ปัจจุบันจีนเป็นทั้งประเทศผู้ผลิต และประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลทั้งเพื่อแปรรูปส่งออกและเพื่อบริโภคที่น่าจับตามอง เนื่องจากตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในจีนนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ จากการที่ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นไม่ทันกับความต้องการบริโภค ทำให้จีนต้องพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเพื่อป้อนตลาดในประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยไปยังตลาดจีนจะยังไม่สูงนัก และไทยมีความสำคัญอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศคู่ค้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของจีน แต่เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของการขยายตัวของการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์สูงแล้วนับว่าผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดในจีน
การผลิต : จีนผลิตผลิตภัณฑ์ประมงมากที่สุดในโลก
ปัจจุบันจีนนับว่าเป็นประเทศที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ประมงมากที่สุดในโลก ซึ่งประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดนั้นเป็นการเพาะเลี้ยง โดยปริมาณผลิตภัณฑ์ประมงจากการเพาะเลี้ยงของจีนคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณการเพาะเลี้ยงของโลก สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน(China’s Statistics Bureau :NSB)คาดว่าผลผลิตสัตว์น้ำของจีนในปี 2546 เท่ากับ 47 ล้านตัน เมื่อเทียบกับในปี 2545 ที่มีปริมาณการผลิต 45.7 ล้านตันแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เนื่องจากมีการขยายตัวของการเพาะเลี้ยงทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ในขณะที่ปริมาณการจับสัตว์น้ำค่อนข้างคงที่ ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตสัตว์น้ำทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกุ้ง ปู และหอย เนื่องจากการขยายพื้นที่การเพาะเลี้ยง และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตปลานั้นค่อนข้างคงที่ อันเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลที่เข้มงวด โดยเฉพาะขนาดของปลา ช่วงเวลาการห้ามจับปลา และขนาดของเครื่องมือและอุปกรณ์ในการจับปลาทั้งนี้เพื่อจับปลาเฉพาะที่โตเต็มที่แล้วและปลาขนาดใหญ่เท่านั้น
อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรของจีนจัดให้ธุรกิจผลิตภัณฑ์ประมงเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มแจ่มใสในช่วงระยะ 5 ปีต่อไป(2548-2552) แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจากจีนต้องเน้นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม อันเป็นผลมาจากมลภาวะจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและเพาะเลี้ยงชายฝั่ง
การบริโภคอาหารทะเลของจีน : แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การบริโภคอาหารทะเลในจีนส่วนใหญ่เป็นการบริโภคปลาและผลิตภัณฑ์ ทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด ซึ่งจับได้จากทะเลและแม่น้ำของจีน รวมทั้งการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง โดยทั่วไปอาหารทะเลที่มีราคาสูงนั้นตลาดหลักจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคในเมืองแถบชายฝั่งทะเล เนื่องจากการบริโภคอาหารทะเลสำหรับเมืองที่อยู่ทางตอนในของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำ อันเป็นผลมาจากรายได้ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและปัญหาในการขนส่ง ทั้งในแง่ของถนน และรถขนส่งที่เป็นรถห้องเย็น
ปริมาณการบริโภคอาหารทะเลของคนจีนในปัจจุบันยังไม่สูงมากนัก โดยมีปริมาณการบริโภค 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปีสำหรับคนจีนในเมืองใหญ่ๆ และ 4 กิโลกรัมต่อคนต่อปีสำหรับคนจีนในชนบท ทำให้คาดการณ์ได้ว่าตลาดอาหารทะเลของจีนนับว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสในการขยายตัวอย่างมากในระยะต่อไป เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างมาก ทำให้รายได้ต่อหัวของคนจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เป็นต้น นับว่าเป็นโอกาสของอาหารทะเลนำเข้า โดยเฉพาะกุ้งล็อบ-สเตอร์ หอยนางรม ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาหมึก และปู
มูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลของจีนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือมูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลของจีนมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 เมื่อเทียบกับในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเกือบ 3 เท่า และคาดว่าอัตราการขยายตัวจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 โดยเฉพาะปลาแช่แข็งและผลิตภัณฑ์จากปลา กุ้ง ปลาหมึก และปู ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของจีน คือ รัสเซีย เกาหลีเหนือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และแคนาดา ซึ่งมีสัดส่วนตลาดรวมกันถึงร้อยละ 65 ของมูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดของจีน
สำหรับไทยแล้วอยู่ในอันดับ 10 ของแหล่งนำเข้าอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ของจีน โดยในแต่ละปีจีนนำเข้าอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์จากไทยเฉลี่ย 30,000 ตัน ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง รวมทั้งอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากสถิติของกรมเจรจาการค้ากระทรวงพาณิชย์นั้นปรากฏว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยไปจีนในช่วงระยะ 10 เดือนแรกของปี 2547 เท่ากับ 43.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 โดยผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง(ร้อยละ 100.0) ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง(ร้อยละ 55.8) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง(ร้อยละ 35.0) และหอยและปู(ร้อยละ 22.2) อย่างไรก็ตามในช่วงระยะ 10 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปยังตลาดจีนลดลงอย่างมาก กล่าวคือ มีมูลค่าการส่งออก 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 41.4 ทั้งนี้เนื่องจากในปีนี้ไทยประสบปัญหาราคาปลาทูน่าแช่แข็งมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนปลาทูน่าในตลาดโลก ทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามจากในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยไปยังตลาดจีนนั้นยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งไปยังตลาดจีนนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 เนื่องจากรัฐบาลจีนมีการส่งเสริมการเลี้ยงในประเทศจนกระทั่งปัจจุบันจีนกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญในการส่งออกกุ้งของไทยในตลาดโลก
จากปริมาณการบริโภคอาหารทะเลต่อหัวของคนจีนทั้งในเมืองและในชนบทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรของจีนคาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคอาหารทะเลต่อหัวของคนจีนประมาณร้อยละ 80 ในช่วงระยะ 5 ปีต่อไป เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มวิตกกับปัญหาไข้หวัดนกในจีนทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารทะเล แนวโน้มการบริโภคอาหารทะเลของคนจีนเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีความสดและมีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจากการปรับปรุงและพัฒนาช่องทางในการขนส่ง และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จังหวัดชายฝั่งทะเลของจีนเป็นจังหวัดที่มีการบริโภคอาหารทะเลมากที่สุด เนื่องจากมีปริมาณอาหารทะเลทั้งที่จับจากทะเลและการเพาะเลี้ยงชายฝั่งให้เลือกมากมาย กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทะเลของคนในเมืองใหญ่ของจีนคิดเป็นร้อยละ 2 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของค่าใช้จ่ายในด้านอาหารทั้งหมด แต่ในเซี่ยงไฮ้นั้นค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทะเลนั้นสูงที่สุดในประเทศ รองลงมาคือฟูเจี้ยน จี้เหลียน และไฮหนาน อย่างไรก็ตามปริมาณอาหารทะเลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเลที่ผลิตได้ในประเทศ แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายฝั่งทะเลเหล่านี้มีแนวโน้มจะยอมรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนำเข้า นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายของตลาดอาหารทะเลนำเข้าคือ กลุ่มผู้มีรายได้สูงและอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้เพียงพอในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนำเข้า
คาดการณ์ว่าในช่วงระยะ 3-5 ปีข้างหน้าความต้องการอาหารทะเลของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนต้องเผชิญกับปัญหาความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ประเทศคู่ค้ายกมาเป็นข้ออ้างในการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากจีน และความสนใจในเรื่องสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะคุณภาพของน้ำ ดังนั้นแนวโน้มการผลิตอาหารทะเลของจีน โดยเฉพาะกุ้งทะเล ปู ปลาหมึกและหอยจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตในพื้นที่น้ำจืดก็มีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ในแถบชนบทเริ่มหันมาเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำทะเลในพื้นที่น้ำจืดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเลี้ยงรายย่อยเพื่อจำหน่ายให้กับพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งมีนักธุรกิจหันมาลงทุนเพาะเลี้ยงในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในเมืองใหญ่และเพื่อป้อนเข้าโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเพื่อการส่งออก
ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีโอกาสขยายตลาดในจีน คือ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ตอบสนองตลาดระดับสูง เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนำเข้านั้นอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งต้องการผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพดี เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ หอยนางรม และปู โดยตลาดหลักอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ธุรกิจจัดเลี้ยง โรงแรมและภัตตาคาร สำหรับความต้องการอาหารทะเลสดและแช่แข็ง และอาหารทะเลแปรรูปสดและแช่แข็งก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะลูกชิ้นปลา ปูอัด และเกี๊ยวปลา ซึ่งนับว่าเป็นอาหารที่คนจีนนิยมบริโภคทั้งในระดับครัวเรือนที่วางจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีก และในภัตตาคาร นอกจากนี้การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ และซุปเปอร์มาร์เก็ตทำให้ตลาดอาหารทะเลแช่แข็งมีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะตามเมืองที่ไม่ได้อยู่ชายฝั่งทะเล
ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ อาหารทะเลที่นำเข้าส่วนใหญ่นำเข้าเพื่อป้อนโรงงานแปรรูปและส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ทำให้จีนก็เป็นประเทศที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สำคัญของโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันจีนเกินดุลการค้าอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลสำหรับประเทศที่มีชายแดนติดกับจีน โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เพื่อนำมาผลิตอาหารทะเลแปรรูปเพื่อการส่งออก เมื่อพิจารณาสถิติการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของจีนคือ การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในลักษณะของวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ปัจจุบันจีนมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลประมาณร้อยละ 60 เป็นปลาแช่แข็ง ในขณะที่การส่งออกประมาณร้อยละ 40 เป็นปลาแปรรูปและเนื้อปลาบด ปัจจุบันบริษัทต่างประเทศสนใจเข้าไปขยายการลงทุนในธุรกิจอาหารทะเลในจีน เนื่องจากจีนมีต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศจึงเหมาะที่จะเป็นแหล่งลงทุนในธุรกิจอาหารทะเลเพื่อการส่งออก และภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตมีตลาดในประเทศรองรับ เมืองชายฝั่งที่น่าสนใจเข้าไปตั้งโรงงานผลิตอาหารทะเล และมีโอกาสในการขยายตลาดอาหารทะเลคือ ต้าเหลียน(Dalian) และชิงเต่า(Qingdao) จากเดิมที่ธุรกิจอาหารทะเลสนใจเฉพาะผู้บริโภคในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางเจา เนื่องจากทั้งสองเมืองนี้มีรายได้อยู่ในเกณฑ์สูง และมีความคุ้นเคยกับการบริโภคอาหารทะเล
ส่งออกอาหารทะเลไปจีน : ปัจจัยหนุน…โอกาสขยายตลาดสูง
แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลมากที่สุดในโลก และยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลด้วย แต่จีนยังต้องการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ ดังนี้
1.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค กลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีนนับว่าเป็นตลาดสำคัญของอาหารทะเลนำเข้า เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เห็นว่าอาหารทะเลนำเข้านั้นมีความแตกต่างจากอาหารทะเลที่ผลิตได้ในประเทศ ทั้งความหลากหลายของประเภทและรสชาติ ซึ่งนับเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ไม่สามารถผลิตได้ในจีน และส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีการแยกสัดส่วนอย่างชัดเจนระหว่างผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่จีนนำเข้านั้นเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในประเทศ และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเพื่อบริโภคโดยตรง ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเจาะขยายตลาด เนื่องจากโอกาสการขยายตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทะเลยังมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋อง เนื่องจากการเติบโตของพฤติกรรมการบริโภคอาหารสไตล์ตะวันตก
2.ปัจจัยเอื้อจากนโยบายรัฐบาลจีน ราคาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจซื้ออาหารทะเลของกลุ่มคนจีนโดยทั่วไป นอกจากนี้กลุ่มคนจีนที่มีอายุนั้นนิยมซื้ออาหารทะเลจากตลาดสด ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะทราบถึงที่มาของอาหารทะเลเหล่านี้ และอาหารทะเลที่จำหน่ายส่วนใหญ่ยังมีชีวิต ซึ่งโดยทั่วไปคนจีนนิยมซื้ออาหารทะเลเป็นๆ ซึ่งเมื่ออาหารทะเลเป็นๆมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่จำกัดปริมาณการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ อาหารทะเลแช่แข็งจึงนับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น รองลงไปคืออาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลตากแห้ง โดยเฉพาะปลาหมึกตากแห้งนั้นเป็นของขบเคี้ยวที่นิยมมากในกลุ่มคนจีน
อย่างไรก็ตามอาหารทะเลนำเข้าที่มีโอกาสขยายตลาดในจีนนั้นต้องเป็นอาหารทะเลที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนจีนกล่าวคือ คนจีนนิยมบริโภคหัวปลาและพุงปลา ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เป็นที่นิยมบริโภคและจำหน่ายได้ในราคาต่ำมากในประเทศแถบตะวันตก ส่วนขนาดของปลาที่เป็นที่นิยมในตลาดจีนนั้นควรจะมีน้ำหนักประมาณ 200-500 กรัมต่อตัว และยังมีหัวและหางอยู่ครบ เนื่องจากปลาขนาดนี้เหมาะสำหรับนำไปนึ่ง ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของคนจีน
3.การแข่งขันของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนำเข้ายังไม่สูงมากนัก ปัจจุบันอาหารทะเลนำเข้าของจีนนั้นยังไม่มีประเทศใดเป็นผู้นำตลาดอย่างชัดเจน และความต้องการอาหารทะเลของจีนนั้นมีความหลากหลาย โดยประเทศสำคัญที่ส่งออกอาหารทะเลไปยังจีน คือ รัสเซีย เกาหลีเหนือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดาและนอร์เว อย่างไรก็ตามอาหารทะเลที่ส่งออกไปจากประเทศในแถบเอเชียนั้นมีความสามารถในการแข่งขันในการขยายตลาดในจีนได้ดีกว่า เนื่องจากราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับอาหารทะเลจากประเทศทางตะวันตก
4.การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เดิมนั้นอาหารทะเลนำเข้าในตลาดจีนนั้นราคาอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับอาหารทะเลที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะภาษีนำเข้า โดยผู้บริโภคอาหารทะเลนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง ดังนั้นแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลนำเข้ายังจำกัดอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆที่เป็นแหล่งจับจ่ายของผู้ที่มีรายได้สูง ภัตตาคารและโรงแรม ดังนั้นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลพยายามหาทางลดภาระทางด้านภาษี โดยการส่งผ่านทางฮ่องกง สถิติการนำเข้าอาหารทะเลของจีนน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตามเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และมีภาระผูกพันที่ต้องลดภาษีนำเข้าอาหารทะเล โดยมีการกำหนดว่าจะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2550 ทำให้ตลาดอาหารทะเลของจีนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีรายได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากราคาอาหารทะเลนำเข้าของจีนมีแนวโน้มลดลงจากผลของการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก
บทสรุป
ตลาดจีนนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทย จากปัจจัยหนุนเนื่องทั้งในด้านพฤติกรรมของคนจีนที่เปลี่ยนจากการบริโภคอาหารทะเลเป็นๆ หันมายอมรับอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปมากขึ้น รวมทั้งการที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกทำให้จีนต้องลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ซึ่งเคยเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนำเข้าในตลาดจีนมีราคาแพง ดังนั้นในอนาคตราคาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนำเข้าในจีนมีแนวโน้มถูกลง ตลาดจะขยายตัวลงจากที่เคยจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้สูงมาที่กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนำเข้าของจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก