โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2004

สถานการณ์การเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาจะดำเนินไปในทิศทางใด หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 เป็นเหตุการณ์ที่สังคมโลกให้ความสนใจและติดตามกันอย่างกระชั้นชิด เนื่องจากการชิงชัยระหว่างประธานาธิบดี George W. Bush ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบันแห่งพรรครีพับลิกัน กับนาย John Kerry ผู้ท้าชิงสังกัดพรรคเดโมแครต ต่างได้รับคะแนนนิยมจากการหยั่งเสียงของสื่อมวลชนอเมริกันใกล้เคียงกัน ทำให้คู่แข่งขันทั้งสองมีโอกาสที่จะได้นั่งทำเนียบขาวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันมากนัก การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งนี้ น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่สหรัฐฯประสบวิกฤตการก่อการร้ายรุนแรง 11 กันยายน 2544 ซึ่งส่งผลให้นโยบายด้านความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯแข็งกร้าวกว่าเดิม รวมถึงแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ต้องผลักดันให้กิจกรรมทางธุรกิจทุกแขนงของสหรัฐฯเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางมรสุมการก่อการร้าย ความวุ่นวายในอิรัก และปัญหาราคาน้ำมันแพง เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯเป็นพันธมิตรเก่าแก่ประเทศหนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ต่างประเทศที่สำคัญ ถึงแม้ที่ผ่านมาการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯจะไม่ค่อยส่งผลให้นโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯที่มีต่อประเทศไทย เปลี่ยนแปลงไปจากแนวทางเดิมเท่าใดนัก แต่ประเทศไทยก็จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯอย่างรอบคอบ เพื่อปรับตัวให้ทันกับกระแสการเมืองและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนั้น การแข่งขันระหว่างนาย George W. Bush กับนาย John Kerry ที่มีตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกาเป็นเดิมพัน จึงเป็นที่จับตามองของประเทศต่างๆ รวมทั้งชาวไทยด้วย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ใช้จังหวะในช่วงที่มีกระแสความสนใจเกี่ยวกับสหรัฐฯ สอบถามความคิดเห็นถึงความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อประเทศสหรัฐอเมริกา และประเด็นที่คนไทยต้องการมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ รวมถึงคนไทยคาดว่าใครจะเป็นผู้นำทำเนียบขาวคนใหม่ และต้องการให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯแก้ไขปัญหาเรื่องใดมากที่สุด ทั้งนี้ ได้สำรวจความคิดเห็นในเชิงลึกจากกลุ่มนักธุรกิจและคนวัยทำงาน ในเขตกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑลและต่างจังหวัด จำนวนตัวอย่าง 568 ราย ระหว่างวันที่ 12-15 ตุลาคม 2547 สรุปประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : “สหรัฐอเมริกา” ในสายตาคนไทย

เมื่อกล่าวถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าคนไทยทั่วไปรู้สึกคุ้นเคยเป็นอย่างดี และจะนึกถึงสหรัฐอเมริกาในแง่ “การเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” โดยได้รับคะแนนมากเป็นอันดับ 1 สูงถึง 69.6% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ทิ้งห่างคะแนนอันดับ 2 ได้แก่ คนไทยจะนึกถึงสหรัฐฯในด้านเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้รับคะแนน 10.5% สำหรับภาพลักษณ์ด้านอื่นๆของสหรัฐฯ ในสายตาของคนไทย ที่ได้รับคะแนนลดหลั่นลงไป ได้แก่ บทบาทในฐานะที่เป็นตำรวจโลก (6.5%) ประเทศที่มีเสรีภาพมากที่สุด (4.3%) ประเทศผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูด (3.2%) เป็นแหล่งท่องเที่ยวและบันเทิงชั้นนำ (1.1%) เป็นต้น

บทบาทของสหรัฐฯในฐานะชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากการที่สหรัฐฯมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ทั้งโลก ประมาณ 21.1% นับเป็นสัดส่วนสูงสุด รองลงมา ได้แก่ จีน (12.6%) และญี่ปุ่น (7.0%) ขณะเดียวกัน สหรัฐฯยังเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงสุดในบรรดากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำด้วยกัน โดยมีมูลค่าเฉลี่ย 37,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี รองลงมา ได้แก่ แคนาดา (29,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี) และญี่ปุ่น (28,000 ดอลลาร์/คน/ปี) นอกจากนี้ สหรัฐฯยังมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงถึง 11.0% ของมูลค่าการส่งออกของทั้งโลก ตามด้วย เยอรมนี (9.6%) และญี่ปุ่น (5.7%)

ความรู้สึกของคนไทยที่เห็นว่าสหรัฐฯเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากเมื่อใดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้มแข็ง ก็มักจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวตามไปด้วย ดังเช่นในช่วงปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 4.3% เทียบกับในปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ 3.0% ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปี 2547 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตรา 3.6% เทียบกับอัตรา 2.1% ในรอบปีที่ผ่านมา เพราะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเฟื่องฟูจะส่งผลให้คนอเมริกันใช้จ่ายกันมาก และนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าสดใสกันทั่วหน้า แม้แต่ประเทศไทย ซึ่งสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ก็สามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้นประมาณ 13% ในรอบ 9 เดือนแรก 2547 เทียบกับอัตราเพิ่ม 0.6% ในปีก่อนหน้า

ประเด็นที่ 2 : คนไทยเริ่มเอาใจออกห่างสหรัฐฯ

การสำรวจความคิดเห็นคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในแง่ความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆในระดับชั้นแนวหน้าของโลก ปรากฏว่า ประเทศจีนมีความสำคัญในสายตาของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีคะแนนนิยมไล่จี้ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ห่างกันมากนัก โดยประเทศจีน ได้รับคะแนน 31.3% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เป็นรองเพียงสหรัฐฯที่ได้รับคะแนนนิยม 36.4% โดยมีญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 3 ได้รับคะแนน 25.3%

ส่วนประเทศอื่นๆที่ได้รับคะแนนความนิยมจากคนไทย โดยเห็นว่าเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกัน ได้แก่ อังกฤษ (4.9%) ฝรั่งเศส (0.8%) เยอรมนี (0.6%) แคนาดา รัสเซีย และอิตาลี มีคะแนนเท่ากันประเทศละ 0.1%

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ผูกพันประเทศไทยและประเทศจีนให้สนิทสนมกันโดยง่าย ก็คือ สายสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติ คนไทยจำนวนมากสืบทอดเชื้อสายและขนบธรรมเนียมประเพณีมาจากบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานยังประเทศไทยในอดีต ทำให้คนไทยสามารถเรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตของชาวจีน นับเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้ประเทศทั้งสองพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างน่าทึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และกำลังก้าวขึ้นเกาะกลุ่มเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ยิ่งทำให้คนไทยเห็นว่าจีนมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สรุปได้ดังนี้

– ตลาดส่งออกอันดับ 4 จีนเป็นประเทศที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากเป็นอันดับ 4 รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ การส่งออกสินค้าไทยไปจีนมีสัดส่วนประมาณ 7% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยในปัจจุบัน เทียบกับสัดส่วนราว 3% เมื่อ 5 ปีก่อน ที่น่าสังเกต ก็คือ การส่งออกสินค้าไทยไปจีนขยายตัวรวดเร็วในปี 2546 ในอัตราสูงถึง 60% นับเป็นอัตราเพิ่มสูงสุดในกลุ่มตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน โดยมีมูลค่า 5,689 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546 เทียบกับมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปีในช่วงระหว่างปี 2544-2545 คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนมีแนวโน้มที่จะทะลุระดับ 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 นับว่าจีนเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงของไทย

– นักท่องเที่ยวอันดับ 5 ชาวจีนมีความสำคัญในฐานะนักท่องเที่ยวอันดับ 5 ของไทย รองจากมาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยมีจำนวนเฉลี่ยมากกว่า 600,000 คน/ปี และทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท/ปี ประมาณการว่าในปีนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนน่าจะเดินทางมาเที่ยวไทยมากกว่า 700,000 คน หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรก 2547 ชาวจีนเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น 40.1% เป็นจำนวน 379,292 คน อนึ่ง องค์การการท่องเที่ยวโลกได้ประมาณการไว้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเดินทางออกไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคนภายในปี 2563 หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างแดนมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละ 12% นับจากนี้เป็นต้นไป

– นักลงทุนท็อปเท็น ชาวจีนจัดเป็นนักลงทุนต่างชาติชั้นนำอันดับ 9 ของไทยในปัจจุบัน รองจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน เยอรมนี และเกาหลีใต้ ในช่วง 9 เดือนแรก 2547 โครงการลงทุนของจีนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) พุ่งขึ้น 95% เป็นมูลค่า 2,710 ล้านบาท จำนวนโครงการลงทุน 16 โครงการ เม็ดเงินลงทุนของจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่ายอดเงินลงทุนตลอดทั้งปี 2546

ประเด็นที่ 3 : ผู้นำคนใหม่สหรัฐฯควรฟื้นฟูการค้ากับไทย

ถึงแม้สหรัฐฯ จัดเป็นประเทศที่มีความสัมพันธกับไทยมานาน ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540 ความรู้สึกสนิทสนมกับสหรัฐฯดูห่างเหินไป เนื่องจากในช่วงนั้นประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือส่วนใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงออสเตรเลีย เป็นต้น ขณะที่องค์กรการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯมีบทบาทสำคัญ กลับเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาให้ไทยค่อนข้างช้าและมีผลกระทบข้างเคียงในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯยังคงดำเนินไปด้วยความราบรื่น โดยเฉพาะในยุครัฐบาลไทยปัจจุบัน ซึ่งมีแนวนโยบายเชิงรุกในตลาดต่างประเทศ

สำหรับความคิดเห็นของคนไทยในขณะนี้ ที่ว่าต้องการให้ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความร่วมมือกับประเทศไทยทางด้านเป็นอันดับแรกสุด ปรากฏว่า ความร่วมมือด้านการค้า ได้รับคะแนนมากที่สุด 34.5% เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเห็นโอกาสในการขยายช่องทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ถึงแม้จะมีการใช้มาตรการกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าจากเมืองไทยอยู่บ้างก็ตาม ดังนั้น ชาวไทยส่วนหนึ่งจึงอยากให้สหรัฐฯ ร่วมมือทางการค้ากับไทยอย่างจริงจัง เพราะการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ซบเซาลงค่อนข้างมากในช่วงปี 2544-2546 โดยมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงอยู่ในระดับราว 16% ในปัจจุบัน เทียบกับที่เคยอยู่ในระดับสูงกว่า 20% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย

ส่วนการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งจะช่วยระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างกันอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ไม่ว่าใครคือผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ระหว่างประธานาธิบดี George W. Bush หรือ นาย John Kerry คาดว่าสหรัฐฯน่าจะยังคงดำเนินนโยบาย FTA กับประเทศต่างๆต่อไป เพราะเป็นมาตรการที่จะช่วยหนุนให้การค้าโลกฟื้นตัว ท่ามกลางความเฉื่อยชาของการเจรจาในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO)

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการเจรจา FTA ไทย–สหรัฐฯ คงจะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะบรรลุข้อตกลงต่างๆ ได้ทั้งหมด เนื่องจากการเจรจากับสหรัฐฯมีประเด็นอ่อนไหวสำหรับประเทศไทย เช่น การเปิดเสรีภาคบริการของไทย ขณะที่สหรัฐฯ ก็ยังไม่ต้องการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรให้แก่ไทย เพราะสหรัฐฯ ยังคงต้องการปกป้องภาคเกษตรกรรมของตนต่อไป ดังนั้น ไทยและสหรัฐฯ จึงควรมีการเจรจาต่อรองระหว่างกันให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ เพราะจะช่วยกรุยทางไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในด้านอื่นๆระหว่างกันมากยิ่งขึ้น เมื่อต่างฝ่ายต่างมีความจริงใจและเข้าใจในปัญหาซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง

สำหรับความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าประเทศไทยกับสหรัฐฯ ควรพัฒนาความร่วมกันระหว่างกัน ได้แก่ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ตามมาเป็นอันดับ 2 คะแนน 25.2% อันดับ 3 ได้แก่ ความร่วมมือด้านการลงทุน คะแนน 21.9% ความร่วมมือด้านการศึกษา อยู่ในอันดับ 4 ได้รับคะแนน 13.7% ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 2.9% และ ความร่วมมือด้านการทหาร 1.8%

ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และความร่วมมือด้านการลงทุน สามารถดำเนินการได้พร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น โครงการลงทุนของสหรัฐฯ ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทางการไทยจึงน่าจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติควบคู่ไปกับการกำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนท้องถิ่นด้วย

ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 2 ของไทย รองจากญี่ปุ่น โครงการลงทุนของสหรัฐฯ ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กระเตื้องขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา หลังจากประสบภาวะซบเซาติดต่อกัน 3 ปีในช่วงระหว่างปี 2543-2545 โดยในปี 2546 มีมูลค่าเงินลงทุน 47,446 ล้านบาท พุ่งขึ้นมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับเม็ดเงิน 8,440 ล้านบาทในปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่ยอดเงินลงทุนของสหรัฐฯในไทยต่ำสุดในรอบ 12 ปี สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยมีมูลค่า 31,079 ล้านบาท ประมาณการว่ามูลค่าเงินลงทุนของสหรัฐฯ ที่ขอรับการส่งเสริมมีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อยในปีนี้ หลังจากที่การลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยฟื้นตัวรวดเร็วในปีที่แล้ว และโครงการลงทุนหลายโครงการทยอยได้รับการอนุมัติการส่งเสริมเรียบร้อยแล้ว

ประเด็นที่ 4 : เอเชียสำคัญแค่ไหนในใจสหรัฐฯ

เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดี George W. Bush เข้าดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาวใหม่ๆ นักวิเคราะห์ฟันธงกันว่าสหรัฐฯจะผูกมิตรกับประเทศในกลุ่มทวีปอเมริกาด้วยกันเป็นอันดับแรกตามนโยบายของพรรครีพับลิกันในขณะนั้น ซึ่งต้องการรวมกลุ่มเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา 34 ประเทศให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาค แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์วิปโยค 11 กันยายน 2544 ได้ส่งผลให้สหรัฐฯต้องหันเหความสนใจจากแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจมายังเป็นด้านความมั่นคง โดยมุ่งประเด็นไปยังพื้นที่ที่อาจส่งผลกระทบต่อคนอเมริกันมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ กลุ่มตัวอย่างคนไทยประมาณครึ่งหนึ่งมองว่าภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นดินแดนที่สหรัฐฯ สนใจและเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 51.2% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด โดยเอเชียเป็นภูมิภาคที่อยู่ในสายตาของสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 สัดส่วน 29.7%

สำหรับภูมิภาคอื่นๆ กลุ่มตัวอย่างมองว่าสหรัฐฯ ให้ความสนใจในอันดับรองลงไป ได้แก่ ยุโรป 9.5% อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ 4.9% ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 3.2% โดยแอฟริการั้งท้ายสุด สัดส่วน 0.4%

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นที่สนใจของสหรัฐฯ ก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติน้ำมันดิบจำนวนมหาศาลในดินแดนแห่งนี้ ทำให้สหรัฐฯ ต้องยื่นมือเข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์ขุมพลังงานของโลก เนื่องจากสหรัฐฯ และนานาประเทศต่างก็พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางเป็นหลัก ทิศทางราคาน้ำมันโลกที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นจุดสนใจของประชาคมโลกในขณะนี้ ขณะเดียวกันความหวั่นวิตกเกี่ยวกับภัยก่อการร้ายข้ามชาติที่คาดการณ์กันว่ามีแหล่งซ่องสุมอยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องจับตาดูภูมิภาคนี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กลุ่มตัวอย่างมองว่าได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากตะวันออกกลาง เนื่องจากขณะนี้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวอเมริกันอย่างยิ่งยวด ทำให้สหรัฐฯ เพ่งเล็งประเทศที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยประเทศเอเชียที่ติดบ่วงเฝ้าระวังของสหรัฐฯ ได้แก่ เกาหลีเหนือ โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าเป็นชนวนปัญหาที่อาจลุกลามเป็นภัยคุกคามระหว่างประเทศต่อไป

