม 25487

และผู้ผลิตจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดในการอุดหนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว สำหรับซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากสินค้าที่ได้จำหน่ายออกไปอยู่ในความครอบครองของผู้ใช้สินค้าหลังจากวันที่ 13 สิงหาคม 25487 ในทุกประเทศในตลาดEU การประกาศใช้ระเบียบ RoHS จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป (Original Equipment Manufacturers :OEM) เข้าไปยังตลาด EU ซึ่งถ้าหากไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับระเบียบ RoHS ได้ทันเวลา อาจทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์ใน EU และอาจจะไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดEUได้อีกต่อไปหากไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับระเบียบ RoHS นี้ได้

สำหรับผู้ส่งออกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็อาจได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ระเบียบ RoHS เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น แต่สำหรับผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตหรือส่งออกป้อนให้กับผู้ผลิต OEM ทั้งในและต่างประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของตนไปยังตลาดEUนั้น หากไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของตนให้สอดคล้องกับระเบียบ RoHS ได้ทันเวลา อาจทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ OEM ไม่สามารถรอได้และอาจหันไปสั่งซื้อจากผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งจากประเทศอื่น ที่ได้คุณภาพตามระเบียบ RoHS เพื่อให้การผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาด EU สามารถดำเนินการต่อไปได้ หรืออาจทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถจำหน่ายชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ประกอบการ OEM รายนั้นๆได้อีกต่อไป หากไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของตนให้เป็นไปตามระเบียบ RoHS ดังกล่าว

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนสู่ตลาดโลกมาเป็นเวลานาน โดยตลาด EU ก็เป็นตลาดหลักอีกตลาดหนึ่งที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยมา โดยในปี 2546 มียอดการส่งออกรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,165,722.96 ล้านบาท และในปี 2547 ตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน มียอดการส่งออกรวมทั้งสิ้นประมาณ 694,206.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 10.81% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะไม่ได้ครอบคลุมครบทั้ง 10 ประเภทตามที่ระบุไว้ใน WEEE เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางรายการไม่ได้มีการผลิตในประเทศไทย แต่ก็ต้องให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระเบียบใหม่ของตลาด EU ดังกล่าวเป็นอย่างมากด้วย

จากตารางข้างต้นพบว่ามูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปยังตลาด EU มีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% ของยอดการส่งออกรวมในแต่ละปีที่ผ่านมา แต่นับจากนี้ต่อไป ความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับ WEEE และ RoHS ของผู้ประกอบการไทย จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อแนวโน้มของการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปยังตลาด EU อีกด้วย กลุ่มผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ระเบียบทั้งสองสามารถจำแนกได้เป็นสามกลุ่มดังนี้

1. อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาด EU ค่อนข้างสูง ซึ่งล่าสุดในครึ่งแรกของปี 2547 นี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีมูลค่าการส่งออกไปตลาด EU 19,840.10 ล้านบาท คิดเป็น 28.77% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งหมด กลุ่มอุปกรณ์สารสนเทศ มีมูลค่าการส่งออกไปตลาด EU 10,878.58 ล้านบาท คิดเป็น 27.68% ของมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์สารสนเทศทั้งหมด และกลุ่มเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน มีมูลค่าการส่งออกไปตลาด EU 9,094.28 ล้านบาท คิดเป็น 21.78% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน ทั้งหมด

กลุ่มอุปกรณ์สารสนเทศ และกลุ่มเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในบ้าน (Home Electronics) นอกจากจะได้รับผลกระทบจากระเบียบข้อบังคับ WEEE แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงรุ่นหรือเสื่อมความนิยมค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้มีสินค้ารุ่นเก่าที่เสื่อมความนิยมกลายเป็นขยะไฮเทคจำนวนมากที่ต้องดำเนินการกำจัดต่อไป ซึ่งจะต่างจากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สินค้ามักจะมีอายุการใช้งานนานกว่าและมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่ช้ากว่า

2. อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาด EU อยู่ระหว่าง 10-20% ของมูลค่าการส่งออกรวมของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มีมูลค่าการส่งออกไปตลาด EU 4,880.44 ล้านบาท คิดเป็น 17.96% ของการส่งออกอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุม ทั้งหมด กลุ่มชิ้นส่วนไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออกไปตลาด EU 13,504.95 ล้านบาท คิดเป็น 16.92% ของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนไฟฟ้าทั้งหมด กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออกไปตลาด EU 52,110.65 ล้านบาท คิดเป็น 15.60% ของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดและกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก มีมูลค่าการส่งออกไปตลาด EU 1,762.14 ล้านบาท คิดเป็น 15.42% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งหมด

กลุ่มชิ้นส่วนไฟฟ้าและกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กนั้น แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด EU ไม่สูงมากนัก แต่อาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขันสูงในตลาด EU จากคู่แข่งที่มาจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในสองกลุ่มนี้ไม่มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากนัก

3. อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาด EU ต่ำกว่า 10% ของมูลค่าการส่งออกรวมของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น กลุ่มผู้ผลิตหลอดไฟฟ้า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มีมูลค่าการส่งออกไปตลาด EU 105.37 ล้านบาท คิดเป็น 5.5% ของการส่งออกหลอดไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกยังไม่สูงมากนัก แต่ก็ควรจะให้ความสำคัญต่อระเบียบทั้งสองนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตลาด EU และเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่อาจมีเพิ่มเติมได้ในอนาคต

WEEE กับ RoHS…สองระเบียบใหม่…ที่ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวตาม

การเร่งปรับตัวให้สอดคล้องตามระเบียบ WEEE and RoHS ของผู้ประกอบการไทยเป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการเนื่องจากผลิตภัณฑ์จากกลุ่มนี้มีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกไปยังตลาด EU สูง และมีแนวโน้มที่มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าภาวะการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปยังตลาด EU ที่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดไฟฟ้า แต่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมของไทยในปี 2547 นี้ก็ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 11% จากปีที่แล้ว โดยคาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 1,300,000 ล้านบาท เทียบกับ 1,165,722.96 ล้านบาทในปี 2546 ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาด EU อีกทั้งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าวของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปปัญหาอุปสรรคตลอดจนประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการเตรียมการเพื่อรองรับ ได้ดังนี้

1. การปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับสองมาตรการใหม่ของอียู เนื่องจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางบางรายยังเป็นสินค้าที่ผลิตตามแบบและเทคโนโลยีการผลิตรุ่นเก่าที่ใช้กันมาแต่เดิมเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อระเบียบข้อบังคับทั้ง WEEE และ RoHS มีผลบังคับใช้ในทุกประเทศในตลาด EU ภายในเดือนสิงหาคม 2549 อาจกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยประเทศผู้นำเข้าเพื่อกีดกันการนำเข้าในรูปของการชะลอหรืองดการสั่งซื้อ ดังนั้นผู้ประกอบการควรเร่งปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับทั้งสองระเบียบใหม่นี้อย่างเร่งด่วน และผู้ประกอบการควรเริ่มดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากการดำเนินการปรับปรุงทั้งผลิตภัณฑ์และกรรมวิธีการผลิตเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการทดลอง ทดสอบ และการศึกษาผลกระทบต่อต้นทุนของสินค้า ที่อาจใช้เวลานานในการดำเนินการ

2. ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคต่างประเทศเป็นส่วนน้อย หรือพัฒนาเทคโนโลยีกันขึ้นมาเองในวงจำกัดด้วยข้อจำกัดในด้านของเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงหน่วยงานที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการในรูปแบบต่างๆ จะสามารถเป็นแหล่งข้อมูลและจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

3. การรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน(Clustering) การดำเนินการในรูปของการรวมตัวกันกลุ่มวิสาหกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังคงอยู่ในวงจำกัดหรือเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในเครือข่ายธุรกิจเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ยังความเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้ร่วมเครือข่ายธุรกิจกับใคร ดังนั้นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในลักษณะการรวมกลุ่มวิสาหกิจ จะช่วยให้ความเคลื่อนไหวหรือปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดเป็นไปอย่างทันต่อสถานการณ์ ซึ่งจะสามารถช่วยให้การพัฒนาและการดำเนินการในด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพดีขึ้น เนื่องจากจะสามารถทำให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมทั้งสามารถเพิ่มอำนาจในการต่อรองในด้านต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน อันเนื่องมาจากการดำเนินการที่มีการประสานงานไปในทิศทางเดียวกัน

4. การแสวงหาตลาดใหม่ เนื่องจากตลาดEUเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย ที่มีการแข่งขันสูงและมีคู่แข่งที่สำคัญจากหลายประเทศที่มีเทคโนโลยีที่พร้อมกว่า ผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในด้านของศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต อาจต้องใช้เวลานานในการดำเนินการพัฒนา และอาจมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ออกมาประกาศใช้เพิ่มเติมได้ในภายหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านต้นทุนเป็นอย่างสูงต่อผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ดังนั้นการแสวงหาตลาดใหม่ในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก จึงเป็นสิ่งที่ควรจะดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเป็นการเพิ่มตลาดส่งออกใหม่ เพื่อชดเชยหรือเสริมกับส่วนแบ่งทางการตลาดจากตลาด EU ที่อาจลดลง หากมีการนำมาตรการที่เกี่ยวข้องที่เข้มงวดขึ้นมาประกาศใช้เพิ่มเติมในอนาคต และผู้ประกอบการควรเริ่มดำเนินการแต่เนิ่นๆ เนื่องจากการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสำรวจตลาด การสร้างการรับรู้ของสินค้าเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนจากประเทศไทยนั้น อาจเป็นสิ่งใหม่ในตลาดของภูมิภาคนั้นๆ อีกทั้งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ครองตลาดอยู่แต่เดิม รวมทั้งกฎระเบียบและข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะแตกต่างกับประเทศอื่นๆ ที่ผู้ส่งออกมีความเชี่ยวชาญหรือคุ้นเคย ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการปรับตัวหรือสร้างความคุ้นเคยเป็นเวลานาน อีกทั้งคู่แข่งจากประเทศอื่นๆก็มักจะมองหาตลาดส่งออกใหม่เพิ่มเติมเช่นเดียวกัน

บทสรุป

WEEE และ RoHS เป็นระเบียบข้อบังคับที่มีพื้นฐานอยู่บนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดปริมาณหรืองดการใช้สารอันตรายในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ส่งออกไทยและผู้ส่งออกจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต้องปฏิบัติตามหากยังต้องการจะส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวเข้าไปจำหน่ายยังตลาดEU ดังนั้นผู้ส่งออกของไทยควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ของประเทศคู่ค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าการดำเนินการดังข้อเสนอแนะที่กล่าวมาแล้วอาจดูเป็นการลงทุนที่สูงสำหรับผู้ประกอบการบางราย เพียงเพื่อตลาดส่งออกเพียงตลาดเดียวและมีผลต่อต้นทุนของสินค้าโดยตรง แต่ผู้ประกอบการควรถือเป็นโอกาสในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ได้มาตรฐานสากล และเนื่องจากระเบียบข้องบังคับทั้งสองนี้ได้ถือกำเนิดมาจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่สนใจทั่วโลก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นๆ ทั้งที่เป็นตลาดส่งออกหลักอื่นๆ และตลาดส่งออกใหม่ในอนาคตของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากไทย จะนำแนวทางเดียวกันกับ WEEE และ RoHS นี้มาปรับใช้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้ส่งออกที่สามารถปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับทั้งสองนี้ได้อยู่ก่อนล่วงหน้าแล้ว จะมีความได้เปรียบเป็นอย่างยิ่งในการรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ในอนาคต

การดำเนินการดังกล่าวควรเป็นไปอย่างจริงจังโดยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและทันต่อสถานการณ์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการของไทยยังสามารถแข่งขันอยู่ในตลาดโลกได้ และเพื่อให้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป