คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของสหรัฐฯและไทย ในการประชุมเดือนธันวาคม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นต่อการประชุมเพื่อพิจารณาทิศทางนโยบายการเงิน หรือนโยบายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) และคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (Monetary Policy Committee: MPC) มีกำหนดจะประชุมกันในวันที่ 14 และ 15 ธันวาคม 2547 ตามลำดับ ดังต่อไปนี้ :-

? ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

? ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ: การขยายตัวยังเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง

? ตลาดแรงงาน แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payroll) ประจำเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่มขึ้นเพียง 112,000 ตำแหน่ง รวมทั้ง ขนาดการเพิ่มขึ้นของตัวเลขในสองเดือนก่อนหน้าที่ลดลงจากการทบทวนตัวเลขใหม่ (ตัวเลขในเดือนกันยายนและตุลาคมที่ทบทวนใหม่เพิ่มขึ้น 303,000 และ 119,000 ตำแหน่ง ตามลำดับ เทียบกับตัวเลขเดิมที่เพิ่มขึ้น 337,000 และ 139,000 ตำแหน่ง) อาจจะสร้างความน่าผิดหวังให้กับตลาด ดังจะเห็นได้จาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury Yields) ประเภทอายุ 2, 5 และ 10 ปี ที่ลดลง 0.12%, 0.16% และ 0.13% ตามลำดับ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานในวันที่ 3 ธันวาคม เทียบกับวันก่อนหน้า แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีการจ้างงานเฉลี่ยประมาณ 185,500 ตำแหน่งต่อเดือน ก็ยังสะท้อนถึงการขยายตัวของตลาดแรงงานที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

? ภาวะอุตสาหกรรมและภาคการบริการ จากผลสำรวจของสถาบัน Institution for Supply Management (ISM) ที่เป็นการรวบรวมความคิดเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ ดัชนีชี้ภาวะอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing Index) อยู่ที่ระดับ 57.8 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และยืนเหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 ด้านดัชนีภาคการบริการ (ISM Non-manufacturing Index) อยู่ที่ระดับ 61.3 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน และอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 20 ทั้งนี้ ดัชนีทั้งสองได้สะท้อนถึงภาวะอุตสาหกรรมและภาคการบริการของสหรัฐฯที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

? ตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 3/2547 จากการเปิดเผยตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 3/2547 เบื้องต้นรอบที่ 2 (preliminary) เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัว 3.9% (q-o-q annualized) เพิ่มขึ้นจากการประกาศรอบแรกที่ 3.7% และเทียบกับการขยายตัวที่ 4.5% และ 3.3% ในสองไตรมาสแรกของปีนี้ โดยการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากฐานะดุลบัญชีระหว่างประเทศที่มียอดขาดดุลลดลง รวมทั้งจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นที่คาดกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะขยายตัวประมาณ 4.0-4.5% (y-o-y) ได้ในปีนี้ ค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ 3.1% ในปีก่อน

? ยอดค้าปลีก ตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขนี้จะค่อนข้างผันผวนเดือนต่อเดือน แต่โดยรวมแล้วก็ยังสะท้อนว่าผู้บริโภคสหรัฐฯยังคงมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะถูกกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ได้แก่ ความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคน ราคาพลังงานที่ผันผวนในระดับสูง รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของทางการ เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า โดยรวมแล้ว การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าอาจไม่ร้อนแรงมาก แต่คาดว่าน่าจะสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมวันที่ 14 ธันวาคมที่จะถึง รวมไปถึงความเป็นไปได้ของการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟดในปี 2548 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds เข้าสู่ระดับที่มีความเป็นกลาง (neutral) (หรือระดับอัตราดอกเบี้ยที่มีความเหมาะสมสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ) ในช่วงประมาณ 3.0-5.0% โดยความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเผชิญกับภาวะถดถอยคงจะมีค่อนข้างจำกัด

? แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ: แนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่น่าเป็นกังวลนัก

ในเดือนตุลาคม 2547 ภาพรวมตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่เร่งขึ้นมาก (โดยอยู่ที่ระดับ 77.7% ในเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 77.2% ในเดือนก่อน) รวมทั้งภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ทำให้การส่งผ่านภาระต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่นัก

? ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 3.2% และ 2.0% ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ เทียบกับ 2.5% และ 2.0% ในเดือนก่อนหน้า

? ดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure Price Index) อัตราทั่วไป และอัตราพื้นฐาน อยู่ที่ 2.4% และ 1.5% ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ เทียบกับ 2.0% และ 1.5% ในเดือนก่อน

? ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) อัตราทั่วไป และอัตราพื้นฐาน สำหรับสินค้าขั้นสุดท้าย อยู่ที่ 4.4% และ 1.7% ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ เทียบกับ 3.3% และ 1.9% ในเดือนกันยายน

ทั้งนี้ แม้ว่าระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงถัดไป แต่แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะจากทางด้านผู้ผลิต และจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯที่ยังคงขยายตัว (แม้อาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง) รวมไปถึงจากแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนธันวาคมและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคตของเฟด น่าจะเป็นผลดีในการช่วยสกัดกั้นความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีการใช้จ่ายในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีความสมดุลมากขึ้นในระยะต่อไป

? Fed Funds Futures: สะท้อนการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธันวาคมของเฟดไปแล้วเกือบ 100%
แม้ว่าตลาดจะค่อนข้างผิดหวังกับการประกาศตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐฯ แต่เมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า หรือ Fed Funds Futures ล่าสุดในวันที่ 8 ธันวาคม 2547 จะพบว่า นักลงทุนได้ขานรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมวันที่ 14 ธันวาคมนี้ไปแล้วเกือบ 100% นอกจากนี้ ตลาดยังได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ด้วยความเป็นไปได้ถึงประมาณ 80% ด้วย

? นโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทย ทางเลือกขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ให้กับเป้าหมายเศรษฐกิจ

สำหรับการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนประเภท 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทย และปัจจุบันยืนอยู่ที่ระดับ 1.75% นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ธปท.จะให้กับสองเป้าหมายเศรษฐกิจหลัก (เป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อ และเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย) โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 15 ธันวาคม 2547 สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้ :-

? ปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธปท.

ปัจจัยกลุ่มที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. ได้แก่

? แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยในระยะยาว แม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง รวมทั้งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) ของไทยในเดือนพฤศจิกายนที่ 3.0% จะลดลงจาก 3.5% ในเดือนตุลาคม ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันเบนซิน แต่แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อภายในประเทศก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าผู้ผลิต ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน และโดยเฉพาะหากรัฐบาลมีการประกาศเพิ่มเพดาน/ยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลในปี 2548 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2548 อาจขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ที่ 2.8% ในปี 2547 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในปี 2548 อาจอยู่ในช่วงประมาณ 1.5-2.0% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.4% ในปี 2547 ดังนั้น จากทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในปี 2548 การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.ก็น่าจะเป็นการดำเนินการในทิศทางที่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ หรือ Inflation Targeting ของธปท.

? แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ยังคงอยู่ภายในระดับควบคุม ทำให้เป็นที่คาดกันว่า เฟดคงจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเคลื่อนเข้าสู่ระดับที่มีความเป็นกลาง (neutral) ในช่วงประมาณ 3.0-5.0% ทั้งนี้ จากตัวเลขคาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจมีแนวโน้มขยับขึ้นไปยืนที่ประมาณ 3.25-3.5% ณ ปลายปี 2548 จากที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.25% ณ ปลายปี 2547 ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.อาจเป็นผลดีต่อการรักษาสมดุลระยะห่างในผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศไม่ให้เพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของประเทศ

ปัจจัยกลุ่มที่สนับสนุนการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. ได้แก่

? แนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอลงของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าในปี 2548 การลงทุนโดยรวมของประเทศอาจได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่นำโดยภาครัฐ แต่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง และการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในประเทศ รวมไปถึงภาคการส่งออกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาค ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณ 5.5% ในปี 2548 ชะลอตัวลงจากการคาดการณ์การขยายตัวที่ประมาณ 6.0% ในปี 2547 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในกรณีที่ธปท.เลือกที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ก็อาจจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2548 รวมทั้งน่าจะเป็นผลบวกต่อแนวโน้มผลการดำเนินการของภาคธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย อาทิ ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

? แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจผ่อนคลายลงในระยะสั้น จากสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ถูกกดดันให้ปรับตัวอ่อนค่าลง ตามความกังวลต่อปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณรัฐบาลในระดับสูงของสหรัฐฯ รวมทั้งจากกระแสกดดันให้ทางการจีนเพิ่มความยืดหยุ่นในทิศทางค่าเงินหยวน ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ล่าสุดแข็งค่าขึ้นมายืนใกล้เคียงระดับ 39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงต้นเดือนธันวาคม ประกอบกับ ระดับราคาน้ำมันเบรนท์ (Brent) ที่มีแนวโน้มลดลงจากระดับประมาณ 45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน มายืนต่ำกว่าระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงต้นเดือนธันวาคม เป็นสองปัจจัยที่คาดว่าอาจช่วยชะลอแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของไทย และทำให้ธปท.มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หากจะเลือกตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมเดือนธันวาคม และเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปดำเนินการในปี 2548

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่อาจผ่อนคลายลงจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น โดยการอ่อนค่าลงอย่างไร้ขีดจำกัดของเงินดอลลาร์สหรัฐฯคงจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเพื่อไม่ให้เกิดผลในทางลบต่อการถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์ฯจนมีผลต่อทิศทางอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร รัฐบาลสหรัฐฯน่าจะยอมให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงไปเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ ธนาคารกลางของชาติต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็อาจจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเพื่อประคับประคองภาคการส่งออกของตนไว้ นอกจากนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดทางด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ยังไม่สิ้นสุดลง ก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 2.0% มาเป็น 2.25% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ โดยที่ผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้คาดว่าจะมีค่อนข้างจำกัด ท่ามกลางการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจหลักที่ยังคงดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว น่าจะเป็นผลดีในการช่วยสกัดกั้นความเสี่ยงของปัญหาเงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีการขยายกำลังการผลิตเข้าใกล้ระดับการจ้างงานเต็มที่ รวมทั้งหากผู้ผลิตสามารถส่งผ่านภาระต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในอัตราที่ไม่รวดเร็วจนเกินไป น่าจะเป็นประโยชน์ต่อฐานะการขาดดุลในระดับสูงของดุลบัญชีเดินสะพัด และต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะที่มีความสมดุลมากขึ้น จากในปัจจุบันที่สัดส่วนการใช้จ่ายมีค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อยังไม่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ในขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 150,000 ตำแหน่งต่อเดือน (สอดคล้องกับการเติบโตของประชากรแรงงาน) แล้ว การเดินหน้านโยบายการเงินแบบเข้มงวดผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ลำบากนัก

สำหรับการคาดการณ์ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 15 ธันวาคม นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางเลือกการตัดสินใจของธปท.คงจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่จะให้ต่อเป้าหมายเศรษฐกิจหลัก ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งนี้ หากธปท.ให้น้ำหนักเอนเอียงไปที่เป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว ตามกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ตลอดจน เพื่อรักษาสมดุลระยะห่างในผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศ แล้ว ธปท.ก็อาจเลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนประเภท 14 วัน อีก 0.25% จาก 1.75% มาเป็น 2.0% ในการประชุมวันที่ 15 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ธปท.ให้น้ำหนักเอนเอียงไปทางด้านเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจ และแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงในระยะสั้น ธปท.ก็คงเลือกที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปดำเนินการในปี 2548 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนประเภท 14 วันในกรณีหลังนี้ ก็คงจะยืนอยู่ที่ระดับ 1.75% ณ ปลายปี 2547