ลอยตัวราคาน้ำมันเบนซิน : ใครได้…ใครเสีย

ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินจำหน่ายปลีกภายในประเทศแล้วเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ในวันที่ประกาศลอยตัวนี้มีราคาลิตรละ22.39 บาท และเบนซินออกเทน 91มีราคาลิตรละ 21.59บาท ทำให้ราคาเบนซินทั้งสองประเภทนี้สูงขึ้นจากเมื่อตอนก่อนประกาศลอยตัวลิตรละ60สตางค์

ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลยังคงยืนในระดับราคาเดิมที่ลิตรละ14.59บาท ซึ่งจากวันที่ประกาศลอยตัวนี้ ราคาน้ำมันเบนซินที่แท้จริงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาที่ประกาศลอยตัวอยู่เล็กน้อย ทำให้ยังคงมีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมัน โดยเบนซินออกเทน 95 มีเงินไหลเข้าลิตรละ30 สตางค์และเบนซินออกเทน 91 มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 21 สตางค์

การตัดสินใจปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินของรัฐบาลในครั้งนี้ เป็นการเลือกจังหวะที่เหมาะสมกับตลาดน้ำมันโลก เพราะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันโลกเริ่มปรับตัวลดลง(ในระยะสั้น)ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อประชาชนที่นอกจากจะใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลงแล้ว รัฐบาลก็ไม่ต้องตรึงราคาน้ำมันเบนซินจนสร้างภาระด้านการคลังอีกต่อไป การปรับราคาน้ำมันตามภาวะตลาดน้ำมันโลกยังจะส่งผลดีต่อประเทศโดยรวมด้วย เพราะเมื่อน้ำมันแพงประชาชนก็จะใช้น้ำมันอย่างประหยัดและระมัดระวัง แต่ถ้ารัฐบาลยังคงตรึงราคาเอาไว้ ก็จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าน้ำมันยังมีราคาถูกจากการที่รัฐบาลให้การชดเชยราคาอยู่นั่นเอง ทำให้การใช้น้ำมันเป็นไปอย่างฟุ่มเฟือย เป็นภาระหนักของประเทศที่ต้องใช้จ่ายเงินนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้ว่าเพียงช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเป็นมูลค่าที่สูงถึง 338,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 40% คาดว่าตลอดปี2547นี้มูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศจะพุ่งขึ้นถึงระดับ500,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2546ถึงกว่า 30 %

ย้อนรอยอดีต : ก่อนลอยตัวเบนซิน…ขยับเพดานราคาถึง 9 ครั้ง

รัฐบาลได้ประกาศตรึงราคาน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลมาตั้งแต่วันที่10 มกราคม 2547 เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพง ดูแลภาวะเงินเฟ้อไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น และป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการค้าฉกฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าโดยอ้างต้นทุนสูงจากราคาน้ำมันแพง นอกจากนี้ ยังต้องการดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวไปอย่างมีเสถียรภาพที่มั่นคง รัฐบาลจึงตรึงราคาน้ำมันเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี 2547 เรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาสที่ 1 ของปี 2547 เป็นต้นมา ทำให้รัฐบาลตัดสินใจค่อยๆขยับเพดานราคาน้ำมันเบนซินแบบค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 60 สตางค์ต่อลิตรตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547ถึง 20 ตุลาคม 2548 รวม 9 ครั้งด้วยกัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินขยับเพิ่มขึ้นไปจากฐานเดิม ณ วันที่ 9 มกราคม 2547 ถึงลิตรละ 4.80 บาท และการปรับราคาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 ก็เป็นการประกาศลอยตัวน้ำมันเบนซินไปพร้อมๆกันด้วยในคราวเดียวกัน ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไปราคาน้ำมันเบนซินในประทศจะปรับขึ้น-ลงอย่างเสรีตามกลไกราคาตลาดโลก แต่ทั้งนี้รัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปอีกอย่างน้อยก็ให้ผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวไปแล้วคือประมาณเดือนมีนาคม 2547 ดังนั้น ราคาน้ำมันล่าสุดหลังประกาศลอยตัวเบนซินแล้วจึงเป็นดังนี้

น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลิตรละ22.39 บาท เพิ่มขึ้นจากก่อนประกาศลอยตัวคือในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 มีราคาลิตรละ21.79 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 60 สตางค์

น้ำมันเบนซินออกเทน 91 มีราคาลิตรละ21.59 บาท จากราคาวันที่ 19 ตุลาคม 2547ที่ลิตรละ20.99 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 60 สตางค์

น้ำมันดีเซลหมุนเร็วยังคงราคาเดิมของวันที่ 10 มกราคม 2547ที่ลิตรละ 14.59บาท โดยที่รัฐบาลยังคงตรึงราคานี้ต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

หมดยุคน้ำมันราคาถูก : 5 ปัจจัยเสี่ยง…ดันราคาน้ำมันโลกพุ่งต่อเนื่อง

ทิศทางตลาดน้ำมันโลกปี 2548 ยังมีความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ราคานำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียดของสหรัฐอเมริกาอาจจะสร้างสถิติสูงสุดใหม่ทะลุ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2548 ในขณะที่สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกล่าสุดเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2547 ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯได้พุ่งทะลุ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลโดยปิดตลาดที่ 55.13 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลใน วันที่ 15 ตุลาคม 2547 ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่บาร์เรลละ 51.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ และน้ำมันดิบดูไบก็พุ่งขึ้นมาที่ 37.18 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าราคาน้ำมันที่ได้ไต่ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดนี้ยังไม่ใช่ระดับที่สูงสุดของปีนี้ และมีแนวโน้มว่าอาจจะทะยานขึ้นไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลภายในปี2548ก็อาจเป็นไปได้ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางราคาน้ำมันโลกในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2547 สู่ปี 2548 ไว้ดังนี้

1) ความต้องการน้ำมันยังเพิ่มขึ้นมาก

โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและอเมริกาเหนือที่มีอัตราความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในไตรมาสที่3ของปี2547นี้ ประเทศในแถบอเมริกาเหนือมีความต้องการน้ำมันถึง 25 ล้านบาร์เรลต่อวัน และภูมิภาคเอเชียที่ 14.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณผลิตทั้งหมดที่ 81.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจากจำนวนนี้ประเทศจีนประเทศเดียวมีความต้องการถึง 6.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2546 ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนชาวจีนมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรงประกอบกับผู้บริโภคน้ำมันในประเทศจีนยังสามารถใช้น้ำมันในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะภาครัฐมีมาตรการควบคุมราคาน้ำมัน และลดหย่อนภาษีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้ก็จะมีผลบังคับใช้ในระยะสั้นเท่านั้น

ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้เริ่มปรับราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปให้สะท้อนกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่แท้จริงซึ่งภายในไม่ช้านี้ความต้องการเชื้อเพลิงอาจจะปรับตัวลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน 2547 อยู่ในระดับ 20.53 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้น3%จากปีก่อน สำหรับอุปสงค์ของน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2547 ประเมินไว้อยู่ที่ 82.16 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้น 3.2% จากปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

2) อุปทานน้ำมันมีจำกัด

สำหรับในด้านอุปทานน้ำมันนั้นในเดือนกันยายน 2547 ปริมาณผลิตน้ำมันที่ออกสู่ตลาดโลกอยู่ที่ 80.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยกลุ่มนอกโอเปกสามารถผลิตได้ประมาณ 50.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน และกลุ่มโอเปกสามารถผลิตได้ที่ 30.30 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยกำลังการผลิตของโอเปกนั้นมีปริมาณมากกว่าเป้าการผลิตที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามปัจจัยที่น่าจับตาก็คือกำลังการผลิตสำรอง หรือ Spare Capacity ของกลุ่ม โอเปกนั้นมีลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องจนจะใกล้ถึงระดับต่ำสุดซึ่งในเดือนสิงหาคม 2547 อยู่ที่ 310,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 670,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนกรกฎาคม ดังนั้นตลาดจึงมีความเปราะบางจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะSupply Disruption ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนในระดับสูงหากมีข่าวร้ายเข้ามากระทบต่อตลาดน้ำมันโลก

3.พายุเฮริเคนถล่มสหรัฐฯอย่างหนัก

ปัญหาพายุเฮอริเคนที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งฟลอริดากับลุยเซียนาของอ่าวเม็กซิโกซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลักของสหรัฐอเมริกา ทำให้ต้องหยุดโรงกลั่นและการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2547 ล่าสุดพบว่าปริมาณกำลังการผลิต 27% ของปริมาณผลิตในอ่าวเม็กซิโกที่ 1.7ล้านบาร์เรลต่อวันยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงฤดูพายุเฮอริเคนในบริเวณดังกล่าวซึ่งหมายถึงปริมาณน้ำมันดิบจำนวนกว่า 450,000 บาร์เรลต่อวันลดหายไป ส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน2547ลดลงมาอยู่ที่ระดับ4.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าปีก่อน15%และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันอยู่ที่ระดับ 20.53 ล้าน บาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน

4)ปัญหาการเมืองภายในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองภายของในประเทศส่งออกน้ำมัน เช่น ประเทศไนจีเรีย โดยกลุ่มก่อการร้ายประกาศเตือนให้แหล่งน้ำมันในพื้นที่ Niger Delta ปิดดำเนินการเป็นเหตุให้ต้องลดการผลิตลง 280,000 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้งสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศเพื่อประท้วงที่รัฐบาลประกาศยกเลิกเงินชดเชยราคาน้ำมันบางส่วนจนทำให้ราคาน้ำมันในไนจีเรียพุ่งสูงขึ้น25% ทั้งๆที่ไนจีเรียเองเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีการนัดหยุดงานของพนักงานขุดเจาะน้ำมันในประเทศนอรเวย์ ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดขาดไป 25,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับปัญหาการก่อการร้ายในอิรักและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งปัญหาด้านการเงินของบริษัทยูคอสที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้เกี่ยวกับภาษีย้อนหลังที่ต้องชำระให้รัฐบาลรัสเซีย ยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลกอย่างต่อเนื่อง

5) ประสิทธิภาพการกลั่นน้ำมันชนิดเบาอยู่ในระดับต่ำ

อีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อราคาน้ำมันโลกในปัจจุบันคือ โรงกลั่นน้ำมันในหลายๆประเทศที่ไม่มีการพัฒนาประสิทธิภาพของโรงกลั่นให้สามารถผลิตน้ำมันดิบชนิดเบา(Light crude) ทดแทนน้ำมันดิบชนิดหนัก (Heavy crude) ซึ่งมีส่วนผสมของกำมะถันสูงกว่าน้ำมันดิบชนิดเบาได้เพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันส่วนใหญ่หันไปให้ความสำคัญในการผลิตน้ำมันดิบชนิดเบา ซึ่งมีส่วนผสมของกำมะถันน้อยกว่าและให้ผลผลิตจากการผลิตเป็นน้ำมันคุณภาพดี เช่น น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซินได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบต่อบาร์เรล อีกทั้งยังสอดคล้องกับกฎควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่จำกัดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงอีกด้วย

ซึ่งปัจจัยนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียดที่เป็นน้ำมันดิบชนิดเบาพุ่งสูงขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบที่เป็นน้ำมันดิบหนัก โดยส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์กับดูไบในเดือนตุลาคม 2547 อยู่ที่ 9.58 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 2.35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในมกราคม 2547 ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ากว่า 30% ของ 150 โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐอเมริกายังขาดเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบเบาซึ่งส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความสามารถในการผลิตของโรงกลั่นใหม่ โดยสหรัฐอเมริกาไม่มีการสร้างโรงกลั่นใหม่เลยในระยะเวลา 30 ปี

ลอยตัวเบนซิน : ผลกระทบที่ต้องพิจารณา

การที่รัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินตามภาวะราคาน้ำมันโลกก็มีผลกระทบดังต่อไปนี้

1) ในระยะสั้นประชาชนจะได้ประโยชน์จากการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซิน

เพราะรัฐบาลได้เลือกจังหวะของการประกาศลอยตัวในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังปรับตัวลดลง ซึ่งก็จะมีผลให้บริษัทอาจจะมีการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินลงมาได้ระหว่างลิตรละ 30-50 สตางค์ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงอาจปรับตัวเพียงช่วงสั้นๆแล้วก็อาจปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก จึงไม่ควรที่จะชะล่าใจว่าจะได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลงมากๆเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นประชาชนก็จะต้องแบกรับภาระราคาที่เพิ่มขึ้นเองโดยที่รัฐจะไม่จ่ายชดเชยอีกต่อไป ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของน้ำมันว่าเป็นปัจจัยจำเป็นที่หายากและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้ใช้น้ำมันระมัดระวังและประหยัดในการใช้มากขึ้นกว่าช่วงที่รัฐบาลให้การอุดหนุนราคามาค่อนข้างยาวนาน

2) การลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินจะส่งผลกระทบน้อยกว่าการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล เ

นื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งในการผลิตสินค้าและภาคการขนส่งทั้งรถโดยสารประจำทาง รถไฟ รถปิ๊กอัพ แต่น้ำมันเบนซินจะใช้กับยานพาหนะสำหรับเดินทางส่วนบุคคลเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และรถยนต์โดยสารบางประเภท เช่น รถแท็กซี่ ดังนั้น การลอยตัวราคาเบนซิน แต่ยังคงตรึงราคาดีเซลไว้ก่อนจึงไม่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก หากระยะต่อไปน้ำมันเบนซินขึ้นราคาไปอีกผู้ขับรถยนต์ส่วนบุคคลก็จะใช้น้ำมันอย่างประหยัดมากขึ้นกว่าช่วงที่รัฐบาลยังคงตรึงราคาเบนซินเอาไว้ในช่วงที่น้ำมันยังแพงอยู่ ในขณะที่คนกลุ่มนี้ยังสามารถแบกรับภาระราคาน้ำมันที่แพงขึ้นได้ดีกว่ากลุ่มเกษตรกร และกลุ่มที่ใช้แรงงานโดยทั่วไป ซึ่งมีรายได้น้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ

3) การลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินเป็นการปลดเปลื้องภาระที่รัฐบาลแบกรับแทนประชาชนมาระยะหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งก็เป็นความหวังดีของรัฐบาล แต่ในทางกลับกันรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ในส่วนของการตรึงราคาเบนซินตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานซึ่งก็มีมูลค่าสูงถึง7,000ล้านบาท และในส่วนของดีเซลอีก35,200ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 42,200 ล้านบาท(ตั้งแต่ 10 มกราคม2547-20ตุลาคม2547) และจากการที่รัฐบาลยังคงตรึงราคาดีเซลต่อไปก็ยังจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังของรัฐบาลมากขึ้นในอนาคต แม้รัฐบาลจะใช้วิธีการกู้ยืมในประเทศมาเพื่อการชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือใช้จากการตั้งงบประมาณมาเพื่อการชำระคืนหนี้ในส่วนนี้ก็เป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนอยู่ดี

บทสรุป

การตัดสินใจลอยตัวราคาเบนซินครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะจะส่งผลดีที่รัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระชดเชยราคาเบนซินอีกต่อไปในขณะที่ประชาชนผู้ใช้น้ำมันก็จะต้องปรับตัวรับกับสภาพความจริงที่ว่าน้ำมันจะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆจึงต้องมีจิตสำนึกของการใช้น้ำมันและพลังงานอย่างประหยัด การตรึงราคาน้ำมันที่ผ่านมาจึงเป็นเพียง มาตรการชั่วคราวที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่าไม่มีน้ำมันราคาถูกอีกต่อไปแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลให้การช่วยเหลือผ่อนภาระหนักให้เป็นเบา แต่จากนี้ไปประชาชนต้องแบกรับภาระเองทั้งหมด(ในส่วนของผู้ใช้น้ำมันเบนซิน) ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลนั้น รัฐบาลยืนยันว่าจะตรึงราคาไปจนถึงเดือนมีนาคม 2548 แต่ถ้าหากราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ลดลง หรือหากยังพุ่งขึ้นไปไม่หยุด รัฐบาลก็จะต้องรับภาระการชดเชยที่สูงขึ้น

ในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันดีเซลก็จะใช้กันอย่างไม่ประหยัด และโครงสร้างการใช้น้ำมันก็จะบิดเบือน เพราะน้ำมันดีเซลมีราคาถูกกว่าความเป็นจริงมาก มูลค่าการนำเข้าน้ำมันก็จะสูงขึ้น ทำให้ขาดดุลการค้า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ในขณะที่ถ้าปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัว แม้ว่าอาจจะมีผลกระทบในระยะสั้น แต่ถ้าราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลกก็จะทำให้มีการใช้น้ำมันอย่างประหยัด การนำเข้าน้ำมันจะลดลง ในขณะเดียวกันโครงสร้างการใช้น้ำมันก็จะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้นและรัฐบาลก็ไม่ต้องรับภาระชดเชยราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งน่าจะเกิดผลประโยชน์ในระยะยาว