ฉายามังกรข้ามถิ่นเริ่มต้นเมื่อรุ่นปู่และรุ่นพ่อได้สร้างบทพิสูจน์เรื่องราวตำนานราชาที่ดินไว้อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อบทบาทต่อไปของช่วงชีวิตลูกชายคือการสานฝัน และสร้างโอกาสสู่ตำนานบทต่อไป ด้วยการทำให้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานีก้าวขึ้นสู่ระดับโลก
นับว่าเป็นครั้งแรกที่ “ปีเตอร์ กาญจนพาสน์” ได้ให้สัมภาษณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด นับตั้งแต่ทำงานเบื้องหลังคุณพ่อ “อนันต์ กาญจนพาสน์” มากว่า 7 ปี โดยปล่อยให้น้องชายคนรองเป็นผู้ออกหน้ากับสื่อถึงแนวคิดรุ่น 3 ของครอบครัวกาญจนพาสน์มาตลอด
ด้วยความที่เป็นคนชอบทำงานอยู่เบื้องหลัง ทุกโปรเจกต์ที่อยู่ในมือของพ่อจึงต้องมีมือขวาอย่างเขานำแนวคิดไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง ในขณะที่น้องชาย “พอล กาญจนพาสน์” จะดูแลในด้านสายงานการตลาดและ operation
ล่าสุดกับโครงการ “The Challenger” อภิมหาโครงการยักษ์ของคนรุ่นพ่อที่จะทำอิมแพคให้กลายเป็นพื้นที่แสดงสินค้าที่ก้าวเข้าสู่อันดับหนึ่งของเอเชีย หรือติดหนึ่งในสิบของโลก ที่มีเขาและน้องสานฝันจัดการให้ภารกิจใหญ่ อันนี้โดยมีเป้าว่าจะเป็น Hub ของเอเชียให้ได้
บรรยากาศการพุดคุยค่อนข้างจะสนุกสนาน ปีเตอร์เขายอมรับว่าเขายังพูดภาษาไทยได้ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเกิดที่ฮ่องกง แต่เรียนและเติบโตที่ประเทศอังกฤษ จบมาทางด้าน “เคมี” ที่ Imperial College แล้วก็กลับมาเริ่มงานที่ซิตี้แบงก์ได้ปีเดียว ลาออกมาช่วยกิจการให้กับครอบครัว ทั้งๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน “อยู่ที่บ้านก็พูดกวางตุ้งกับคุณพ่อคุณแม่ ที่ได้ภาษาไทยเพราะว่าที่ซิตี้แบงก์เขาคุยกันแต่ภาษาไทยอย่างเดียวเลย”
“ตอนเรียนผมสนุกมาก วันๆ ก็ไม่ได้ทำอะไร มัวแต่ (ทำท่าผสมสารในหลอดทดลองต่างๆ) แต่ตอนนี้… ลืมหมดแล้ว (หัวเราะ)” เขายอมรับว่าเนื่องจากความที่เป็นเด็กเรียนเก่งและชอบวิทยาศาสตร์มาก โดยตอนนั้นไม่เคยคิดว่าจะต้องกลับมาเพื่อรับผิดชอบด้าน developer ให้กับทุกโครงการในตอนนี้ แทนที่จะเลือกเรื่องด้านวิศวกร “คุณพ่อเขาก็คิดแบบสมัยใหม่ บอกจะเรียนอะไรก็แล้วแต่ ในที่สุดผมก็กลับมาช่วยอยู่ดี (หัวเราะ) แต่เขาไม่ได้บังคับนะ”
การที่ปีเตอร์กลับมาช่วยงานที่บ้านก็เนื่องมาจากปัญหาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เงินลอยตัว และเป็นช่วงจังหวะก่อนเอเชี่ยนเกม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤตครั้งใหญ่สำหรับบางกอกแลนด์ “เรามาตอนที่ลุ้นๆ อยู่เลยว่าอาคารจะเสร็จทันเอเชี่ยนเกมหรือเปล่า ตอนนั้นก็หลังคาก็ยังไม่มี (หัวเราะ) พอหลังๆ นี่เลยย้ายมาอยู่ไซต์ก่อสร้างอย่างเดียวเลย มีคอนเทนเนอร์ส่วนตัว อยู่กับมันมาตั้งแต่เกิด”
ปีเตอร์ยอมรับว่างานเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับตัวเขา และคนรุ่นพ่อที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน “คุณพ่อเขามองเห็นตรงนี้ว่า ถ้ามีแค่อาคารของเราที่มี (อารีน่า) งานก็ไม่เยอะเท่าไหร่ ต้องสร้างเพิ่มขึ้นอีก พอสร้างเอ็กซิบิชั่นฮอลอีกหลายๆ แห่ง งานก็เยอะขึ้น พอถึงตอนนี้ก็คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องสร้างใหม่แล้ว เพราะว่าในระดับโลกงานก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ต้องการเนื้อที่และมาตรฐานของฮอลที่ใหญ่และดีขึ้นอีก”
“ตอนเริ่มต้นคุณพ่อก็สอนงานหมดทุกอย่าง เพราะเราไม่เป็นเลย ใช้วิธีสังเกตการทำงาน เขาเป็นคนทำงานมีเหตุผล และเวลาเขา negotiate กับคนอื่นต้องรักษาคำพูด และไม่ใช่อะไรทุกอย่างก็ไปบีบเขา มันต้องแฟร์ เราจะสนุก และคนอื่นเขาถึงจะทำงานกับเรามีความสุขด้วย”
ภาพในรุ่น 3 ตอนนี้จึงต้องรับภาระความยิ่งใหญ่ และต้องทำงานหนักมากขึ้น “ต่อไปทีมงานต้องขยายขึ้นเป็น 2 เท่าอยู่แล้ว เพราะว่าเราก็จะใหญ่อีกเกือบเท่าหนึ่ง หลังจากมี challenger”
“ตอนนี้เรายังแข่งกับสิงคโปร์ ฮ่องกงอยู่ เพราะบางงานที่เขาจะมาที่เอเชียก็คิดอยู่ว่าจะมาที่ไหนดี คนจัดงานที่เมืองนอกก็จะชอบที่เมืองไทยมากกว่า เพราะว่าราคาจะถูกกว่า 5 เท่า โรงแรมก็สวยกว่า ที่เที่ยวก็เยอะแยะ แต่ที่เราขาดอยู่ตอนนี้ก็คือสถานที่จัดงานที่ยังไม่ค่อยพอ …ที่ผ่านมาเราจะไปดูงานที่ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือเมืองนอกบ่อยก็เอาไอเดียมา บวกความต้องการของลูกค้าเอเชียเป็นพิเศษ ผมว่าฮอลของเอเชียตอนนี้แทบจะเป็นฮอลที่สวยที่สุดในโลกแล้ว”
ปีเตอร์จึงกลายเป็นเสมือนมือขวาของอนันต์ เมื่อผู้เป็นพ่อดูงานในภาพรวม ปีเตอร์จึงเป็นผู้ดูรายละเอียดต่างๆ ของอิมแพค ก่อนที่พอล กาญจนพาสน์จะเข้ามาดูงานด้าน operation อย่างเต็มตัว “เขากับผมห่างกันแค่ปีเดียว ตอนที่ไปอังกฤษเราก็เรียนโรงเรียนเดียวกัน อยู่ในห้องนอนเดียวกัน 20 กว่าคน ตอนนั้นก็เป็นบอร์ดดิ้งสคูล ที่อังกฤษไม่มีห้องนอนส่วนตัวต้องนอนรวมกัน ก็เลยค่อนข้างสนิทกัน”
“เดี๋ยวนี้เราทำอิมแพคได้สมบูรณ์แล้ว คิดว่าถ้าเราจะทำอะไรใหม่ก็คงทำที่มันคอมเมอร์เชี่ยล ยังทำอะไรได้อีกเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทะเลสาบ เรามีโฉนดตรงนั้น รอบๆ ทะเลสาบเรามีสองร้อยไร่ และในน้ำอีกกว่า สามร้อยไร่ ซึ่งเราก็เคยถามว่าถ้าจะทำในน้ำ ราคาก็แพงขึ้นแค่ 10-15 เปอร์เซ็นต์เอง”
นักธุรกิจอย่างปีเตอร์หาความรื่นรมย์ด้วยการร้องเพลงคลาสสิก และสะสมซีดีโอเปร่า “ชอบตั้งแต่อยู่ที่อังกฤษแล้ว ดูโอเปร่าอย่างเดียว musical ก็มีบ้างแต่มันไม่เยอะ ถ้าที่นี่จัดก็ไปดูทุกวันเลย ดูหมดตั้งแต่ ปูชชินี โมสาร์ต จนถึงวากเนอร์ ก็ฟังหมด มีซีดีอยู่ที่บ้านสามพันกว่าแผ่น ไม่มีที่วาง ตอนนี้รอน้องแต่งงานเพื่อจะทุบห้องเขาอยู่ (หัวเราะ)… แต่เรื่องแรกที่ดู ง่วงมาก นอนหลับไปเลยคือเรื่อง Tosca ที่อังกฤษ”
“นักร้องที่ชอบมักจะเป็นนักร้องผู้หญิงมีหลายคนอย่าง Rene Fleming หรือ Jessy Norman ผมก็ชอบมาก กับ Jane Eaglen ก็ชอบ แต่เขาอ้วนมากเลยนะ (หัวเราะ)”
Profile
Name : ปีเตอร์ กาญจนพาสน์
Born : 6 ตุลาคม 2516 ที่ฮ่องกง
Education : เรียนโรงเรียนประจำในประเทศอังกฤษ จนถึงระดับปริญญาตรี ด้านเคมี ที่ Imperial College (2539)
Career Highlights :
2540 เริ่มงานที่บริษัทซิตี้แบงค์ไทยแลนด์เพียง 1 ปี ก่อนกลับมาช่วยงานที่บางกอกแลนด์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
2540-ปัจจุบัน กรรมการผุ้จัดการบริษัท บางกอกแลนด์ (มหาชน) จำกัด
Family : บุตรชายคนโตในจำนวน 2 คน ของอนันต์ และโซฟี กาญจนพาสน์ มีน้องชายชื่อ พอล กาญจนพาสน์