อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive: HDD) และชิ้นส่วนประกอบเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุดต่อภาคการส่งออกของไทยมาเป็นเวลายาวนาน โดยในการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอันเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยนั้น มากกว่าครึ่งมาจากอุตสาหกรรมฮาร์ดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบ ซึ่งจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของการส่งออกโดยรวมของประเทศ มีมูลค่าการผลิตมากกว่าร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยมีการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (Local added value) ประมาณร้อยละ 37-46 ของมูลค่าผลผลิตรวม ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง
ปัจจุบัน ไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิส์กไดรฟ์ป้อนตลาดโลกที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ และจากมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบในรูปแบบเครือข่ายธุรกิจหรือคลัสเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้ดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลก 4 บริษัท ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันร้อยละ 67 ของยอดขายฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ทั่วโลก ตัดสินใจขยายการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกฮาร์ดดิสก์ไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก แผนการผลิตดังกล่าวจะส่งผลให้ไทยมีศักยภาพที่จะผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รวมทั้งสิ้นประมาณ 130 ล้านชิ้นในปี 2548-2549 หรือเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากจำนวนที่ผลิตในปี 2546 ซึ่งจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อันดับ 1 ของโลกแซงหน้าประเทศสิงคโปร์ และมีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนการผลิตเป็น 200 ล้านชิ้นในระยะ 5 ปีภายในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 270 เทียบกับจำนวนการผลิต 54.1 ล้านชิ้นในปี 2546 โดยฮาร์ดดิสก์ที่ผลิตจากประเทศไทยอาจมีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึงร้อยละ 45 ของปริมาณจำหน่ายทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23 ในปัจจุบัน ผลต่อเศรษฐกิจของไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการขยายตัวอุตสาหกรรมฮาร์ดดิกส์ไดรฟ์ มีดังนี้
• อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะปานกลางควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยสินค้า 2 กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดของประเทศ มีมูลค่าการส่งออกกลุ่มละเกือบ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 350,000 ล้านบาท) ภายในปี 2551
• การส่งออกของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ หรือ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์คลัสเตอร์ คาดว่ามีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นประมาณ 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2546 ที่ประเมินว่ามีการส่งออกรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
• การจ้างงานในคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200,000 ตำแหน่งในปี 2551 จากปัจจุบันที่มีการจ้างงานมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง
• มูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นจากคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4-4.5 ของ GDP ในปี 2551 เปรียบเทียบกับปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณกว่าร้อยละ 3 ของ GDP
• สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) สูงขึ้นและช่วยลดการนำเข้าลงจากปัจจุบัน
แม้ว่าอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในไทยจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การพัฒนาคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เกิดการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศ หรือการพัฒนาเชิงลึกเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ กลับเป็นไปอย่างจำกัด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ก็มีน้อยมากเทียบกับผู้ประกอบการท้องถิ่นของอุตสาหกรรมนี้ในสิงคโปร์หรือมาเลเซีย เนื่องจากอุปสรรคหลายประการ กล่าวคือ 1) อุตสาหกรรมนี้มี การกระจุกตัวของเทคโนโลยีในกลุ่มนักลงทุนข้ามชาติ ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถผันตนเองมาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ได้ เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ ขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสนับสนุน 2) การขาดทิศทางและนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และ 3) การขาดกลไก/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
เพื่อให้ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากการเป็นฐานประกอบและผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อย่างเต็มศักยภาพ และเพื่อให้คลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงอื่น ๆ ในประเทศ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ดังนี้
1. ทำการศึกษาเชิงเปรียบเทียบคลัสเตอร์อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในไทยและฐานการผลิตอื่น ๆ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในไทยให้เชื่อมโยงกับฐานการผลิตในประเทศอื่น โดยมุ่งให้ไทยเป็น supplier ของผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกนอกจากการเป็นฐานการประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อันดับหนึ่งของโลก
2. พิจารณาจัดตั้งสถาบันอิสระเพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ตลอดจนส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคตลอดจนเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมโยงองค์กรต่าง ๆ ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
3. จัดทำแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมนี้เข้ากับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแผนแม่บทดังกล่าวควรครอบคลุมประเด็นและมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ โครงสร้างภาษี การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วน เป็นต้น
4. พัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้ฮาร์ดดิสก์เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งในอนาคตฮาร์ดดิสก์มีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์ consumer electronics หลายประเภทมากขึ้น เช่น Personal Video Recorder (PVR), Digital Video Recording (DVR), Games Console, MP3, GPS Navigation, Digital Camera, Palmtop, Smart Phones เป็นต้น นอกจากนี้ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เป็นการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เช่น precision engineering, electronic, matrial science, physics, chemistry, aero dynamics, automation และ software development เป็นต้น
5. พัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้สอดรับกับปริมาณความต้องการบุคลากรของอุตสาหกรรมนี้โดยจัดทำเป็นโครงการเร่งด่วนในปี 2548-2551 ซึ่งมีการขยายการผลิตสูง นอกจากนี้ อาจพิจารณาผ่อนคลายข้อกำหนดเรื่องการจ้างแรงงานต่างด้าวสำหรับบุคลากรที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีระดับสูงเป็นการชั่วคราวเพื่อให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้เป็นไปได้ด้วยดี
6. ส่งเสริมการลงทุนชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น thin-film disk manufacturing ตลอดจนธุรกิจบริการที่มีความสำคัญ เช่น semiconductor testing
7. เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนของไทยจำเป็นต้องยืดหยุ่นและสอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจ