ยางรถจักรยานยนต์ : ตลาดในยังรุ่ง…เร่งมุ่งตลาดนอก

จักรยานยนต์เป็นหนึ่งในยานพาหนะส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานของคนไทยในปัจจุบันเนื่องจากเป็นพาหนะที่ราคาไม่แพง ประหยัดน้ำมัน และค่าบำรุงรักษาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับยานพาหนะประเภทรถยนต์ อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีทั้งในพื้นที่ชนบทที่ระบบการขนส่งมวลชนยังเข้าไม่ถึง และในเมืองใหญ่ที่การจราจรติดขัด ด้วยความที่จักรยานยนต์สามารถทำการขับขี่ได้อย่างคล่องตัวจึงทำให้จักรยานยนต์เป็นหนึ่งในยานพาหนะที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น งานรับส่งเอกสาร จักรยานยนต์รับจ้าง และใช้ในหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น งานรับส่งพัสดุไปรษณีย์ งานตำรวจสายตรวจและตำรวจจราจร เป็นต้น

ผลจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐที่ต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของเอเชีย (Detroit of Asia) ส่งผลให้อุตสาหกรรมจักรยานยนต์ในประเทศเติบโตขึ้นเรื่อยมาและตลาดในประเทศของรถจักรยานยนต์ก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ของปี2547นี้ มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศทั้งสิ้น 1,199,152 คัน ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว 14.92%1 ทำให้ความต้องการใช้ยางรถจักรยานยนต์สูงขึ้นทั้งในส่วนของการใช้เป็นชิ้นส่วนสำหรับโรงงานประกอบและเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ โดยคาดการณ์ว่าความต้องการในประเทศโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณไม่น้อยกว่า 10 ล้านเส้น หรือประมาณไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี2 โดยที่ตลาดหลักของยางรถจักรยานยนต์สามารถจำแนกได้ 3 ประเภทดังนี้

1. ตลาดรถใหม่ (Original Equipment Manufacturers : OEMs)

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ผลิตรถจักรยานยนต์จำนวน 7 ราย และมียอดการผลิตรวมสูงขึ้นทุกปี โดยที่ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ของปีนี้มีการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกแบบรวมกัน 1,702,239 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 20.57 % จึงทำให้มีความต้องการใช้ยางรถจักรยานยนต์สำหรับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ทุกรายรวมกันจำนวน 3,404,478 เส้น เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 20.57 % เช่นกัน

ผู้ผลิตยางรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในตลาดส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตที่มีการร่วมทุนกับต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทแม่จากญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์สัญชาติเดียวกัน ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสูงกว่า 95 % มาเป็นเวลาช้านาน

2. ตลาดทดแทน (Replacement Equipment Manufacturers : REMs)

ตลาดทดแทนหรือตลาดอะไหล่ (After Market) เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามจำนวนรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการในการเปลี่ยนยางรถจักรยานยนต์สูงขึ้น ซึ่งรถจักรยานยนต์แต่ละคันจะมีความต้องการในการเปลี่ยนยางใหม่เฉลี่ยประมาณทุกๆ 2 ปี ตามแต่สภาพถนนและสภาพการใช้งาน โดยในปี 2546 ที่ผ่านมา ยอดการจำหน่ายยางรถจักรยานยนต์สำหรับตลาดอะไหล่ได้ขยายตัวประมาณ 2% เนื่องจากรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในปี 2545 ส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะเปลี่ยนยางรถจักรยานยนต์ชุดใหม่ทดแทนชุดเก่าไม่มากนัก เพราะอายุการใช้งานเพิ่งผ่านไปเพียง 1 ปี ดังนั้นความต้องการของตลาดในปี 2546 นี้จึงมาจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายตั้งแต่ปี 2544 หรือ ก่อนหน้านั้นเป็นส่วนใหญ่
ในปี 2547 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม มียอดการจำหน่ายยางรถจักรยานยนต์ในตลาดอะไหล่รวม 4,088,757 เส้น ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.37% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2546 ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ที่จำหน่าย ในปี 2545 นั้นมีความต้องการที่จะเปลี่ยนยางชุดใหม่ทดแทนชุดเดิมที่หมดอายุการใช้งาน ส่วนรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายออกไปในปี 2546 ที่มีจำนวนมากกว่าที่จำหน่ายออกไปในปี 2545 ถึง 31.70% หรือ 422,553 คัน ก็จะเริ่มมีความต้องการที่จะเปลี่ยนยางรถจักรยานยนต์ชุดใหม่ทดแทนชุดแรกที่ติดตั้งออกมาจากโรงงานภายในปี 2548 นับเป็นแนวโน้มที่ดีของการขยายตัวต่อไปในอนาคต

3. ตลาดส่งออก (Overseas Markets)

ตลาดส่งออกของยางรถจักรยานยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทยยังสามารถจำแนกออกเป็นสองประเภทย่อยเช่นเดียวกับตลาดในประเทศ คือ ตลาดรถใหม่ (Overseas OEMs) และตลาดทดแทน (Overseas REMs) หรือ ตลาดอะไหล่ (Overseas After Market) ซึ่งในส่วนของตลาดรถใหม่นั้นส่วนใหญ่จะเป็นของกลุ่มผู้ผลิตที่ร่วมทุนกับต่างชาติ เนื่องจากต้องอาศัยสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทแม่ในต่างประเทศและบริษัทแม่ของผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศที่มีโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศนั้นๆ เช่น ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นที่มีโรงงานผลิตกระจายอยู่ในประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือประเทศอื่นๆ เป็นต้น

ในส่วนของตลาดอะไหล่ในต่างประเทศนั้น เป็นตลาดที่มีสององค์ประกอบที่สำคัญที่มีส่วนในการช่วยทำตลาด คือ ผู้จัดจำหน่าย (Wholesalers) และผู้บริโภค (Buyers) อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคา และความหลากหลายทางด้านคุณภาพค่อนข้างสูงโดยมี จีน เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดประเภทนี้ในเกือบทุกประเทศ เนื่องจากจีนมีข้อได้เปรียบในด้านของค่าแรงงานที่ถูกกว่าไทย

ในปี 2546 ประเทศไทยมีการส่งออกยางรถจักรยานยนต์จำนวน 4,210,321 เส้น เพิ่มขึ้น 22.72% เทียบกับปี 2545 และในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2547 นี้ มีการส่งออกแล้วกว่า 2,900,000 เส้น เพิ่มขึ้นประมาณ 19% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2546 (การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2546 มีจำนวน 2,476,252 เส้น เพิ่มขึ้น 21.52% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2545) แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกยางรถจักรยานยนต์ของไทยโดยรวมของปี 2547 นี้ จะยังคงขยายตัวอยู่ที่ประมาณไม่น้อยกว่า 20%เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว (2546) และจะยังคงขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่องในปี 2548 โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 18-20% ต่อปี เนื่องจากตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์จากประเทศไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องอันมีผลต่อการขยายตัวของตลาดอะไหล่ต่างประเทศ (Overseas After Market) ในอนาคตของยางรถจักรยานยนต์ที่ส่งออกจากประเทศไทย และการเร่งขยายตลาดรถจักรยานยนต์ของผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศ ที่นำเข้ายางรถจักรยานยนต์จากประเทศไทยเพื่อป้อนโรงงานประกอบของตน มีผลต่อการขยายตัวของตลาดรถใหม่ต่างประเทศ (Oversea OEMs) และรถจักรยานยนต์จากผู้ผลิตเหล่านี้ที่จำหน่ายสู่ท้องตลาดในปัจจุบัน จะมีความต้องการเปลี่ยนยางในอนาคตซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมให้ตลาดอะไหล่ในต่างประเทศขยายตัวยิ่งขึ้น

ตลาดนอกสดใส…ตลาดในยังรุ่ง…ต้องเร่งมุ่งพัฒนา

ตลาดยางรถจักรยานยนต์ในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศสำหรับตลาดรถใหม่ (OEMs) และยอดการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวแบบก้าวกระโดด ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดในปี 2545 จำนวนกว่า 1,300,000 คัน นั้นเริ่มจะต้องเปลี่ยนยางใหม่ทดแทนชุดเดิมที่ติดตั้งออกมาจากโรงงานที่สึกหรอและหมดสภาพการใช้งาน

เป็นที่น่าสังเกตว่าในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่การคมนาคมในพื้นที่ห่างไกลยังคงอาศัยรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะส่วนตัวหลักอีกทั้งพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ในส่วนภูมิภาคนั้นได้มีการดัดแปลงสภาพให้สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น จักรยานยนต์พ่วงข้าง หรือดัดแปลงเป็นสามล้อยนต์ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ยางรถจักรยานยนต์สูงขึ้นไปอีก เนื่องมาจากการสึกหรอที่เร็วกว่าปกติ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่าตลาดรวมในประเทศของยางรถจักรยานยนต์ในปี 2547 นี้จะมีการขยายตัวไม่น้อยกว่า 15% เมื่อเทียบกับตลาดรวมของปีที่แล้ว

ในส่วนของตลาดส่งออกยางรถจักรยานยนต์นั้น ถึงแม้ว่าตลาดรถใหม่ (Overseas OEMs) จะเป็นของกลุ่มผู้ผลิตยางรถจักรยานยนต์ที่มีบริษัทแม่ที่มาจากประเทศเดียวกันและมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ที่มีโรงงานผลิตในประเทศนั้นๆ แต่ตลาดอะไหล่ (Overseas REMs หรือ Overseas After Market) ซึ่งรวมถึงตลาดส่งออกหลักของรถจักรยานยนต์จากประเทศไทยในประเทศต่างๆยังคงเปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตรายอื่นๆ ซึ่งผลจากการที่รถจักรยานยนต์ที่ส่งออกจากประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดของประเทศนั้นๆ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ยางรถจักรยานยนต์ที่มีคุณภาพจากประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและขยายตลาดได้ในตลาดอะไหล่ในประเทศนั้นๆอีกเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคในด้านต่างๆที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมการรองรับ เพื่อรักษาตลาดของยางรถจักรยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เติบโตต่อไป ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พอจะสรุปปัญหาอุปสรรคตลอดจนประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน พร้อมทั้งหนทางในการเตรียมการเพื่อรองรับ ได้ดังนี้

1. ราคาของวัตถุดิบหลักที่มีความผันผวน ยางธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญซึ่งมีความไม่แน่นอนด้านราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากผลกระทบจากอุปสงค์ของยางธรรมชาติในตลาดโลกมีสูงขึ้น อีกทั้งวัตถุดิบที่เป็นทางเลือก คือ ยางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากการแปรรูปน้ำมันปิโตรเลียม ก็มีราคาผันผวนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และวัตถุดิบทดแทนชนิดอื่นยังไม่ได้มีการพัฒนาให้ดีพอและคุ้มค่าที่จะนำมาผลิตในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น การวางแผนการจัดการวัตถุดิบที่ดีและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก จะสามารถลดความเสี่ยงและต้นทุนแฝงที่เกิดจากการเก็บสำรองวัตถุดิบมากเกินความจำเป็น อีกทั้งการเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารการผลิตด้วยการไม่พึ่งพาวัตถุดิบหลักเพียงชนิดเดียว รวมทั้งการไม่พึ่งพาแหล่งวัตถุดิบน้อยรายจะเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อการผลิตโดยรวมที่อาจเกิดขึ้น

2. ตลาดที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากตลาดรถใหม่ (OEMs) ในประเทศของยางรถจักรยานยนต์จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทิศทางของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศซึ่งมีผู้ผลิตรถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่นเป็นผู้กำหนดทิศทางตลาด ดังนั้นกลุ่มผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่สามารถเข้าสู่ตลาดส่วนนี้ได้จึงเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่ร่วมทุนกับต่างชาติที่มีสัญชาติเดียวกันกับกลุ่มผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ จึงทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ ต้องมุ่งเข้าหาผู้ผลิตรถจักรยานยนต์จากสัญชาติอื่น ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไม่สูงมากนัก ดังนั้นการขยายตลาดโดยมุ่งไปที่ตลาดอะไหล่ในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคเป็นหนทางที่จะสามารถเพิ่มยอดการจำหน่ายได้ การขยายตลาดผ่านตัวแทนขายส่งอะไหล่รถจักรยานยนต์ (Wholesalers) หรือผ่านทางร้านจำหน่ายปลีกอะไหล่รถจักรยานยนต์รายใหญ่(Retailers) โดยตรง จะเป็นการส่งเสริมการขายได้อย่างเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งการร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมต่างๆ เช่น การรณรงค์ให้มีการสวมหมวกนิรภัยและเปิดไฟหน้าขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือกิจกรรมอื่นๆที่เน้นการขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย จะเป็นการช่วยส่งเสริมการขายทางอ้อมเนื่องจากภาพลักษณ์ที่ดีของผู้ประกอบการในสายตาของสาธารณะชน

3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ตลาดของยางรถจักรยานยนต์มีการแข่งขันสูงทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศนั้นยังมีคู่แข่งที่สำคัญ คือ จีน ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านของต้นทุน อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีคุณภาพสินค้าหลายระดับสำหรับผู้บริโภคในทุกระดับตลาด ดังนั้นการพัฒนาและคงคุณภาพให้อยู่ในระดับสากลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์ในตลาดด้วยการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง จึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคทราบถึงความแตกต่างที่คุ้มค่ากว่าของสินค้าคุณภาพที่มีเหนือสินค้าที่มีราคาถูกเพียงอย่างเดียว

4. การบริหารการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางรถจักรยานยนต์มีความแตกต่างในด้านระดับคุณภาพและราคาค่อนข้างมาก และยังมีสินค้าเลียนแบบราคาถูกเข้าสู่ตลาดซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าคุณภาพถูกแย่งตลาดเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า อีกทั้งยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบหลักชนิดเดียวกัน คือ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ รวมทั้งกรรมวิธีการผลิตก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก และสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็นเพื่อสำรองล่วงหน้าไว้เป็นเวลานานก็อาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการได้เนื่องจากการเสื่อมคุณสมบัติทางกายภาพของเนื้อยาง ดังนั้นการบริหารการผลิตโดยรวมที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่การนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ทางการตลาดอย่างใกล้ชิดมาวางแผนการผลิต การบริหารการผลิตที่เน้นการลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตและลดขั้นตอนการผลิตที่ไม่จำเป็น การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตแต่ไม่กระทบถึงคุณภาพ รวมถึงการส่งมอบสินค้าตามความต้องการของลูกค้าและตรงต่อเวลา จะส่งผลให้ความเชื่อถือของลูกค้ามีสูงขึ้นที่เป็นผลมาจากความแน่นอนของกำลังการผลิตและคุณภาพที่สม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์

5. การขยาย/แตกสายผลิตภัณฑ์ ถึงแม้ว่าตลาดยางรถจักรยานยนต์จะมีการแข่งขันสูง แต่ผู้ประกอบการก็ยังสามารถกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากยังมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางอื่นๆ ที่สามารถใช้วัตถุดิบชนิดเดียวกัน และกรรมวิธีการผลิตบางส่วนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ดังนั้นการสำรวจถึงความเป็นไปได้ในการแตกสายผลิตภัณฑ์ไปยังสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น ยางรถจักรยาน ยางรถเข็น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และเข้าถึงทุกกลุ่มตลาด อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้วัตถุดิบที่ได้จากการแปรรูปเศษยางที่เหลือจากการผลิตหรือที่ได้จากการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ของซากยางที่หมดสภาพการใช้งานแล้ว เช่น อิฐบล๊อกยาง แผ่นกันลื่นในห้องน้ำ จะสามารถเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษยางและเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

บทสรุป

อุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีสินค้าราคาถูกมากมายเข้าสู่ตลาด แต่จากความได้เปรียบที่ผู้ผลิตในไทยอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ จึงทำให้มีศักยภาพสูงเหนือคู่แข่งจากต่างประเทศในการแข่งขันในตลาดโลกหากสินค้ามีคุณภาพดีและมีการบริหารจัดการที่ดีพอ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า จากการขยายตัวของตลาดยางรถจักรยานยนต์ทั้งที่เป็นตลาดรถใหม่และตลาดอะไหล่ยางรถจักรยานยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ของปี 2547 นี้ที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 20.57 และ 26.37 ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มที่ดีของการขยายตัวต่อไปของตลาดยางรถจักรยานยนต์โดยรวมในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม จากความได้เปรียบที่ตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์จากประเทศไทยที่มีการขยายตัวเรื่อยมา ซึ่งหมายถึงตลาดส่งออกของยางรถจักรยานยนต์ของไทยที่ขยายตัวตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการยางรถจักรยานยนต์ของไทย จึงควรใช้จังหวะนี้เร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อเป็นการอาศัยความได้เปรียบจากการที่ตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์ได้เปิดทางนำร่องไว้ให้ในการส่งออกในรูปของชิ้นส่วนอะไหล่ (Replacement Parts) หรือการพัฒนาเพื่อยกระดับให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสำหรับตลาดรถใหม่ในต่างประเทศ (Overseas OEMs) สำหรับผู้ผลิตที่ร่วมทุนกับต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างอุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์โดยรวมของไทยให้ก้าวไปเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก และเติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศสืบไป