อุตสาหกรรมพลาสติกไทยผันผวน…ผลกระทบในยุคน้ำมันแพง

สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยในวงกว้าง อุตสาหกรรมพลาสติกนับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะราคาน้ำมันแพงขณะนี้ ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งป้อนวัตถุดิบให้กับการผลิตพลาสติก ดังนั้นต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกจึงแปรผันโดยตรงกับราคาน้ำมันปิโตรเลียมในตลาดโลก

อุตสาหกรรมพลาสติกแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก (ซึ่งคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำ) และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยที่อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกจะนำสารโมโนเมอร์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง มาผลิตเป็นสารโพลีเมอร์ อันได้แก่ เม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ อาทิ โพลีเอทิลีน : PE โพลีโพรพิลีน : PP โพลีสไตรีน : PS และโพลีไวนิลคลอไรด์ : PVC เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งจะผลิตสินค้าพลาสติกนานาชนิด เช่น ถุงและกระสอบพลาสติก เครื่องใช้พลาสติกในบ้านหรือสำนักงาน แผ่นฟิล์ม,ฟอยล์และเทป ส่วนประกอบเครื่องแต่งกาย กล่องหรือภาชนะพลาสติก หลอดและท่อพลาสติก พลาสติกปูพื้นและผนัง ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับผู้บริโภคโดยตรง หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบของสินค้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงและพึ่งพิงซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด แต่บ่อยครั้งที่ทั้ง 2 กลุ่มได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจและความผันผวนต่างๆในตลาดโลกในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะน้ำมันของโลกในขณะนี้ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปปัจจัยหลักๆ ที่ปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมพลาสติกของไทยไว้ดังนี้ :

1. ปัจจัยด้านตลาดโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน

แม้ว่าวิกฤตการณ์น้ำมันราคาแพงจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2547 ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นที่คาดกันว่าภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศปีนี้จะยังคงมีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป ในอเมริกาเหนือ หรือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอีกร้อยละ 8.8-9.0 ในปีนี้ แม้จะลดความร้อนแรงลงจากอัตราขยายตัวที่สูงถึงร้อยละ 9.1 ในปีที่แล้วส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้พลาสติกของโลก

ทั้งที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมและที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์นานาชนิด ท่อพลาสติกที่ใช้ในการก่อสร้าง พลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในบ้านและสำนักงาน ฯลฯ อุปสงค์ต่อสินค้าพลาสติกประเภทต่างๆดังกล่าว ได้ทำให้ปริมาณความต้องการเม็ดพลาสติกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการเม็ดพลาสติกของประเทศจีนเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าพลาสติกหลากหลายชนิด ทั้งที่ใช้บริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออกไปยังตลาดโลก และจากปริมาณความต้องการเม็ดพลาสติกจำนวนมากของจีนนี้ ทำให้จีนต้องมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศปีละจำนวนมากรวมทั้งจากประเทศไทย เนื่องจากปริมาณการผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอต่อการใช้

โดยในปี 2546 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกเม็ดพลาสติกมูลค่ากว่า 2,148 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อนหน้า ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นการส่งออกไปยังประเทศจีนและฮ่องกง มูลค่า 898.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42 ของมูลค่าส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยทั้งหมด และมาในปี 2547 นี้ การส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยก็ยังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าส่งออกกว่า 1,922 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.61 จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว

ทั้งนี้การนำเข้าเม็ดพลาสติกของจีนและฮ่องกงจากไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่า 799.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 47 จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว อุปสงค์เม็ดพลาสติกที่เพิ่มขึ้นมากในตลาดโลกขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน จึงทำให้อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกของไทยในปีนี้ขยายตัวมาก ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่กำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยตลอดปี 2547 นี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40

สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยนั้น ปัจจุบันประมาณร้อยละ 70 ของการผลิตจะเป็นการส่งออกไปยังตลาดโลก และแม้ว่าแนวโน้มการส่งออกจะยังคงมีการขยายตัวอยู่พอสมควร แต่ทว่าภาวะการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกคือจีน และจากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15 ในปี 2547 นี้ เทียบกับที่เติบโตถึงร้อยละ 27.9 ในปีที่แล้ว ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยเท่ากับ 955.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยที่สินค้าพลาสติกบางรายการมีมูลค่าส่งออกชะลอตัวลงจากยอดที่เคยทำไว้สูงในปีที่แล้ว อาทิ ถุงและกระสอบพลาสติก ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญภาวะการแข่งขันมากขึ้นในตลาดโลก อีกทั้งประสบกับมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดถุงพลาสติกของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดสินค้าพลาสติกส่งออกที่สำคัญของไทย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ประเทศจีน(รวมทั้งฮ่องกง)จึงมีบทบาทอย่างมากต่ออุตสาหกรรมพลาสติกไทย ทั้งในการเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของเม็ดพลาสติกจากไทย แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญในตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกแข่งขันกับไทย และในฐานะที่จีนเป็นทั้งผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าพลาสติกรายใหญ่ของโลก ประเทศจีนจึงถือเป็นปัจจัยตัวแปรสำคัญที่กระทบต่ออุตสาหกรรมพลาสติกไทย

2. ปัจจัยด้านภาวะราคาน้ำมันของโลก

ภาวะน้ำมันในตลาดโลกปัจจุบันที่ราคาน้ำมันดิบได้พุ่งสูงถึงระดับ 55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้ส่งผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดต่างๆซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ให้มีระดับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ระดับต้นน้ำ(Upstream) ลงไปถึงระดับปลายน้ำ (Downstream) อันได้แก่ อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกจึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านปริมาณเนื่องจากอุปสงค์ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก และในด้านราคาที่ถีบตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมัน

ภาวการณ์ดังกล่าวเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นหลังจากที่ได้ประสบภาวะซบเซาเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า ให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาแห่งการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขณะนี้ ได้ส่งผลให้โรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งในประเทศไทยมีการขยายกำลังผลิต และบางแห่งมีแผนจะปรับโครงสร้างการผลิตให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้ครบวงจรตั้งแต่ระดับต้นน้ำและกลางน้ำ(อาทิ เอทิลีน โพรพิลีน) ลงไปจนถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ อันได้แก่เม็ดพลาสติกประเภทต่างๆ เช่น เม็ดพลาสติกกลุ่มโพลีเอทิลีน (PE, HDPE, LDPE) โพลีโพรพิลีน (PP) และโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันราคาเม็ดพลาสติกประเภทต่างๆ ในตลาดโลกได้ทะยานขึ้นอย่างมาก

ตัวอย่างเช่น ราคาของเม็ดพลาสติก LDPE, HDPE, PP และ PVC เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1,410 เหรียญสหรัฐ 1,160 เหรียญสหรัฐ 1,160 เหรียญสหรัฐ และ 954 เหรียญสหรัฐต่อตันตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 107 ร้อยละ 87 ร้อยละ 73 และร้อยละ 45 ตามลำดับเทียบกับเมื่อปลายเดือนกันยายนปีที่แล้ว ภาวะราคาเม็ดพลาสติกที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ตามภาวะราคาน้ำมันนี้ ได้ทำให้ผลประกอบการของโรงงานเม็ดพลาสติกรายใหญ่ๆในประเทศดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก ในทางตรงข้ามอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกซึ่งต้องพึ่งพิงวัตถุดิบ คือเม็ดพลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลาย กลับต้องเผชิญกับปัญหา 2 ด้าน คือปัญหาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ทะยานสูงขึ้น นอกเหนือไปจากปัญหาภาวะการแข่งขันของสินค้าพลาสติกในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นดังได้กล่าวไปแล้วในข้อ 1. ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตสินค้าพลาสติกนั้น ต้นทุนวัตถุดิบหรือเม็ดพลาสติกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 50-70 (ขึ้นกับชนิดของสินค้า) ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย จึงแปรผันโดยตรงกับราคาปิโตรเลียมในตลาดโลก และเนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงในตลาดสินค้าพลาสติกของโลก ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถผ่านภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภคได้เท่าที่ควร จึงส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ

ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะการพุ่งขึ้นอย่างมากของราคาเม็ดพลาสติก ยังได้ก่อให้เกิดการเก็งราคาและการเพิ่มปริมาณสต็อกเม็ดพลาสติกในประเทศโดยผู้ขายและผู้ซื้อรายใหญ่ๆบางราย ซึ่งวิตกว่าเม็ดพลาสติกอาจขาดตลาด ส่งผลกระทบต่ออุปทานเม็ดพลาสติกในตลาดบางขณะ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดกลางและเล็กของไทยซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดได้รับผลกระทบ ปัจจัยด้านภาวะน้ำมันจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนอย่างมากต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกไทย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกนับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย สามารถนำรายได้เข้าประเทศด้วยมูลค่าการส่งออกรวม(ทั้งเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์สินค้าพลาสติก) กว่า 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 140,000 ล้านบาทต่อปี ติดอันดับรายการสินค้าออก 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศ อีกทั้งมีการจ้างงานโดยตรงกว่า 130,000 คนและเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในขณะที่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกซึ่งมักจะเป็นโรงงานขนาดกลาง-ใหญ่มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 30 ราย แต่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าพลาสติกส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม รวมทั้งสิ้นมีประมาณ 4,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ๆประมาณ 40-50 รายเท่านั้น

ปัจจุบันในบรรดาผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีอยู่หลากหลายนั้น ได้มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แรงงานมากในการผลิต (Labor Intensive) อาทิ ถุง กระสอบ แผ่นฟิล์มและฟอยล์ และ 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เน้นมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เช่น เครื่องใช้ในบ้านและบนโต๊ะอาหาร เครื่องใช้ในสำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ ส่วนประกอบเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ การพัฒนารูปแบบและคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นสินค้าที่มักจะเน้นตลาดระดับกลางถึงบน

จากความสำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติกดังกล่าว ได้ทำให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการธุรกิจเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยอย่างมีแผนและมีกลยุทธ์ ซึ่งรวมไปถึงการจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้จากภาวะการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีนที่กำลังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจากประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม

ดังนั้น การดำเนินกลยุทธ์ในเชิงรุกอย่างเร่งด่วนนับเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกไทย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่ากลยุทธ์เชิงรุกเพื่อขยายการส่งออกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้านใหญ่ๆ คือ

1. การกระจายการส่งออกไปสู่ตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพ (อาทิ ประเทศในยุโรปตะวันออกและบางประเทศในแอฟริกา)แทนที่จะกระจุกอยู่ในตลาดหลักอย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศยุโรปตะวันตก และออสเตรเลีย

2. การพัฒนาประเภทหรือชนิดของสินค้าใหม่ๆให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการและความนิยมของผู้บริโภคในแต่ละตลาดซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป อันจะเป็นการสร้างจุดเด่นที่แตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์พลาสติกไทย

3. การพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า รวมทั้งการออกแบบ(Design)เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาตราสินค้าหรือ Brand Name อันจะเป็นการขยายตลาดระดับบนให้กับผลิตภัณฑ์พลาสติกไทย แทนที่จะแข่งขันในตลาดกลาง-ล่างกับจีนซึ่งได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า จากการที่ต้นทุนปิโตรเลียมซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าพลาสติกนับวันจะมีราคาแพงขึ้น ดังนั้น การพัฒนาสินค้าพลาสติกให้มีมูลค่าเพิ่ม(Value Added)สูงขึ้น จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกไทย