กลยุทธการดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น : การแข่งขันกับจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน

ในปีงบประมาณ (FY: Fiscal Year) 2546/2547 ที่ผ่านมา ประเทศจีนสามารถก้าวแซงหน้ากลุ่มประเทศอาเซียนทั้งภูมิภาคเป็นครั้งแรกในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่น การลงทุนของญี่ปุ่นในจีนใน FY 2546/2547 มีส่วนแบ่งสูงถึงร้อยละ 8.7 ของการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นทั่วโลก เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก FY 2545/2546 ที่มีส่วนแบ่งร้อยละ 4.8 ในอีกด้านหนึ่ง การลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนโดยรวมมีการหดตัวลงติดต่อกันเป็นปีที่สอง และมีสัญญาณว่าประเทศกลุ่มอาเซียนได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นน้อยลง โดยที่การลงทุนบางส่วนเบี่ยงเบนไปยังจีน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญที่สุดของไทย ขณะที่สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นแล้วไทยก็เป็นประเทศฐานการผลิตนอกญี่ปุ่นที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยในสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีน มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงสะสมของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จนถึงปัจจุบัน (FY 2524-2546) 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนมีมูลค่า 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ โลหการ (มูลค่าสูงที่สุดในเอเชีย) และเครื่องจักรกล

ใน FY 2546 บริษัทญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในภาคการผลิตของจีนคิดเป็นมูลค่า 2,455 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่มีการลงทุนในอาเซียนมูลค่า 1,449 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.2 จากปีก่อนหน้า ไทยเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียนด้วยมูลค่าเงินลงทุน 499 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 อันดับ 2 ได้แก่อินโดนีเซีย มีมูลค่า 438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2 และอันดับ 3 ได้แก่มาเลเซีย มีมูลค่า 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 240 (เนื่องจากมีการลงทุนต่ำมากในปีก่อนหน้า) สำหรับประเทศอื่นๆ ได้รับการลงทุนมูลค่าไม่สูงนัก โดยสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ได้รับการลงทุนลดลงค่อนข้างมาก ส่วนเวียดนามมีการลงทุนเพิ่มขึ้นแต่ยังมีมูลค่าน้อย

เป็นที่สังเกตว่าในระยะหลังจะเห็นลักษณะที่แตกต่างของโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นสนใจลงทุนในอาเซียนแต่ละประเทศ ในกรณีของไทยจะคล้ายกับจีนคือการลงทุนกระจายตัวในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท แต่ในประเทศอาเซียนอื่นๆจะมีการลงทุนในลักษณะที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในอุตสาหกรรม 1-2 สาขาเท่านั้น

ในช่วง 3 ปีหลัง ระหว่าง FY 2544-2546 อุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนในไทยมากที่สุดได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ (ร้อยละ 25) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 18) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 16) โลหการ (ร้อยละ 11) และเครื่องจักรกล (ร้อยละ 7) ขณะที่ในจีน อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุดได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 25) ยานพาหนะและอุปกรณ์ (ร้อยละ 24) เครื่องจักรกล (ร้อยละ 12) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 11) และโลหการ (ร้อยละ 8) ในส่วนของอินโดนีเซีย การลงทุนกว่าครึ่งกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมยานพาหนะและอุปกรณ์ ในมาเลเซียการลงทุนกว่าครึ่งกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในสิงคโปร์ร้อยละ 65 ของการลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์

การลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนที่เริ่มลดลง เป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศอาเซียนต้องเร่งปรับกลยุทธด้านการลงทุนให้มีความน่าดึงดูดมากขึ้น ปัจจัยที่จะสนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนยังคงมีอยู่ เช่น ตลาดรวมอาเซียนนับเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้งญี่ปุ่นเองก็ยังต้องการกระจายความเสี่ยงไม่ให้การลงทุนทั้งหมดทุ่มลงไปที่จีนประเทศเดียว อย่างไรก็ตาม ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ประเทศอาเซียนที่มีปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ดีกว่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า แนวทางของไทยในการแข่งขันดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น นอกเหนือจากมาตรการการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนแล้ว มาตรการอีกด้านหนึ่งที่จำเป็นคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนธุรกรรมที่ต่ำ อันจะช่วยชดเชยกับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นในไทยทำให้ต้นทุนโดยรวมแข่งขันกับจีนและประเทศอาเซียนอื่นๆได้ มาตรการนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบคมนาคมขนส่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โครงสร้างด้านไอทีและโทรคมนาคม ระบบภาษีธุรกิจ กระบวนการของหน่วยงานภาครัฐที่โปร่งใสและรวดเร็ว สภาพตลาดที่เปิดให้มีการแข่งขันเสรี

นอกจากนี้ นโยบายอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดการขยายผลของการลงทุนจากต่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือเป็นการเกื้อหนุนการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวก็เป็นมาตรการที่มีความสำคัญเช่นกัน แต่ทั้งนี้อุตสาหกรรมของไทยเองก็ต้องพัฒนาความพร้อมของปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับหรือสนับสนุนกิจกรรมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในระดับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมจากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติกับธุรกิจที่มีรากฐานในประเทศ