ข่าวการหารือระหว่างกรมประมงของไทยกับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคของจีน ซึ่งกรมประมงของไทยได้เสนอขอให้ทางการจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าเนื้อจระเข้เพื่อการบริโภคจากไทย เนื่องจากชาวจีนมีความต้องการบริโภคเนื้อจระเข้จำนวนมาก แต่จีนยังไม่มีการเพาะเลี้ยงจระเข้อย่างจริงจัง ซึ่งข่าวนี้ช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจการเพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทยคึกคักขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการที่ไทยจะขยายตลาดส่งออกเนื้อจระเข้ไปยังตลาดจีนนั้นจะช่วยทำให้ผลตอบแทนของธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้และธุรกิจการจำหน่ายเนื้อจระเข้เพิ่มขึ้น จากในอดีตที่ผลตอบแทนหลักของธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้คือ การจำหน่ายหนังดิบ หนังฟอก และผลิตภัณฑ์ต่างๆจากหนังจระเข้
เดิมนั้นเนื้อจระเข้เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มชาวจีน ชาวจีนยังมีความเชื่อว่าเนื้อจระเข้มีคุณสมบัติทางยา โดยการบริโภคเนื้อจระเข้ เครื่องในและเลือดแล้วสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้และความดันโลหิตสูง รวมทั้งชาวจีนเห็นว่าเนื้อจระเข้นั้นมีรสชาติอร่อย โดยมีรสชาติผสมกันระหว่างเนื้อไก่ เนื้อหมู และอาหารทะเล อย่างไรก็ตามในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมานี้เนื้อจระเข้กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อทั่วโลก ความต้องการเนื้อจระเข้ในตลาดโลกเริ่มเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปี 2543-2544 เกิดการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าและโรคปากและเท้าเปื่อยในสหภาพยุโรปทำให้ชาวยุโรปหันมาเลือกรับประทานเนื้อจระเข้มากขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยสนับสนุนประการสำคัญคือ เนื้อจระเข้จัดเป็นเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อขาว ซึ่งถือว่าเป็นเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีโปรตีนสูง ปริมาณไขมันต่ำกว่าเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นเนื้อที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างอีกด้วย อย่างไรก็ตามประเด็นที่มีการกล่าวถึงในการค้าเนื้อจระเข้ในตลาดโลก คือ มาตรฐานสุขอนามัยในด้านโรงฆ่าและชำแหละจระเข้ รวมทั้งขั้นตอนการตัดแต่ง แช่เย็น แปรรูป ไปจนถึงการขนส่งเนื้อจระเข้และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากในบางประเทศโดยเฉพาะในประเทศแถบแอฟริกา แม้ว่าจะถือว่าเป็นแหล่งที่มีจระเข้ชุกชุม และเหมาะสำหรับตั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ รวมทั้งยังเป็นประเทศที่ส่งออกหนังจระเข้ที่สำคัญของโลก แต่ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีบทบาทสำคัญในการค้าเนื้อจระเข้ อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้นับว่ามีโอกาสอย่างมากในการที่จะพัฒนามาเป็นประเทศส่งออกเนื้อจระเข้ โดยการพัฒนาโรงฆ่าและชำแหละจระเข้
ปัจจุบันในประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ที่จดทะเบียน 12 ฟาร์ม (จากการสำรวจของกรมประมงพบว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ 186 ฟาร์ม) และมีการเพาะเลี้ยงจระเข้ประมาณ 170,000 ตัว ซึ่งผลิตภัณฑ์จระเข้จากทั้ง 12 ฟาร์มนี้สามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก ดังนั้นอนาคตตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จระเข้ของไทยน่าจะขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากหนังจระเข้ของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก นอกจากนี้ร่างแผนการจัดการจระเข้ของกรมประมงยังจะช่วยแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าจระเข้จากกัมพูชาและอินเดีย ผลของแผนนี้จะทำให้ธุรกิจการค้าจระเข้และผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ราคาเนื้อจระเข้ แบ่งเป็นราคาเนื้อจระเข้สดประมาณ 650 บาทต่อกิโลกรัม และราคาเนื้อจระเข้แห้งประมาณ 3,000-3,500 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามราคาที่ซื้อขายจริงอาจจะแตกต่างไปบ้างขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนตลาดส่งออกเนื้อจระเข้ของไทยคือ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและเอเชีย ซึ่งความต้องการเนื้อจระเข้ในแต่ละตลาดจะแตกต่างกัน กล่าวคือ ในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ผู้บริโภคต้องการเนื้อจระเข้ส่วนที่นำไปทำ สเต็ก ส่วนในฮ่องกงและจีนนั้นนิยมบริโภคเครื่องใน เนื้อส่วนเท้า และเลือด ทั้งนี้เพื่อนำไปประกอบอาหารประเภทสเต๊ะ เนื้อจระเข้ทอดราดซอส และซุปจระเข้ นอกจากการส่งออกในลักษณะสด แช่เย็นแช่แข็งแล้ว ลู่ทางการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้บรรจุกระป๋องก็น่าสนใจ โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายเนื้อจระเข้บรรจุกระป๋อง(ขนาด 250 กรัม)มีราคา 200 บาทต่อกระป๋อง ซึ่งมีส่วนผสมของเนื้อจระเข้ สมุนไพรจีน และเห็ดหอม การส่งออกเนื้อจระเข้ของไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 5 ตันต่อเดือน ซึ่งถ้าคิดราคาเฉลี่ยของเนื้อจระเข้ที่จำหน่ายในตลาดโลกที่ประมาณ 10-15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อกิโลกรัมแล้ว มูลค่าการส่งออกเนื้อจระเข้ของไทยประมาณ 600,000-750,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 24-30 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบันประเทศที่ส่งออกเนื้อจระเข้ที่สำคัญในตลาดโลกคือ ซิมบับเว ปาปัวนิวกินี อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งประเทศเหล่านี้นับว่าเป็นคู่แข่งที่ไทยต้องจับตามองในการเจาะขยายตลาดส่งออกเนื้อจระเข้ โดยเฉพาะออสเตรเลียซึ่ง แม้ว่าในปัจจุบันออสเตรเลียยังมีปัญหาในเรื่องการขยายพันธุ์ เนื่องจากฟาร์มเพาะเลี้ยงในบางพื้นที่ยังต้องอาศัยการเก็บไข่จระเข้จากธรรมชาติมาเพาะฟัก แต่ธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้มีการขยายตัวอย่างมาก
นอกจากออสเตรเลียแล้วคู่แข่งที่น่าจับตามองคือ เวียดนาม แม้ว่าในปัจจุบันการเลี้ยงจระเข้ในเวียดนามนับว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องเผชิญปัญหามากมาย เช่น การเพาะพันธุ์ เทคนิคการเลี้ยง เป็นต้น ซึ่งทำให้จระเข้ที่เวียดนามเลี้ยงยังคงมีคุณภาพต่ำ แต่เวียดนามก็นับว่าเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง โดยปัจจุบันเวียดนามมีการจดทะเบียนฟาร์มจระเข้ไว้กับไซเตสเพียง 5 ฟาร์ม แต่ก็มีการสำรวจพบว่ามีครัวเรือนและบริษัทเพาะเลี้ยงจระเข้ประมาณ 125 แห่ง แม้ว่าผลผลิตจากจระเข้ของฟาร์มที่ไม่จดทะเบียนกับไซเตสนี้ตลาดจะจำกัดอยู่ในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์จระเข้ไปยังประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป ไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐฯได้ แต่ก็สามารถส่งออกไปยังจีนได้ ซึ่งมีรายงานว่าการส่งออกจระเข้จากเวียดนามไปยังตลาดจีนนั้นยังต่ำกว่าโควตาที่ได้รับจากกระทรวงการค้าของจีน ซึ่งสถานะปัจจุบันของเนื้อจระเข้เวียดนามจึงยังไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวของไทย