รายงานภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ประจำสัปดาห์

สภาวะการส่งออกค่อนข้างคลุมเครือในปีหน้า

การส่งออกของภูมิภาคเอเชีย คาดว่า จะไม่เติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากสิ้นสุด
ไตรมาส 2 ของปี 2548 ดัชนีของ เลแมน บราเดอร์ส บ่งชี้ว่า จะมีการเติบโต
ในระดับปานกลางในช่วงครึ่งหลังของปี 2548

เลแมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก ชี้ว่า ณ ช่วงเวลานี้ นับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในการประเมินทิศทางการเติบโตของการส่งออกในเอเชียในปีหน้าได้อย่างชัดเจน การส่งออกของเอเชีย เติบโตอย่างสดใสในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 และชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา โดยมีอัตราการเติบโตจากเดือนกันยายน 2546 ถึงเดือนกันยายน 2547 เฉลี่ยร้อยละ 22.5 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอควร แต่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตสูงสุดที่อยู่ในอัตราร้อยละ 31.5 ในเดือนมิถุนายนลงมาประมาณร้อยละ 9

ทั้งนี้ จากการสำรวจสภาวะการส่งออกของ 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย พบว่า การส่งออกใน 7 ประเทศมีการเติบโตที่ลดลง และเมื่อพิจารณาจากรายงานสภาวะการค้าประจำเดือนตุลาคม 2547 ใน 7 ประเทศ พบว่า การส่งออกใน 5 ประเทศอ่อนตัวลง โดยดัชนีการส่งออกในภูมิภาคเอเชียที่จัดทำโดยเลแมน บราเดอร์ส ชี้ให้เห็นว่า ในเดือนตุลาคม 2547 การเติบโตของการส่งออกทั่วภูมิภาคนี้ จะชะลอตัวลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนเหลือร้อยละ 17.6 ซึ่งดัชนีการส่งออกดังกล่าวประกอบด้วยมาตรวัดสำคัญ 4 ประเภท ได้แก่ ดัชนีบัลติค ดราย (Baltic Dry index) ดัชนีระบบบริหารการจัดซื้อของสิงคโปร์ (Singapore’s purchasing managers’ index) ดัชนีนำเข้ายูเอส-ไอเอสเอ็ม (US ISM import sub-index) และดัชนีเซมิคอนดัคเตอร์ ฟิลาเดลเฟีย 1 (Philadelphia semiconductor index1) และเมื่อรวมดัชนี ทั้งหมดแล้ว จะมีค่าลดลงจาก 19.1 ในเดือนสิงหาคม เหลือเพียง 17.4 ในเดือนตุลาคม 2547
ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ภาวะเศรษฐกิจของโลกและทิศทางการส่งออกในระดับภูมิภาคมี
ความไม่แน่นอนมากขึ้น ดังเช่น ภาวะการขาดดุลทางการค้าซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ความพยายามของสหภาพยุโรปในการพัฒนาเศรษฐกิจของตนให้เติบโตต่อไป และการที่ภูมิภาคเอเชียมียอดสั่งซื้อจากประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจของจีน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของไต้หวันและเกาหลี ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างเด่นชัด แต่จีนมีการเติบโตด้าน การนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียลดลงจากร้อยละ 44 ในครึ่งแรกของปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 29 ในไตรมาส 3 ของปีเดียวกัน

นอกจากนี้ ค่าของสกุลเงินลอยตัวของภูมิภาคเอเชียที่ถ่วงน้ำหนักด้วยค่าจีดีพีมีค่าแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยร้อยละ 3.7 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 เป็นต้นมา ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกโดยรวม อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่จัดทำโดยเลแมน บราเดอร์ส ได้สื่อสัญญาณหลากหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนี บัลติก ดราย ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนการขนส่งได้ดีดตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทะลุสถิติในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ดัชนีการส่งออกที่กำหนดโดยเลแมน บราเดอร์ส บ่งชี้ว่า จะมีการส่งออกลดลงพอสมควรในไตรมาส 4 ของปีนี้ ทั้งยังคาดการณ์ว่า แม้ว่าการส่งออกจะเติบโตในระดับสูงสุดในไตรมาส 2แต่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพึงพอใจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ดังเช่น การส่งออกที่เติบโตขึ้นครั้งล่าสุดของเกาหลีใต้ ดังนั้น การเติบโตของการส่งออก จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตทะยานพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 28 ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากลดต่ำลงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 เดือน นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลงนามใน ข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรี (a free-trade agreement) หรือเอฟทีเอร่วมกับประเทศจีน ซึ่งพิธีลงนาม ดังกล่าวจัดขึ้นในประเทศลาว ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการวางรากฐานให้กับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้นภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 40 ภายในปี 2553 และด้วยตลาดขนาดใหญ่และแข็งแกร่งของจีน บวกกับความสัมพันธ์ทางการค้าอันแข็งแกร่งและมั่นคงระหว่างประเทศสมาชิกต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย จะช่วยสนับสนุนให้ การส่งออกของภูมิภาคแห่งนี้มีการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งต่อไปในอนาคตอันยาวไกล แม้ว่าในช่วงระยะใกล้ จะต้องเผชิญสภาวการณ์ที่คลุมเครือก็ตาม

เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า จะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้านความต้องการภายในประเทศในภูมิภาค เอเชียในปี 2548 แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในปี 2548 ค่อนข้างจะมีความไม่แน่นอน แต่ เลแมน บราเดอร์ส ยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อสถานการณ์ในปีหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงปัจจัยแรกคือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะมี ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เป็นสองเท่าของ ผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการซื้อขายที่ไม่ใช้สกุลเงินสหรัฐ และเลแมน บราเดอร์ส คาดว่า ราคาน้ำมันจะลดลงต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ปัจจัยเสี่ยงที่สอง คือ การดิ่งตัวของเศรษฐกิจขาลงของจีน อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจของจีนมีการชะลอตัวลงทำให้อัตราการเจริญเติบโตมีความสมดุลมากขึ้น ซึ่ง เลแมน บราเดอร์ส มองว่า จะช่วยบรรเทาผลกระทบของการดิ่งตัวของสภาพเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงที่สาม คือ ความต้องการของตลาดโลกในด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของ เอเชียอาจปรับตัวลง อย่างไรก็ดี จากดัชนีเศรษฐกิจที่จัดทำโดย เลแมน บราเดอร์ส ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกอาจไม่มีการอ่อนตัวลงมากนัก และเมื่อพิจารณาจากค่าของสกุลเงินที่โดดเด่นโดยรวมทั้งหมด ทำให้ เลแมน บราเดอร์ส คาดการณ์ว่า ปัจจัยเสี่ยงจะคลี่คลายลง ซึ่งจะส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียสามารถดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายอย่างจริงจังมากขึ้นภายใน 2548 โดยมีอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่แท้จริงสำหรับ ภูมิภาคเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับที่ติดลบต่ำเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา และนโยบายทางการเงินของภูมิภาคนี้จะมีความผ่อนคลายมากขึ้นอีกด้วย โดยภาคการเงินและธุรกิจในเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่นจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ที่สุด เป็นระยะเวลานาน 7 ปีภายหลังวิกฤติทาง การเงิน โดยมีปัจจัยเชิงบวกอื่นๆ ได้แก่ การมีจำนวนประชากรชั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาของสังคมเมืองที่รวดเร็ว และการมีจำนวนคนหนุ่มสาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความต้องการในการกู้ยืมและใช้จ่ายมากขึ้น

เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า ความต้องการภายในประเทศของภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน ปี 2548 ซึ่งจะเป็นการเปิดสัญญาณไฟเขียวให้กับผู้กำหนดนโยบายของประเทศในภูมิภาคเอเชียในการกระตุ้นค่าเงิน ซึ่งจะช่วยให้อัตราจีดีพีเติบโตขึ้นตามการปรับตัวของความต้องการภายในประเทศ