กล้วยไม้นับว่าเป็นไม้ตัดดอกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความหลากหลายในด้านสีสัน กลิ่น ขนาด รูปทรง และอายุการปักแจกันยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับไม้ตัดดอกทั่วไป ทำให้การส่งออกกล้วยไม้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามความต้องการที่ยังคงเพิ่มขึ้นในตลาดโลก ซึ่งไทยนั้นจัดเป็นประเทศที่ส่งออกกล้วยไม้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2548 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2547 คาดว่าในปี 2548 จะนำรายได้เข้าสู่ประเทศไม่ต่ำกว่า 2,600-2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 10-20 เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกในตลาดหลักโดยเฉพาะญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งการขยายตัวในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะจีน ยังมีลู่ทางแจ่มใส
ตลาดกล้วยไม้โลก : ไทยส่งออกอันดับหนึ่งของโลก
การค้ากล้วยไม้ในตลาดโลกมีทั้งลักษณะเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถาง ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้การค้ากล้วยไม้เติบโตอย่างมากทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า พื้นที่ปลูกกล้วยไม้ในประเทศไทยมีประมาณ 14,500 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี ปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้ตลาด และมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก พื้นที่ปลูกกล้วยไม้มีแนวโน้มที่จะย้ายจากกรุงเทพฯไปจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น เนื่องจากที่ดินมีราคาสูงและประสบปัญหามลภาวะของน้ำและอากาศ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของกล้วยไม้
ปัจจุบันพื้นที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยไม้เชิงธุรกิจ ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และชลบุรี โดยคาดว่าผลผลิตดอกกล้วยไม้ปี 2547 มีประมาณ 44,080 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 833 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.93 โดยแยกเป็นปริมาณการใช้ในประเทศเกือบร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 นั้นส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกดอกกล้วยไม้ร้อยละ 95 ของกล้วยไม้ที่ส่งออกทั้งหมดเป็นกล้วยไม้ 2 สกุล คือ หวายและม็อคโคร่า
อุตสาหกรรมกล้วยไม้ของไทยเจริญก้าวหน้าอย่างมากสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมดที่มีการส่งออก และไทยจัดเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการส่งออกดอกกล้วยไม้ของโลก โดยกล้วยไม้จากไทยมีความโดดเด่นทั้งในด้านสีสันและรูปร่างของดอก ซึ่งการส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยตลอด ตลาดต่างประเทศจะนิยมสั่งซื้อกล้วยไม้สกุลหวาย เนื่องจากสีสันสดใส และระยะเวลาในการใช้งานนาน ส่วนตลาดในประเทศขณะนี้ดอกกล้วยไม้เป็นที่นิยมมากขึ้นกว่าในอดีตเห็นได้จากในงานพิธีและเทศกาลต่างๆ ผู้จัดงานหันมาใช้ดอกกล้วยไม้กันมากขึ้น เนื่องจากมีระยะการใช้งานนานและราคาไม่แพง จากเดิมที่นิยมไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ซึ่งเท่ากับว่าความต้องการกล้วยไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
คาดว่าปี 2547 มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ทั้งดอกและต้นกล้วยไม้จะสูงเกือบ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2546 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 และคาดว่าในปี 2548 ไทยจะส่งออกกล้วยไม้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10-20 เมื่อเทียบกับปี 2547 ที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักๆยังคงขยายตัว และผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยสามารถเปิดตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศในแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ รัสเซีย เป็นต้น รวมทั้งยังมีการส่งเสริมให้ตลาดกล้วยไม้ขยายตัว โดยการผลิตช่อดอกกล้วยไม้สำหรับติดหน้าอกเพื่อส่งออกไปจำหน่าย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าในต่างประเทศ นอกจากนี้ลู่ทางการขยายการส่งออกดอกกล้วยไม้ใหม่ๆ ได้แก่ การส่งออกดอกกล้วยไม้ร่วง ซึ่งโดยปกติโรงงานส่งออกดอกกล้วยไม้จะทิ้ง แต่หากนำมาแช่น้ำให้ดอกไม้อิ่มน้ำ และนำไปผึ่งให้แห้งใส่ถุงพลาสติกเพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับร้านอาหาร ทั้งนี้เพื่อนำไปประดับจานอาหารหรือประดับแก้วเครื่องดื่มก็จะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดกล้วยไม้ รวมทั้งการขยายตลาดส่งออกโดยการเปิดจำหน่ายดอกกล้วยไม้ทางอินเทอร์เนตเพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสสั่งซื้อกล้วยไม้ได้ทันที และการเข้าเป็นสมาชิกตัวแทนจัดจำหน่ายกล้วยไม้ระบบขายตรงทั่วโลก
ตลาดส่งออกกล้วยไม้ไทยปี’48 : ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มตลาดส่งออกดอกกล้วยไม้ที่สำคัญของไทยในปี 2548 มีดังนี้
– ญี่ปุ่น
ไทยส่งออกกล้วยไม้ไปยังตลาดญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นอยู่ในอันดับหนึ่งทั้งในการส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้ ซึ่งในตลาดญี่ปุ่นกล้วยไม้ของไทยต้องแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ รวมทั้งยังต้องแข่งขันกับไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะดอกเบญจมาศจากเนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ดอกกุหลาบและลิลลี่จากอินเดีย เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามกล้วยไม้ของไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นที่นิยมดอกไม้ต่างถิ่นที่มีความสวยงามแปลกแตกต่างออกไป(Exotic Beauty) และไทยนับว่าครองตลาดไม้ตัดดอกนำเข้าเป็นอันดับสองรองจากเนเธอร์แลนด์
ปัจจุบันความต้องการไม้ตัดดอกในญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉลี่ยมูลค่าตลาดไม้ตัดดอกในญี่ปุ่นเท่ากับ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และศูนย์ส่งเสริมไม้ดอกของญี่ปุ่น (The Japanese Flower Promotion Centre) คาดว่าในปี 2548 ความต้องการไม้ตัดดอกของญี่ปุ่นยังคงขยายตัวอีกเกือบเท่าตัว อันเป็นผลมาจากในญี่ปุ่นมีเทศกาลหลากหลายเทศกาลที่เป็นการให้ของขวัญ เช่นวันแม่ ช่วงเดือนแห่งการแต่งงานในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และธันวาคม เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ(The Prayer Month of Obon)ในช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นต้น รวมทั้งการใช้ไม้ตัดดอกในชีวิตประจำวัน ทำให้ความต้องการไม้ตัดดอกเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะมีความต้องการไม้ตัดดอกเฉพาะบางโอกาสหรือบางสถานที่ เช่น โรงแรม การจัดงานปาร์ตี้ เป็นต้น ทำให้ตลาดไม้ตัดดอกของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่สนใจของประเทศผู้ส่งออกไม้ตัดดอกทั่วโลก ดังนั้นผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในญี่ปุ่น
– สหรัฐฯ
ตลาดสหรัฐฯครองอันดับสองสำหรับสัดส่วนการส่งออกกล้วยไม้ของไทย และแนวโน้มการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมูลค่าตลาดกล้วยไม้ในสหรัฐฯประมาณ 50-60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี โดยไทยนั้นมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 98 ของการนำเข้ากล้วยไม้พันธุ์Dendrobium และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 60 ของการนำเข้ากล้วยไม้พันธุ์อื่นๆ(Non-Dendrobium) อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตามองสำหรับการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯคือ การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิตกล้วยไม้ของมลรัฐฮาวาย รวมทั้งมลรัฐอื่นๆที่เริ่มหันมาลงทุนปลูกกล้วยไม้
– สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปนั้นนับว่าเป็นประเทศที่สำคัญในการการนำเข้ากล้วยไม้พันธุ์ Dendrobium มูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 21 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3 ของการนำเข้าไม้ตัดดอกทั้งหมดของสหภาพยุโรป โดยประเทศในสหภาพยุโรปที่มีความต้องการกล้วยไม้มาก คือ อิตาลีสัดส่วนประมาณร้อยละ 67 ของการนำเข้ากล้วยไม้ทั้งหมด รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ โดยไทยนั้นเป็นประเทศส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญของสหภาพยุโรปมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 87 รองลงมาเป็นสิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และนิวซีแลนด์
ประเด็นพึงระวังสำหรับการส่งออกกล้วยไม้คือ สหภาพยุโรปมีนโยบายจัดระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับประเทศผู้ส่งออกเพื่อสร้างมาตรฐานด้านสุขอนามัยด้านพืชให้เป็นที่ยอมรับทั้งประเทศผู้นำเข้าและส่งออก โดยในส่วนของไทยมีการศึกษาและวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าเกษตรในกลุ่มกล้วยไม้ เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญ มีปัญหาการตรวจพบเพลี้ยไฟ โดยเฉพาะผู้ปลูกรายเล็ก ทำให้ขาดการบำรุงรักษาหรือใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องเพลี้ยไฟนี้ทางบริษัทผู้ส่งออกกล้วยไม้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรหามาตรการป้องกัน ถ้าพบว่าผู้ปลูกกล้วยไม้ไม่แก้ไข ทางบริษัทจะดำเนินการถอนสัญญาที่ส่งให้บริษัทเป็นการชั่วคราว ส่วนขั้นตอนการรมยานั้นทางบริษัทผู้ส่งออกจะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยอาจจะต้องปรับโรงรมยาหรือปรับตัวยาให้แรงขึ้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้าด้วย
อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกกล้วยไม้ทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ ทั้งที่เป็นไม้ตัดดอกที่ผลิตได้ในแต่ละประเทศ และไม้ตัดดอกนำเข้าจากประเทศคู่แข่งของไทย ผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยเริ่มมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพิงเฉพาะตลาดหลักดั้งเดิม ซึ่งตลาดที่น่าสนใจคือ จีน โดยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าดอกกล้วยไม้จากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70-100 ทำให้เกิดภาวะแย่งกันซื้อดอกกล้วยไม้ ทำให้เกษตรกรสามารถขายกล้วยไม้ในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกล้วยไม้ไทยทั้งประเภทไม้ตัดดอกและไม้กระถางตระกูลหวายที่ได้รับความนิยมสูงในตลาดจีน อย่างไรก็ตามตลาดจีนไม่เน้นกล้วยไม้คุณภาพดี แต่เน้นซื้อปริมาณมาก เกรดปานกลาง เช่นเดียวกับที่มีการซื้อขายในบริเวณปากคลองตลาด โดยจะส่งเข้าไปขายในตลาดกลางกล้วยไม้ในเมืองเซี่ยงไฮ้และกว่างโจว ทั้งนี้จีนจะมีการสั่งซื้อกล้วยไม้จากไทยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันชาติ ตรุษจีน วันสารทจีนที่มีปริมาณความต้องการซื้อสูงและไม่ค่อยต่อราคา ที่ผ่านมาตลาดกล้วยไม้ในจีนกำลังเป็นที่สนใจของประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งไต้หวันก็เข้าไปลงทุนปลูกกล้วยไม้เมืองหนาวในจีน แต่ถือว่าคนละตลาดกับสินค้าของไทยที่เป็นกล้วยไม้เมืองร้อน สิ่งที่น่าห่วงก็คือปัญหาการแข่งขันตัดราคาระหว่างพ่อค้าคนไทยด้วยกันเองจะทำให้เกิดปัญหาขาดทุน
ปัจจัยหนุน-ปัจจัยเสี่ยง : ปี 2548…ต้องเร่งปรับตัว
ในปี 2548 การส่งออกกล้วยไม้ของไทยมีทั้งปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
– ปัจจัยหนุน
การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวจากอานิสงส์ของผลการประชุมสมัยสามัญประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ”ไซเตส” ครั้งที่ 13 จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-14 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมาซึ่งการประชุมไซเตสในครั้งนั้น คณะกรรมาธิการด้านพืชของไทยได้ยื่นเสนอต่อที่ประชุมให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงชนิดพันธุ์พืชในบัญชีควบคุม 4 ข้อเสนอ ประกอบด้วย เสนอให้พิจารณา”หยก”สกุลยูโฟเบียแลคเตียยกออกจากบัญชี2 เสนอให้พิจารณา “โป๊ยเซียน” ยกออกจากบัญชี2 เสนอให้เลื่อนสถานภาพ “ฟ้ามุ่ย” จากบัญชี 1 ขึ้นมาอยู่ในบัญชี 2 แทน และเสนอให้พิจารณา “กล้วยไม้ลูกผสม” ยกออกจากบัญชี 2 ทั้งนี้เพื่อให้การค้าพืชดังกล่าวเกิดความคล่องตัว อันจะนำไปสู่การขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกโป๊ยเซียนปีละ 500,000 ต้น หยก ประมาณ 400,000 ต้น และส่งออกกล้วยไม้ลูกผสม ประมาณ 25.6 ล้านต้น รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้าน บาท ภายหลังประเทศภาคี 167 ประเทศพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ได้มีมติให้ยกโป๊ยเซียนและหยกออกจากบัญชี2 พร้อมทั้งให้เลื่อนสถานภาพฟ้ามุ่ยจากบัญชี1 ขึ้นมาอยู่ในบัญชี2 และที่ประชุมไซเตสยังได้พิจารณากล้วยไม้ลูกผสม 4 ชนิด ได้แก่ กล้วยไม้ลูกผสมสกุลหวาย กล้วยไม้ลูกผสมสกุลฟาแรนนอฟซิส กล้วยไม้ลูกผสมสกุลแวนด้า และกล้วยไม้ลูกผสมสกุลซินดิเดียมยกออกจากบัญชี 2 การส่งออกไม่ต้องขออนุญาตไซเตส แต่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ต้น โดยมีลักษณะบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นกล้วยไม้ลูกผสม เช่น ขนาดต้นสม่ำเสมอ ไม่มีดอก ต้นสะอาด ไม่มีรอย แมลงกัดแทะ และบรรจุในกล่องหรือภาชนะอย่างเรียบร้อย ทั้งนี้มติดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังปิดการประชุม
การประชุมครั้งนี้ประเทศภาคีได้มีการพิจารณาข้อเสนอในเชิงการค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันได้ตระหนักถึงความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนควบคู่กันไป อย่างไรก็ตามมติที่ประชุมไซเตสก็ได้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทยค่อนข้างสูงโดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงกล้วยไม้ รวมถึงผู้ประกอบการและผู้ส่งออกจะมีโอกาสส่งออกและขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น เพราะการค้าพืชดังกล่าวมีความคล่องตัว เนื่องจากขั้นตอนในการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกจะลดลง ทำให้การซื้อขายสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
– ปัจจัยเสี่ยง
ความต้องการดอกกล้วยไม้ในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยต้องการความแปลกใหม่และหลากหลาย ปัจจุบันการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ในประเทศไทยยังทำกันน้อยมาก และเมื่อได้พันธุ์ใหม่ยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีจึงจะสามารถสรุปได้ว่าพันธุ์นั้นมีอนาคตหรือเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ทำให้ไทยเสียตลาดบางส่วนให้กับสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์มีการสร้างศูนย์เทคโนโลยีกล้วยไม้และให้เอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์ทำให้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าได้ดี ซึ่งถ้าผู้ส่งออกของไทยหันมาพัฒนาในด้านพันธุ์และเทคโนโลยีก็น่าจะดึงตลาดกลับมาได้ เนื่องจากสิงคโปร์ยังมีจุดอ่อนในเรื่องค่าระวางขนส่งแพงกว่าเกือบเท่าตัว
ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าประเทศคู่แข่งจะผลิตดอกกล้วยไม้ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้ประเทศไทยต้องหามาตรการและแนวทางในการพัฒนากล้วยไม้ส่งออกอย่างเร่งด่วน โดยศึกษาวิจัย และการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในกล้วยไม้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออก วิจัยและทดสอบเทคโนโลยีการปลูกและการดูแลรักษาอย่างจริงจัง สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายทอดความรู้และรวมกลุ่มผู้ซื้อปัจจัยการผลิต ส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งการขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกจากตลาดคู่ค้าเดิมด้วย
บทสรุป
การแข่งขันในตลาดไม้ตัดดอกในตลาดโลกนั้นจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะต้องแข่งขันกันในด้านราคาแล้วยังต้องแข่งขันทั้งในด้านคุณภาพ การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายของสินค้า และการบริการ สำหรับในประเทศไทยผลจากการส่งออกกล้วยไม้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีบริษัทผู้ส่งออกรายใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 รายในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นธุรกิจจากหายอดการสั่งซื้อก่อนและค่อยมาหาซื้อกล้วยไม้ในตลาด แต่สวนกล้วยไม้ส่วนใหญ่มักจะผลิตและขายให้กับบริษัทส่งออกที่เป็นลูกค้าประจำอยู่แล้ว ทำให้ผู้ค้ารายใหม่ไม่สามารถหาสินค้าป้อนผู้ซื้อได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมมือกับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้จัดตั้งตลาดกลางซื้อขายกล้วยไม้ในแหล่งผลิตโดยตรง เช่น สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี เป็นต้น เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสนับสนุนให้มีการผลิตกล้วยไม้คุณภาพเข้าสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ และให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อปลายทาง ซึ่งเท่ากับเป็นการรักษาชื่อเสียงของกล้วยไม้ไทยในตลาดโลกอีกด้วย