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ไม่อาจมองข้ามประเทศจีน ซึ่งกำลังก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียอีกประเทศหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลก และเป็นประเทศที่บริโภคสินค้าจำนวนมากเช่นกัน รวมทั้งเป็นประเทศที่กระจายเม็ดเงินลงทุนไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่านักท่องเที่ยวจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวของโลก หลังจากที่ชาวจีนมีเสรีภาพในการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ในทางกลับกันประเทศจีนเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลกอีกแห่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากให้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีน นับว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนขยายวงกว้างขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของซีกโลกตะวันตกเช่น สหรัฐอเมริกา ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของจีนอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ประการที่ 5 : คนไทยคาดว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก รวมถึงคนไทย เนื่องจากผู้แข่งขันทั้งสองคนมีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะพอๆ กัน ชาวไทยส่วนใหญ่จึงติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าว เพื่อดูว่าประธานาธิบดี George W. Bush จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศมหาอำนาจตะวันตกไว้ได้อีกสมัยหนึ่งหรือไม่ หรือนาย John Kerry ผู้ท้าชิงจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ จากการสอบถามความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างชาวไทยเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างคนไทยคาดว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ นาย John Kerry น่าจะได้รับชัยชนะคิดเป็นสัดส่วน 57.5% ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เหลืออีก 42.5% คาดว่าประธานาธิบดี Bush จะรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีไว้ได้อีกสมัยหนึ่ง การที่กลุ่มตัวอย่างคาดว่านาย Kerry จะได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ เนื่องจากเห็นว่าชาวอเมริกันเบื่อหน่ายการทำสงคราม และต้องการให้วิกฤตการณ์อิรักยุติลงโดยเร็ว จึงต้องการผู้นำคนใหม่ให้เข้ามาคลี่คลายปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการชิงชัยครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนชาวอเมริกันในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่าคนไทยต้องการให้ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ช่วยแก้ปัญหาโลกเรื่องใดเป็นอันดับแรก ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญกับ ปัญหาน้ำมันแพงเป็นอันดับแรก ได้รับคะแนน 42.1% เนื่องจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันแพงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและสร้างความเดือดร้อนแก่คนทั่วโลก รวมทั้งประชาชนคนไทยด้วย จึงอยากให้สหรัฐฯ ช่วยจัดการปัญหานี้เป็นลำดับแรก ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยมีราคาสูงขึ้นมากกว่า 60% และคาดว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงต้นปีหน้า หากปัจจัยด้านจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อตลาดน้ำมันโลกยังไม่คลี่คลายลง

ปัญหาสำคัญอันดับ 2 ที่กลุ่มตัวอย่างต้องการให้สหรัฐฯ แก้ไขอย่างเด็ดขาด ได้แก่ ปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติ คะแนน 36.6% เพื่อให้ประชาคมโลกกลับสู่ความสงบเรียบร้อย สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขและปลอดภัย ไม่ต้องหวั่นวิตกเกี่ยวกับภัยอันตรายมากนัก เท่าที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังไม่สามารถขจัดปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติให้หมดสิ้นลงได้ นับเป็น “เผือกร้อน” อีกประเด็นหนึ่งสำหรับผู้ที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้

ปัญหาระดับโลกอีกประการหนึ่งที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสหรัฐฯ น่าจะช่วยผลักดันให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว ได้แก่ การฟื้นฟูการเจรจาการค้าโลก (WTO) ให้คืบหน้าเร็วขึ้น ได้รับคะแนน 16.1% เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีความหวังว่า WTO จะช่วยจัดระเบียบการค้าโลกให้เป็นธรรมและเสรี ประเทศสมาชิก WTO ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา น่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเท่าเทียมกัน

การชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ จะต้องเผชิญปัญหาท้าทายหลายประการ ซึ่งประชาชนชาวอเมริกันและประชาคมโลกฝากความหวังไว้ว่าผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะสามารถหาทางออกและคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดต่างๆ ได้อย่างละมุนละม่อม ท่ามกลางวิกฤตการณ์เรื้อรังทางการเมืองระหว่างประเทศ และความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้