กรอบรูปไม้ของไทยนับเป็นสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยที่มีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกโดยสามารถทำรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ปีละหลายพันล้านบาทหรือใกล้เคียง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และถึงแม้ว่าสินค้ากลุ่มนี้จะมีสัดส่วนในการส่งออกไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่ารวมส่งออกทั้งประเทศก็ตาม แต่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่น้อยเนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่เป็นลักษณะครัวเรือน หรือผลิตตามหมู่บ้านที่กระจัดกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งผลิตที่ใกล้วัตถุดิบและแรงงานฝีมืออย่างภาคเหนือและภาคกลาง ดังนั้นการผลิตกรอบรูปไม้จึงเกี่ยวข้องกับแรงงานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชุมชนในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศถึงร้อยละ 95 และพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าสินค้ากรอบรูปไม้ของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลด้วยความโดดเด่นด้านความหลากหลายของสินค้า และฝีมือการผลิตที่ประณีต จนส่งผลให้สินค้ากรอบรูปไม้ของไทยมีศักยภาพและลู่ทางการส่งออกในเกณฑ์ดีและสามารถครองส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 1 ใน 2 ของผู้ส่งออกรายสำคัญในตลาดโลกมาโดยตลอด โดยในช่วงปี 2541-2542 ผู้ครองตลาดอันดับหนึ่งคือเม็กซิโก และไทยเป็นอันดับสอง ต่อมาในปี 2543 กรอบรูปไม้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วนร้อยละ 13.14 ตามมาด้วยจีน(สัดส่วนร้อยละ 13.09) และเม็กซิโก(สัดส่วนร้อยละ 13.0) และนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาตำแหน่งผู้ส่งออกกรอบรูปไม้รายสำคัญอันดับหนึ่งของโลกคือจีนโดยอาศัยความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตโดยรวมเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
โดยจีนครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.66 ในปี 2544 และสัดส่วนร้อยละ 18.23 ในปี 2545 ขณะที่ไทยครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ในตลาดโลกด้วยสัดส่วนร้อยละ 11.88 ในปี 2544 และสัดส่วนร้อยละ 12.03 ในปี 2545 สำหรับปี 2546 พบว่าไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองด้วยสัดส่วนร้อยละ 11.11 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมในตลาดโลก โดยจีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด(สัดส่วนร้อยละ 22.61) ขณะที่บราซิลเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญอับดับสาม(สัดส่วนร้อยละ 9.65) ตามมาด้วยฮ่องกง(สัดส่วนร้อยละ 9.23) อิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 8.32) เม็กซิโก(ร้อยละ 7.82) อินโดนีเซีย(ร้อยละ 7.51) เบลเยี่ยม(ร้อยละ 4.11) มาเลเซีย(ร้อยละ 3.23) และสหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 2.45) ตามรายงานของ Global Trade Atlas
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ปัจจุบันสินค้ากรอบรูปไม้ของไทยจะสามารถครองตำแหน่งผู้ส่งออกรายสำคัญอันดับสองของโลกตามรายงานของ Global Trade Atlas แต่ส่วนแบ่งตลาดของกรอบรูปไม้ไทยกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากสัดส่วนร้อยละ 15.65 ในปี 2541 เหลือร้อยละ 11.11 ในปี 2546 ในขณะที่จีนกลับสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อย่างต่อเนื่องจากสัดส่วนร้อยละ 10.06 ในปี 2541 เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.61 ในปี 2546 นอกจากนี้ในปี 2546 ยังพบด้วยว่ามูลค่าการส่งออกกรอบรูปไทยมีอัตราขยายตัวต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของตลาดโลกมากด้วย
โดยตลาดโลกมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกกรอบรูปไม้ลดลงร้อยละ 0.46 ขณะที่ไทยมีอัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 8.06 แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นพบว่าเกือบทุกประเทศใน 10 อันดับผู้ส่งออกรายสำคัญของโลกต่างก็มีอัตราขยายตัวลดลงเช่นกันในปี 2546 ยกเว้นเบลเยี่ยม มาเลเซีย และจีน โดยเฉพาะจีนซึ่งนอกจากจะมีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดแล้ว จีนยังเป็นประเทศที่มีอัตราขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วยระดับร้อยละ 23.48 จึงมีความเป็นไปได้ว่าจีนจะยังคงสามารถครองความเป็นผู้นำในตลาดกรอบรูปไม้อีกต่อไปในอนาคต
ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2547 ตามรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบว่าไทยส่งออกกรอบรูปไม้เป็นมูลค่า 76.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลัก 10 ประเทศซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97 ของตลาดส่งออกกรอบรูปไม้ทั้งหมดของไทย ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา(สัดส่วนร้อยละ 74.48) ญี่ปุ่น(สัดส่วนร้อยละ 7.94) สหราชอาณาจักร(สัดส่วนร้อยละ 5.99 ) แคนาดา(สัดส่วนร้อยละ 3.39 ) สเปน(สัดส่วนร้อยละ 1.56) อิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 1.56) ออสเตรเลีย(สัดส่วนร้อยละ 0.65) เบลเยี่ยม(สัดส่วนร้อยละ 0.52) ฝรั่งเศส(สัดส่วนร้อยละ 0.52) และโปรตุเกส(สัดส่วนร้อยละ 0.39) โดยมูลค่าการส่งออกกรอบรูปไม้ไทยไปยังตลาดหลักทั้ง 10 ตลาดมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกกรอบรูปไม้ของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปเติบโตสูงมากด้วยอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมกรอบรูปไม้ของไทยในตลาดโลกโดยภาพรวมน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2547 เมื่อเทียบกับปี 2546 อันเนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุนสำคัญหลายประการ ได้แก่ข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับนานาประเทศ ซึ่งเป็นการลดกำแพงภาษี และการเปิดกว้างระบบการค้าเสรีตามมติขององค์การการค้าของโลก (WTO) และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในปี 2547 ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรปที่ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2546 ทำให้สถานการณ์ส่งออกสินค้ากรอบรูปไม้ไทยในปี 2547 ได้รับผลพวงดังกล่าวด้วย โดยการส่งออกกรอบรูปไม้ของไทยในปี 2547 มีแนวโน้มเติบโตประมาณร้อยละ 12-14 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ที่มีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 8.43 แต่ส่วนแบ่งตลาดของกรอบรูปไม้ไทยน่าจะใกล้เคียงกับปี 2546 ที่ระดับประมาณร้อยละ 11-13
นอกจากนี้คาดว่าตลาดที่มีศักยภาพสูงที่ทั้งมูลค่าการส่งออกและสัดส่วนการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม โปรตุเกส และฝรั่งเศส ซึ่งในส่วนของตลาดสหภาพยุโรปคาดว่าน่าจะนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกาที่ครองสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดนั้นมีศักยภาพปานกลางที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนตลาดลดลง สำหรับตลาดอื่นที่นอกเหนือจากตลาดหลัก 10 ประเทศที่มีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่ยังมีสัดส่วนตลาดไม่มากนักได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิวซีแลนด์ ตุรกี รัสเซีย แอฟริกาใต้และบราซิล เป็นต้น ในขณะที่ตลาดหลักที่น่าจะมีศักยภาพลดลงทั้งในส่วนของมูลค่าการส่งออกและสัดส่วนตลาดส่งออกได้แก่ ญี่ปุ่น และแคนาดา
สำหรับในปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกกรอบรูปไม้ของไทยน่าจะมีทิศทางชะลอตัวลงจากปี 2547 ที่มีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 12-14 โดยประเมินว่าในปี 2548 มูลค่าการส่งออกกรอบรูปไม้ไทยน่าจะมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการกรอบรูปไม้ไทยมีแนวโน้มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน อันประกอบด้วย
ปัจจัยภายนอก
– แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลต่อภาระด้านต้นทุนการผลิตและการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ
– ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2547 โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกกรอบรูปไม้ไทยในแต่ละปีที่คาดว่าจะต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้า ทำให้กำลังซื้อมีแนวโน้มลดลง
– ปัญหาภาวะการแข่งขัน นับวันสถานการณ์การแข่งขันของกรอบรูปไม้ในตลาดโลกทวีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นทุกขณะไม่ว่าจะเป็นในด้านผลิตภัณฑ์ที่มีการลอกเลียนแบบ หรือราคาที่มีการตัดราคาขายกันทั้งระหว่างผู้ค้าไทยกับคู่แข่งในต่างประเทศ หรือระหว่างผู้ค้าไทยด้วยกันเอง
– ปัญหาการกีดกันทางการค้าทั้งรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษีทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นและยากในการเข้าเจาะตลาด โดยเฉพาะด้านมาตรฐานการผลิต สุขอนามัย และการให้สิทธิพิเศษกับบางประเทศทำให้เกิดความเลื่อมล้ำด้านภาษีนำเข้าซึ่งมีผลต่อการแข่งขันในแต่ละตลาด
ปัจจัยภายใน
– ต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มภาวะการทรงตัวในระดับสูงของราคาน้ำมัน เพราะนอกเหนือจากผลกระทบต่อค่าระวางขนส่งระหว่างประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อบรรดาผู้ประกอบการที่มีการกระจายการผลิตสู่ชุมชนต่างๆทั่วประเทศที่จะมีต้นทุนการจัดส่งสินค้าสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่คาดว่าจะสูงขึ้นก็จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเช่นกัน
– แรงงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศจีน เวียดนามและอินเดีย ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไทย อีกทั้งจีน เวียดนาม และอินเดียต่างมีการพัฒนาฝีมือแรงงานสูงขึ้นทุกขณะและมีจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่านักลงทุนจะหันไปลงทุนในจีน เวียดนาม และอินเดียมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งช่างเทคนิค ช่างที่มีฝีมือ และนักออกแบบเป็นจำนวนมาก
– การพัฒนาการออกแบบ การพัฒนาด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กรอบรูปไม้ไทยเพื่อการส่งออกยังมีข้อจำกัดในด้านบุคลากร โดยเฉพาะนักออกแบบที่จะสามารถพัฒนารูปแบบสินค้าตามความต้องการของตลาดในวงกว้าง ส่วนผู้ผลิตพบว่ายังมีผู้ผลิตจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องพัฒนาด้านการผลิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การควบคุมมาตรฐานสินค้า และความต่อเนื่องของการผลิต
– เทคโนโลยีการผลิต จากการที่เทคโนโลยีในการผลิตเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ขณะที่การผลิตกรอบรูปไม้ของไทยจำนวนไม่น้อยยังใช้เครื่องจักรเก่า ทำให้ทำให้ล้าหลังกว่าเทคโนโลยีของประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งยังยากต่อการพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าด้วย และปัจจุบันพบว่าประเทศที่กำลังพัฒนาและเป็นคู่แข่งของกรอบรูปไม้ไทยในตลาดโลกได้หันไปใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตที่ทันสมัยกว่าไทย ทำให้สามารถพัฒนาการผลิตให้เติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น
– ด้านเงินทุน การดำเนินธุรกิจของบรรดาผู้ประกอบการกรอบไม้ไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กมักจะประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้งในการสร้างแบรนด์เนมไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลกที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรนั้น ผู้ประกอบการยิ่งจะต้องมีความเข้มแข็งทางการเงินมากขึ้น ในขณะที่สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่อุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างสูง เพราะเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตกรอบรูปไม้ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงและมีระยะคืนทุนนาน ทำให้สถานการณ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยขาดสภาพคล่อง
– การขนส่งและด้านการบรรจุหีบห่อ โดยในด้านของการขนส่งพบว่าบางครั้งสินค้าส่งไปยังตลาดคู่ค้าช้ากว่ากำหนดที่ได้ทำการตกลงไว้ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้ตามวันเวลาที่กำหนด ส่วนในด้านบรรจุหีบห่อนั้นส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากการบรรจุหีบห่อที่ไม่ได้มาตราฐาน โดยผู้ประกอบการบางรายต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายจึงหันไปใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความชำรุดเสียหายของสินค้าแทนที่จะใช้แผ่นพลาสติกหรือโฟมในการกันกระแทก
– การตลาด เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายย่อยทำให้ขาดอำนาจการต่อรอง และมักมีการตัดราคากันเอง รวมถึงข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎระเบียบต่างๆ และข้อจำกัดด้านข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารการผลิตและการตลาดของทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มความต้องการของตลาดในอนาคต ขณะเดียวกันจากการที่พฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมย่อมแตกต่างกันด้วย ซึ่งหากผู้ผลิตและผู้ส่งออกไม่ศึกษาตลาดของสินค้ากรอบรูปไม้อย่างละเอียดถี่ถ้วน อาจจะทำให้การวางสินค้าไม่ถูกต้องกับตำแหน่งการขายหรือกลุ่มผู้บริโภค นอกจากนี้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกขนาดกลางและเล็กของไทยยังไม่มีความพร้อมในด้านการจัดการด้านการตลาดที่เป็นระบบ ส่งผลให้ความสามารถในการเจาะตลาดทั้งเก่าและใหม่เป็นไปไม่ง่ายนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่าในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของผู้ผลิตและผู้ส่งออกกรอบรูปไม้ไทยในปี 2548 นั้น ผู้ผลิตควรให้ความสนใจในการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตราฐานที่ตกลงกับลูกค้าเพิ่มขึ้น และควรปรับปรุงด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น หรือนำเสนอสินค้ากรอบรูปไม้ในรูปทรงต่างๆเพื่อการสะสมเป็นชุดสำหรับเฉพาะกลุ่มบุคคล เช่นกรอบไม้รูปสัตว์ประเภทต่างๆสำหรับกลุ่มผู้รักสัตว์ และกรอบรูปไม้รูปสัญญลักษณ์ดวงดาวประจำราศี เป็นต้น อีกทั้งควรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในขบวนการผลิตเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และควรสร้างมูลค่าเพิ่มด้านประโยชน์ใช้สอยเช่นเพิ่มเนื้อที่สำหรับเก็บของเล็กๆน้อยๆ หรือสำหรับปักดอกไม้ขนาดเล็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ในด้านของการบรรจุหีบห่อควรจะมีการตรวจเช็คให้เรียบร้อยก่อนจะทำการขนส่ง และควรใช้วัสดุในการบรรจุหีบห่อที่ได้มาตราฐาน นอกจากนี้ควรหันมาให้ความสำคัญต่อการบริการหลังการขายมากขึ้นโดยผู้ส่งออกกรอบรูปไม้ไทยควรมีการสอบถามติดตามผลภายหลังจากเสร็จขั้นตอนในการขายกับผู้ซื้อด้วยว่าสินค้ามีคุณภาพดีได้ตามมาตราฐานตามที่ต้องการมากน้อยเพียงใด เพื่อสร้างความประทับใจและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทผู้ส่งออก พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการควรเร่งศึกษาข้อมูลความได้เปรียบเสียเปรียบของคู่แข่งขัน และความต้องการของลูกค้าในลักษณะที่เจาะลึกถึงวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากที่สุด
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรเร่งปรับแนวทางการดำเนินงานใหม่จากเดิมที่เคยจำหน่ายผ่านตัวแทนการขายที่มีแต่ตลาดเดิมๆ ก็ควรหันมาติดต่อกับลูกค้าโดยตรงมากขึ้นเพื่อแนะนำสินค้าด้วยตนเองทั้งตลาดเดิมโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียง เช่นในสหรัฐอเมริกา ญี่ป่น อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น และบุกเบิกตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพเพื่อสร้างโอกาสในการขยายตัวในอนาคต ซึ่งการที่ภาครัฐมีนโยบายจัดหาสถานที่ตั้งไทยแลนด์ มาร์เก็ต เพลส (Thailand Market Place : TMP) ในต่างประเทศโดยเน้นแหล่งช้อปปิ้งชั้นนำของนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าไทยหลายประเภทรวมถึงกรอบรูปไม้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทั้งภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องด้วยการเผยแพร่หรือเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อจูงใจลูกค้าและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายมากขึ้น และยังเป็นการเปิดเกมรุกให้สินค้ากรอบรูปไม้ไทยเป็นที่รู้จักของตลาดตลาดหลักและตลาดที่มีศักยภาพในวงกว้างมากยิ่งขึ้นด้วย
ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแม้อุตสาหกรรมกรอบรูปไม้ของไทยจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการในปี 2548 แต่ด้วยความต้องการของตลาดโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงมีความเป็นไปได้ว่าสินค้ากรอบรูปไม้ของไทยน่าจะมีโอกาสที่ดีและสามารถครองส่วนแบ่งตลาดติดอันดับต้นๆ ของผู้ส่งออกรายสำคัญในตลาดโลกต่อไปได้