กุ้งปี’48 : ธุรกิจพึงระวัง…ปัจจัยเสี่ยงยังรุมเร้า

ในปี 2548 ธุรกิจกุ้งยังเป็นธุรกิจที่พึงระวัง เนื่องจากยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนในตลาดส่งออกสำคัญคือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป กล่าวคือ ในตลาดสหรัฐฯการพิจารณาอัตราภาษีทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะเป็นตัวกำหนดการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดนี้ โดยไทยจะได้ประโยชน์ถ้าอัตราภาษีสำหรับประเทศไทยอยู่ในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดนี้ ส่วนตลาดสหภาพยุโรปก็ขึ้นอยู่กับคำตัดสินว่าสหภาพยุโรปจะพิจารณาคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีกับไทยหรือไม่ ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในสหภาพยุโรปคำตัดสินของตลาดทั้งสองนี้จะทราบผลในช่วงเดือนธันวาคม 2547 ซึ่งจะส่งผลให้ภาพของธุรกิจกุ้งในปี 2548 ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องติดตามการขยายตัวของการผลิตกุ้งในปี 2548 ของประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทยด้วย เนื่องจากคาดว่าภาวะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดโลกจะยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

คาดว่าปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยในปี 2548 เท่ากับ 400,000 ตัน เมื่อเทียบกับในปี 2547 ที่มีปริมาณการผลิต 325,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกุ้งต่างๆหันไปส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงกุ้ง โดยคาดการณ์ว่าราคากุ้งจะมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการส่งออกที่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้น โดยคาดว่าในปี 2548 การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 – 260,000 ตัน มูลค่า 960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วคาดว่าทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และ 10.3 อย่างไรก็ตามทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งอาจจะสูงกว่านี้ ถ้าปัจจัยที่ยังไม่แน่นอนในขณะนี้กลับมาเป็นปัจจัยหนุนเนื่องการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย

ส่งออกกุ้งไทย 2548 : ปัจจัยไม่แน่นอน…รอข้างหน้า

แนวโน้มธุรกิจกุ้งของไทยในปี 2548 นั้นต้องรอผลของปัจจัยที่ยังไม่แน่นอนในตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญดังนี้

• ตลาดสหรัฐฯ…รอชี้ชะตาจากอัตราภาษีเอดีขั้นสุดท้าย

ในปี 2547 จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯดำเนินการไต่สวนประเทศผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 ผู้นำเข้ากุ้งในสหรัฐฯเร่งนำเข้ากุ้งโดยเฉพาะจากจีน ไทย เอกวาดอร์ เวียดนามและอินเดีย เนื่องจากเมื่อมีการประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2547 นั้นจะมีการตรวจสอบการนำเข้าย้อนหลัง 90 วันว่ามีการนำเข้าผิดปกติหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นผิดปกติก็จะมีการเก็บภาษีย้อนหลังด้วย การเร่งนำเข้ากุ้งช่วงไตรมาสแรกส่งผลให้สต็อกกุ้งในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การนำเข้าในช่วงไตรมาสสองนั้นลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯเปิดการไต่สวนการทุ่มตลาด กล่าวคือ ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2547 สัดส่วนการนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯจากประเทศที่ถูกไต่สวนการทุ่มตลาดลดลงเหลือเพียงร้อยละ 33 จากมูลค่าการนำเข้ากุ้งทั้งหมด จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนตลาดสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งสหรัฐฯหันไปนำเข้าจากประเทศที่เคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายย่อยไปยังสหรัฐฯแทน ได้แก่ เวเนซูเอลลา อินโดนีเซีย มาเลเซีย บังคลาเทศ ซูรินัม และเปรู เป็นต้น

เมื่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือภาษีเอดีเบื้องต้นพร้อมออกมาตรการให้บริษัทผู้นำเข้ากุ้งต้องวางเงินค้ำประกันสินค้านำเข้าจากประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ทำให้การนำเข้ากุ้งรวมของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการนำเข้ากุ้งเพียง 36,473 ตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42 โดยนำเข้าจากประเทศที่ถูกฟ้องร้องเพียง 17,873 ตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 54 ประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือ จีนที่มีการนำเข้าลดลงจาก 11,251 ตัน เหลือ 2,961 ตัน หรือลดลงร้อยละ 74 ในขณะที่ประเทศที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่างได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย กล่าวคือสหรัฐฯมีการนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซียในเดือนสิงหาคมเท่ากับ 4,757 ตัน เทียบกับ 2,049 ตันในเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าตัว ทำให้ปริมาณกุ้งนำเข้าอินโดนีเซียของสหรัฐฯในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 สูงกว่าการนำเข้าทั้งปีของปี 2546 ส่วนการนำเข้ากุ้งจากไทยในเดือนสิงหาคม 2547 ลดลงร้อยละ 55 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ปริมาณรวมช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 มีการนำเข้าสูงกว่าปีก่อนร้อยละ 5

การพิจารณาอัตราภาษีทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯหลายฝ่ายในอุตสาหกรรมกุ้งมีความเห็นว่า เอกวาดอร์ บราซิล ไทยและเวียดนามอาจจะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายลดต่ำกว่าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเบื้องต้นที่ได้ประกาศไปแล้ว ทั้งนี้ผลการพิจารณาอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายสำหรับจีนและเวียดนามจะประกาศในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 และสำหรับเอกวาดอร์ บราซิล อินเดีย และไทยประกาศในวันที่ 17 ธันวาคม 2547

ผลกระทบของอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยแยกพิจารณาได้ดังนี้

– อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น…ถ้าสหรัฐฯใช้การคำนวณแบบ Zeroing ถ้าสหรัฐฯใช้วิธีการคำนวณแบบไม่นำรายการขายในตลาดสหรัฐฯที่ราคาสูงกว่าตลาดต่างประเทศ หรือสูงกว่าต้นทุนการผลิตรวมกำไรมาคำนวณ(Zeroing) ซึ่งจะส่งผลให้อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของผู้ส่งออกไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอัตราภาษีขั้นต้นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และทุกบริษัทส่งออกมีสิทธิที่จะถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดทั้งหมด โดยปัจจัยที่สนับสนุนว่าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น คือกลุ่มพันธมิตรชาวประมงกุ้งของสหรัฐฯจะขอให้นำกฎหมาย “The U.S. Dumping and Subsidy Offset Act of 2000” หรือ “Byrd Amendment” มาใช้ ทำให้ศุลกากรสหรัฐฯสามารถนำภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดมาชดเชยให้กับอุตสาหกรรมกุ้งภายในที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้กลุ่มผู้ฟ้องจะต้องพยายามทำให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สัญญาณทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าโอกาสที่ไทยจะหลุดจากภาษีเอดีคงเป็นไปได้ยาก และมีแนวโน้มว่าอาจจะถูกเรียกเก็บในอัตราสูงกว่าอัตราภาษีขั้นต้น

– อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดมีแนวโน้มต่ำลง…ถ้าสหรัฐฯใช้การคำนวณแบบเฉลี่ย สมาคมกุ้งไทยคาดว่าแนวโน้มอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บจากผู้ส่งออกกุ้งของไทยน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยอาจจะถูกเรียกเก็บในอัตราประมาณร้อยละ 3-4 ต่ำกว่าอัตราขั้นต้นที่เรียกเก็บที่ร้อยละ 6.39 ข้อต่อรองของประเทศผู้ส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ คือการงดการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารกุ้ง ดังนั้นการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งจะส่งผลให้ธุรกิจถั่วเหลืองตั้งแต่ชาวไร่จนถึงผู้ส่งออกต้องเสียผลประโยชน์ โดยจีนถือเป็นประเทศผู้นำเข้าถั่วเหลืองลำดับต้นๆ ของสหรัฐฯ สำหรับในประเทศไทยกลุ่ม 9 สมาคมได้แก่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อการส่งออกไทย สมาคมอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าจะไม่นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯเช่นกัน รวมทั้งกรมการค้าต่างประเทศส่งหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯใช้วิธีการคำนวณแบบเฉลี่ย โดยนำรายการจำหน่ายกุ้งในตลาดสหรัฐฯที่ราคาสูงกว่าตลาดต่างประเทศ หรือสูงกว่าต้นทุนการผลิตรวมกำไร มาคำนวณเฉลี่ยรวมกับรายการจำหน่ายกุ้งในสหรัฐฯที่ราคาต่ำกว่าตลาดต่างประเทศ หรือต่ำกว่าต้นทุนการผลิตแทนการคำนวณแบบ Zeroing คาดว่าจากการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่ไทยจะถูกเรียกเก็บต่ำลงจากอัตราประกาศขั้นต้น กล่าวคือไทยน่าจะถูกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-4

นอกจากประเด็นในเรื่องอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายแล้ว ประเด็นที่น่าจับตามองคือ การนำเข้ากุ้งขนาดใหญ่และเล็กของสหรัฐฯเริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยประเทศที่ครอบครองตลาดกุ้งขนาดใหญ่ในสหรัฐฯคือ อินเดีย บังคลาเทศ ไทย และเวียดนาม ส่วนกุ้งขนาดเล็กประเทศที่ครอบครองตลาดคือ เอกวาดอร์ เวเนซูเอลลา ไทย และบราซิล ในขณะที่สหรัฐฯนำเข้ากุ้งขนาดกลางมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศที่ครอบครองตลาดกุ้งขนาดกลางในสหรัฐฯคือ ไทย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก นอกจากนี้สินค้ากุ้งแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกุ้งแปรรูปอื่นๆทั้งในลักษณะแช่แข็งและไม่ได้แช่แข็ง(Shrimp Frozen Other Preparations และ Others Preparations Non-frozen) และ กุ้งคลุกขนมปัง(Breaded Frozen) ส่วนกุ้งที่ปอกเปลือกการนำเข้ามีแนวโน้มลดลง

• ตลาดญี่ปุ่น…การแข่งขันรุนแรง

ในช่วงปี 2547 ตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มการนำเข้ากุ้งเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกุ้งที่ญี่ปุ่นนำเข้าเพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นกุ้งจากอินเดีย เวียดนาม และจีน ทำให้อินโดนีเซียและเวียดนามนั้นเป็นแหล่งนำเข้ากุ้งที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยทั้งสองประเทศครองสัดส่วนตลาดมากกว่าร้อยละ 40 ของปริมาณการนำเข้ากุ้งทั้งหมดของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตามองคือ บรา-ซิลเริ่มเป็นคู่แข่งที่มาแรงในตลาดญี่ปุ่น แม้ว่ากุ้งส่วนใหญ่ของบราซิลจะส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปมากกว่าก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องติดตามผลกระทบจากการประกาศภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบวกและผลลบมาถึงการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นด้วย กล่าวคือการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะลดลง เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้ทั้งสองประเทศหันไปส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯมากขึ้น ในขณะที่ประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในสหรัฐฯจะหันมาจับตลาดญี่ปุ่นทดแทน

ปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ 53,000-54,000 ตัน มูลค่า 60,000-70,000 ล้านเยน( 550-642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยไทยนั้นติดอันดับ 5 ของแหล่งนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และจีนตามลำดับ เดิมนั้นญี่ปุ่นเคยนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์จากไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่หลังจากเกิดภาวะโรคระบาดในพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้ง ทำให้ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าจากอินโดนีเซียและเวียดนามมากขึ้น สำหรับกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยที่ส่งไปยังตลาดญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่เป็นกุ้งปอกเปลือกและมีหาง(Peeled Tail-on) ซึ่งคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกกุ้งประเภทนี้คือ เวียดนาม การเจาะขยายตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยนั้นคงต้องพิจารณาแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ ตลาดญี่ปุ่นเริ่มมีความต้องการกุ้งขนาดกลางเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ต้องการเพียงกุ้งขนาดใหญ่ อันเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในญี่ปุ่นต้องการกุ้งขนาดกลางเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำซูชิและเทมปุระ รวมทั้งผู้บริโภคในญี่ปุ่นเริ่มนิยมบริโภคกุ้งขนาดกลางมากขึ้นด้วย นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าตลาดญี่ปุ่นเริ่มนำเข้ากุ้งแปรรูปเพิ่มขึ้น และสัดส่วนการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง โดยเฉพาะกุ้งคลุกขนมปังป่น ซูชิ และผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปประเภทอื่นๆ

• ตลาดสหภาพยุโรป…รอการพิจารณาคืนจีเอสพี

ผู้ส่งออกกุ้งของไทยกำลังรอการพิจารณาคืนสิทธิจีเอสพี เนื่องจากอียูกำลังทบทวนการคืนสิทธิพิเศษดังกล่าวให้กับกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งอียูจะให้สิทธิพิเศษในรอบใหม่ตั้งแต่ปี 2549-2558 ซึ่งตามวิธีคำนวณใหม่มูลค่าส่งออกกุ้งของไทยไปอียูมีน้อยมาก และมีส่วนแบ่งไม่ถึงร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งไปอียูจากทุกประเทศที่ได้รับจีเอสพี หากอียูคืนสิทธิจีเอสพีกุ้งให้กับไทยได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมาก ทำให้อียูจะกลับมาเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่สำคัญเช่นเดียวกับก่อนปี 2541 เนื่องจากกุ้งไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดนี้มาตั้งแต่ปี 2541 ทำให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยของอียูลดลงจาก 192 ล้านยูโร ในปี 2541 เหลือเพียง 5 ล้านยูโร ในปี 2546 หรือลดลงมากกว่าร้อยละ 90 ถ้าอียูคืนจีเอสพีให้ไทยจะส่งผลให้เพิ่มยอดการส่งออกกุ้งไทยได้อีกมาก การส่งออกกุ้งไทยไปอียูจะเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 ตันต่อปี จากปัจจุบันที่มีการส่งออกไปยังอียูเพียง 5,000 ตันเท่านั้น

เนื่องจากอียูเรียกเก็บภาษีนำเข้ากุ้งไทยในอัตราสูงถึงร้อยละ 12 สำหรับกุ้งสดและร้อยละ 20 สำหรับกุ้งแปรรูป ในขณะที่ประกาศว่าจะยังคงให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีกับคู่แข่งสำคัญของไทย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย โดยคงภาษีนำเข้ากุ้งสดจากอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และกุ้งแช่แข็งร้อยละ 7.5 นับว่าเป็นโอกาสของอินโดนีเซียในการขยายการส่งออก รวมทั้งการที่สหภาพยุโรปมีมติยกเลิกการห้ามนำเข้ากุ้งจากจีน ซึ่งทางสหภาพยุโรปเคยตรวจพบสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์กุ้งจากจีน ส่งผลให้จีนกลับมาเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหภาพยุโรปอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้คู่แข่งขันสำคัญของการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหภาพยุโรปคือ ประเทศในแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอาเจนตินา บราซิล เอกวาดอร์ โมร็อคโค และโคลัมเบีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ครองสัดส่วนอยู่ในอันดับต้นๆของการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหภาพยุโรป การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดอียูมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งทางอียูตัดจีเอสพีผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทย ปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดอียูมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1-2 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมด

ประเด็นที่น่าสนใจคือ คู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหภาพยุโรปนั้นเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐฯกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราที่สูงกว่าไทย ดังนั้นประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะหันมาเจาะขยายตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในตลาดนี้ อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดอียูเพิ่มขึ้นของผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์นั้นคงต้องผลักดันให้ทางอียูทบทวนการให้จีเอสพี ทั้งนี้ต้องมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งถ้าอัตราภาษีนำเข้าของไทยลดลงเทียบเท่ากับอินโดนีเซียแล้ว สถานการณ์การส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดอียูของไทยจะมีแนวโน้มสดใสขึ้น

บราซิล…คู่แข่งที่กำลังมาแรง

นอกจากสถานการณ์ในตลาดส่งออกสำคัญแล้ว ผู้ส่งออกกุ้งของไทยยังต้องจับตาบราซิล ซึ่งคาดว่าจะเป็นคู่แข่งที่มาแรงในปี 2548 นอกจากคู่แข่งขันรายเดิมอย่างจีน เวียดนาม อินเดีย และเอกวาดอร์ ปัจจุบันบราซิลจัดเป็นผู้ผลิตกุ้งอันดับ 7 ของโลก การเพาะเลี้ยงกุ้งของบราซิลขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งของรัฐบาล รวมทั้งการยกระดับเทคโนโลยีในการเลี้ยงกุ้ง และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้ผลผลิตกุ้งของบราซิลเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละปี คาดว่าในปี 2548 เนื้อที่เพาะเลี้ยงกุ้งของบราซิลจะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 เฮกตาร์(ประมาณ 125,000 ไร่) ผลผลิตเท่ากับ 160,000 ตัน เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 และ 33.3 ตามลำดับ ส่วนในด้านการส่งออกนั้น ในปี 2548 รัฐบาลบราซิลตั้งเป้าหมายการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2553 บราซิลจะกลายเป็นผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของโลก โดยมูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากบราซิลเริ่มหันมาผลิตกุ้งแปรรูปเพื่อการส่งออก ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น จากเดิมที่การส่งออกกุ้งของบราซิลที่ยังไม่แปรรูป ดังนั้นบรา-ซิลจึงสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกกุ้งได้อีกมาก ตลาดสหรัฐฯถือว่าเป็นตลาดส่งออกหลักของ บราซิล โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 45 ของการส่งออกกุ้งทั้งหมดของบราซิล สำหรับตลาด สหภาพยุโรปนั้นบราซิลก็เป็นประเทศที่มีความสำคัญอยู่ในอันดับต้นๆของการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรป และมูลค่าการส่งออกในปี 2547 นี้เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว โดยเฉพาะในตลาดสเปน ฝรั่งเศส เนื่องจากกุ้งที่บราซิลส่งออกนั้นเป็นกุ้งขาว(P.vannamei) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของสหภาพยุโรป

บทสรุป

ทิศทางธุรกิจกุ้งของไทยในปี 2548 จะชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อทราบผลการตัดสินเกี่ยวกับอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และการคืนจีเอสพีให้กับผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยสำหรับตลาดอียู ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะส่งผลอย่างมากในการกำหนดทิศทางการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2548 และส่งผลต่อเนื่องถึงทิศทางราคากุ้งและปริมาณผลผลิตกุ้งในปี 2548 ด้วยเช่นกัน
สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในระยะยาวนั้น รัฐบาลก็ได้มุ่งเน้นไปที่การเร่งพัฒนาบนพื้นฐานความเป็นจริงและหวังจะให้ไทยกลับมาเป็นอันดับ 1 เรื่องผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงให้ได้ หลังจากถูกจีนแซงหน้าตั้งแต่ปี 2546 โดยกรมประมงได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2548 ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปดำเนินการ และเพิ่มการศึกษาวิจัยเพื่อให้สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้ สำหรับนโยบายเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก คือการกำหนดยุทธศาสตร์กุ้งและผลิตภัณฑ์(ปี 2547-2551) กำหนดเป้าหมายผลผลิตกุ้งในปี 2551 จะมีปริมาณ 481,250 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 100,800 ล้านบาท ขณะที่ผลที่จะได้รับจากยุทธศาสตร์คือ การขยายพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมอีกประมาณ 50,000 ไร่ กำหนดสัดส่วนการผลิตกุ้งกุลาดำต่อกุ้งขาวแวนนาไมเป็น 30:70 กำหนดสัดส่วนการผลิตกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 12 เพื่อมุ่งตลาดเฉพาะ