แนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมปี 48…สามารถเติบโตได้ท่ามกลางความผันผวนของตลาดทุนไทย

นับตั้งแต่สิ้นปี 2546 ที่ผ่านมา ตลาดทุนของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายประการ โดยในส่วนของตลาดหลักทรัพย์นั้น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ ได้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยตั้งแต่สิ้นปี 2546 จนถึงวันที่ 23 พ.ย.นั้น ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่าร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 116 ในส่วนของตลาดตราสารหนี้นั้น ผลตอบแทนเมื่อวัดจากดัชนี Total Return Index* ของศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยในช่วงเวลาดังกล่าวได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยปรับตัวขึ้นไปร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.5 ในปี 2546 แต่การที่ตลาดตราสารหนี้ได้รับแรงกดดันจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่าจะถูกปรับขึ้นไปอีกจนถึงปีหน้า ทำให้ความสนใจที่จะลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวของนักลงทุนในปัจจุบันลดลง

ภาพรวมของธุรกิจกองทุนรวมในปี 2547

ธุรกิจกองทุนรวมในปี 2547 นั้น ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากการที่ในปีนี้ได้มีจำนวนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพิ่มขึ้นจากในปีก่อนอีก 3 ราย ส่งผลให้ในปัจจุบันมีจำนวน บลจ.ทั้งสิ้น 17 ราย อีกทั้งธุรกิจกองทุนรวมในปีนี้ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบต่างๆที่กดดันตลาดทุนไทยตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น ส่งผลให้ บลจ.ต่างๆต้องมีปรับตัวโดยการออกกองทุนใหม่ๆเพื่อพยายามดึงดูดนักลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยจำนวนกองทุนรวมทั่วไป (ที่ไม่รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมที่ระดมทุนต่างประเทศ)จนถึงวันที่ 12 พ.ย.นั้น มีทั้งสิ้น 388 กองทุน เพิ่มขึ้นจากในสิ้นปีที่ผ่านมาถึง 71 กองทุน ทั้งนี้ ในปีนี้นั้นทาง บลจ.ต่างๆได้มีการออกกองทุนผสมแบบยืดหยุ่นมากที่สุดถึง 34 กองทุน ส่งผลให้มีจำนวนกองทุนผสมแบบยืดหยุ่นทั้งสิ้น 143 กองทุน รองลงมา ได้แก่ กองทุนรวมตราสารทุนซึ่งได้เพิ่มขึ้นไป 21 กองทุน โดยได้รับแรงหนุนมาจากการที่ บลจ.ต่างๆได้ออกกองทุนหุ้นระยะยาวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเป็นที่สนใจของนักลงทุนในเรื่องของการได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี ทำให้จำนวนกองทุนรวมตราสารทุนเพิ่มขึ้นเป็น 120 กองทุน อันดับสาม ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ซึ่งได้เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา 16 กองทุน หรือเพิ่มขึ้นไปเป็น 100 กองทุน ตามลำดับ

ทั้งนี้สภาพแวดล้อมในการลงทุนที่ค่อนข้างผันผวนนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไปทั้งหมด (ที่ไม่รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมที่ระดมทุนจากต่างประเทศ)นับตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 2546 จนถึงวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยขยายตัวขึ้นไปประมาณร้อยละ 5.3 เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวถึงร้อยละ 121.7 ในปี 2546 โดยกองทุนรวมที่มีมูลค่าของ NAV มากที่สุด ได้แก่ กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น รองลงมา ได้แก่ กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ และกองทุนรวมตราสารแห่งทุน เป็นที่สังเกตได้ว่า การขยายตัวของ NAV ส่วนใหญ่ในปีนี้จะมาจากกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีการขยายตัวมากที่สุด โดยมูลค่า NAV เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนถึงร้อยละ 157.2 รองลงมาได้แก่ กองทุนรวมตลาดเงินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 สืบเนื่องมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นซึ่งทำให้ บลจ.ต่างๆ ตลอดจนนักลงทุนหันมาให้ความสนใจลงทุนในกองทุนประเภทดังกล่าวมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ในขณะเดียวกัน การปรับตัวลดลงของตลาดหลักทรัพย์ยังส่งผลให้มูลค่า NAV ของกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งเคยขยายตัวขึ้นอย่างมาก เช่น กองทุนรวมแบบผสม และกองทุนรวมตราสารทุน ปรับตัวลดลงไปในปีนี้ โดยลดลงไปร้อยละ 26.7 และร้อยละ 9.2 ตามลำดับ จากที่เคยขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 94.1 และร้อยละ 206.3 ในปี 2546

แนวโน้มของธุรกิจกองทุนรวมในปี 2548

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจกองทุนรวมในปีหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทางบลจ.ต่างๆคงจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานมากขึ้น จากสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอันเป็นผลจากการที่คาดว่าปัจจัยต่างๆที่กดดันการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศ เช่น สถานการณ์ทางภาคใต้ น่าจะยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปถึงการลงทุนในปีหน้า นอกจากนั้นการที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศในปีหน้าจะชะลอตัวลงจากในปีนี้นั้น ย่อมจะส่งผลให้ความต้องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ รวมถึงหน่วยลงทุนในปีหน้าลดลงไปเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการปรับตัวของบลจ.ต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้ธุรกิจจัดการกองทุนจะยังสามารถขยายตัวได้ต่อไป โดยคาดว่าบลจ.แต่ละรายคงจะมีความพยายามดึงดูดนักลงทุนโดยวิธีการต่างๆ เช่น

– การออกกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นหรือ ออกกองทุนที่ลงทุนในตลาดเงินมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย อันเป็นผลมาจากการที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยในและนอกประเทศในปีหน้านั้นอาจจะถูกปรับขึ้นไปอีก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพันธบัตรมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงและจะทำให้นักลงทุนชะลอการเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ทำให้คาดว่าทาง บลจ.ต่างๆคงจะมีการออกกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้นเนื่องจากมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวและยังสามารถให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบัน (ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันของแต่ละธนาคารนั้นอยู่ที่ร้อยละ 0.5 – 1.25 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีที่ร้อยละ 1 – 1.75)

– นำเสนอกองทุนประเภทที่คุ้มครองเงินต้น (Principle Protection Fund)และกองทุนรวมประกันเงินต้นและอัตราผลตอบแทน (Principle Guarantee Fund)มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจำนวนกองทุนคุ้มครองเงินต้นและกองทุนรวมแบบประกันเงินต้นน่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า โดยบลจ.ต่างๆคงจะออกกองทุนดังกล่าวเพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่า หลังจากครบกำหนดเวลาตามที่ได้ระบุในโครงการลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่ไม่ต่ำกว่าเงินลงทุนในเบื้องต้น หรือไม่น้อยกว่าจำนวนที่ระบุในโครงการลงทุน โดยในปัจจุบันมีกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นอยู่ทั้งสิ้น 11 กองทุน แบ่งเป็น กองทุนผสมแบบยืดหยุ่น 6 กองทุน และกองทุนตราสารแห่งหนี้ 5 กองทุน(เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 2 กอง) จากการพิจารณามูลค่า NAV ของกองทุนดังกล่าวตั้งแต่สิ้นปี 2546 จนถึง 23 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น พบว่าได้ขยายตัวขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 126.87 จากการที่ บลจ.ต่างๆได้มีการออกกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้นในปีนี้ถึง 4 กองทุน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกองทุนตราสารแห่งหนี้ทั้งสิ้น

ในส่วนของกองทุนรวมแบบประกันเงินต้นและผลตอบแทนนั้น ในปัจจุบันมีอยู่ 1 กองทุน โดยเป็นกองทุนผสมแบบยืดหยุ่นที่ให้น้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่ไปที่ตราสารหนี้ และกำลังจะออกขายในสิ้นเดือนนี้อีกหนึ่งกองทุน

– การเสนอขายกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากรัฐบาล เช่น กองทุน LTF และ RMFมากขึ้น จากการที่การลงทุนในตลาดทุนในปีหน้าเต็มไปด้วยปัจจัยไม่แน่นอนหลายประการ ทำให้คาดว่าบลจ.ต่างๆคงจะหันไปเน้นการขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)มากขึ้น เนื่องจากกองทุนดังกล่าวมีจุดเด่นกว่ากองทุนประเภทอื่นตรงที่ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี โดยนักลงทุนสามารถนำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 300,000 บาท/ปีหรือสูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้พึงประเมิน ซึ่งหากลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทก็จะทำให้ได้สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 600,000 บาท/ปี และกำไรที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวนักลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการลงทุนที่กำหนด

สำหรับการเติบโตของกองทุน RMF จนถึงสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมานั้นพบว่า มีกองทุนประเภทดังกล่าวนี้ 49 กองทุน มีมูลค่า NAV อยู่ที่ 9,248.78 ล้านบาท ขยายตัวขึ้นร้อยละ 27 จากสิ้นปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ 7,281.59 ล้านบาท ส่วนกองทุนรวมหุ้นระยะยาวนั้น ถือได้ว่าเป็นกองทุนใหม่ที่เพิ่งจะได้มีการจำหน่ายให้กับนักลงทุนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยภายในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.จนถึง 23 พ.ย.นั้น จำนวนกองทุนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 8 เป็น 19 กองทุน และมูลค่า NAV ได้เพิ่มขึ้นจาก 1,153.43 ล้านบาท เป็น 2,450.20 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 112.43 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับทำให้คาดว่ากองทุนทั้ง 2 ประเภท ดังกล่าวจะยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่อไปในปีหน้าเช่นกัน

– การเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนโดยการออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ คาดว่าในปีหน้านั้น การออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทาง บลจ.ต่างๆใช้เพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการลงทุนภายในประเทศ และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งบลจ.ต่างๆคงจะใช้วงเงินตามที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรงตั้งแต่ปี 2546 และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศตามวงเงินที่คาดว่าจะได้รับจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.จำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(ซึ่งเป็นวงเงินที่สำนักงาน ก.ล.ต.ได้รับอนุมัติวงเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยอีกต่อหนึ่ง)โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขในการจัดสรรให้กับ บลจ.ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศนั้น คงจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลให้ความน่าสนใจของการลงทุนในต่างประเทศในปีหน้าลดลงไป

– การแสวงหาผลิตภัณฑ์การลงทุนในรูปแบบใหม่ๆเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้มีหลากหลายมากขึ้น จากการที่คาดว่าในปีหน้าจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ หรือ Structured note ที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นรูปแบบการลงทุนที่แพร่หลายมากขึ้นในหมู่นักลงทุน (โดยทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีการออกประกาศให้บริษัทและสถาบันการเงินสามารถขายหุ้นกู้ดังกล่าวให้กับประชาชนทั่วไปได้เมื่อเดือน พ.ค. 2546 ที่ผ่านมา)และ การลงทุนในหุ้นกู้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะมีหุ้นกู้ดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นอีกแนวทางที่รัฐบาลจะใช้ในการระดมทุนให้กับโครงการ Mega Project ต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว การที่คาดว่าตลาดอนุพันธ์จะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในเดือน ก.ค. 2548 โดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเปิดให้นักลงทุนซื้อขายเป็นตัวแรก ได้แก่ Index Futuresนั้น จะเป็นอีกช่องทางใหม่ที่ บลจ.ต่างๆ จะสามารถเข้าไปลงทุนได้ในอนาคต ซึ่งในขณะนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้ทางกองทุนรวมสามารถเข้าไปซื้อขายตราสารอนุพันธ์ดังกล่าวได้ นอกเหนือไปจากเดิมที่อนุญาตให้ซื้อขายได้เฉพาะเพื่อป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน

นอกจากการปรับตัวของ บลจ.ต่างๆตามที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้ว คาดว่า ธุรกิจกองทุนรวมในปีหน้ายังจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ เช่น

– การจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปลายปี 2548 ซึ่งล่าสุดนั้นคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันเงินฝากเรียบร้อยแล้ว และกำลังเตรียมที่จะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาในวาระต่อไป ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายสถาบันประกันเงินฝากมีผลบังคับใช้ จะทำให้การค้ำประกันเงินฝากแบบเต็มจำนวนของรัฐบาลสิ้นสุดลง ส่งผลให้ผู้ที่มีเงินออมจำนวนมากอยู่ในสถาบันการเงินได้รับการค้ำประกันเพียงแค่บางส่วน ทำให้คาดว่าในอนาคตนักลงทุนจะมีความต้องการกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายเงินฝากไปยังช่องทางอื่นๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือ การลงทุนผ่านกองทุนรวม อย่างไรก็ตาม คาดว่าในระยะแรกที่มีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากนั้น ผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มผู้ฝากเงินระดับกลางและระดับย่อย (กลุ่มที่มีเงินฝากต่ำกว่า 50 ล้านบาท/บัญชี/ธนาคาร ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฝากเงินที่มีสัดส่วนเงินฝากสูงถึงร้อยละ 80 ของเงินฝากทั้งหมดในปัจจุบัน)จะยังมีไม่มากนัก ทำให้คาดว่าผลกระทบที่จะมีต่อการไหลออกของเงินฝากในสถาบันการเงินไปยังช่องทางการออมอื่นๆ รวมถึง ผลิตภัณฑ์ของกองทุนรวมต่างๆคงจะค่อยๆมีความชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป โดยในส่วนของ บลจ.ต่างๆนั้นคาดว่าอาจจะสามารถดึงดูดนักลงทุนกลุ่มที่เคยเป็นผู้ฝากเงินส่วนใหญ่กับสถาบันการเงิน(ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้น้อย และยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนมากนัก)ได้ โดยการออกกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หรือ กองทุนที่มีการค้ำประกันเงินต้น ตลอดจน การชักชวนให้นักลงทุนนำเงินมาลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล เป็นต้น

– การจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรายใหม่ในปีหน้า อาทิเช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ซึ่งคาดว่าจะยื่นขออนุญาตกับสำนักงาน ก.ล.ต.ภายหลังจากที่ได้มีแก้ไขพระราชบัญญัติ กบข.เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินกิจการของกองทุนเสร็จสิ้น ซึ่งในขณะนี้ ร่างพรบ.ดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา โดย บลจ.ที่จัดตั้งขึ้นดังกล่าวจะเน้นการลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณอายุราชการเพื่อให้มีทางเลือกในการออมมากขึ้น และสามารถจ้างผู้จัดการกองทุนต่างประเทศให้จัดการลงทุนในต่างประเทศได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีกองทุนรวมที่จะจัดตั้งขึ้นโดยบริษัทประกันบางราย ซึ่งการที่คาดว่าจะมีจำนวนบลจ.รายใหม่เพิ่มขึ้นในปีหน้านั้น จะส่งผลให้การแข่งขันในการออกกองทุนใหม่ๆเพื่อเป็นจุดขายของ บลจ.แต่ละรายและการ
ประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักลงทุนจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ธุรกิจกองทุนรวมในปี 2547 นั้น ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการที่ในปีนี้ได้มีจำนวนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพิ่มขึ้นจากในปีก่อนอีก 3 ราย นอกจากนั้น การที่ธุรกิจกองทุนรวมได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบต่างๆที่กดดันตลาดทุนไทย ไม่ว่าจะเป็น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ ได้ทำให้ธุรกิจดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีนี้ โดยนับตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 2546 จนถึงวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไปทั้งหมด(ที่ไม่รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมที่ระดมทุนจากต่างประเทศ)ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.3 เปรียบเทียบกับการขยายตัวถึงร้อยละ 121.7 ในปี 2546

ทั้งนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นมีการขยายตัวของ NAV มากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนถึงร้อยละ 157.2 รองลงมา ได้แก่ กองทุนรวมตลาดเงินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 สืบเนื่องมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นซึ่งทำให้ บลจ.ต่างๆ ตลอดจนนักลงทุนหันมาให้ความสนใจลงทุนในกองทุนประเภทดังกล่าวมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การปรับตัวลดลงของตลาดหลักทรัพย์ยังส่งผลให้มูลค่า NAV ของกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น กองทุนรวมแบบผสม และกองทุนรวมตราสารทุน ปรับตัวลดลงไปในปีนี้ โดยลดลงไปร้อยละ 26.7 และร้อยละ 9.2 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจกองทุนรวมในปีหน้านั้น การที่คาดว่าแนวโน้มของตลาดทุนไทยจะยังคงเผชิญกับปัจจัยลบในเรื่องเดิมเช่นเดียวกับในปีนี้ จะส่งผลให้ทางบลจ.ต่างๆจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ธุรกิจกองทุนรวมยังสามารถขยายตัวได้ต่อไป ทั้งนี้คาดว่า บลจ.ต่างๆคงจะมีการปรับตัวเพื่อดึงดูดนักลงทุนโดยวิธีการต่างๆ เช่น การออกกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรือ กองทุนที่ลงทุนในตลาดเงินมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย, การออกกองทุนประเภทที่คุ้มครองเงินต้น หรือกองทุนที่รับประกันเงินต้นและอัตราผลตอบแทน, การเสนอขายกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากรัฐบาล เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)มากขึ้น เนื่องจากการที่การลงทุนในตลาดทุนในปีหน้าเต็มไปด้วยปัจจัยไม่แน่นอนหลายประการ ทำให้คาดว่า กองทุนดังกล่าวน่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเนื่องจากมีจุดเด่นกว่ากองทุนประเภทอื่นตรงที่ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุน LTF ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา, การเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนโดยการออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการลงทุนภายในประเทศ และเป็นเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยคาดว่าบลจ.ต่างๆคงจะใช้วงเงินตามที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรงตั้งแต่ปี 2546 ให้ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้ และอีกส่วนหนึ่งคาดว่าจะเป็นการลงทุนตามวงเงินที่คาดว่าจะได้รับจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.จำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.ได้รับอนุมัติวงเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยอีกต่อหนึ่ง)ซึ่งวงเงินในรูปแบบหลังนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขในการจัดสรรให้กับ บลจ.ต่างๆ, การแสวงหาผลิตภัณฑ์การลงทุนในรูปแบบใหม่ๆเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้หลากหลายมากขึ้น จากการที่คาดว่าในปีหน้าจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ หรือ Structured note ที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรต่างๆและหุ้นกู้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

นอกจากนั้นแล้ว การที่คาดว่าตลาดอนุพันธ์จะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในเดือน ก.ค. 2548 โดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเปิดให้นักลงทุนซื้อขายเป็นตัวแรก ได้แก่ Index Futuresนั้น ก็จะเป็นอีกช่องทางใหม่ที่ บลจ.ต่างๆ จะสามารถเข้าไปลงทุนได้ ซึ่งในขณะนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้ทางกองทุนรวมสามารถเข้าไปซื้อขายตราสารอนุพันธ์ประเภทดังกล่าวได้ นอกเหนือไปจากเดิมที่อนุญาตให้ซื้อขายเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน นอกจากนั้นคาดว่า ธุรกิจกองทุนรวมในปีหน้านั้นจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ เช่น การจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปลายปี 2548 ซึ่งล่าสุดนั้น คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันเงินฝากแล้ว และกำลังเตรียมที่จะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาในวาระต่อไป ซึ่งหลังจากที่ พรบ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้ผู้ที่มีเงินออมจำนวนมากอยู่ในสถาบันการเงินได้รับการค้ำประกันเพียงแค่บางส่วน ถึงแม้ว่าในระยะแรกที่มีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากนั้นผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มผู้ฝากเงินระดับกลางและระดับย่อยจะยังมีไม่มากนัก แต่ก็คาดว่าในระยะต่อไปนักลงทุนจะมีความต้องการที่จะกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายเงินฝากไปยังช่องทางการออมอื่นๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์กองทุนรวมต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรายใหม่ในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขัน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักลงทุนในปีหน้าของ บลจ.ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และจะช่วยหนุนให้ธุรกิจกองทุนรวมปีหน้ามีความคึกคักมากขึ้นตามลำดับ