ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง : ส่งออกปี’47 พุ่ง 45%…ปี’48 โตต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่น่าจับตามอง เนื่องจากในปี 2547 นี้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่น กล่าวคือคาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในปี 2547 เท่ากับ 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 44.6 ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวอย่างมาก ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าในปี 2548 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในการที่จะผลักดันให้ภาวะอุตสาหกรรมมันสำปะหลังยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป

คาดการณ์การผลิตมันสำปะหลังปี 2547/48(ตุลาคม 2547–กันยายน 2548) เนื้อที่เก็บเกี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังทั้งประเทศประมาณ 6.70 ล้านไร่ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ทั้งนี้เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ของมันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับพืชอื่นๆ เกษตรกรจึงมาปลูกมันสำปะหลังแทนพืชอื่นๆ เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหันมาปลูกมันสำปะหลังแทนอ้อยโรงงาน เป็นต้น คาดว่าจะได้ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2547/48 เท่ากับ 22.19 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5

ปัจจุบันความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศเฉลี่ยประมาณร้อยละ 25 ของผลผลิตมันสำปะหลังทั้งหมด อย่างไรก็ตามความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการคาดว่าจะมีการใช้มันเส้นในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มากขึ้น เนื่องจากผู้เลี้ยงปศุสัตว์ยอมรับการใช้มันเส้นมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ส่วนแป้งมันสำปะหลังคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น สิ่งทอ กระดาษ อาหาร เป็นต้น รวมทั้งรัฐบาลได้มีนโยบายผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังเพื่อทดแทนพลังงาน

คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในปี 2547 เท่ากับ 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.6 ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยแยกเป็นเด็กตรินและแป้งแปรรูปร้อยละ 27.7 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมด รองลงมาคือ มันเส้นร้อยละ 24.4 มันสำปะหลังอัดเม็ดร้อยละ 23.9 แป้งมันสำปะหลังร้อยละ 21.8 และที่เหลืออีกร้อยละ 2.2 เป็นมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่นๆ

ปัจจัยเกื้อหนุน…ผลักดันส่งออกปี’48 เติบโตต่อเนื่อง

คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในปี 2548 ยังจะอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนคือ

1.ความต้องการมันเส้นจากตลาดจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดยจีนมีการสั่งซื้อมันเส้นในปริมาณที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากความต้องการของโรงงานผลิตแอลกอฮอล์และกรดมะนาวในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เอฟทีเอไทย-จีนที่อัตราภาษีเหลือ 0% ช่วยผลักดันให้การส่งออกเพิ่มขึ้น ประกอบกับธัญพืชอื่นๆโดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลืองในตลาดโลกมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้ผู้นำเข้าหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทดแทนในการผสมอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังคือ ปัจจุบันไทยส่งออกมันเส้นเกือบทั้งหมดไปยังตลาดจีน ซึ่งเท่ากับไทยนั้นเกือบจะพึ่งพาจีนเป็นตลาดส่งออกหลักเพียงแห่งเดียว

2.ความต้องการแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ในช่วงระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก อีกทั้งโรงงานเก่าก็ได้เพิ่มกำลังการผลิต ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ส่งออกแป้งมันสำปะหลังเอื้ออำนวย โดยมีตลาดรองรับที่สำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย นอกจากนี้การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกส่งผลให้จีนต้องลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลงเหลืออยู่ที่ร้อยละ 14 จากเดิมอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 18-20 นอกจากนี้จีนเป็นตลาดที่มีความต้องการนำเข้าแป้งมันสำปะหลัง ทำให้จีนเป็นตลาดที่น่าสนใจในการส่งออกแป้งมันสำปะหลัง นอกเหนือจากการส่งออกมันเส้น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง โดยเฉพาะแป้งสาคูจากไทยได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและราคาถูกกว่าคู่แข่งขัน นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังของไทยมีแผนรุกตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ่านทางพันธมิตรธุรกิจเพื่อนำไปวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยเฉพาะบรรดาซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ

ส่วนแป้งแปรรูปมุ่งเป้าไปที่กลุ่มโรงงานผู้ผลิตอาหารและยานอกจากตลาดจีนแล้วตลาดญี่ปุ่นนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกตลาดหนึ่ง เนื่องจากมีความต้องการแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังอัดเม็ดเป็นจำนวนมาก แต่ญี่ปุ่นไม่มีการปลูกมันสำปะหลังในประเทศ การนำเข้าของญี่ปุ่นมีทั้งลักษณะแป้งแปรรูปและแป้งดิบ ทั้งนี้เพื่อนำมาผลิตแป้งแปรรูปป้อนอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะเส้นหมี่สำเร็จรูป ลูกกวาด/ขนมฉาบน้ำตาล เป็นต้น

ปัจจัยพึงระวังปี’48…จับตาตลาดสำคัญ

อย่างไรก็ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในปี 2548 ยังมีปัจจัยพึงระวังดังนี้

1.การส่งออกมันสำปะหลังอัดเม็ดต้องติดตามสถานการณ์ในสหภาพยุโรป
เนื่องจากมูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังอัดเม็ดไปยังตลาดสหภาพยุโรปนั้นมีสัดส่วนถึงร้อยละ 91.0 ของการส่งออกมันสำปะหลังอัดเม็ดทั้งหมด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังอัดเม็ดในสหภาพยุโรปจึงนับเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกมันสำปะหลังอัดเม็ด โดยในปี 2546-2547 ความต้องการมันสำปะหลังอัดเม็ดของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาธัญพืชในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบในช่วงระยะ 2-3 ปีก่อนหน้านั้นการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากนโยบายปฏิรูปการเกษตรของสหภาพยุโรปที่ขยายพื้นที่การปลูกธัญพืชเพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับราคาธัญพืชที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจปศุสัตว์ในสหภาพยุโรปเปลี่ยนสูตรอาหารสัตว์จากที่เคยใช้มันอัดเม็ดหันมาใช้ธัญพืชอื่นๆทดแทนโดยเฉพาะมันฝรั่ง

สำหรับปัจจัยใหม่ที่ผู้ส่งออกมันสำปะหลังอัดเม็ดจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ การที่สหภาพยุโรปมีการรวมตัวเพิ่มขึ้นเป็น 25 ประเทศ ซึ่งทำให้โปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตที่สำคัญของยุโรปตะวันออกมีการค้าธัญพืชในระหว่างประเทศในสหภาพยุโรปด้วยกันมากขึ้นด้วย

2.การส่งออกมันเส้นต้องจับตาผลผลิตมันสำปะหลังของจีน
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาจีนสามารถผลิตมันสำปะหลังได้เฉลี่ย 3.9 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ปริมาณการนำเข้ามันเส้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ช่วงปี 2544 เป็นต้นมา โดยมีการประเมินว่าปัจจุบันปริมาณการนำเข้ามันเส้นของจีนในแต่ละปีนั้นสูงถึง 1.7-2.0 ล้านตัน มูลค่า 140-160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื้อที่ปลูกมันสำปะหลังของจีนนั้นเริ่มมีการขยายตัวในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2548 ผลผลิตมันสำปะหลังของจีนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้การนำเข้ามันเส้นจากไทยอาจจะลดลง หลังจากในปี 2547 จีนประสบปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเคยคาดการณ์ไว้ว่าความต้องการแป้งและวัตถุดิบอาหารสัตว์ในจีนตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2563 จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 0.80 ต่อปี ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าการขยายตัวของความต้องการธัญพืชประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะข้าว นับว่าเป็นดัชนีที่ทำให้คาดการณ์ได้ถึงอนาคตอันสดใสของตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในจีน

3.การส่งออกแป้งมันสำปะหลังต้องจับตาคู่แข่งขัน
ปัจจุบันตลาดส่งออกแป้งมันสำปะหลังที่สำคัญของไทยคือ ไต้หวัน ญี่ปุ่นและจีน ในตลาดไต้หวันแนวโน้มอุตสาหกรรมแป้งดิบและแป้งแปรรูปนั้นการนำเข้าอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตของไต้หวันที่ใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ เช่น อาหาร กระดาษ เคมี เป็นต้น ไม่มีแนวโน้มขยายกำลังการผลิต อีกทั้งยังมีการย้ายฐานไปยังจีน โอกาสการขยายตลาดนั้นจึงอยู่ที่ราคาแป้งมันสำปะหลังยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าสินค้าแป้งชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะแป้งข้าวโพด นอกจากนี้ไทยยังต้องแข่งขันกับอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยต้องหาทางพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาส่งออกสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น เช่น ขนมต่างๆ บะหมี่ โฟมกระดาษที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น

ส่วนในตลาดญี่ปุ่นนำเข้าแป้งมันสำปะหลังจากไทยร้อยละ 70-80 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด อย่างไรก็ตามคู่แข่งสำคัญในตลาดญี่ปุ่นคือ เวียดนาม ปัจจุบันญี่ปุ่นเริ่มหันไปนำเข้าแป้งมันสำปะหลังจากเวียดนามเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในระดับต่ำกว่า ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยต้องหาทางลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพื่อคงความเป็นผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ในญี่ปุ่น สำหรับตลาดจีนนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมากในการส่งออกแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมีการย้ายฐานโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังจากไต้หวันไปยังจีน รวมทั้งในปัจจุบันการผลิตแป้งส่วนใหญ่ในจีนเป็นการผลิตแป้งจากมันเทศ

จากปัญหาที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลัง และความคาดหวังถึงอนาคตที่ยังคงแจ่มใสของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เนื่องจากอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยยังมีทั้งศักยภาพและโอกาสในการขยายตลาด ทำให้รัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์มันสำปะหลังปี 2547-2551 ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมือการแข่งขันในระยะยาว และผลักดันให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังสามารถขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งยุทธศาสตร์มันสำปะหลังมีสาระสำคัญ 3 ด้าน คือ
-ด้านการผลิต ให้มีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยการปรับปรุงบำรุงดินเน้นการใช้ปุ๋ยคอกและน้ำเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง รวมถึงจัดหาพันธุ์มันสำปะหลังที่ดีและเหมาะสมกับสภาพดิน กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจและจดทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กรมวิชาการเกษตรจัดทำโครงการโซนนิ่ง(Zoning)เขตปลูกมันสำปะหลัง โดยดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดทำแผนที่ศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังโดยมุ่งพัฒนาข้อมูลพื้นฐานในจังหวัดที่มีการปลูกมาก

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการคัดเลือกพันธุ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตลอดจนวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประมาณการผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จากการศึกษาข้อมูลเชิงพื้นที่โดยใช้โปรแกรมสารสนเทศภูมิศาสตร์ซ้อนทับระหว่างฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแล้วนำมาจัดทำแผนที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พบว่าพื้นที่ของนครราชสีมามีศักยภาพในการผลิตมันสำปะหลังมากถึง 35.09 ล้านไร่ รองลงมาคือเลย 33.58 ล้านไร่ สุรินทร์ 33.24 ล้านไร่ และสกลนคร 32.17 ล้านไร่

นอกจากนี้แบ่งเขตการผลิตของเกษตรกรตามประเภทโรงงานที่รองรับ เช่น เขตโรงงานเอทานอล เขตโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น บริหารจัดการให้ผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี เพื่อให้ราคามีเสถียรภาพ ส่วนหนองบัวลำภูพื้นที่มีศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังน้อยที่สุดประมาณ 2.54 ล้านไร่ สำหรับการประเมินศักยภาพการให้ผลผลิตพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตเฉลี่ยระหว่าง 3.5-4.7 ตันต่อไร่ต่อปี โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังและให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 5 ตันต่อไร่คือ หนองคายมีพื้นที่ศักยภาพมากถึง 17.68 ล้านไร่ ศรีสะเกษ 17.16 ล้านไร่ และอุดรธานี 3,833 ไร่ ทั้งนี้ขึ้นกับระบบการจัดการและพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลูก ซึ่งผลการสำรวจพบว่าพันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์50 พันธุ์ระยอง72 พันธุ์ระยอง5 พันธุ์ระยอง90 และขณะนี้เกษตรกรกำลังมีความต้องการมันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบงค่อนข้างสูง

โดยตั้งเป้าพัฒนาการผลิตในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวน 3.2 ล้านไร่ ให้สามารถเพิ่มผลผลิตจากไร่ละ 2.8 ตันในปี 2546 เป็น 4.3 ตันต่อไร่ในปี 2551 คาดว่าจะได้ผลผลิตมันสำปะหลังถึง 24.5 ล้านตัน เพื่อใช้ในประเทศ 6.3 ล้านตัน ส่งออกใน รูปมันเส้น มันอัดเม็ดและแป้งมัน 16.8 ล้านตัน และป้อนโรงงานผลิตเอทานอลประมาณ 1.4 ล้านตัน

นอกจากจะมุ่งเพิ่มผลผลิตหัวมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกรแล้ว กระทรวงเกษตรฯยังมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง รวมทั้งวิจัยด้านการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแหล่งปลูก ตลอดจนวิจัยการใช้ใบมันสำปะหลังที่มีโปรตีนสูงเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ

– ด้านการแปรรูป
ขยายผลผลิตมันสำปะหลังให้สอดคล้องกับการผลิตเอทานอล โดยปี 2549 มีความต้องการใช้มันสำปะหลังปีละ 1.26 ล้านตันเพื่อผลิตเอทานอลและคาดว่าเพิ่มขึ้นปีละ 3.12 ล้านตันใน ปี 2551 รวมทั้งการเร่งทำการประชาสัมพันธ์รวมทั้งให้มีความเชื่อมโยงเรื่องมันเส้นสะอาด เพื่อให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการและผู้เลี้ยงสัตว์ ทราบแหล่งผลิตจำหน่าย ปริมาณการผลิตและความต้องการส่งเสริมการใช้มันเส้นสะอาดเป็นอาหารสัตว์ในประเทศ โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้มันเส้นสะอาดในสูตรอาหารสัตว์ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของไทยในการผลิตแป้งมันสำปะหลัง เพื่อแบ่งผลกำไรให้คนไทย ปัจจุบันกำไรจากแป้งมันสำปะหลังส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ เนื่องจากร้อยละ 80 ของโรงงานแป้งมันสำปะหลังเป็นการร่วมลงทุนกับชาวต่างประเทศและในประเทศ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลัง โดยส่งเสริมให้มีการแปรรูปมันเส้นสะอาดเพื่อสร้างมูลค่า และส่งเสริมให้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใส่อาหาร เช่น ภาชนะบรรจุอาหารที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีน

-ด้านการวิจัยและพัฒนา
วิจัยการใช้น้ำเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังว่าจะทำให้หัวมันมีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือไม่ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังได้ลดภาษีการนำเข้า แต่เพิ่มมาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น การกำหนดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในแป้งมัน ซึ่งผลการวิจัยควรนำไปเผยแพร่ ให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องต่อไป วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแป้งแปรรูป รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ซื้อในการใช้แป้งแปรรูปชนิดต่างๆ

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยนับว่าเป็นสินค้าเกษตรที่ยังมีโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เพื่อเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอีกทางหนึ่งด้วย