ปาล์มน้ำมัน : พืชเศรษฐกิจ…ที่น่าจับตามอง

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่น่าจับตามอง นอกจากจะเป็นพืชน้ำมันที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคและเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายอุตสาหกรรม เช่น สบู่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน เนยเทียม ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคตปาล์มน้ำมันยังจะมีบทบาทสำคัญในการใช้ผลิตไบโอดีเซล ซึ่งคาดว่าจะเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันในอนาคตอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯได้ร่วมมือกับจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญ ในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่จะเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีมากขึ้น เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและเพียงพอกับการผลิตไบโอดีเซล โดยการส่งเสริมปลูกปาล์มพันธุ์ดีแทนในที่สวนยางเก่า และต้นปาล์มอายุมาก รวมทั้งที่นารกร้าง นอกจากนี้ยังจะเน้นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของความต้องการผลผลิตปาล์มน้ำมันสำหรับใช้เป็นพลังงานทดแทนในอนาคต

การผลิตปาล์มน้ำมันในตลาดโลก

ปัจจุบันมีประเทศที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 42 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับว่าแตกต่างจากพืชน้ำมันประเภทอื่นๆที่มีการปลูกกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เนื่องจากพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมันจะอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 10 องศาเหนือ-ใต้เส้นศูนย์สูตร หรืออย่างสูงไม่เกิน 20 องศาเหนือ-ใต้เส้นศูนย์สูตร การผลิตปาล์มน้ำมันขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันหลักของโลกคือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 21.1 ล้านไร่และ 15.0 ล้านไร่ตามลำดับ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.3 และ 22.2 ของพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมันรวมของโลก ส่วนประเทศไทยยังนับว่ามีปริมาณการผลิตน้อยมาก โดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 1.4 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02 ของพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตของโลก อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจคือ การเพิ่มผลผลิตทะลายปาล์มน้ำมันของไทยเฉลี่ยต่อไร่ในช่วงปี 2530-2545 เพิ่มสูงกว่าประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายอื่นๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ของไทยน่าจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้อีกจนใกล้เคียงกับมาเลเซียในช่วงระยะ 3-6 ปีข้างหน้า

ในบรรดากลุ่มพืชที่ให้น้ำมันที่สำคัญในตลาดโลกมี 4 พืช คือ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง เรปซีดและทานตะวัน เมื่อเทียบราคาต้นทุนการผลิตแล้วจะพบว่าปาล์มน้ำมันมีต้นทุนการผลิตต่ำ เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นมีโอกาสเสี่ยงต่อผลกระทบจากภัยธรรมชาติน้อย เมื่อเทียบกับพืชอายุสั้นอื่นๆ ลงทุนเพียงครั้งเดียว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานประมาณ 20 ปี นอกจากนี้การที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกปีนั้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ปาล์มน้ำมันมีต้นทุนการผลิตต่ำผลผลิตต่อพื้นที่สูง ราคาซื้อขายในตลาดไม่สูง เสี่ยงต่อการเสียหายจากภัยธรรมชาติน้อย สามารถผลิตในปริมาณมากเพื่อรองรับความต้องการของการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกได้ พื้นที่ปลูกได้ในโลกนี้มีจำกัด ประเทศไทยอยู่ตรงจุดที่ได้เปรียบและสามารถปลูกได้ดี ประกอบกับน้ำมันปาล์ม ประกอบด้วยกรดไขมันหลายชนิด อุดมด้วยวิตามินอี และวิตามินเอ ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้สามารถสกัดและนำมาใช้ประโยชน์เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมที่ใช้โอเลฟินเป็นวัตถุดิบ และอื่นๆ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกหลากหลาย

ผลผลิตเพิ่ม…ตามยุทธศาสตร์ขยายพื้นที่ปลูก

ในปี 2547 เนื้อที่ให้ผลปาล์มน้ำมัน 1.869 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.9 หรือเพิ่มขึ้น 69,358 ไร่ ผลผลิตประมาณ 5.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 371,987 ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในปัจจุบันที่มีความต้องการน้ำมันปาล์มประมาณ 10.81 ล้านตันต่อปี

ตั้งแต่ปี 2542 รัฐบาลส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกและสนับสนุนให้ปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีเพื่อทดแทนต้นปาล์มพันธุ์ไม่ดีที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ประกอบกับราคาผลปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันรัฐบาลมียุทธศาสตร์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันปี 2547–2572 เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันปาล์มเคียงคู่ผู้นำในระดับโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมทั้งนโยบายกำหนดให้ปาล์มน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานทดแทนของประเทศ ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 10 ล้านไร่ในปี 2572 โดยจะปลูกเพิ่มปีละ 400,000 ไร่ แบ่งระยะเวลาดำเนินการเป็น 5 ระยะๆละ 5 ปี ในช่วง 5 ปีแรกตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศจาก 2.04 ล้านไร่ในปี 2547 เป็น 3.67 ล้านไร่ ในปี 2552 คาดการณ์ผลปาล์มสดเพิ่มขึ้นเป็น 6.54 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1.18 ล้านตัน โดยจะดำเนินการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีในเขตนาร้าง 0.888 ล้านไร่ ไร่ร้าง 0.156 ล้านตัน และปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพาราในเขตที่ไม่เหมาะสมในการปลูกยางพารา 0.462 ล้านไร่ และจะเร่งรัดพัฒนาสวนปาล์มน้ำมันเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมจากการแปรรูปอย่างง่ายเป็นการแปรรูปมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อทดแทนพลังงานที่มีราคาแพงในขณะนี้ นอกจากนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งชาติเพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเมืองปาล์มน้ำมันเพื่อเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยหรือทดสอบว่าจะสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้หรือไม่ ยกเว้นในเขตจังหวัดภาคใต้และภาคตะวันออก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาทดสอบแล้วว่าสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้เหมาะสมทั้งในด้านพื้นที่ ลักษณะของดินและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ดังนั้นหากจะขยายการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิจัยถึงความเหมาะสมของพื้นที่สภาพดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะความเพียงพอของปริมาณน้ำฝน

ทั้งนี้ปาล์มน้ำมันเหมาะสมกับการปลูกในเขตที่มีฝนตกชุก หากนำไปปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีช่วงแล้งยาวนาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อสภาพต้นปาล์มโตช้าและให้ผลผลิตต่ำ ซึ่งเคยมีการศึกษาปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสรุปว่าการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะให้น้ำมันปาล์มเพียงร้อยละ 10-12 ต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับการปลูกในภาคใต้และภาคตะวันออกที่ให้น้ำมันประมาณร้อยละ 19-20 ต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าความคุ้มทุนแตกต่างกันมาก นอกจากนี้หากมีการปลูกมากจะมีปัญหาล้นตลาดได้ รวมทั้งหากสนับสนุนให้ปลูกกันมากในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้จากพื้นที่เหล่านี้มีต้นทุนสูงขึ้นอีก

ความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม…หลากอุตสาหกรรมรองรับ

เมื่อได้ผลผลิตทะลายปาล์มน้ำมันเกษตรกรส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ หลังจากนั้นโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบส่งต่อให้กับโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของหลากหลายผลิตภัณฑ์ทั้งด้านบริโภคและอุปโภค โดยอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปาล์มน้ำมันจำแนกออกได้เป็น 8 ประเภทคือ อุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคในรูปของน้ำมันพืช(มีสัดส่วนร้อยละ 58.6 ของปริมาณน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ทั้งหมด) โดยน้ำมันปาล์มมีส่วนแบ่งตลาดน้ำมันพืชในประเทศไทยร้อยละ 66 รองลงมาเป็นส่วนแบ่งการตลาดของน้ำมันถั่วเหลือง มะพร้าวและอื่นๆ เท่ากับร้อยละ 17 , 5 และ 12 ตามลำดับ อุตสาหกรรมสบู่(ร้อยละ 10.1) อุตสาหกรรมของว่างและขนมขบเคี้ยว(ร้อยละ 9.4) อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป(ร้อยละ 6.4) อุตสาหกรรมนมข้นหวานและนมจืด(ร้อยละ 4.8) อุตสาหกรรมครีมเทียม(ร้อยละ 1.4) อุตสาหกรรมเนยขาวและเนยเทียม(ร้อยละ 1) และอุตสาหกรรมอุปโภคอื่นๆ เช่น พลาสติก เครื่องสำอาง น้ำมันหล่อลื่น ยางรถยนต์ เป็นต้น (ร้อยละ 8.3)

ปัจจุบันไทยผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณปีละ 700,000-800,000 ตัน โดยการบริโภคส่วนใหญ่เป็นน้ำมันพืช ที่เหลือใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยการบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่การผลิตเพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นไปตามสัดส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบได้ในอนาคต แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาถูกกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ และยังไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย

สถานภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้ต้องพึ่งพิงการนำเข้าภายใต้การอนุมัติเป็นครั้งคราว ซึ่งทางรัฐบาลกำหนดข้อจำกัดด้านปริมาณและระยะเวลานำเข้าในแต่ละปี รวมทั้งการนำเข้าภายใต้โควตาการเปิดตลาดตามพันธผูกพันกับองค์การการค้าโลก อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้วความต้องการน้ำมันปาล์มส่วนเกินในแต่ละปีได้ถูกชดเชย จากการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศมีส่วนต่างจากราคาน้ำมันปาล์มมาเลเซียสูง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศมีความผันผวน

นอกจากนี้ในระยะหลังผู้ค้าน้ำมันปาล์มบางรายอาศัยการควบคุมที่ไม่เข้มงวดลักลอบนำน้ำมันปาล์มบางส่วนที่นำเข้าเพื่อส่งออกมาขายในประเทศ จากเดิมที่การนำเข้าเพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่สาม เช่น จีน พม่า อินเดีย เป็นต้น โดยมีปัจจัยสองประการที่เกื้อหนุนจากราคาน้ำมันปาล์มกลั่นสำเร็จรูปในมาเลเซียมีราคาถูกกว่าน้ำมันปาล์มกลั่นในไทยค่อนข้างมาก และกฎระเบียบต่างๆที่เปิดโอกาสให้หาประโยชน์จากส่วนนี้ได้ เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ปล่อยให้ผู้ค้าบางรายใช้เขตส่งเสริมการส่งออกในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม นำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาขายในประเทศแข่งกับโรงกลั่นน้ำมันปาล์มในประเทศ เป็นต้น นับว่าเป็นช่องทางที่ทำให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มมากขึ้นอย่างผิดปกติโดยเฉพาะในปี 2546 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปาล์มในประเทศกระเทือนเป็นลูกโซ่ตั้งแต่โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์เรียกประชุมส่วนราชการและเอกชนกำหนดว่าตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2547 กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มต้องรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบในประเทศด้วย นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และจะช่วยบรรเทาปัญหาความผันผวนของราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ

การแปรรูปน้ำมันปาล์ม การใช้ประโยชน์เนื้อไม้จากต้นปาล์ม และวัสดุพลอยได้อื่นๆในไทยยังมีการวิจัยและพัฒนาน้อยมาก ซึ่งเท่ากับว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านการแปรรูปเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่านั้นยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ซึ่งหากไทยสามารถแก้ไขจุดอ่อนนี้ได้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นอกจากนี้ปาล์มน้ำมันนับว่าเป็นพืชน้ำมันที่มีความโดดเด่น เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันปาล์มในประเทศมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพืชน้ำมันประเภทอื่นๆ รวมทั้งยังเป็นพืชน้ำมันที่สร้างรายได้ในการส่งออกสูงที่สุดในบรรดาพืชน้ำมันทั้งหมดอีกด้วย อย่างไรก็ตามน้ำมันปาล์มที่สกัดจากเมล็ดในยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในประเทศ ทั้งๆที่เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่นเดียวกับน้ำมันมะพร้าว ดังนั้นไทยควรหันมาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากน้ำมันปาล์มที่สกัดจากเมล็ดใน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แทนการส่งออก

ไบโอดีเซล…พลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์ม

ไบโอดีเซลได้จากการเอาน้ำมันพืชมาผสมกับแอลกอฮอล์ การทดลองใช้ไบโอดีเซลมีการศึกษามานานแล้ว และในหลายประเทศได้ผลิตเป็นการค้าแล้ว เช่น ประเทศในแถบยุโรปและแคนาดาจะใช้น้ำมันจากเรปซีด(rapeseed) สหรัฐฯใช้จากถั่วเหลือง มาเลเซียนำน้ำมันปาล์มดิบมาผลิตเป็นไบโอดีเซลใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ เป็นต้น การนำน้ำมันปาล์มผสมกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วนที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้สามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ได้ประมาณการความต้องการไบโอดีเซลทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตันในปี 2545 เป็น 18 ล้านตัน ในปี 2563 ซึ่งกระทรวงพลังงานของไทยได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการผลิตไบโอดีเซล 176 ล้านลิตรในปี 2549 และ 722 ล้านลิตรในปี 2554

กระบวนการนำน้ำมันปาล์มมาทำไบโอดีเซลเป็นเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน เพราะใช้ได้ทั้งน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ โดยเฉพาะการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพียงแค่เติมสารปรุงแต่ง ตามหลักการทางเคมีก็จะได้ไบโอดีเซลประมาณร้อยละ 78-80 ซึ่งไปใช้เป็นน้ำมันดีเซลหรือผสมน้ำมันดีเซลใช้กับรถยนต์หรือเครื่องจักรกลต่างๆได้อีกร้อยละ 20 จะได้กรีเซอรัล(Glyceral)นำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆได้อีก เช่น อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น

ปัจจุบันในประเทศมีโรงงานต้นแบบไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันอยู่ 2 แห่ง ดังนี้

1.โรงงานต้นแบบของกองทัพเรือ

ซึ่งมีการวางแผนอนาคตจะวิจัย ผลิต และใช้ไบโอดีเซลอย่างครบวงจร โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ก๊าซเอ็นจีวีกับเครื่องยนต์ดีเซลฯ ของกองทัพเรือ โดยใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มเถื่อนที่ทางกรมศุลกากรยึดได้ ซึ่งมีกำลังผลิตได้ 2 พันลิตร/วัน และอนาคตมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้สูงขึ้น ในระดับ Value chain ให้ครบวงจร เช่น การใช้กรีเซอรัล(Glyceral) คือผลพลอยได้จากการผลิตไบโอดีเซลมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นต้น ในระยะยาวทางกองทัพเรือจะเริ่มปลูกปาล์มตามพื้นที่ฐานทัพริมทะเลต่างๆเพื่อเป็นวัตถุดิบ พร้อมทั้งจะนำโครงการนี้ไปสาธิตเทคโนโลยีให้กับประชาชนและ สหกรณ์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

2.บริษัทราชา-ไบโอดีเซล จำกัด จังหวัดสุราษฏร์ธานี เ

ป็นของเอกชนที่ต้องการเป็นผู้บุกเบิก โรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาตั้งแต่ปี 2544 ช่วงที่วัตถุดิบอย่างมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน มีราคาถูก โดยกองทัพเรือสนับสนุนด้านเทคนิคความรู้ แต่เวลานี้ปัญหาวัตถุดิบมีราคาสูง แต่บริษัทก็จะยังคงผลิตน้ำมันไบโอดีเซลต่อไป เพราะต้องการเป็นบริษัทต้นแบบแห่งแรกที่ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนของประเทศ รับซื้อน้ำมันที่ใช้แล้ววันละ 20 ตัน ตกกิโลกรัมละ 12–13 บาท ผลิตเป็นไบโอดีเซลได้ 20,000 ลิตร/วัน เมื่อนำไปผ่านกระบวนการผลิตแล้วจะตกอยู่ที่ราคา 20–25 บาท/ลิตรใช้กับเรือข้ามฟาก 11 ลำ ผสมในสัดส่วนร้อยละ 50–100 แต่ไม่ได้ขายในเชิงพาณิชย์เพราะต้นทุนการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์สูง หากอนาคตรัฐบาลสนับสนุนเหมือนญี่ปุ่นที่บังคับให้ประชาชนต้องเก็บน้ำมันพืชที่ใช้แล้วคืนให้กับโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โอกาสทางธุรกิจก็จะมีมากขึ้น

การกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายให้ใช้ไบโอดีเซลร้อยละ 3 ของการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมดในปี 2554 หรือวันละ 2.4 ล้านลิตร โดยกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลจะส่งเสริมให้ใช้ไบโอดีเซลในร้อยละ 2 ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในกลุ่มเป้าหมายแรก คือกลุ่มรถบรรทุกโดยกำหนดให้ผสมไบโอดีเซลร้อยละ 2 ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำมันปาล์มประมาณวันละ 1.6 ล้านลิตร โดยจะบังคับใช้ในพื้นที่เฉพาะในปี 2549-2553 จากนั้นในปี 2554 เป็นต้นไปจะบังคับใช้ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการผลิตไบโอดีเซลเวลานี้คือวัตถุดิบ ถ้าจะใช้น้ำมันไบโอดีเซลทั้งระบบต้องใช้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันถึง 7 ล้านไร่ จากที่มีอยู่ปัจจุบันประมาณ 2 ล้านไร่เท่านั้น ดังนั้นกลยุทธ์การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการผลักดันโครงการไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน

ต้นทุนการผลิตสูงและการเปิดเขตการค้าเสรี…ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

แม้ว่าแนวโน้มในอนาคตของปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อเนื่องนับว่าสดใส เนื่องจากมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลากหลายประเภทรองรับ ทั้งการบริโภคในลักษณะเป็นน้ำมันพืช และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท รวมทั้งความต้องการในธุรกิจไบโอดีเซลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนอีกด้วย ทำให้ไทยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับการขยายความต้องการของน้ำมันปาล์ม แต่ปัญหาสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในอนาคต มีดังนี้

1.ต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับมาเลเซีย

เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันเช่นเดียวกัน ไทยยังมีข้อเสียเปรียบในด้านต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า กล่าวคือต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันอยู่ในระดับต่ำราว 0.8-1.00 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของไทยสูงถึง 1.85-1.92 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจาก

– ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดเกิดจากการขยายพื้นที่ปลูก ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทั้งนี้เนื่องจากเกือบครึ่งของปาล์มน้ำมันที่ปลูกทั่วประเทศเป็นสายพันธุ์ปาล์มคุณภาพต่ำทั้งในด้านผลผลิตต่อไร่และสัดส่วนการให้น้ำมันที่อยู่ในระดับเฉลี่ยเพียงร้อยละ 15-17 เท่านั้น เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตและมีแผนพัฒนาปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา มีการลงทุนปลูกสวนปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่และมีโรงสกัดน้ำมันในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่ครบวงจร รวมทั้งขยายการลงทุนไปยังอินโดนีเซียอีกด้วย ทำให้มาเลเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและรายใหญ่ที่สุดของโลก

ข้อได้เปรียบของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมาเลเซีย เริ่มตั้งแต่สภาพอากาศเหมาะสมมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอในช่วงที่ปาล์มต้องการ โดยเฉพาะช่วงที่ออกผลปาล์มที่ปลูกเป็น “พันธุ์แท้” มีอัตราการให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยเกือบสองเท่า ผลปาล์มมีเปอร์เซ็นต์การให้น้ำมันสูงในทุกช่วงอายุ และมีการวางแผนการผลิตอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้น โดยมีการโค่นต้นปาล์มทิ้งเมื่ออายุก่อนถึง 20 ปี และปลูกทดแทนอย่างต่อเนื่อง ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีการลงทุนผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่สวนปาล์มน้ำมันไปจนถึงโรงกลั่นน้ำมันภายในบริษัท/กลุ่มบริษัทเดียวกัน จึงสามารถวางแผนการผลิตและควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การที่สวนปาล์มของมาเลเซียมีผลผลิตต่อไร่และเปอร์เซ็นต์การให้น้ำมันสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันอยู่ในระดับต่ำราว 0.8-1 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของไทยสูงถึง 1.85-1.92 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นนอกจากมาเลเซียจะเป็นยักษ์ใหญ่ในด้านการผลิตน้ำมันปาล์มโลกแล้ว ยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาจากกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

– แม้ว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของไทยปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับมาเลเซีย คือ 11.50 บาทต่อกิโลกรัมและ 10.80 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ แต่ต้นทุนน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ของไทยยังสูงกว่า เพราะการผลิตของไทยนั้นเพื่อการบริโภคโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องผลิตน้ำมันปาล์มคุณภาพสูง เนื่องจากต้องแข่งขันกับน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคในครัวเรือน กล่าวคือน้ำมันปาล์มของไทยต้องมีการแยกไขออกมากกว่าน้ำมันปาล์มที่ผลิตในมาเลเซีย ทำให้น้ำมันปาล์มของมาเลเซียมีสีเข้มและมีไขปนมากกว่าของไทย แต่เกรดน้ำมันต่ำกว่า

อย่างไรก็ตามข้อได้เปรียบของมาเลเซียคือ มีตลาดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไขมันพิเศษ(Specialty Fat)และโอเลโอเคมีคอล(Oleochemical) ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในมาเลเซียมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในไทย อย่างไรก็ตามข้อเสียเปรียบของมาเลเซียคือ ราคาน้ำมันดีเซลของมาเลเซียอยู่ในเกณฑ์ต่ำไม่คุ้มที่จะนำมาผลิตไบโอดีเซล แต่ในกรณีของไทยนั้นการนำเอาน้ำมันปาล์มมาผลิตไบโอดีเซลนั้นคุ้มกว่าการแยกไขจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์

ดังนั้นการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลจากผลพลอยได้ของน้ำมันปาล์ม เช่น น้ำมันสเตียริน กรดไขมันปาล์ม เป็นต้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ของไทยใกล้เคียงกับมาเลเซียมากยิ่งขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้การผลิตไบโอดีเซลจะช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล เนื่องจากไบโอดีเซลจัดเป็นอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอลขั้นพื้นฐาน(Basic Oleochemical) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆจากโอเลโอเคมีคอล ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่น ยา และเครื่องสำอาง

2.ผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี

เนื่องจากปัจจุบันไทยสามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้ในระดับที่เพียงพอกับการใช้ในประเทศเท่านั้น ซึ่งในบางปียังต้องพึ่งพาการนำเข้า (ในบางปีก็ส่งออกด้วยแต่นับว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก) ดังนั้นอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยอยู่ในลักษณะของการตั้งรับเพื่อปรับตัวให้สามารถแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตทั้งจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง กล่าวคือ การเปิดเขตการค้าเสรีกรณีอาฟต้าทำให้ผู้ที่เกี่ยวกับกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รองลงมาคือ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ นอกจากนี้ในอนาคตการเปิดเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการผลิตปาล์มน้ำมัน เนื่องจากอาจจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเมล็ดและน้ำมันถั่วเหลืองที่สหรัฐฯเป็นประเทศที่ผลิตได้มากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตามจากการเปรียบเทียบการผลิตปาล์มน้ำมันระหว่างไทย อินโดนีเซียและมาเลเซียแล้วพบว่า ปัจจุบันผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของไทยสูงกว่าอินโดนีเซีย แต่ยังต่ำกว่ามาเลเซีย การเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปน้ำมันปาล์มและวัสดุพลอยได้อื่นๆจากปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นั้นยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของไทย เนื่องจากไทยไม่มีการแปรรูปน้ำมันปาล์มแยกระหว่างน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม ทำให้การใช้ประโยชน์น้ำมันปาล์มของไทยยังไม่กว้างและสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่ากับมาเลเซีย

ผลประกอบการของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบและโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ยังอยู่ในระดับที่ได้เปรียบเมื่อเทียบกับมาเลเซีย เนื่องจากทั้งราคาน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับมาเลเซีย แต่ในระยะยาวการที่ราคาผลปาล์มดิบที่เกษตรกรขายได้ของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยเสียเปรียบเกษตรกรมาเลเซีย อย่างมาก ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อลดส่วนต่างระหว่างราคาทะลายปาล์มสด ราคาน้ำมันปาล์มดิบ และราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ให้อยู่ในระดับที่ทุกขั้นตอนการผลิตสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย

ศักยภาพในอนาคต…ฝากความหวังกับยุทธศาสตร์การพัฒนา

ปาล์มน้ำมันนับว่าเป็นพืชน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคโดยตรงในรูปของน้ำมันพืช และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพและโอกาสในการใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบนั้นเพื่อทดแทนไขมันจากสัตว์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปริมาณคลอเรสเตอรอล ทดแทนการใช้น้ำมันพืชที่มีราคาแพง และใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ น้ำมันปาล์มมีความได้เปรียบน้ำมันพืชประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นน้ำมันพืชที่ประกอบด้วยกรดไขมันหลายชนิด ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีโอกาสและศักยภาพคือ อุตสาหกรรมอาหารหลากหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมนมแปลงไขมัน อุตสาหกรรมผลิตเนยโกโก้เทียม อุตสาหกรรมน้ำมันสำหรับฉีดพ่นผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขบเคี้ยว คุกกี้และบิสกิต อุตสาหกรรมไขเทียมและน้ำมันสำหรับผลิตเนยเทียมและเนยขาว เป็นต้น

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ทั้งภาครัฐบาลและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต้องเร่งแก้ไข คือ

1.การพัฒนาเพื่อยกระดับเปอร์เซนต์การสกัดน้ำมันปาล์มดิบ

เนื่องจากโดยปกติการสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยจะอยู่ในระดับร้อยละ 14-16 ในขณะที่มาเลเซียนั้นมีการสกัดน้ำมันปาล์มดิบร้อยละ 17-19 ซึ่งในการยกระดับการสกัดน้ำมันปาล์มดิบนี้ต้องเริ่มตั้งแต่เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะพันธุ์และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดน้ำมันของโรงงาน

2.การจัดรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลปริมาณการผลิต การส่งออก การนำเข้า และราคาผลิตภัณฑ์หลักอย่างเป็นระบบ

และมีการจำแนกผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับมาเลเซีย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการวางแผนกำหนดนโยบายปาล์มน้ำมันของไทย เนื่องจากในปัจจุบันไทยยังขาดข้อมูลที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของปาล์มน้ำมัน เช่น ข้อมูลน้ำมันปาล์มดิบไม่สามารถจะทราบได้ว่าเป็นน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดจากเนื้อปาล์มชั้นนอก(หีบแยก) หรือสกัดจากผลปาล์มรวมกัน(หีบรวม) ส่วนข้อมูลที่ระบุว่าเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์นั้นควรมีการแยกประเภทน้ำมันเช่นเดียวกับมาเลเซีย โดยแยกเป็น RBD Plam Olein , RBD Plam Stearin ,PFAD (Plam Fatty Acid Destillate) และมีการเก็บข้อมูลราคาแยกด้วยเช่นกัน ซึ่งน้ำมันแต่ละประเภทนั้นนำไปใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องแยกประเภทกัน การแยกข้อมูลประเภทของน้ำมันปาล์มแต่ละประเภทอย่างชัดเจนสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยได้อีกมาก

นอกจากนี้ข้อมูลที่สำคัญเช่นกันคือข้อมูลต้นทุนการผลิต ตั้งแต่ระดับการผลิตปาล์มน้ำมัน การสกัดน้ำมันปาล์ม และการกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายพัฒนาปาล์มน้ำมันของไทย ดังนั้นการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์นับว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งระบบของไทย

บทสรุป

ปาล์มน้ำมันจัดว่าเป็นพืชน้ำมันที่มีอนาคตสดใสและมีแนวโน้มการขยายตัวของความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับบรรดาพืชน้ำมันอื่นๆ เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ต้องการปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบ ทั้งน้ำมันพืชเพื่อการบริโภค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ การวางยุทธศาสตร์ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล นับว่าเป็นขยายอุตสาหกรรมรองรับปาล์มน้ำมันในการใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตามไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงมากขึ้นจากน้ำมันปาล์มนำเข้าเมื่อไทยต้องเปิดเสรีทางการค้า โดยนอกจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับการผลิตไบโอดีเซลแล้ว ไทยยังมีโอกาสในการปรับการผลิตปาล์มน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ การเพิ่มเปอร์เซนต์การให้น้ำมัน การแยกประเภทของน้ำมันปาล์ม(น้ำมันจากเนื้อและเมล็ดใน) ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะเป็นการขยายประเภทของอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มในประเทศได้อีกอย่างหลากหลาย