ทิศทางปิโตรเคมีปีไก่: สดใส…อย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีนับว่าเป็นหนึ่งในหลายอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆมากมาย เช่น อุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ทอผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์ก่อสร้าง และปุ๋ยเพื่อการเกษตร เป็นต้น โดยในปี 2547 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถก่อให้เกิดรายได้ 315,000 ล้านบาทหรือ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภายในประเทศ ขณะนี้เป็นช่วงวัฏจักรขาขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจึงส่งผลให้อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีไทยโดยรวมมีอัตราการเติบโตของกำไรที่ดีมากในปี 2547 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะมีแนวโน้มที่สดใสอย่างต่อเนื่องไปสู่ปี 2548 – 2549 ซึ่งเป็นปีที่ราคาปิโตรเคมีไต่สู่จุดสุดยอดของวัฏจักร ในขณะที่อุปทานมีการขยายตัวอย่างจำกัด กอปรกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูงก็เป็นแรงหนุนที่ดีต่อราคาปิโตรเคมี อีกทั้งหลายบริษัทปิโตรเคมีของไทยก็มีภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงมากหลังจากได้มีการปรับโครงสร้างหนี้และการเงินในช่วงปีก่อนๆ

สายอะโรเมติกส์: อุปทานตึงตัว…ขาขึ้นยังอยู่อีกหลายปี

จากแรงจูงใจในวัฏจักรขาขึ้นของราคาซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติกโลกจะมีรายได้เฉลี่ยก่อนหักภาษีและดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 130 ดอลลาร์ต่อตัน จึงเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตหลายรายทั้งในประเทศและต่างประเทศลงทุนในโครงการเพิ่มการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นปลายใหม่ๆหลายแห่งเพื่อให้ทันรับผลกำไรในช่วงขาขึ้นโดยเฉพาะสายอะโรเมติกส์ซึ่งใช้น้ำมันดิบหรือคอนเดนเสทเป็นวัตถุดิบในการผลิต ที่ราคาน่าจะอยู่ในระดับสูงไปอีก 2-3 ปี ข้างหน้า เนื่องจากตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาได้เกิดภาวะขาดแคลนผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในเอเชียโดยเฉพาะจากประเทศจีน ในขณะที่ราคาก็ปรับขึ้นในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน

โดยในเดือนตุลาคม 2547 ราคาผลิตภัณฑ์หลักของอะโรเมติกส์ คือ เบนซีน และพาราไซลีน ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 890 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 1,183 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ จาก 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันตามลำดับในไตรมาส 2 ของปี 2547 สำหรับแนวโน้มในปี 2548 – 2551 นั้นภาวะตลาดผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในเอเชียคาดว่ายังคงขาดแคลน โดยปี 2551 จะเกิดภาวะขาดแคลนพาราไซลีนประมาณ 2 ล้านตัน เนื่องจากโรงงาน NPC4 ในอิหร่านขนาดกำลังผลิต 750,000 ตันต่อปี ซึ่งมีแผนจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2549 คาดว่าจะดำเนินการได้ช้ากว่ากำหนดจากการก่อสร้างที่ล่าช้า

ขณะที่โรงงาน Xianglu PC ในจีน ขนาดกำลังการผลิต 800,000 ตันต่อปี ที่มีแผนเริ่มดำเนินการในปี 2550 ต้องหยุดชะงักโครงการเนื่องจากปัญหาด้านการขาดแคลนวัตถุดิบทำให้การใช้กำลังการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ในภูมิภาคยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2551 ขณะที่ตลาดอะโรเมติกส์ในประเทศปี 2548-2549 คาดว่าจะขาดแคลนพาราไซลีนปีละ 4 แสนตัน เนื่องจากมีโครงการผลิต PTA ที่ต้องการใช้พาราไซลีนเป็นวัตถุดิบในการผลิตเกิดขึ้น ซึ่งอุปทานที่ตึงตัวดังกล่าวจะส่งผลให้วัฏจักรขาขึ้นมีระยะเวลายาวนานออกไปอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า

สายโอเลฟินส์: ราคาผลิตภัณฑ์พุ่ง…อนาคตสดใส

สำหรับสายโอเลฟินส์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิต คาดว่าจะมีการขยายตัวของกำไรสูงสุดในปี 2548 – 2549 เช่นเดียวกัน จากปัจจัยราคาผลิตภัณฑ์หลักคือ เอทิลีน และโพรพิลีน ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มวัฏจักรขาขึ้น และยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น กอปรกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการขยายตัวมากกว่าอุปทาน โดยสถาบัน Chemical Market Associates. Inc (CMAI) คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดภาวะอุปสงค์ส่วนเกินของเอทีลีนและโพรพิลีนเหลืออยู่ประมาณ 800,000 ตัน และ 230,000 ตันภายในปี 2550 ส่งผลให้ราคาของเอทิลีนและโพรพิลีนปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ในปี 2547 ราคาเฉลี่ยของเอทิลีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันหรือเพิ่มขึ้น 29% จากปี 2546 และโพรพิลีนอยู่ที่ 710 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันหรือเพิ่มขึ้น 24% จากปี 2546 และจะไต่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดของวัฏจักรในปี 2548-2549 แล้วจึงปรับตัวลดลงในปี 2550 เป็นต้นไป

ความสามารถในการแข่งขัน…ไทยยังได้เปรียบคู่แข่ง

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นจะเชื่อมโยงโดยตรงกับอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขั้นกลางและมีผลิตภัณฑ์โมโนเมอร์หลัก อาทิ โพลีเอทิลีน (PE) โพลีโพรพิลีน (PP) โพลีสไตรีน (PS) และ โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกอีกต่อหนึ่ง ในปี 2546 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในปริมาณ 1.66 ล้านตัน ในขณะที่นำเข้าเพียง 422,000 ตัน ทำให้ปริมาณส่งออกสุทธิอยู่ที่ 1.238 ล้านตัน ซึ่งจากปริมาณนี้ไทยส่งออกไปประเทศจีนถึง 46% ในขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งของตลาดผลิตภัณฑ์โมโนเมอร์ในจีน 7% อย่างไรก็ดีขณะนี้จีนซึ่งถูกเปรียบว่าเป็น “โรงงานของโลก” มีความต้องการผลิตภัณฑ์โมโนเมอร์อย่างมาก โดยในปี 2546 จีนต้องนำเข้า 54% ของโพลีเอทิลีน และ 40% ของโพลีโพรพิลีนที่บริโภคทั้งหมดของโลก และคาดว่าในปี 2563 ปริมาณความต้องการนำเข้าโพลีเอทิลีนจะมีมากกว่า 10 ล้านตัน และโพลีโพรพิลีนกว่า 3 ล้านตันและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 เท่าของปริมาณนำเข้าในปี 2546 ดังนั้นจีนจึงเป็นตลาดนำเข้าที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยในอนาคต

หากวิเคราะห์ถึงขีดความสามารถในการแข่งขันในการผลิตของไทยเพื่อส่งออกสู่ตลาดจีนพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเอทิลีนได้ (Gas based ethylene production) ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มี ยกเว้นมาเลเซีย และต้องใช้แนฟทาซึ่งเป็นโมเลกุลหนึ่งของน้ำมันเป็นวัตถุดิบซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตามในด้านต้นทุนการผลิตนั้นไทยเป็นรองแค่ประเทศมาเลเซียเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียให้การสนับสนุนด้านราคา อีกทั้งยังมีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตเอทิลีนถึง 64% ในขณะที่ไทยใช้เพียง 23% จึงทำให้ต้นทุนการผลิตของมาเลเซียถูกกว่าไทย สำหรับสายอะโรเมติกส์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยนั้นสามารถแข่งขันกับชาติอื่นได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากสายนี้ยังมีความขาดแคลนอยู่มากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งไทยยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เนื่องจากใช้คอนเดนเสทหรือก๊าซธรรมชาติเหลวที่มีอยู่ในประเทศเป็นวัตถุดิบในการผลิต

4 องค์ประกอบหลัก… จุดอ่อน – จุดแข็งปิโตรเคมีไทย

องค์ประกอบสำคัญที่มีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยนั้นสามารถจำแนกได้ 4 องค์ประกอบดังนี้

องค์ประกอบที่ 1: ต้นทุนการผลิต

องค์ประกอบด้านต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยจัดว่าอยู่ในระดับที่สามารถสู้ได้กับคู่แข่งจากประเทศอื่นๆในภูมิภาค เนื่องจากฐานการผลิตของอุตสาหกรรมมีขนาดใหญ่พอที่สามารถทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงได้ โดยเฉพาะขณะนี้ผู้ผลิตในประเทศได้ให้ความสำคัญกับการรวมตัวกันของห่วงโซ่การผลิต หรือ Integration of production chain เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากการผลิตในระดับที่ได้ประโยชน์จากขนาด Economies of scale ที่ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงซึ่งจะเพิ่มผลประโยชน์ในช่วงขาขึ้นของธุรกิจ เนื่องจากการผลิตสินค้าในขั้นปลายจะให้มูลค่าเพิ่มที่สูงกว่า ในขณะเดียวกันก็สามารถแข่งขันได้หากธุรกิจเข้าช่วงขาลง ดังจะเห็นได้จากโครงการลงทุนใหม่ๆ อาทิ บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติที่รวมการผลิตโพลีเอทิลีน ความหนาแน่นสูง (HDPE) กับการผลิตเอทิลีนเข้าด้วยกัน และ กลุ่มอินโดรามาที่ได้เริ่มโครงการผลิต PTA เพื่อขยายขนาดการผลิตจากที่ผลิต PET อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากเทียบกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มายาวนานแล้ว ไทยยังเป็นรองอยู่ในส่วนนี้

องค์ประกอบที่ 2: โครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน

ไทยมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีเทียบเท่าสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยมีท่าเรือน้ำลึกและระบบเครือข่ายถนนเชื่อมกับศูนย์กลางการผลิตปิโตรเคมีที่ระยองกับกรุงเทพฯซึ่งเป็นตลาดหลักของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แต่ในด้านโลจิสติกส์แล้วสิงคโปร์มีระบบการจัดการที่ดีกว่าทั้งไทยและมาเลเซีย อย่างไรก็ตามระบบสาธารณูปโภคสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยที่ระยองนั้น หากได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพก็จะส่งผลดีในระยะยาว ดังนั้นหากมีการสนับสนุนด้านการลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากสาธารณูปโภคที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะระบบขนส่งทางถนนก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มากขึ้น

องค์ประกอบที่ 3: ทรัพยากรบุคคล

ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเชียวชาญเฉพาะทางที่ประกอบด้วยวิศวกรและแรงงานฝีมือระดับสูงนั้นโดยรวมแล้วไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่นๆได้ อย่างไรก็ตามพบว่าบุคลากรไทยเสียเปรียบในด้านทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะในหมู่ช่างเทคนิคต่างๆที่ต้องทำความเข้าใจระบบและเทคโนโลยีต่างๆที่นำเข้าจากต่างประเทศและเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องเสริมสร้างทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เข้าใจระบบและขั้นตอนของเทคโนโลยีเหล่านี้ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

องค์ประกอบที่ 4: กฎหมายและระเบียบต่างๆ

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยนั้นได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคด้านต่างๆ การสร้างแรงจูงใจโดยให้ประโยชน์และสิทธิพิเศษในการลงทุนที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สามารถสร้างผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจโดยเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆอีกมากมาย

บทสรุป

กล่าวโดยสรุปแล้วอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีทิศทางขึ้นลงไปพร้อมกับความต้องการและการลงทุน ขณะนี้เป็นช่วงขาขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจึงทำให้ผลประกอบการของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในปี 2547 นั้นอยู่ในระดับที่ดีมาก และคาดว่าผลประกอบการจะดียิ่งขึ้นในปี 2548-2549 ซึ่งเป็นปีที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไต่สู่จุดสูงสุดของวัฏจักร อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูงก็เป็นแรงหนุนที่ดีต่อราคาปิโตรเคมี และจากแรงจูงใจทางด้านราคานี้ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ลงทุนในโครงการเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเคมีหลายแห่งด้วยกันเพื่อรับผลกำไรในช่วงขาขึ้น