เงินดอลลาร์สหรัฐฯทำสถิติต่ำสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อเทียบกับเงินยูโร และหล่นลงถึงระดับเฉลี่ย 102 เยน/ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี ทั้งนี้ ตลาดเงินไม่สนใจเกี่ยวกับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงของกลุ่มยูโรและญี่ปุ่นที่เห็นว่าความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนขณะนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ทรุดต่ำลงอย่างหนัก ได้แก่ ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ และกระแสข่าวที่ว่าธนาคารกลางบางประเทศอาจปรับสัดส่วนการถือสกุลเงินตราต่างประเทศในกองทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยจะถือสกุลเงินยูโรเพิ่มมากขึ้น ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น มีค่าเข้มแข็งเป็นลำดับแตะที่อัตรา 102 เยน/ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 เนื่องจากตลาดเก็งว่าทางการจีนอาจปรับเพิ่มค่าเงินหยวน ซึ่งจะส่งผลให้สกุลเงินเอเชียมีค่าแข็งขึ้นตามไปด้วย
เงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่ามั่นคงในรอบ 9 เดือน เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซื้อขายเฉียดอัตรา 1.90 ดอลลาร์/ปอนด์ สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ทะยานอย่างต่อเนื่อง ผ่านแนวต้าน 450 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นผลสำเร็จ และคาดว่าจะทดสอบที่ระดับราคา 455 ดอลลาร์ในไม่ช้านี้
ตลาดเงินตราต่างประเทศจับตาดูความเคลื่อนไหวสกุลเงินต่างๆเป็นพิเศษในระยะนี้ หลังจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าร่วงลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในที่สุดเงินดอลลาร์มีค่าทะลุอัตรา 1.30 ดอลลาร์/ยูโร และมีค่าตกต่ำเป็นประวัติการณ์ถึง 1.32 ดอลลาร์/ยูโร เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกดดันให้มีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯอย่างหนัก ได้แก่
• ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Alan Greenspan ที่เมือง Frankfurt ประเทศเยอรมนี ในช่วงวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ระบุว่าปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ไม่เป็นผลดีแก่เศรษฐกิจและค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศอาจชะลอการลงทุนในหลักทรัพย์ของสหรัฐฯในภายหน้า และส่งผลให้เม็ดเงินทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์ที่จะไหลเข้ามาชดเชยยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เพียงพอ เป็นอันตรายต่อค่าเงินดอลลาร์ในที่สุด
• แถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังของประเทศแนวหน้า 20 ประเทศในช่วงที่ผ่านมา หรือ G20 ที่เมือง Berlin ประเทศเยอรมนี ไม่ได้เน้นว่าจะแก้ไขปัญหาค่าเงินดอลลาร์ลดลงอย่างไร ทำให้ตลาดเงินคาดว่าสหรัฐฯอาจพอใจที่จะเห็นค่าเงินดอลลาร์ลดต่ำลง เพื่อช่วยให้การส่งออกของสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น
• ราคาน้ำมันถีบตัวแพงอีกครั้งเหนือระดับเฉลี่ย 50 ดอลลาร์/บาร์เรล ท่ามกลางแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง ทำให้นักวิเคราะห์คาดกันว่าผู้ส่งออกน้ำมันดิบในตะวันออกกลางคงไม่ต้องการรายได้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์เก็บไว้มากนัก และอาจมีการเทขายเงินดอลลาร์ เพื่อแลกเป็นสกุลเงินยูโรแทน
• ทางการรัสเซียกำลังทบทวนมาตรการที่จะปรับสัดส่วนการถือสกุลเงินตราต่างประเทศในสำรองเงินทุนระหว่างประเทศใหม่ โดยจะหันไปเน้นการถือสกุลเงินยูโรให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรัสเซียได้ขยายการติดต่อค้าขายกับกลุ่มยูโรเป็นลำดับ
• ตลาดเงินเมินถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงของเยอรมันและญี่ปุ่นที่ขู่ว่าอาจต้องแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อชะลอค่าเงินดอลลาร์ไม่ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ ตลาดเงินเก็งว่ากลุ่มยูโรอาจแทรกแซงที่ระดับเฉลี่ยราว 1.35 – 1.40 ดอลลาร์/ยูโร
เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1.86-1.88 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งนับเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 ทั้งนี้ เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์ที่ทรุดต่ำลงอย่างหนัก เมื่อเทียบกับเงินยูโร พลอยมีผลทำให้ค่าเงินปอนด์แข็งแกร่งตามไปด้วย ถึงแม้ว่ารายงานตัวเลขเศรษฐกิจอังกฤษในระยะนี้ไม่ค่อยแจ่มใสเท่าที่ควร และเก็งกันว่าอังกฤษคงชะลอการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยออกไปในปี 2548 ปัจจุบัน อังกฤษเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปแล้วรวม 5 ครั้ง อยู่ที่ระดับ 4.75%
ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ มีแนวโน้มพุ่งต่อไป ตราบใดที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯง่อนแง่นลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน เพราะนับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาทองคำแข็งขึ้น 13% โดยมีผลมาจากความทรุดโทรมของค่าเงินดอลลาร์เป็นสำคัญ การที่เงินดอลลาร์มีค่าอ่อนตัวลง ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อทองคำในยุโรปและญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาทองคำในรูปสกุลเงินยูโรและเงินเยนจะต่ำลง จูงใจให้ซื้อเก็บไว้
อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 เทียบกับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.3047 ดอลลาร์/ยูโร (1.3248 ดอลลาร์/ยูโร) 103.24 เยน (102.63 เยน) และ 1.8604 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8897 ดอลลาร์/ปอนด์)
ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 เท่ากับ 448.10 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 452.25 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547