บทนำ
ปัจจุบันจีนกำลังก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำทางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยในปีที่ผ่านมา จีนมีปริมาณการค้ามากเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเยอรมนี ด้วยมูลค่าการค้ารวมถึง 851 พันล้านดอลลาร์ โดยยอดส่งออกและนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.6 และร้อยละ 39.9 ด้วยมูลค่า 438 พันล้านดอลลาร์ และ 412.8 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าของจีนก็ยังขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องด้วยจำนวนการส่งออกและนำเข้า 416 พันล้านดอลลาร์และ 412 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 35.3 และร้อยละ 38.2
การก้าวขึ้นเป็นประเทศแนวหน้าทางการค้าของจีนได้ส่งผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยจีนทำหน้าเป็นจักรกลขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคทั้งในแง่ของการค้าและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในปีที่ผ่านมา การค้าต่างประเทศทั้งหมดของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียกับจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 17.8 ของกลุ่มประเทศดังกล่าว (ไม่รวมฮ่องกงซึ่งการค้ากับจีนมีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของการค้าต่างประเทศทั้งหมด) ทั้งนี้ การส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงที่เพิ่มขึ้นมากช่วยให้การส่งออกรวมของเกาหลีใต้และไต้หวันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50-60 นอกจากนี้ การค้ากับจีนยังมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 16.9 ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งครองส่วนแบ่งการค้ากับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเพียงร้อยละ 14.1 ร้อยละ 12.9 และร้อยละ 12.0 ตามลำดับ อาจกล่าวได้ว่า ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทำการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการค้ากับภูมิภาคอื่นของโลก
การค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยเช่นกัน โดยตลาดจีนได้ขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากร้อยละ 4.4 ของตลาดส่งออกรวมของอาเซียนในปี 2001 เป็นร้อยละ 8.8 ในปี 2003 ทั้งนี้การค้าระหว่างไทยกับจีนที่กำลังเติบโตขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการทางการค้าและการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณน่าเป็นห่วงว่าไทยกำลังประสบภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านในการขยายการค้ากับประเทศจีน
การค้าจีน-เอเชียตะวันออก
การค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจีนเป็นผลพวงมาจากมาตรการเปิดเสรีทางการค้าที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามข้อผูกพันที่จีนให้ไว้กับองค์การการค้าโลก เมื่อเร็ว ๆ นี้จีนก็ได้ลดจำนวนสินค้าที่ต้องขอรับใบอนุญาตนำเข้าจาก 8 ประเภทเหลือ 5 ประเภท รวมทั้งได้ลดภาษีสินค้านำเข้าลงจากอัตราเฉลี่ยร้อยละ 11 เหลือร้อยละ 10.4 โดยสินค้าเกษตรมีอัตราภาษีลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือร้อยละ 15 ในปีนี้ ในด้านการส่งออกจีนก็ได้ลดประเภทสินค้าส่งออกที่ต้องขอใบอนุญาตลงเหลือ 50 ประเภทรวมทั้งได้ยกเลิกการผูกขาดการค้าระหว่างประเทศโดยวิสาหกิจของรัฐอีกด้วย
การเปิดเสรีทางการค้าของจีนที่เพิ่มมากขึ้นและการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในจีนตลอดจนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดดทำให้การนำเข้า-ส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในช่วงปี 2001-03 การนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69.5 เป็นมูลค่า 413 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าในกลุ่มเครื่องไฟฟ้า/เครื่องจักรกล/อุปกรณ์ขนส่งซึ่งเป็นสินค้านำเข้ากลุ่มใหญ่ที่สุดมียอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 80 และเช่นเดียวกันการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของจีนก็มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 48.8 เป็นมูลค่า 172 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเบามีการขยายตัวน้อยกว่า เช่น สินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้ามีการขยายตัวเพียงร้อยละ 25 และร้อยละ 16.8 เท่านั้น
ประเทศแนวหน้าที่ได้รับประโยชน์จากการค้าที่ขยายตัวระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกคือประเทศอุตสหากรรมใหม่ในเอเชียกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่จีนนำเข้าเพิ่มมากที่สุดในอัตราร้อยละ 224 ในปี 2001-03 อันเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องไฟฟ้า/เครื่องจักรกล/อุปกรณ์ขนส่งซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 264 นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าของจีนจากมาเลเซียและสิงคโปร์ก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนการนำเข้าจากไทย เกาหลีใต้และไต้หวันก็เพิ่มในอัตราสูงร้อยละ 80-87 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในกลุ่มเครื่องไฟฟ้า/เครื่องจักรกล/อุปกรณ์ขนส่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การนำเข้าของจีนจากอินโดนีเซีย เวียดนามและฮ่องกงเพิ่มในอัตราช้ากว่าประเทศเอเชียอื่น ๆ แต่การนำเข้าจากเวียดนามเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเนื่องจากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องไฟฟ้า/เครื่องจักรกล/อุปกรณ์ขนส่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 263 ซึ่งเป็นอัตราใกล้เคียงกับการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ ทำให้แนวโน้มการนำเข้าจากเวียดนามมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
สำหรับการนำเข้าสินค้าประเภทอื่น ๆ จีนนำเข้าสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบจากเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.3 ซี่งต่ำกว่าการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องไฟฟ้า/เครื่องจักรกล/อุปกรณ์ขนส่ง โดยประเทศที่จีนนำเข้าหลัก ๆ ได้แก่มาเลเซีย ไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย อาทิ ยางพารา ไม้และน้ำมันพืชจากมาเลเซีย การนำเข้าผักและผลไม้จากเวียดนาม ส่วนการนำเข้าสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปนั้น จีนนำเข้าสินค้าหลายประเภทเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์จากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ เคมีภัณฑ์และเหล็กจากมาเลเซียและไทย และผลิตภัณฑ์ยาง ด้ายและรองเท้าจากเวียดนาม
ในแง่การส่งออก เอเชียตะวันออกนับเป็นตลาดส่งออกสำคัญของจีน โดยฮ่องกง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 2-4 ของจีนตามลำดับในช่วงครึ่งแรกของปี 2004 นอกจากนี้ ตลาดเอเชียที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ไต้หวัน มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยจีนส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 23-40 ในช่วงดังกล่าว สำหรับไทยนั้นเป็นตลาดลำดับที่ 21 ของจีน
การค้าไทย-จีน
ด้วยปริมาณการค้าไทย-จีน 11,691 พันล้านดอลลาร์ (ไทยส่งออก 5,688.9 พันล้านดอลลาร์และนำเข้า 6,002.3 พันล้านดอลลาร์) นับว่าจีนเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับต้น ๆ ของไทย โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2004 การส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เป็นมูลค่า 5,084 พันล้านดอลลาร์ ทำให้จีนเป็นตลาดอันดับ 4 ของไทยรองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ แม้ว่าสำหรับจีนแล้วไทยจะไม่ใช่คู่ค้าลำดับต้น ๆ แต่จีนก็นำเข้าสินค้าจากไทยหลายประเภทในลำดับต้น ๆ เช่นสินค้าประเภทฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวและผลไม้บางประเภท เช่น ทุเรียนและลำไย นอกจากนี้ ไทยยังครองส่วนแบ่งติดลำดับ 1 ใน 10 สำหรับสินค้าส่งออกหลายประเภทในตลาดจีน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องเสียงและโทรทัศน์ ชิ้นส่วนทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
แม้ว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 20 ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่อาจเทียบได้กับอัตราการขยายตัวร้อยละ 60 ในปีที่แล้ว หากดูตัวเลขการส่งออกสินค้าหลัก 20 รายการแรกจะพบว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าดังกล่าวขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปีก่อนโดยเฉพาะชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ยางพารา เคมีภัณฑ์ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผ้าผืน และผลไม้ ขณะที่สินค้า แผงวงจรไฟฟ้า, เหล็ก และก๊าซธรรมชาติมีปริมาณการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม มีสินค้าบางรายการที่ไทยส่งออกเพิ่มในอัตราสูงขึ้นในอัตราถึงร้อยละ 113-341 ได้แก่ เครื่องเสียง ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ยางและชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ส่วนสินค้าบางรายการที่มีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตรารองลงมาคือเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันสำเร็จรูปและเยื่อกระดาษ
ถึงแม้การส่งออกไปจีนจะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออกเฉลี่ยของไทยไปยังตลาดโลกในแต่ละปี แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ว่าไทยจะสามารถรักษาการเติบโตในอัตราดังกล่าวได้ ในปีหน้าการส่งออกของไทยไปจีนอาจลดลงหรือขยายตัวในอัตราที่ลดลงก็เป็นไปได้จากมาตรการชะลอเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกขึ้นกับอุปทานและอุปสงค์ในตลาดโลก ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนอุตสาหกรรมประเภท แผงวงจรไฟฟ้า แผงวงจรประดิษฐ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก็ขึ้นกับวงจรธุรกิจในประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและการนำเข้าสินค้าดังกล่าวของจีนอีกทีหนึ่ง ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนโดยเฉพาะตัวเลขภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนวทางการส่งออกสินค้าในกลุ่มต่าง ๆ ของไทย ทั้งนี้ การส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจรวมทั้งข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจต่าง ๆ ของจีนให้ภาคเอกชนทราบมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดแผนธุรกิจของผู้ประกอบการในไทย
ในระยะยาว หากไทยสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ไทยก็มีโอกาสที่จะรักษาส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเม็ดพลาสติก ข้าวคุณภาพดี ยางพาราและมันสำปะหลังในตลาดจีน รวมทั้งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าประเภทอุปกรณ์เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตของจีน มิฉะนั้น ไทยก็จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศเอเชียอื่นโดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์กำลังเพิ่มการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และผลไม้ไปจีน ส่วนมาเลเซียก็เป็นผู้ส่งออกสำคัญสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์ไม้และยาง นอกจากนี้ เวียดนามก็กำลังขยายการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อุตสาหกรรมเบาและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนเช่นกัน
ถึงแม้ไทยจะลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับจีนสำหรับสินค้าผักและผลไม้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้เพิ่มปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศมากนัก เนื่องจากผักและผลไม้ไม่ใช่สินค้าสำคัญสำหรับการนำเข้า-ส่งออกระหว่างกัน มีเพียงมันสำปะหลังซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักในกลุ่มผักที่มีปริมาณการค้าค่อนข้างสูง โดยในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ไทยส่งมันสำปะหลังไปจีนเพิ่มร้อยละ 70 เป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากจีนนำมันสำปะหลังไปผลิตเป็นอาหารสัตว์และเอทานอลตามความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าในกลุ่มผลไม้อยู่ในลำดับที่ 18 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดด้วยมูลค่าการส่งออกไม่ถึง 60 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลไม้จากไทยมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตเนื่องจากจีนกำลังลดอุปสรรคทางการค้าโดยผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานสุขอนามัยลง
ในแง่การนำเข้า ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34 เป็นมูลค่า 5,800 ล้านดอลลาร์ในรอบเก้าเดือนแรกของปี 2004 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 23 ในปีที่แล้ว ซึ่งสวนทางกับการส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัวลง ทำให้ไทยขาดดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 716 ล้านดอลลาร์ หากการค้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คาดว่าไทยจะขาดดุลการค้าจากจีนในปีนี้คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 860 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปริมาณการขาดดุลในปีที่แล้ว 313 ล้านดอลลาร์
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนหลัก ๆ ได้แก่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และสินค้าอุปโภคบริโภค ตารางทื่ 4 แสดงให้เห็นว่าจากจำนวนสินค้าทั้งสิ้น 20 รายการมีสินค้านำเข้าจากจีนถึง 14 รายการที่มีอัตราการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้เทียบกับการขยายตัวในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหล็กและแร่โลหะเพื่อสนองความต้องการของอุตสาหกรรมรถยนต์และก่อสร้างในปัจจุบัน นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าหลายรายการก็เพิ่มขึ้นในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เครื่องจักรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าและสิ่งทอ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ แก้วและเครื่องปั้นดินเผา ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาฆ่าแมลง ส่วนสินค้าที่นำเข้าในอัตราเพิ่มที่ลดลงได้แก่ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หลอดภาพโทรทัศน์ ผ้าผืน เครื่องเสียงและวิดีโอ
สรุป
จีนกำลังกลายเป็นจักรกลทางเศรษฐกิจของโลกซึ่งช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายปริมาณการค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกต่างได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการนำเข้าสินค้าในปริมาณมากของจีน ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกันได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมากไปยังจีนทำให้ภาคการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแล้ว การส่งออกไปยังจีนของไทยเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางเท่านั้น โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียตลอดจนประเทศอาเซียนอื่น ๆ เพิ่มขึ้น และเริ่มมีสัญญาณทางเศรษฐกิจแล้วว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนอาจขยายตัวในอัตราที่ลดลง
ในทางตรงกันข้าม การนำเข้าของไทยจากจีนกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากจีนสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับที่ไทยต้องพึ่งพาประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ไทยยังนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนซึ่งครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าก็คาดว่าการนำเข้าสินค้าจากจีนจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล การจับกระแสการเติบโตของจีนจำต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมจีนที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทรวมทั้งส่วนประกอบและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนจำนวนมากของจีน ดังนั้น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตลอดจนคุณภาพสินค้าและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังจีนได้ในระยะยาว