เวที ASEM 2004 : ไทยย้ำสัมพันธ์ EU การค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยว

ประเทศเอเชียและสหภาพยุโรป (EU) จะจัดการประชุมผู้นำเอเชีย–ยุโรป (Asia Europe Meeting: ASEM) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2547 ณ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปร่วมประชุม ASEM ครั้งนี้ด้วย นับเป็นการประชุม ASEM ครั้งแรกที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมากที่สุดรวม 38 ประเทศ จากเดิม 25 ประเทศ โดยผนวกประเทศสมาชิกน้องใหม่ของ EU อีก 10 ประเทศ เข้าเป็นสมาชิก ASEM ในปีนี้ พร้อมด้วยการรับสมาชิกอาเซียนที่เหลืออีก 3 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา และพม่า เป็นสมาชิก ASEM ในครั้งนี้ด้วย แต่เดิม ASEM มีสมาชิกก่อตั้ง 25 ประเทศ ได้แก่ EU 15 ชาติ อาเซียน 7 ชาติ (ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม) และประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน

การประชุมสุดยอด ASEM ครั้งที่ 5 เป็นวาระที่ประเทศเอเชียได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอีกครั้งหนึ่ง สลับกับประเทศยุโรป เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้ ถัดจากประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพการประชุม ASEM ครั้งแรกเมื่อปี 2539 และเกาหลีใต้ (เจ้าภาพการประชุม ASEM ครั้งที่ 3 ปี 2543) สำหรับการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ตามลำดับ ทั้งนี้ การประชุมสุดยอด ASEM จะจัดการประชุมเป็นประจำทุกๆ 2 ปี นับเป็นเวลา 8 ปีที่ ASEM ก่อตั้งขึ้น คาดว่าการประชุม ASEM ครั้งที่ 5 นี้จะเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนบทบาท ASEM ไปสู่ความร่วมมือระหว่างภูมิภาคทั้งสองมากขึ้น แทนที่จะเป็นเพียงเวทีสำหรับการพบปะหารือระหว่างกันเท่านั้น

ประเด็นสำคัญที่เอเชียและยุโรปมีแนวโน้มที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ได้แก่ ความร่วมมือทางการค้าระหว่างภูมิภาค ตลอดจนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ให้เจริญงอกงามต่อไป

ไทย – EU : เสริมจุดแข็งการค้า-ท่องเที่ยว แก้ไขจุดอ่อนลงทุน

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียกับสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEM คาดว่าจะส่งผลดีแก่ประเทศไทยในฐานะพันธมิตรเศรษฐกิจของ EU ให้สนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้ฟื้นฟูสัมพันธไมตรีทวิภาคีกับประเทศ EU หลายประเทศตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดผู้นำของไทยได้เดินทางไปเยือนประเทศอิตาลีและสวีเดนอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกันยายน 2547 รวมทั้งการเดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก อังกฤษ และเบลเยียมในช่วงระหว่างปี 2545-2546 ช่วยให้ประเทศไทยและสมาชิกแนวหน้าของ EU เหล่านั้นมีความเข้าใจอันดีระหว่างกันมากขึ้น และพร้อมที่จะร่วมมือกันผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางการค้า ซึ่งน่าจะสามารถลงมือดำเนินการได้ในทันที และขยายผลไปสู่ความร่วมมือด้านการลงทุนและการท่องเที่ยวต่อไป

ขณะเดียวกันการที่ EU แผ่อิทธิพลครอบคลุมประเทศสมาชิกใหม่แถบยุโรปตะวันออกเพิ่มเติมอีก 10 ประเทศนับตั้งแต่กลางปี 2547 เป็นต้นมา และเข้าสังกัด ASEM ในปีนี้ ประกอบด้วย ไซปรัส สาธารณรัฐเชค เอสโทเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลวีเนีย จึงน่าจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกลุ่ม EU น้องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม ASEM ครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยและสมาชิกใหม่ EU ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อสร้างความเข้าใจอันดี รวมทั้งประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ต่อไป

สำหรับประเทศสมาชิกเดิมของ EU 15 ชาติ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก เยอรมนี กรีซ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบอร์ก โปรตุเกส สเปน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ แม้ว่าประเทศเหล่านี้เป็นสมาชิก EU ดั้งเดิม แต่บางประเทศก็ไม่ค่อยคุ้นเคยกับประเทศไทยเท่าใดนัก ดังนั้น การประชุมสุดยอด ASEM จะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาชิก EU อย่างทั่วถึง ทั้งสมาชิกดั้งเดิมและสมาชิกใหม่ ทางการไทยจึงน่าจะใช้โอกาสนี้กระชับความร่วมมือให้เป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าประเทศไทยและ EU สามารถพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สรุปได้ดังนี้

– การค้าไทย – EU : ตลาดสมาชิกใหม่ลู่ทางสดใส

การค้าระหว่างไทยกับ EU ทั้ง 25 ประเทศ มีแนวโน้มแจ่มใสในรอบปีนี้ โดยการค้ารวม (ส่งออก+นำเข้า) ระหว่างไทยกับตลาด EU ขยายตัวกว่า 20% เป็นมูลค่า 15,506 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 8 เดือนแรก 2547 คาดว่าการค้าระหว่างไทยกับ EU ทั้ง 25 ประเทศจะทะลุระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ สมาชิกใหม่ของ EU หลายประเทศเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทย แม้ว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดใหม่เหล่านั้นยังมีมูลค่าไม่มากนักในเบื้องต้น เพราะยังไม่คุ้นเคยกัน แต่มีอัตราขยายตัวค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น สโลวีเนีย การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดแห่งนี้พุ่งขึ้น 198% ลัตเวีย เพิ่มขึ้น 104% สาธารณรัฐเชค ขยายตัว 87% ไซปรัส เพิ่มขึ้น 86% ลิทัยเนีย ขยายตัว 71% โปแลนด์ เพิ่มขึ้น 29% ฮังการี ขยายตัว 27% เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ในการประชุม ASEM จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะได้หารือกับประเทศสมาชิกใหม่แบบทวีภาคีด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างความสนิทสนมระหว่างกันมากขึ้น ส่งผลดีต่อการขยายการค้าซึ่งกันและกัน

ในการประชุมสุดยอด ASEM น่าจะช่วยคลี่คลายอุปสรรคทางการค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป ส่งผลให้สินค้าเอเชีย รวมทั้งสินค้าไทยที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถขยายตลาด EU อย่างกว้างขวางต่อไป โดยเฉพาะสินค้าส่งออกของไทยที่มีลู่ทางแจ่มใสในตลาด EU อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องโทรสาร-โทรพิมพ์-โทรศัพท์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญบางรายการของไทยค่อนข้างซบเซาในตลาด EU ทางการไทยควรดูแลเอาใจใส่ เพื่อฟื้นฟูการส่งออกให้กระเตื้องขึ้น ได้แก่ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รองเท้าและชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

นอกจากนี้ สินค้าส่งออกรายการใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเจาะตลาด EU ได้ดีในอนาคต ได้แก่ สินค้า OTOP เพราะทางการไทยกำลังส่งเสริมอย่างหนัก สินค้า OTOP มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยโดดเด่น คุณภาพและฝีมือประณีต รวมทั้งการออกแบบหีบห่อสวยงาม ทั้งนี้ สินค้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ น่าจะสามารถจับตลาดลูกค้าชาว EU จำนวนมากที่นิยมใช้สินค้าที่ปลอดสารเคมีและปราศจากสิ่งปรุงแต่งต่างๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามกฎระเบียบทางการค้าของ EU อย่างเคร่งครัด เช่น การติดสลากสินค้าที่ระบุส่วนประกอบอย่างชัดเจน เพื่อสร้างชื่อเสียงสินค้าไทยในตลาด EU ซึ่งเน้นความปลอดภัยในการใช้สินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค

สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับ EU ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้าไทยไปตลาด EU โดยรวม เพิ่มขึ้น 19.8% เป็นมูลค่า 9,359 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ EU จัดเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของไทย รองจากอาเซียน และสหรัฐอเมริกา ทางด้านการนำเข้าสินค้าจาก EU เพิ่มขึ้น 21.7% เป็นมูลค่า 6,147 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน นับว่า EU เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 3 ของไทยเช่นกัน รองจากญี่ปุ่น และอาเซียน ประเทศไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับ EU โดยยอดเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น 16.5% เป็นมูลค่า 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 8 เดือนแรก 2547

– การลงทุนไทย – EU : เฉื่อยชา ต้องเร่งฟื้นฟู

ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยกับกลุ่ม EU นับเป็นประเด็นที่ทางการไทยต้องเร่งรัดฟื้นฟู เนื่องจากโครงการลงทุนของ EU ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) ลดลงนับตั้งแต่วิกฤตเอเชียเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา โดยเม็ดเงินลงทุนของ EU ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI อยู่ในระดับเฉลี่ยราว 30,000 ล้านบาท/ปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบเม็ดเงินลงทุนที่เคยอยู่ในระดับสูงกว่า 100,000 ล้านบาท/ปีในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเอเชีย ทั้งนี้เพราะ EU ให้ความสนใจแหล่งลงทุนเปิดใหม่แห่งอื่นๆ โดยเฉพาะสมาชิกใหม่ EU 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศจีนและอินเดีย จึงทำให้การลงทุนของ EU ในประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นแหล่งลงทุนดาวเด่นของ EU ในช่วงก่อนมรสุมเศรษฐกิจ-การเงินเอเชีย ชะลอลง

ดังนั้น การที่ผู้นำไทยจะได้พบปะหารือกับผู้นำ EU ชาติต่างๆ ในการประชุม ASEM ครั้งนี้ น่าจะมีส่วนช่วยตอกย้ำให้ประเทศ EU เล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงินของไทย เพื่อที่นักธุรกิจ EU จะหวนกลับมาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับ EU ที่ทางการไทยควรเร่งผลักดันในช่วงวิกฤตราคาน้ำมันแพง ก็คือ

* ความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องยนต์ที่สามารถใช้กับน้ำมันผสมระหว่างน้ำมันเบนซินกับเอทานอล ซึ่งจะช่วยประหยัดการเผาผลาญน้ำมันและชะลอการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศลงได้บ้าง โครงการร่วมมือดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เนื่องจากประเทศ EU ส่วนใหญ่ อาทิ อิตาลี เยอรมนี สวีเดน อังกฤษ ฯลฯ มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และการพัฒนาเครื่องยนต์ที่ก้าวหน้าทันสมัย ขณะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ จึงน่าจะประสานความร่วมมือระหว่างกันได้เป็นอย่างดี และมีแนวโน้มที่ประเทศไทยและประเทศ EU อาจจะพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานอื่นๆ ทดแทนน้ำมันได้อย่างหลากหลายต่อไปในอนาคต

* ความร่วมมือด้านการผลิตพลังงานทดแทนน้ำมัน ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากน้ำมัน โดยเฉพาะพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น แสงอาทิตย์ กระแสลม กระแสน้ำ กากของเสียต่างๆ (ทั้งจากพืชและสัตว์) เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นเหลือเฟือ แต่ปัจจุบันยังมิได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ในขณะที่ประเทศ EU มีความเชี่ยวชาญและมีวิทยาการก้าวหน้าในการผลิตพลังงานดังกล่าวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ ได้สนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้น้ำมันสำหรับประเทศไทยในระยะยาว ทางการไทยจึงควรชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันที่มีอยู่อย่างจำกัด

– ท่องเที่ยวไทย – EU : อนาคตโชติช่วง

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับ EU มีแนวโน้มสดใสอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นในเอเชียที่ชาว EU รู้จักคุ้นเคยอย่างดี โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ของไทย มีชื่อเสียงเทียบเคียงกับแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของ EU เช่น มิลาน ฟลอเรนซ์ ฯลฯ ส่งผลให้นักท่องเที่ยว EU ประมาณ 2 ล้านคน หลั่งไหลมาพักผ่อนหย่อนใจในเมืองไทยในแต่ละปี นับว่าชาว EU เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวนอกภูมิภาคเอเชีย ที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากที่สุด และทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยสูงถึง 100,000 ล้านบาท/ปี ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องรักษาจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวของไทยต่อไป พร้อมทั้งขจัดจุดอ่อนด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว การรักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง ตลอดจนสุขอนามัยของอาหารการกินต่างๆ และการตรวจตราจับกุมแก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว เช่น การหลอกขายสินค้าปลอม หรือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

ประเทศไทยและประเทศ EU มีลู่ทางพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือกับฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศแม่แบบการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยและฝรั่งเศส ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันแล้ว คาดว่าสายสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองจะเป็นสะพานที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับอิตาลีที่มีแนวโน้มแจ่มใส จะช่วยส่งเสริมฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวของไทยให้โดดเด่น ประกอบกับประเทศไทยมีพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวพร้อมมูล และสถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่มีเสน่ห์มัดใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่สมเหตุสมผล

ชาว EU ที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก เรียงตามลำดับ ดังนี้ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ นักท่องเที่ยวชาว EU ชั้นนำกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวชาว EU ที่เดินทางมาเที่ยวไทยทั้งหมดในแต่ละปี สำหรับชาว EU ที่ใช้จ่ายเงินด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อังกฤษ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และฟินแลนด์ โดยควักกระเป๋าจ่ายเงินท่องเที่ยวในไทยประมาณ 3,200-3,600 บาท/วัน

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับ EU ที่มีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จะช่วยส่งเสริมบทบาทของนักท่องเที่ยว EU ในไทยให้ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมนักท่องเที่ยว EU น้องใหม่อีก 10 ประเทศ ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าจะมีกำลังซื้อสูง หากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกใหม่ของ EU มีเสถียรภาพมั่นคงมากขึ้น ในช่วงไตรมาส 2547 นักท่องเที่ยว EU ที่เดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมีจำนวน 697,037 คน

ทางด้านนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไป EU ชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศ EU เฉลี่ยราว 144,000 คน/ปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สำหรับในไตรมาส 2547 นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปประเทศ EU เพิ่มขึ้น 21.8% เป็นจำนวน 35,120 คน ประเทศในกลุ่ม EU ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เดินทางไปทัศนาจรมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไป EU ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เดนมาร์ก อิตาลี เป็นต้น นักท่องเที่ยวชาวไทยใช้จ่ายเงินด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ EU เฉลี่ยประมาณ 13,000 ล้านบาท/ปี ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ในกลุ่ม EU ที่จะอำนวยสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ชาวไทยสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศ EU เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศแถบยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร ก็คือ เงินตราสกุลเดียวของยุโรปมีค่าเข้มแข็งขึ้นในช่วงนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้นในการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศ EU

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อสังเกตว่า การท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มที่อาจจะได้รับผลกระทบกระเทือนการทื่ทางการจีนได้อนุญาตให้ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรปได้เสรีแล้ว จากเดิมที่รัฐบาลจีนเคยกำหนดแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีนในวงจำกัด การผ่อนคลายกฎเกณฑ์เข้มงวดด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชาวจีนทั่วไป คาดว่าจะดึงดูดชาวจีนให้สนใจเดินทางท่องเที่ยวระยะไกลมากขึ้น เพื่อไปเยี่ยมชมความงดงามและสัมผัสบรรยากาศแปลกใหม่ในยุโรป สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ชาวจีนชะลอการเดินทางท่องเที่ยวแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนนับเป็นนักท่องเที่ยวสำคัญลำดับต้นๆ ของไทย นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทยมีจำนวนมากกว่า 600,000 คน/ปี ในทางกลับกัน ชาวยุโรปมีแนวโน้มที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่แห่งดินแดนตะวันออกที่ชาวยุโรปสนใจเดินทางไปเที่ยวชมเช่นกัน

การประชุมผู้นำ ASEM ครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้พบปะกับสมาชิก EU ทั้งสมาชิกดั้งเดิมและสมาชิกน้องใหม่ แบบทวิภาคี เพื่อสร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจอันดีระหว่างกัน นำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ที่ควรผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างโดยเร็ว โดยเฉพาะการเปิดตลาดการค้ากับประเทศสมาชิกใหม่ของ EU 10 ประเทศที่มีศักยภาพ การกอบกู้การลงทุนของ EU ในประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับ EU ให้ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในที่สุด