ออสเตรเลีย & ไทย : สัมพันธ์ราบรื่นรับผลเลือกตั้ง 2004

ประเทศทั่วโลกจับตามองออสเตรเลียอย่างใกล้ชิดในวันที่ 9 ตุลาคม 2547 เนื่องจากเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลีย เป็นการแข่งขันระหว่างพรรครัฐบาล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด เป็นหัวหน้าพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) กับนายมาร์ค ลาธาม ผู้นำพรรคแรงงาน (Labor Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทั้งสองฝ่ายประกาศจุดยืนในช่วงหาเสียงที่ต่างกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศกรณีการส่งกองกำลังทหารออสเตรเลียรักษาการณ์ในอิรัก ซึ่งเป็นประเด็นหาเสียงที่คล้ายคลึงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ดสนับสนุนให้ทหารออสเตรเลียอยู่ในอิรักจนกว่าเหตุการณ์ไม่สงบจะยุติลง แต่นายมาร์ค ลาธาม ต้องการให้ทหารออสเตรเลียกลับประเทศก่อนเทศกาลคริสต์มาส หากตนได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้

การเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลียครั้งนี้ ดูเหมือนว่านายจอห์น โฮเวิร์ด ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2539 รวมระยะเวลา 8 ปีที่บริหารประเทศ มีความได้เปรียบนายมาร์ค ลาธาม คู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจ เพราะนายจอห์น โฮเวิร์ด ได้นำพาเศรษฐกิจของออสเตรเลียให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคง โดยเน้นนโยบายเปิดประเทศ และเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจออสเตรเลีย ที่สำคัญตั้งแต่ช่วงกลางปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ออสเตรเลียได้ ลงนามจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และไทย รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA กับจีน และมาเลเซีย สำหรับไทยและออสเตรเลียได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (Thailand-Australia Free Trade Area : TAFTA) เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2548 โดยครอบคลุมทั้งการเปิดเสรีสินค้า บริการ และการลงทุน

นอกจากนี้ นายโฮเวิร์ดได้ผลักดันการจัดทำ FTA ระดับภูมิภาค โดยออสเตรเลียร่วมกับนิวซีแลนด์ได้หารือกับประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งมีไทยเป็นสมาชิกร่วมด้วย เพื่อจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มต้นเจรจาอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2548 และคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จภายในปี 2550 โดยตั้งเป้าหมายที่จะเปิดเสรีการค้าอย่างเต็มที่ระหว่างสองภูมิภาคภายใน 10 ปี หลังจากความตกลงดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ อาเซียนเป็นตลาดรองรับสินค้าส่งออกของออสเตรเลียคิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลีย โดยในปี 2546 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียอยู่ในระดับราว 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าผลการเลือกตั้งของออสเตรเลียครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญๆ ของออสเตรเลีย รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลียกับไทยด้วย

ออสเตรเลีย 2547-2548 : เศรษฐกิจมั่นคง หนุนเลือกตั้งสดใส

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากรัสเซีย แคนาดา จีน สหรัฐฯ และบราซิล แต่มีประชากรประมาณ 20 ล้านคนเท่านั้น แม้ออสเตรเลียเป็นตลาดเล็ก แต่มีอำนาจซื้อสูง และถือได้ว่าออสเตรเลียเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่ำ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของออสเตรเลียจะขยายตัวในอัตรา 3.6% ในปี 2547 เทียบกับอัตราเติบโต 3.3% ในปี 2546 และมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยอยู่ในระดับ 3.4% ในปี 2548 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอลงด้วย ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม องค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียจะยังคงเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2548

ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของออสเตรเลียประกอบด้วยภาคบริการมีบทบาทสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วน 79% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ธุรกิจบริการที่สำคัญ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ และบริการทางธุรกิจ (11.6%) ค้าปลีกค้าส่ง (10.2%) ขนส่งและสื่อสาร (7.7%) ก่อสร้าง (6.3%) และการเงินและประกันภัย (6.3%) ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีสัดส่วน 13% ของ GDP สำหรับภาคเกษตรและเหมืองแร่มีสัดส่วนเท่ากันอยู่ในระดับ 4% ของ GDP

ทางด้านการค้าระหว่างประเทศของออสเตรเลีย การส่งออกในปี 2546 คิดเป็นมูลค่า 80,900.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่มูลค่านำเข้า 97,501 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ออสเตรเลียขาดดุลการค้า 16,600.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 ตลาดส่งออกหลักของออสเตรเลีย ได้แก่ ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 18.2% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด สหรัฐฯ (8.8%) จีน (8.4%) นิวซีแลนด์ (7.6%) และเกาหลีใต้ (7.5%) สำหรับแหล่งนำเข้าหลักของออสเตรเลีย ได้แก่ สหรัฐฯ (15.8%) ญี่ปุ่น (12.5%) จีน (11%) เยอรมนี (6.1%) และอังกฤษ (4.2%) สินค้าส่งออกสำคัญของออสเตรเลีย ได้แก่ ถ่านหิน ทองคำ สินแร่เหล็ก น้ำมันดิบ และอลูมิเนียม ส่วนสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ รถยนต์นั่ง คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบเครื่องบิน เป็นต้น

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของออสเตรเลีย นักลงทุนต่างชาติที่สำคัญของออสเตรเลีย ได้แก่ สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 29% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อังกฤษ (23%) ญี่ปุ่น (8%) สิงคโปร์ (5%) และเนเธอร์แลนด์ (4%) ส่วนประเทศที่ออสเตรเลียไปลงทุนโดยตรงที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ (43%) อังกฤษ (22%) นิวซีแลนด์ (12%) อเมริกากลางและแคริเบียน (8%) และฮ่องกง (2%)

สำหรับด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้เปลี่ยนจากการพึ่งพาตลาดยุโรปและสหรัฐฯ และหันมาค้าขายติดต่อกับประเทศในเอเชียมากขึ้น โดยออสเตรเลียดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เน้นระบบการค้าเสรีและเปิดกว้างในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค และเข้าไปมีบทบาทอย่างจริงจังในเวทีการเจรจาการค้าพหุภาคีต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม

ความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับออสเตรเลียจะดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าผู้นำออสเตรเลียคนปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งต่อไปหรือจะเกิดการผลัดเปลี่ยนตัวผู้นำคนใหม่ก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการศึกษา โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

• การค้าไทย-ออสเตรเลีย

ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 11 คิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 12 คิดเป็นสัดส่วน 2.09% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย สำหรับการค้าไทย-ออสเตรเลีย 8 เดือนแรกของปี 2547 (มกราคม-สิงหาคม) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 การส่งออกสินค้าไทยไปออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 15.73% จาก 1,368 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1,583.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 36.18% จาก 994 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1,353.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ยอดเกินดุลการค้าของไทยกับออสเตรเลียใน 8 เดือนแรกของปี 2546 ลดลงจาก 374 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 229.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปี 2547

คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยไปออสเตรเลียจะมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น หลังจากที่ FTA ระหว่างไทย-ออสเตรเลียมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ทั้งนี้สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มสดใส ได้แก่ รถปิกอัพ รถยนต์ขนาดเล็ก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สิ่งทอ/เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ เม็ดพลาสติก ปลาทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง เป็นต้น

• การลงทุนไทย-ออสเตรเลีย

การลงทุนของออสเตรเลียในประเทศไทยยังมีปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศผู้ลงทุนหลักอื่นๆ เม็ดเงินลงทุนของออสเตรเลียในไทยค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปิดเสรีทางการค้าและบริการระหว่างไทยกับออสเตรเลียจะส่งผลให้นักลงทุนออสเตรเลียสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเปิดตลาด และการลด/ขจัดกฎระเบียบทางการลงทุนภายใต้การจัดทำ FTA ระหว่างกัน

สำหรับโครงการของออสเตรเลียที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยใน 8 เดือนแรกของปี 2547 (มกราคม-สิงหาคม) มีมูลค่าการลงทุน 253 ล้านบาท ลดลงถึง 94.88% จากช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่มีมูลค่า 4,942 ล้านบาท เนื่องจากโครงการของออสเตรเลียที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ได้รับอนุมัติโครงการไปแล้วในปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่ นักลงทุนออสเตรเลียเข้ามาขอรับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) จำนวนมาก โดยมีอัตราพุ่งขึ้นถึง 1,391.6% จาก 429.6 ล้านบาท ในปี 2545 เป็น 6,408 ล้านบาท ในปี 2546 กิจกรรมที่ออสเตรเลียขอเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนในไทย ได้แก่ การผลิตสินค้าเกษตร แร่ธาตุและเซรามิค สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องจักร ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า และการบริการต่างๆ

จากการสำรวจของธนาคารโลกเกี่ยวกับประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจมากที่สุดในโลก ออสเตรเลียถือว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับแรกๆ ของโลก โดยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 5 รองจากนิวซีแลนด์ สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฮ่องกง ตามลำดับ การสำรวจครั้งนี้ให้ความสำคัญกับดัชนีบ่งชี้บรรยากาศการทำธุรกิจ 5 ด้าน ได้แก่ (1) การเริ่มต้นธุรกิจ (2) การจ้างงานและปลดพนักงาน (3) การดำเนินการตามสัญญา (4) การขอสินเชื่อ และ (5) การปิดธุรกิจ ทั้งนี้ไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 20 จากประเทศทั่วโลก นับว่าเป็นประเทศอาเซียนอีกหนึ่งประเทศที่ติดอันดับประเทศที่มีบรรยากาศน่าลงทุน นอกเหนือจาก สิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 3

• การท่องเที่ยวไทย-ออสเตรเลีย

นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียเดินทางมาไทยระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2547 มีจำนวน 89,738 คน คิดเป็นสัดส่วน 3.02% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้น 28.32% จากช่วงเดียวกันของปี 2546 คาดว่านักท่องเที่ยวออสเตรเลียที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มกระเตื้องดีขึ้นในปีนี้ หลังจากชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ชะลอการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเดินทางมาเที่ยวไทยด้วย เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายตามแหล่งท่องเที่ยวในต่างแดน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวออสเตรเลียได้รับภัยอันตรายและเสียชีวิตจำนวนมาก

ส่วนนักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปออสเตรเลียในเดือนมกราคม – มีนาคม 2547 มีจำนวน 13,703 คน คิดเป็นสัดส่วน 2.24% ของจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทาง ไปต่างประเทศทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้น 11.51% จากช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่มีจำนวน 12,289 คน

• ออสเตรเลีย – แหล่งศึกษาในต่างประเทศของนักศึกษาไทย

ออสเตรเลียมีจุดเด่นประการหนึ่ง คือ เป็นประเทศที่มีนักศึกษาต่างชาตินิยมเข้าไปศึกษาเล่าเรียนในลำดับต้นๆ รวมทั้งนักเรียนไทยด้วย เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ จากรายงานของ OECD พบว่าประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลียเป็นแหล่งศึกษาที่ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติมากที่สุด โดยนักศึกษาเอเชียส่วนใหญ่มักเลือกศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย สำหรับไทยพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของนักศึกษาไทยที่ไปเรียนต่างประเทศนิยมเดินทางไปเรียนที่สหรัฐฯ รองลงมา ได้แก่ อังกฤษ และออสเตรเลีย การที่เยาวชนไทยไปศึกษาในออสเตรเลียจำนวนมากเป็นการเสริมสร้างความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และทำให้คนออสเตรเลียรู้จักประเทศไทยมากขึ้น

• ก้าวต่อไปของความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า แม้ออสเตรเลียจะเป็นตลาดที่เปิดสำหรับการแข่งขันจากต่างประเทศ แต่ก็มีกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบด้านสุขอนามัย การกักกันโรคพืชและแมลง มาตรฐานสินค้าอาหาร กฎหมายควบคุมอาหารนำเข้า รวมทั้งการตรวจสอบอาหารที่นำเข้าอย่างเข้มงวด ดังนั้น การที่ไทยจัดทำเขตการค้าเสรีกับออสเตรเลียจะมีส่วนช่วยลดอุปสรรคทางการค้าเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้ขยายตัว แต่ไทยคงจะต้องปรับตัวต่อสภาพตลาดในออสเตรเลียที่ประชากรของออสเตรเลียมาจากหลายเชื้อชาติ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multicultural) ทำให้ความต้องการสินค้ามีความแตกต่างกัน อีกทั้งพัฒนาสินค้าไทยให้มีคุณภาพ มีรูปแบบสินค้ารวมทั้งการบรรจุหีบห่อที่ดี และสวยงามสะดุดตา

การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับออสเตรเลียที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2548 ทำให้ไทยมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับออสเตรเลียมากขึ้นทั้งด้านการค้า บริการ และการลงทุน จึงจำเป็นที่ไทยจะต้องศึกษา ทำความรู้จัก และเข้าใจสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับตาดูผลการเลือกตั้งครั้งนี้ของออสเตรเลีย แม้จะคาดว่าผลการเลือกตั้งจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แต่ไทยควรติดตามนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของออสเตรเลียหลังการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที