ตลาดในประเทศของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมทั้งระบบซึ่งหมายถึงกลุ่มภาพและเสียง(Audio & Video : AV)และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (White Goods) รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบและชิ้นส่วนอะไหล่ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทั้งสองกลุ่มในปี 2548 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ลดลง อันเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากปีนี้เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อยมา ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบหลักในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังคงสูงขึ้น และต้นทุนด้านการขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการลอยตัวของราคาน้ำมันดีเซลที่คาดว่าอาจจะเริ่มต้นในไตรมาสแรกของปี 2548 และจะส่งผลโดยตรงต่อราคาของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจต้องปรับราคาสูงขึ้นตาม
นอกจากนี้ตลาดในประเทศของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังได้รับผลกระทบจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) และการทำตลาดของสินค้าคู่แข่งจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างต้องปรับตัวเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตน และรักษาตลาดในประเทศรวมทั้งระบบของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้ยังคงขยายตัวต่อไป
กลุ่มภาพและเสียง: การแข่งขันสูง แนวโน้มตลาดใน…ขยายตัวเล็กน้อย
การรุกตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน และกำลังซื้อที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2547นี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆในการกระตุ้นตลาดโดยการเน้นการแข่งขันที่จุดเด่นในเรื่องแบรนด์ คุณภาพ และเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการขยายตัวของตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มภาพและเสียงในปี 2548 จะมีมูลค่าตลาดที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณ 2% เมื่อเทียบจากประมาณการณ์ตลาดรวมในปี 2547 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 38,900 ล้านบาท ขยายตัวประมาณ 2-3% จากมูลค่าตลาดในปี 2546
ตลาดของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มภาพและเสียงในปี 2548 คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ค่อนข้างเร็ว อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ทดแทนชนิดอื่นทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องและมากแบบขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แบบต่างๆ ที่สามารถเป็นสินค้าทดแทนสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องเล่น VCD/CD/DVD การพัฒนาเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือที่สามารถรับชมโทรทัศน์หรือฟังวิทยุได้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้ามาเป็นสินค้าทดแทนผลิตภัณฑ์บางส่วนในกลุ่มภาพและเสียง และยังสามารถใช้งานในด้านอื่นๆได้อีกมากกว่า เป็นต้น
ผู้ประกอบการสินค้าในกลุ่มนี้อาจต้องเพิ่มการทำตลาดในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น เนื่องจากตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มนี้ในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีราคาไม่แพงนักยังพอจะขยายตัวได้อีก การสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ คุณภาพ และการนำผลิตภัณฑ์ที่มีการเพิ่มนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาด จะสามารถกระตุ้นตลาดอีกทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการปรับราคาจำหน่ายให้เหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริงได้มากขึ้น
กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน : ตลาดรวมยังพอว่าง..แต่ตลาดล่างยังแข่งดุ
ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่งได้แก่เครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวก ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ซึ่งตลาดรวมของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในปี 2548 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้มากกว่ากลุ่มภาพและเสียงเนื่องจากอัตราการครอบครองเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ดังนั้นตลาดในส่วนนี้จึงยังมีแนวโน้มที่พอจะขยายตัวได้อีก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า แนวโน้มตลาดของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในปี 2548 จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 28,000 – 30,000 ล้านบาท หรือที่อัตราการขยายตัวประมาณ 5% เมื่อเทียบจากประมาณการณ์ตลาดรวมในปี 2547 นี้ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 27,000 – 28,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการขยายตัวประมาณ 6-8% จากมูลค่าตลาดในปี 2546
ถึงแม้ว่าตลาดในประเทศของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะยังสามารถขยายตัวได้อีก แต่การแข่งขันจากการรุกตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีนในตลาดระดับล่างยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การรุกตลาดระดับล่างของตู้เย็นประตูเดียวจากจีน ทำให้ผู้ประกอบการของไทยต้องลดกำลังการผลิตลงและหันไปทำตลาดตู้เย็นในระดับสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากจีนได้ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆในตลาดระดับล่างที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงเช่นกัน การปรับตัวของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงต้องมีการออกผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ออกสู่ท้องตลาดเพื่อสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น โดยเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการในตลาดระดับกลางขึ้นไป อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะการแข่งขันด้านราคาจำหน่ายในตลาดระดับล่างที่สินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศมีความได้เปรียบเหนือกว่า
อุปกรณ์ประกอบและชิ้นส่วนอะไหล่….ขยายตัวลดลงเช่นกัน
การขยายตัวของตลาดของอุปกรณ์ประกอบ เช่น ลำโพง เสาอากาศภายนอก อุปกรณ์ขยายสัญญาณ และชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุง ของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังคงแปรผันโดยตรงกับสภาพตลาดของผลิตภัณฑ์ทั้งสองกลุ่มซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของอุปกรณ์ประกอบและชิ้นส่วนอะไหล่ของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2548 จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 6,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณ 7 % ซึ่งก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกันเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดในปี 2547นี้ ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 5,600 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวประมาณ 12% จากมูลค่าตลาดในปี 2546
ความต้องการของตลาดในส่วนของอุปกรณ์ประกอบหรืออุปกรณ์ต่อพ่วง (Accessories) นี้มักจะแปรผันตรงตามยอดการจำหน่ายของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองกลุ่ม เนื่องจากเป็นอุปกรณ์เสริมการใช้งานที่ไม่สามารถใช้งานได้ด้วยตัวเองโดยเอกเทศ ความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงนั้นมักจะมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้จำหน่ายออกไปสู่ท้องตลาดก่อนหน้านี้รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้านำเข้าราคาถูกที่มักไม่มีบริการอะไหล่เป็นของตนเองแต่สามารถใช้อะไหล่ร่วมกันกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศได้เมื่อต้องการการซ่อมบำรุง
ตลาดรวมในประเทศปี 2548 : แนวโน้มอาจจะชะลอตัวลง
ตลาดในประเทศของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งระบบในปี 2548 นั้น มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปี 2547 นี้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ตลาดในประเทศของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งระบบในปี 2548 จะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 74,000 – 76,000 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 4 % เมื่อเทียบกับประมาณการณ์ของปี 2547 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 71,000 – 73,000 ล้านบาท ที่มีการขยายตัวเพิ่มประมาณ 4-5 %จากมูลค่าตลาดในปี 2546
สำหรับสภาพตลาดโดยทั่วไปในปี 2548 นั้น ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนและจากประเทศอื่นๆ และต้องเตรียมการรับมือจากผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ซึ่งจะมีผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนทั้งกลุ่มภาพและเสียงและกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนทะลักเข้ามาในตลาดและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ประกอบกับการปรับตัวขึ้นของราคาวัตถุดิบหลัก เช่น เหล็ก ทองแดง พลาสติก ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นไปกว่า 40 % ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% แต่ด้วยการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงในตลาดทุกระดับ ผู้ประกอบการจึงยังไม่สามารถที่จะทำการปรับราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนัก
บทสรุป : เร่งปรับตัว….รับการเปลี่ยนแปลง
จากภาวการณ์ตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมสำหรับปี 2548 ที่กล่าวมานั้น ผู้ประกอบการควรเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวลงและการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น การโหมทำกิจกรรมทางการตลาดที่เป็นการกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคเพื่อรักษาหรือขยายส่วนแบ่งตลาดจะมีมากขึ้น ซึ่งอาจต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดเพิ่มเติมจากกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบเฉพาะฤดูกาล(Seasonal) และเน้นที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อความนิยมและสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคถึงความคุ้มค่าเงินในระยะยาวของสินค้าที่มีคุณภาพดีที่มีเหนือกว่าสินค้าที่มีราคาถูกเพียงอย่างเดียว
การออกผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆหรือเทคโนโลยีเฉพาะ ที่สามารถสร้างความแตกต่างเข้าสู่ตลาด จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและการรับรู้แบรนด์ของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งคุณภาพที่แน่นอน ศูนย์บริการและอะไหล่ที่ได้มาตรฐานด้วยราคาที่เหมาะสม การให้บริการที่สะดวกและเข้าถึงผู้บริโภค จะทำให้การเจาะและขยายตลาดระดับบนสามารถกระทำได้ไม่ยากนัก ซึ่งตลาดระดับบนเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง การแข่งขันด้านราคาไม่รุนแรงเท่าตลาดระดับล่าง จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีโอกาสที่จะปรับราคาจำหน่ายให้เหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริงได้ในระยะต่อไป
นอกจากการเตรียมพร้อมและการปรับตัวของผู้ประกอบการแล้ว หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถมีบทบาทในการคุ้มครองผู้ประกอบการและป้องกันการรุกตลาดของสินค้านำเข้าคุณภาพต่ำราคาถูกได้ โดยการเร่งดำเนินการออกมาตรฐานอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่ชอบธรรมและไม่ขัดต่อข้อตกลงการค้าเสรี(FTA) อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรวมของสินค้านำเข้าคุณภาพต่ำ อายุการใช้งานสั้น และกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียเงินตราต่างประเทศโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากสินค้าคุณภาพต่ำเหล่านี้ยังก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายคุณภาพชีวิตคนไทย และยังเป็นภาระทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินการกำจัดในอนาคตอีกด้วย