ไทย & ยุทธศาสตร์การลงทุนข้ามชาติของจีน

ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา จีนไม่เพียงก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ยังได้ผันตัวเองเป็นนักลงทุนข้ามชาติที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่บรรษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียตะวันออกต่างนำเงินลงทุนหลายร้อยพันล้านดอลลาร์เข้าไปลงทุนในจีนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจนทำให้จีนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของโลก นักลงทุนของจีนเองโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่รัฐถือหุ้นก็ได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เงินลงทุนในต่างประเทศของจีนเพิ่มจากมูลค่าเฉลี่ยปีละ 400 ล้านดอลลาร์ในทศวรรษที่ 1980s เป็นปีละ 2.3 พันล้านดอลลาร์ในทศวรรษที่ 1990s และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับจากนั้น จนมีวงเงินลงทุนในต่างประเทศรวมถึงประมาณ 37-40 พันล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2003 โดยทางการจีนได้อนุมัติโครงการลงทุนในต่างประเทศทั้งสิ้นกว่า 7,000 โครงการใน 160 ประเทศ (ไม่รวมการลงทุนในภาคการเงิน) ในกิจการหลากหลายประเภท อาทิ พาณิชยกรรม การขนส่ง เหมืองแร่ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีนโดยมีปริมาณการลงทุนรวมติดอันดับหนึ่งในอาเซียนและอันดับ 5 ของประเทศที่จีนเข้าไปลงทุนทั่วโลก

จีนผันตัวเป็นนักลงทุนข้ามชาติ

การลงทุนข้ามชาติของจีนเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษที่ 1980s หลังเติ้ง เสี่ยวผิงอดีตผู้นำของจีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจโดยนำกลไกตลาดมาใช้ แต่การลงทุนช่วงแรกยังมีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่นับจากทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมาการลงทุนของจีนในต่างประเทศได้ก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากทางการจีนหันมาสนับสนุนวิสาหกิจของจีนทั้งของรัฐและเอกชนให้ไปลงทุนในต่างประเทศอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนทำให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าจีนจำนวนมหาศาลกอปรกับการได้เปรียบดุลการค้าทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมากจนทางการจีนอนุญาตให้ธุรกิจจีนนำเงินตราต่างประเทศออกไปลงทุนในต่างแดนได้ โดยทางการจีนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินกับผู้ส่งออกชั้นนำ 33 รายเพื่อบุกเบิกธุรกิจในต่างประเทศ

การลงทุนในต่างประเทศได้กลายมาเป็นแผนระยะยาวของรัฐบาลจีนโดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 (2001-05) ได้กำหนดให้มีการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้กำหนดเป้าหมายให้วิสาหกิจชั้นนำของประเทศ 500 แห่งขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยหวังว่าจะสามารถผลักดันให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน 50 แห่งติดอยู่ในอันดับบริษัทชั้นนำ 500 แห่งทั่วโลกภายในปี 2015 นอกจากนี้ ทางการจีนยังวางแผนส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดรองลงมาของจีนจำนวน 500 แห่งผันตนเองเป็นวิสาหกิจข้ามชาติในอนาคต แนวทางดังกล่าวทำให้ยอดอนุมัติโครงการลงทุนในต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากมูลค่าเพียง 37 ล้านดอลลาร์ในปี 1982 เป็น 128 ล้านดอลลาร์ในปี 1993 และ 2.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2003 หรือเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในทุก ๆ สิบปี นอกจากนี้ ทางการจีนยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุนโดยลงนามในความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนกับ 103 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งอนุสัญญายกเว้นภาษีซ้อนกับ 68 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการลงทุนในต่างประเทศของจีนเป็นเรื่องยากที่จะประเมิน แม้ว่าตัวเลขเงินลงทุนของจีนที่ประเมินโดย United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) จะมีมูลค่าสูงถึง 36 พันล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2002 แต่ตัวเลขทางการจีนในช่วงเวลาเดียวกันกลับมียอดเพียง 9.34 พันล้านดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเชื่อว่าตัวเลขทางการจีนน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากเป็นการรวมตัวเลขเฉพาะโครงการลงทุนใหม่ที่ขออนุญาตโอนเงินทุนออกจากจีนโดยไม่ได้รวมตัวเลขเงินลงทุนในแบบอื่น ๆ เช่น เงินลงทุนที่มาจากรายรับในต่างประเทศ เงินทุนที่ได้มาจากการระดมทุนนอกประเทศจีน หรือแม้กระทั่งเงินให้กู้ระหว่างบริษัทในเครือ เป็นต้น นอกจากนี้ วิสาหกิจจำนวนมากของจีนได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและใช้ฮ่องกงเป็นฐานการลงทุนของตนทำให้ตัวเลขเงินลงทุนดังกล่าวไม่ได้รับการบันทึกจากทางการจีน

การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของทางการจีนผนวกกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจจีนทั้งในและต่างประเทศทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีนจำนวนมากเติบโตจนกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติชั้นนำในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา โดยบรรษัทข้ามชาติของจีนที่อยู่ใน 50 ลำดับแรกของบรรษัทข้ามชาติในประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มจำนวนจาก 7 บรรษัทในปี 1994 เป็น 12 บรรษัทในปี 2001 อาทิ China Ocean Shipping; China National Offshore Oil Corporation; China State Construction Engineering; China National Petroleum; China Harbour Engineering; Shanghai Baosteel; Haier Group; และ ZTE Corporation เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่งธุรกิจข้ามชาติของจีนกำลังก้าวขึ้นเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ในกลุ่มประเทศโลกที่สามมากขึ้นทุกที

นอกจากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ดังกล่าวแล้ว ธุรกิจข้ามชาติขนาดย่อมของจีนก็มีบทบาทต่อวงการธุรกิจระหว่างประเทศเนื่องจากได้สร้างกระแสการควบรวมกิจการในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เมื่อปี 2003 บริษัท TCL ผู้ผลิตโทรทัศน์ของจีนได้สร้างความงงงันให้กับวงการธุรกิจของยุโรปเมื่อเข้าซื้อบริษัท Thomson ซึ่งเป็นกิจการเก่าแก่ของฝรั่งเศสและยังขยายธุรกิจเข้าไปในเวียดนาม ไทย เยอรมนี โปแลนด์และเม็กซิโก และในปี 2004 นี้กลุ่ม China National Bluestar ของจีนก็ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Ssangyong Motors ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 4 ของเกาหลีใต้ เช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมกลุ่มอื่น ๆ ของจีนได้เข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่ม Huayuan ผู้ผลิตสิ่งทอและเวชภัณฑ์ของจีนได้ลงทุน 300 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดา ไนเจอร์และไทย กลุ่ม Konka ผู้ผลิตโทรทัศน์ชั้นนำอีกรายหนึ่งก็ได้เข้าไปลงทุนผลิตโทรทัศน์ในอินเดีย อินโดนีเซียและเม็กซิโก เป็นต้น

แม้ว่าการลงทุนของจีนจะครอบคลุมถึงประมาณ 160 ประเทศทั่วโลก แต่ร้อยละ 60 ของการลงทุนทั้งหมดได้มุ่งมาที่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย-แปซิฟิก ตามด้วยอเมริกาเหนือ อัฟริกา และละตินอเมริกา โดยฮ่องกงเป็นประเทศที่จีนเข้าไปลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ไทย รัสเซีย เปรู มาเก๊า และเม็กซิโก ในขณะที่การลงทุนของจีนในประเทศพัฒนาแล้วจะเน้นที่ธุรกิจบริการและ ICT การลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาของจีนจะมุ่งไปที่ธุรกิจเหมืองแร่ ทรัพยากรธรรมชาติ และอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ สิ่งทอ รองเท้า รถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ยุทธศาสตร์การลงทุนในต่างประเทศของจีน

นอกเหนือจากการสนับสนุนและผลักดันของภาครัฐแล้ว วิสาหกิจจีนยังมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้พากันขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ได้แก่

1) การเติบโตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จากการบริโภคในประเทศร่วมกับการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับรวมทั้งเป็นช่องทางการขยายตลาด หลายบริษัทถึงกับเข้าควบรวมกิจการท้องถิ่นเพื่อเป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจในประเทศนั้น ๆ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและสามารถจำหน่ายสินค้าในวงกว้างขึ้น ผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายราย เช่น Konka Electronics, Skyworth, Changhong Electronic Groups, Haier และ TCL ต่างมุ่งลงทุนในต่างประเทศเพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าของตนด้วยกันทั้งสิ้น

2). การลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลในจีนในรอบกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการเพิ่มกระแสการแข่งขันของธุรกิจประเภทต่าง ๆ ทำให้วิสาหกิจของจีนเริ่มกระจายความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศ บางกลุ่มธุรกิจซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงก็ได้เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกีดกันทางการค้าของประเทศตะวันตก เช่น กลุ่ม Guanda Import and Export ได้ลงทุนอุตสาหกรรมสิ่งทอในกัมพูชา และกลุ่ม Shanghai Huayuan Group ลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอเช่นกันในไนจีเรียเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป

3).การเติบโตของอุตสาหกรรมของจีนจำเป็นต้องอาศัยวัตถุดิบและพลังงานจำนวนมหาศาลทำให้เกิดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมาก เช่น น้ำมัน เหล็ก แร่ธาตุ เม็ดพลาสติก และสินค้าธัญญพืช ทำให้จีนพยายามสร้างหลักประกันด้านอุปทานสำหรับสินค้าที่จำเป็นให้กับตนโดยการเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เอเชียและอัฟริกา บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของจีน เช่น Sinopec, Petrochina และ China National Offshore Oil ได้เข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ถึง 14 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย คาซักสถาน พม่า ซูดานและเยเมน เป็นต้น ส่วน COFCO และ China Metals and Minerals ก็ได้เข้าไปสำรวจและผลิตแร่อย่างเป็นล่ำเป็นสันในอัฟริกา

4).วิสาหกิจจีนกำลังมุ่งพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างแบรนด์สินค้าระดับสากล ดังนั้นการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วจึงเป็นหนทางหนึ่งในการเรียนรู้เทคโนโลยีชั้นนำของโลก ธุรกิจไฮเทคของจีนหลายกลุ่มถึงกับเข้าควบกิจการในประเทศพัฒนาแล้วเพื่อเป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีทางลัด เช่น BOE Technology เข้าซื้อกิจการของ Hynix Semiconductor ในเกาหลีใต้เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีจอแบน ส่วนกลุ่ม Shanghai Electric ก็ได้ซื้อกิจการ Akiyama Publishing Machinery ของญี่ปุ่น นอกจากการควบรวมกิจการแล้ว วิสาหกิจของจีนยังเข้าไปตั้งหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น ZTE เข้าไปตั้งหน่วย R&D ในสวีเดน ขณะที่ Konka ตั้งหน่วย R&D ที่ Silicon Valley ส่วน Haier เลือกตั้งหน่วย R&D ที่เยอรมนีและศูนย์การออกแบบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่บอสตัน เป็นต้น บางกลุ่มธุรกิจก็อาจร่วมทุนกับหุ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงในประเทศตะวันตก เช่น กรณีการร่วมลงทุนระหว่าง Huawei Technologies กับ Siemens, NEC, Matsushita และ Infineon. เป็นต้น

ทิศทางการลงทุนของจีนในอาเซียน

ในบรรดาแหล่งลงทุนที่สำคัญของจีน นั้น อาเซียนนับเป็นเป้าหมายหลักอันหนึ่งเนื่องจากเหตุผลทางยุทธศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน การลงทุนของจีนในอาเซียนช่วงแรก ๆ ในทศวรรษที่ 1980s นั้น นักลงทุนจีนมุ่งไปที่แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติและวัตถุดิบโดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา ผลิตภัณฑ์ไม้และกระดาษ ต่อมาในทศวรรษที่ 1990s การลงทุนของจีนได้ขยายไปที่การค้าและอุตสาหกรรมเบาต่าง ๆ ต่อมาเมื่ออาเซียนรวมตัวกันเป็นเขตการค้าเสรีในต้นทศวรรษที่ 2000s นักลงทุนจีนจึงเห็นช่องทางในการขยายตลาดสินค้าหลายชนิดและได้ลงทุนผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคในอาเซียนมากขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้การลงทุนรวมของจีนในอาเซียนในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000s มีสัดส่วนรวมร้อยละ 6 ของการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของจีน และเป็นที่น่ายินดีว่าจีนมองเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยโดยเลือกไทยเป็นจุดหมายการลงทุนอันดับหนึ่งในอาเซียน

เมื่อเปรียบเทียบทิศทางการลงทุนของจีนในแต่ละประเทศอาเซียนแล้ว โครงการลงทุนของจีนในแต่ละประเทศจะมีจุดเน้นที่แตกต่างกันขึ้นกับทรัพยากรและวัตถุดิบทางการผลิตในประเทศนั้น ๆ ตลอดจนเงื่อนไขทางการตลาดของอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ โดยภาพรวมจะพบว่าการลงทุนของจีนในมาเลเซียจะมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์ยาง กระดาษและอุตสาหกรรมโลหะ เช่น โครงการผลิตเยื่อกระดาษขนาดใหญ่ที่ซาบาห์ เป็นต้น แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนเริ่มให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในมาเลเซียเนื่องจากฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งที่นั่น ในทางตรงกันข้าม การลงทุนของจีนในฟิลิปปินส์มุ่งไปที่ภาคการค้าทั้งค้าส่งและปลีกสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น สิ่งทอ อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ยาสูบ วัสดุก่อสร้าง ของเล่น เวชภัณฑ์ ผักและผลไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จีนกำลังสนใจภาคการผลิตโดยเฉพาะการลงทุนผลิตรถมอเตอร์ไซค์ในฟิลิปปินส์

สำหรับในสิงคโปร์การลงทุนของจีนจะเน้นไปที่ภาคบริการ โดยเฉพาะบริการทางการเงินและการธนาคารรวมทั้งการขนส่งและการค้า ธนาคารยักษ์ใหญ่ของจีนหลายแห่ง เช่น Bank of China, Agriculture Bank of China, Industrial and Commercial Bank of China และ China Construction Bank ต่างเปิดสาขาในสิงคโปร์ด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ ธุรกิจพลังงานของจีน เช่น China National Petroleum Corporation (CNPC), China National Offshore Oil Corporation (CNOOC) และ Sinopec ต่างจัดตั้งบริษัทค้าน้ำมันในสิงคโปร์ของตนเองเนื่องจากการเป็นศูนย์กลางการค้าน้ำมันที่สำคัญของสิงคโปร์

สำหรับประเทศไทย การลงทุนของจีนค่อนข้างหลากหลายและกระจายในหลายอุตสาหกรรมนับตั้งแต่อุตสาหกรรมเบา เช่น สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมโลหะ ธนาคาร ประกันภัย การค้า โรงแรม ภัตตาคาร อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดย UNCTAD ประเมินว่าจีนมีโครงการลงทุนในไทยทั้งสิ้น 234 โครงการคิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 214.7 ล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2002 อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของไทยประเมินว่าปัจจุบันโครงการลงทุนของจีนในไทยทั้งสิ้นมีจำนวน 235 โครงการคิดเป็นเงินลงทุนรวม 263 ล้านดอลลาร์ ล่าสุดนักลงทุนจีนกำลังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียน กลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของจีน เช่น Haier และ TCL ก็ได้เริ่มทำการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยแล้ว นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ก็เป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่ม Worldbest Group ได้ลงทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ในไทยสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเคมีภัณฑ์ และยังมีแผนขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก เช่น เวชภัณฑ์ เป็นต้น

การขอรับส่งเสริมการลงทุนของจีนในไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2003 นักลงทุนจีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 16 โครงการคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 2,333 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2002 ร้อยละ 12 โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยมีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยโครงการละไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่ง BOI ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 11 โครงการคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 1,464.6 ล้านบาท โครงการดังกล่าวรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยาง บรรจุภัณฑ์พลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า ใยแก้วนำแสง การผลิตไฟฟ้า อัญมณี เครื่องโทรศัพท์ และชุดสายไฟ เป็นต้น

แนวโน้มการลงทุนของจีนในไทย

แนวโน้มการลงทุนของจีนในไทยจะถูกกำหนดด้วยยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับอาเซียน การเจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนในปัจจุบัน ตลอดจนความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้จีนขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นฐานการผลิตการลงทุนตลอดจนฐานการส่งออกสินค้าของจีนไปยังตลาดอาเซียนเนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบการขนส่งทางบกและทางน้ำระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ ตลอดจนความใกล้ชิดทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ แนวโน้มดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นแล้วโดยทางการไทยอนุมัติให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชียงรายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีนซึ่งภาคเอกชนทั้งสองประเทศได้ร่วมลงทุนเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน-คุนหมิง และได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากจีนเข้าจองพื้นที่หลายสิบโครงการ

นอกจากการลงทุนในภาคการผลิตแล้ว โครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของไทยในช่วง 5-6 ปีข้างหน้าก็อาจเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนจีนโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เข้ามาร่วมโครงการดังกล่าว เมื่อต้นปีนี้ก็มีรายงานข่าวว่า China Ocean Shipping Co (Cosco) เจรจาเพื่อร่วมทุนร้อยละ 25-35 ในกิจการไทยเดินเรือทะเลกับภาครัฐและเอกชนของไทย ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างจีนก็ได้มีบทบาทสำคัญในโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานพระราม 8 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่ม CITIC ก็ได้แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในอนาคตของไทย นอกจากนี้ กลุ่มทุนจีนยังให้ความสนใจกับการลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ด้วย อาทิ โครงการ All Seasons Place ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนไทย-จีนขนาดใหญ่ที่อาศัยเงินลงทุนจำนวนมากจากจีน

โครงการขนาดใหญ่ในอนาคตที่คาดว่ากลุ่มนักลงทุนจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญคือโครงการแลนด์บริดจ์ในภาคใต้เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าและน้ำมันระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยเนื่องจากจีนกำลังกระจายเส้นทางการขนส่งวัตถุดิบพลังงานหลาย ๆ เส้นทางด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และความมั่นคง จีนจึงให้ความสนใจโครงการนี้อย่างมากและมีแผนส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลรวมทั้งจาก Sinochem ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุนร่วมกับ ปตท.ของไทยและกลุ่มบรรษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่นและตะวันออกกลางด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการลงทุนของจีนในอาเซียน แต่หลายประเทศก็กำลังหันมาดึงดูดเงินลงทุนจากจีนเช่นกันเนื่องจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของจีนมีความพร้อมที่จะลงทุนในต่างประเทศ กอปรกับการที่จีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมหาศาลจนต้องเข้าซื้อตราสารหนี้จำนวนมากในต่างประเทศทำให้แนวโน้มการลงทุนของจีนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้ เดนมาร์ก มาเลเซีย สก็อตแลนด์ สิงคโปร์ สวีเดน เวลส์และไทยก็ได้เปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในจีนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีน ไทยจึงต้องกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากจีนโดยชูจุดขายที่แตกต่างจากประเทศอื่น นอกจากนี้ ภาคเอกชนของไทยก็ควรพิจารณาร่วมมือกับนักลงทุนจีนเพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น

สรุป

แม้ว่าปริมาณการลงทุนของจีนในต่างประเทศจะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนข้ามชาติของนักลงทุนจากสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น แต่อัตราการขยายตัวได้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 ของโลกและการเติบโตอย่างรวดเร็วของวิสาหกิจจีนทำให้จีนกำลังทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะประเทศเจ้าหนี้และนักลงทุนข้ามชาติระดับแนวหน้าของประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ยิ่งทางการจีนมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจจีนรวมทั้งเผยแพร่แบรนด์สินค้าจีนในระดับสากลด้วยแล้วก็เชื่อได้ว่าการลงทุนข้ามชาติของจีนจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกมาก

การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นแรงดึงดูดการลงทุนที่สำคัญของจีนให้มุ่งมายังอาเซียนและประเทศไทย เนื่องจากจีนมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของจีนสำหรับตลาดอาเซียน คาดว่าการลงทุนของจีนในไทยจะมุ่งไปยังอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ภาคบริการและโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ดังนั้น ธุรกิจของไทยจึงน่าจะพิจารณาเข้าเป็นหุ้นส่วนกับนักลงทุนจีนเพื่อขยายธุรกิจเข้าไปยังอาเซียนและประเทศต่าง ๆ อีกทางหนึ่ง