Architecture & Design School

ล่าสุดหากใครผ่านไปแถวสาทร บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ จะเห็นอาคารที่ทำการบริษัทบอร์เนียวเดิม แปลงโฉมใหม่ กลายเป็น Bangkok CODE หรือ “ศูนย์ชุมชนน่าอยู่ กรุงเทพฯ” ซึ่งกำลังจะกลายเป็นแหล่งชุมนุมทางความรู้และศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เจ้าของไอเดียและผู้อำนวยการศูนย์นี้ก็คือ อ.ไมเคิล ปริพล ตั้งตรงจิตร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (School of Architecture and Design : SoA+D) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ด้วยแนวคิดการนำแหล่งความรู้สู่ชุมชน และต้องการให้ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งพบปะของคนใฝ่รู้และผู้ที่มีใจรักศิลปะ

ภายหลัง อ.ไมเคิล จบปริญญาโทจาก Illinois Institute of Technology ก็กลับมาเป็นอาจารย์ทันทีในปี 2539 ซึ่งตอนนั้น มจธ. กำลังบุกเบิกก่อตั้ง SoA+D เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่ด้วยความที่ SoA+D อยู่ไกลถึงบางขุนเทียน เขาจึงอยากสร้างจุดเชื่อมกับชุมชนให้เกิดความเคลื่อนไหวและการเชื่อมต่อทางความคิดได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเสนอความคิดนี้ต่อสภาคณาจารย์ และได้รับสนับสนุนงบประมาณราว 50 ล้านบาทเพื่อเริ่มต้นศูนย์นี้

นอกเหนือจากคอร์สฝึกอบรมด้านศิลปะและการออกแบบแล้ว Bangkok CODE ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ของคณะวิชาอื่นๆ ของมจธ. ด้วย เช่น หลักสูตรปริญญาโท Robotics and Automation, Management of Innovation, และ Development of Industrial Competitiveness

“ในอนาคตเราจะมีคอนเซ็ปต์เป็น Learning basket คล้ายรามคำแหง ต่อไประบบการเรียนน่าจะยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาเรียนฟูลไทม์ ทุกคนก็เลือกเหมือนบุฟเฟ่ต์ อยากจะเรียนอะไรก็ได้ เราเป็นคนกำหนดโครงสร้างของหลักสูตรให้เป็นโมดูลไว้ เค้าก็หยิบของเขามาลง พอครบตามที่เรากำหนด ก็อาจมีการสอบควอลิฟายด์ ให้ประกาศนียบัตรเป็นระดับ 1-2-3 ไป ถึงระดับ 4 ก็อาจจะได้ปริญญาตรี ระดับ 3 อาจจะได้อนุปริญญา จะเป็นกึ่งมหาวิทยาลัยเปิด คาดว่าประมาณปีหน้าจะทำได้”

โดยผู้สอนของศูนย์จะเป็นอาจารย์จาก SoA+D และวิทยากรรับเชิญ เช่น อ.กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล อ.วิโรจน์ เทศาลี อาจารย์ Stephan Schlau ที่เคยสอนใน AA (Architectural Association) ที่อังกฤษมาแล้ว นอกจากนั้น จะมีการจัดบรรยายพิเศษโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือนักออกแบบชื่อดังจากต่างประเทศมาเลกเชอร์ที่ศูนย์ ซึ่งในราวปลายปีเป็นโปรแกรมของบริษัท NOX สถาปนิกจากเนเธอร์แลนด์ที่จะมาบรรยาย และบริษัท MDRDV จะมาประมาณต้นปีหน้า

และนอกเหนือจากเทรนนิ่งต่างๆ Bangkok CODE มีทั้งแกลเลอรี่ ห้องสมุด พื้นที่แสดงนิทรรศการ ร้านกาแฟ ด้านหลังเป็นสำนักงาน ซึ่งขณะนี้มี 16 บริษัทมาเช่าเต็มพื้นที่แล้ว และจะมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับศูนย์ฯ และอาจสร้างโปรแกรมฝึกงานด้านออกแบบและสถาปัตย์ให้กับนักศึกษาได้ด้วย

ในขณะที่สถาปัตย์ มจธ. หรือ SoA+D วางตัวอยู่ในบริบท International และการเป็นแหล่งบริการความรู้ที่รองรับความต้องการของชุมชน โรงเรียนผลิตสถาปนิกที่สำคัญของเมืองไทยอีกแห่ง คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล.) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2514 (แต่มีประวัติย้อนไปถึงปี 2497 ในนามโรงเรียนช่างบริการส่งเสริมอาชีพก่อสร้าง) ก็กำลังปรับตัวสู่บริบทใหม่นี้เช่นกัน แม้จะไม่มีการขยายตัวเข้าไปตั้งสำนักงานหรือวิทยาเขตในใจกลางเมืองอย่าง มจธ.

แม้จะมีหลักสูตรปริญญาเอกด้านการวางแผนภาคและเมือง ที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ แต่หลักสูตรอื่นๆ ของสถาปัตย์ สจล. ส่วนใหญ่ยังเน้นองค์ความรู้ไทย โดยเฉพาะอย่างสาขาวิชาสถาปัตยกรรมเขตร้อน ซึ่งมีเปิดสอนไม่กี่แห่งเท่านั้น ผศ.กุลธร เลื่อนฉวี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ล่าสุดมีการลงนาม MOU กับ Ball State University ที่อเมริกา เพื่อทำการเรียนการสอนแบบ Distance Learning ในวิชาสถาปัตยกรรมเขตร้อน ของนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งเริ่มในวันที่ 25 สิงหาคม 2547 เป็นการถ่ายทอดสัญญาณแบบเรียลไทม์ 1 ชั่วโมง ที่นักศึกษาและอาจารย์ทั้งสองฝั่งโต้ตอบกันได้ ด้วยศักยภาพเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็ว 10 GB ของสถาบัน

“หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ในอนาคตจะเปิดห้องเรียนแบบ Distance Learning กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศมากขึ้น นอกเหนือจากที่ผ่านมาเราใช้วิธีเชิญอาจารย์มาสอน เช่น การทำ MOU กับมหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น และ University of Michigan ซึ่งความพยายามเหล่านี้ก็เนื่องจากเงื่อนไขการเปิดเสรีของวิชาชีพตามข้อตกลง FTA ที่จะมีผลกับการแข่งขันในตลาดค่อนข้างมาก บัณฑิตต้องแข่งขันในระดับนานาชาติได้”

ท้ายที่สุดทั้งสองสถาบันต่างก็ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ความเป็น International สำคัญอยู่ที่การเข้าใจและมีความรู้อย่างถ่องแท้ในบริบทสังคมไทย แล้วจึงปรับองค์ความรู้นานาชาติมาผสมผสาน การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้แปลว่าเป็น International การจะดึงดูดให้นักศึกษาและอาจารย์ต่างชาติมาร่วมเรียนรู้ สถาบันต้องสร้างจุดแข็งของตัวเองให้ได้ก่อน

หลักสูตรอบรมที่ Bangkok CODE

Interface Design
Craft Design
Portfolio Preparation
The Basics of Photography
Economics for Designer
Cheap but Chic: Low cost high look furniture
Entrepreneurship for Designers
Design and Business
Textile Design – Contemporary Tapestry for Beginners
Packaging Design I
Design Psychology
Application of form
Transportation Design
Computer-aided Industrial Design, Rhinoceros
Introduction to Product Design

หลักสูตรของ SoA+D มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

หลักสูตร ปริญญาตรี ปริญญาโท
1. Architecture 5 ปี –
2. Interior Architecture 5 ปี –
3. Industrial Design 5 ปี –
4. Communication Design 4 ปี
5. Building Technology – 2 ปี
หมายเหตุ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน

หลักสูตรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง

หลักสูตร ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก
1. สถาปัตยกรรม 5 ปี 2 ปี (สถาปัตย์ฯ เขตร้อน) *
2. สถาปัตยกรรมภายใน 5 ปี 2 ปี *
3. ศิลปะอุตสาหกรรม 5 ปี (จะเปิดในอนาคต) *
4. นิเทศศิลป์ 4 ปี (จะเปิดในอนาคต) *
5. วิจิตรศิลป์ 4 ปี 2 ปี –
6. การวางแผนภาคและเมือง – 2 ปี 2 ปี
หมายเหตุ * ในอนาคตจะเปิดหลักสูตรสหวิทยาการการวิจัยเพื่อการออกแบบ ผสานองค์ความรู้ทั้ง 4 สาขาเข้าด้วยกัน เน้นการทำงานวิจัย และความเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา

Resource

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ถนนฉลองกรุง ลำปาทิว ลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 0-2326-9971
โทรสาร 0-2326-9156
เว็บไซต์ www.arch.kmitl.ac.th

School of Architecture and Design (SoA+D) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
83 หมู่ 8 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร. 0-2470-9927-33
โทรสาร 0-2470-9923
เว็บไซต์ www.arch.kmutt.ac.th

bangkok CODE
231/2 ถนนสาทรใต้ แขวงยานาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ
โทร. 0-2673-9434-5
โทรสาร 0-2673-9433
e-mail : [email protected]
เว็บไซต์ www.arch.kmutt.ac.th/CityCenter/launch.html

Website

www.arch.kmutt.ac.th
www.arch.kmitl.ac.th
www.arch.kmutt.ac.th/CityCenter
www.mvrdv.archined.nl
www.arcspace.com/architects/nox