เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าลดลงหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามความคาดหมายอีก 0.25% เป็นอัตรา 1.75% เมื่อวันที่ 21 กันยายน นับเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 จากเดือนมิถุนายน 2547 ทั้งนี้ เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์มีค่ากระเตื้องขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อตลาดประเมินถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯเกี่ยวกับแนวโน้มภาวะเงินเฟ้ออีกครั้ง และมั่นใจว่าทางการสหรัฐฯน่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินเข้มงวดแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ทะยานสูงขึ้นถึง 49 ดอลลาร์/บาร์เรลในตลาดล่วงหน้าช่วงปลายสัปดาห์
เงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่าอ่อนไหว และยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบราว 1.78-1.79 ดอลลาร์/ปอนด์ เป็นผลจากตลาดเงินคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษคงชะลอการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่อังกฤษเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ปลายปีก่อน ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 4.75% สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ทำสถิติฝ่าแนวต้าน 410 ดอลลาร์/ออนซ์ อีกครั้งในรอบ 1 เดือน เนื่องจากความหวาดกลัวเกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำมันแพง
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเข้มแข็งในวันแรกของสัปดาห์ เพราะอิทธิพลจากรายงานดัชนีวัดความพอใจของผู้บริโภคสหรัฐฯอยู่ในเกณฑ์ที่ตลาดรับได้ โดยอยู่ที่ระดับ 95.8 ในเดือนกันยายน เทียบกับระดับ 95.9 ในเดือนสิงหาคม อีกทั้ง นักค้าเงินต่างคาดการณ์ว่าการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) จะมีมติเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 1.75% ในวันที่ 21 กันยายน ซึ่งช่วยให้ผลตอบแทนจากการถือสกุลเงินดอลลาร์สดใสยิ่งขึ้น และโน้มน้าวให้ปริมาณการซื้อเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นด้วย
แต่น่าเสียดาย หลังจากที่ที่ประชุม FOMC มีมติเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังที่คาดการณ์ไว้แล้ว แต่เงินดอลลาร์กลับร่วงลงทันที เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯได้แถลงเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อไปในเชิงที่ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออาจอ่อนกำลังลง ทำให้ตลาดเงินเริ่มเก็งกันใหม่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์หวั่นไหว
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่กดดันค่าเงินดอลลาร์ เทียบกับเงินยูโร ได้แก่ รายงานของ OECD เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจกลุ่มยูโรและเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยระบุปรับเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรในปีนี้ จากอัตรา 1.6% เป็น 2.0% ขณะที่ปรับลดอัตราการขยายตัวของสหรัฐฯลง จากอัตรา 4.7% เหลือ 4.3% ในปี 2547
ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินดอลลาร์มีค่ากระเตื้องขึ้น เมื่อตลาดเงินพยายามประเมินถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯอีกครั้งเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และเห็นว่าที่จริงเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงเข้มแข็ง ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯจึงมีโอกาสที่จะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่แน่นอน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯยังได้รับแรงสนับสนุนจากข่าวดี ที่ว่าผลประชุม FOMC ในงวดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีตัวเลขเศรษฐกิจบางรายการอ่อนแอ แต่คงเป็นเพียงระยะสั้น และธนาคารเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงขยายตัวต่อไป ทำให้การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันเงินเฟ้อยังคงเป็นมาตรการที่จำเป็น
เงินดอลลาร์มีค่าอ่อนไหวเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ เมื่อราคาน้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้าพุ่งแตะ 49 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้เกรงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจได้รับผลกระทบจากการนำเข้าน้ำมันดิบ กรณีดังกล่าวปรากฏว่าบั่นทอนค่าเงินเยนด้วย เพราะญี่ปุ่นมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ทำให้กลัวว่าเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว อาจทรุดลงอีก
เงินปอนด์อังกฤษ ยังคงมีค่าอ่อนแอ เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์อังกฤษเริ่มชะลอตัว ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลจากการที่อังกฤษใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมาโดยตลอด เพื่อลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และป้องกันฟองสบู่แตก ยิ่งไปกว่านั้น รายงานการปล่อยสินเชื่อเดือนสิงหาคมชี้ว่าเป็นภาวะที่มีอัตราเพิ่มน้อยมากในรอบ 2 ปี ทำให้ตลาดเงินคาดคะเนว่าธนาคารกลางอังกฤษคงไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันเงินเฟ้อ ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ฉุดค่าเงินปอนด์ ได้แก่ การสำรวจของสมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษที่สะท้อนว่าการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมการผลิตอังกฤษเริ่มอ่อนแรงลง ดูจากยอดสั่งซื้อที่ลดลง
ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ สดใสตลอดสัปดาห์ โดยซื้อขายอยู่ในช่วง 405-411 ดอลลาร์/ออนซ์ แม้ว่าสหรัฐฯจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ราคาทองคำไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว อีกทั้ง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงเข้มแข็ง คอยกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับภัยเงินเฟ้อ ทำให้ปริมาณความต้องการถือทองคำเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันความเสี่ยงท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 20 กันยายน 2547 เทียบกับวันที่ 23 กันยายน 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2178 ดอลลาร์/ยูโร (1.2269 ดอลลาร์/ยูโร) 109.89 เยน (110.74 เยน) และ 1.7861 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.7957 ดอลลาร์/ปอนด์)
ทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 เท่ากับ 405.20 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 411.20 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547