แอร์ คาร์โก……ธุรกิจการบินที่น่าจับตามอง

ปัจจุบันธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศหรือ แอร์ คาร์โก (Air Cargo) กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในระบบการค้าของโลก ทั้งนี้สมาคมการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Cargo Association : TIACA) ได้ประมาณว่า กว่าร้อยละ 34 ของการมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันต้องอาศัยการขนส่งสินค้าโดยทางอากาศ ยิ่งไปกว่านั้น การขนส่งสินค้าทางอากาศยังมีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศได้ขยายตัวเกือบเท่าตัวในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และแม้จะได้ประสบกับภาวะตกต่ำเช่นเดียวกับธุรกิจสายการบินโดยสารในปี 2001 อันเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน แต่ธุรกิจสายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จากอัตราขยายตัวติดลบร้อยละ 5.8 ในปี 2001 ก็กลับมาขยายตัวกว่าร้อยละ 7 ในปี 2002 เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ในปี 2003 และสามารถขยายตัวเป็นเลขสองหลักได้ประมาณร้อยละ 14-15 ในปี 2004 นี้ จึงนับว่าเป็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แตกต่างกับธุรกิจสายการบินโดยสารที่ฟื้นตัวเชื่องช้ากว่าและมีความผันผวนทางธุรกิจสูงกว่ามาก โดยมีอัตราขยายตัวติดลบ 3 ปีซ้อนในระหว่างปี 2001-2003 คือตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 ตามมาด้วยสงครามในตะวันออกกลาง และการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในเวลาต่อมา และเพิ่งจะมาฟื้นตัวได้บ้างในปี 2004 นี้เอง

นอกจากนี้ ในรายงาน World Air Cargo Forecast โดยบริษัท โบอิ้ง แห่งสหรัฐซึ่งเป็นผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลกก็ยังได้คาดการณ์ไว้ว่า ในช่วงเวลา 20 ปีนับตั้งแต่นี้

เป็นต้นไป ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ในขณะที่ธุรกิจสายการบินโดยสารจะเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5.2 ต่อปี โดยที่ภูมิภาคเอเชียจะมีอัตราเติบโตสูงที่สุดคือเฉลี่ยกว่าร้อยละ 8.5 ต่อปี บริษัท โบอิ้งยังคาดการณ์อีกว่าจำนวนเครื่องบินที่ใช้บรรทุกสินค้าของสายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้าหรือแอร์ คาร์โกทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากจำนวนเกือบ 1,800 ลำในปัจจุบัน เป็นประมาณ 3,500 ลำในปี 2023 อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศจะสูงถึงกว่า 60 ล้านตันในปี 2017 เทียบกับปริมาณเกือบ 40 ล้านตันในปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าปัจจัยหลักๆในด้านเศรษฐกิจและการค้าที่จะทำให้ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือแอร์ คาร์โก ทวีความสำคัญและมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในระบบการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในปัจจุบันนั้น สรุปได้ดังนี้ :

1. ปัจจุบันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาทั้งทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรมของโลกได้ก่อให้เกิดประเภทของสินค้าต่างๆหลากหลายขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง แต่มีขนาด ปริมาตรและน้ำหนักไม่มาก (High Value, Low Volume) ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องอาศัยระบบการขนส่งที่รวดเร็วปลอดภัยและมีการดูแลสภาพของสินค้าอย่างดีที่สุด เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีมูลค่าสูง, อัญมณีและเครื่องประดับตลอดจนนาฬิกาและแว่นตาราคาแพง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่มีการเสื่อมสภาพเร็ว เช่น อาหารสดและผลิตภัณฑ์ทางเกษตรหลายชนิด อาทิ ผักผลไม้ ดอกไม้สด กล้วยไม้สด รวมทั้งยาและเวชภัณฑ์หลายประเภทที่เสื่อมสภาพง่าย ตลอดจนสินค้าบางประเภทที่ล้าสมัยเร็ว เช่น เสื้อผ้าจำพวกแฟชั่นนำสมัย ทั้งนี้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ คือระบบการขนส่งที่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้

2. แนวทางการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่เรียกว่า Just-in-Time Concept ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินธุรกิจยุคปัจจุบัน แนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นการบริหารสินค้าคงเหลือและปริมาณสต็อกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงาน ภายใต้วิธีการบริหารจัดการแบบ Just-in-Time นี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศจะมีสต็อกสินค้าในปริมาณต่ำที่สุด หรือเฉพาะในปริมาณเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่ทั้งนี้วิธีการบริหารดังกล่าวจะประสบผลได้ ก็จะต้องอาศัยระบบการจัดส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้ขายและสู่ตลาดที่มีความรวดเร็วตรงเวลา ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งนั่นก็คือบริการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและไว้ใจได้ การบริหารจัดการด้วยวิธีนี้นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการดำรงสินค้าคงเหลือแล้ว ยังจะช่วยลดระยะเวลาที่สินค้าต้องอยู่ในโกดังและทำให้สินค้าไปสู่ตลาดและผู้บริโภคได้เร็วขึ้น อันเป็นการร่นระยะเวลาเดินทางของสินค้าระหว่างผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศคือหัวใจที่ทำให้การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่เกิดขึ้นได้

3. การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของปริมาณการค้าของโลก ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณและประเภทของสินค้าที่ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลกหรือ WTO และภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีในภูมิภาคต่างๆ อาทิ อาฟต้าของกลุ่มประเทศอาเซียน นาฟต้าในทวีปอเมริกาเหนือ ตลอดจนการขยายจำนวนสมาชิกของสหภาพยุโรปหรืออียู จาก 15 เป็น 25 ประเทศ รวมทั้งการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี (Free Trade Agreement : FTA) ที่ได้เกิดขึ้นมากมายทั่วโลกขณะนี้ ล้วนเป็นการส่งเสริมให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศขยายตัว ส่งผลให้แนวโน้มปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตตามไปด้วย ทั้งนี้ WTO ได้ประมาณการณ์ว่าปริมาณการค้าของโลกในปี 2004 จะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.5 จากมูลค่าการค้ากว่า 7.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2003 ซึ่งมีอัตราขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 และเชื่อว่าปริมาณการค้าโลกจะยังเติบโตต่อไปอีกในปี 2005 แม้ภาวะราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระดับหนึ่ง นอกเหนือไปจากการเปิดเสรีทางการค้าแล้ว แนวโน้มการเปิดเสรีทางการบินพาณิชย์ที่ปัจจุบันกำลังแผ่ขยายไปหลายประเทศทั่วโลก ก็จะทำให้สายการบินต่างๆ ทั้งสายการบินโดยสารและสายการบินขนส่งสินค้าหรือแอร์ คาร์โก สามารถขยายบริการไปยังน่านฟ้าประเทศต่างๆ ได้เสรีมากขึ้น

ปัจจุบันธุรกิจสายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้คือ :

1) สายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ หรือ All-Cargo Airlines ซึ่งเป็นธุรกิจสายการบินที่ขนส่งสินค้าล้วนๆ ไม่ขนส่งผู้โดยสาร บางทีจึงเรียกว่า Freighters ปัจจุบันทั่วโลกมีสายการบินรายใหญ่ๆที่ให้บริการในลักษณะนี้และเป็นสมาชิกของสมาคมการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศไม่ถึง 40 ราย เปรียบเทียบกับจำนวนสายการบินที่บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศและเป็นสมาชิกของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือ IATA ด้วยซึ่งมีกว่า 270 ราย อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าของโลก รวมทั้งยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ที่กำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ปัจจุบันความสนใจในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

2) สายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้าควบคู่ไปกับการขนส่งผู้โดยสาร โดยจะมีระวางบรรทุกสินค้าไว้ตรงบริเวณใต้ท้องเครื่องบิน (Belly) ทั้งนี้ปัจจุบันการให้บริการขนส่งสินค้าในลักษณะดังกล่าวนับเป็นแหล่งรายได้เสริมที่สำคัญของสายการบินโดยสารหลายแห่ง สายการบินที่ให้บริการแบบผสมผสานนี้จึงเรียกกันว่า Combined Carriers ปัจจุบันประมาณว่าร้อยละ 60-70 ของการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นการขนส่งในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีความผันผวนน้อยกว่าธุรกิจสายการบินโดยสาร ทำให้ปัจจุบันสายการบินโดยสารจำนวนไม่น้อยได้จัดตั้ง หรือมีแผนที่จะจัดตั้งสายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้าล้วนๆหรือแอร์ คาร์โกขึ้นมาโดยเฉพาะดังในข้อ 1 ข้างต้น ดังนั้น จึงคาดว่าสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศในลักษณะ All-Cargo Airlines จะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว

3) ธุรกิจสายการบินที่ให้บริการรับส่งเอกสาร พัสดุไปรษณีย์ และสินค้าเร่งด่วนถึงมือผู้รับ (Air Express Services) หรือบางทีเรียกว่า Integrators เนื่องจากธุรกิจนี้จะให้บริการแบบครบวงจร ทั้งการรับสิ่งของ การจัดเก็บในคลังสินค้า การจัดสรรระวางบรรทุก การขนส่งทางอากาศด้วยเครื่องบินของตนเอง รวมทั้งการจัดส่งภาคพื้นดินจนถึงมือผู้รับ ด้วยบริการด่วนและรับประกันการจัดส่ง ปัจจุบันผู้ให้บริการในลักษณะนี้รายใหญ่ๆ ของโลกได้แก่ FedEx, DHL, และ UPS เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นในการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสภาวะธุรกิจการค้ายุคใหม่ที่ปัจจัยด้านเวลามีความสำคัญยิ่ง จึงได้ทำให้สายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้า กำลังเป็นหนึ่งในธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจมากทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ และยิ่งเมื่อเทียบกับธุรกิจสายการบินโดยสารที่มีความอ่อนไหวและผันผวนกว่ามาก เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลาย ซึ่งรวมทั้งค่านิยมและจิตวิทยาของผู้ใช้บริการที่มักจะมีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกง่ายต่อเหตุการณ์ต่างๆ ดังเช่น กรณีเหตุการณ์ 11 กันยายน, สงครามในตะวันออกกลาง และการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ธุรกิจสายการบินโดยสารหลายรายจึงได้หันมาเพิ่มบทบาทในบริการขนส่งสินค้าทางอากาศกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งสายการบินขนส่งสินค้าหรือแอร์ คาร์โกขึ้นมาโดยเฉพาะ

สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางอากาศกำลังมีบทบาทและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จากสถิติของสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย ปัจจุบันจำนวนสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพมีปริมาณคิดเป็นน้ำหนักกว่า 9.5 แสนตันต่อปี จัดเป็นอันดับ 7 ของเอเชียและอันดับที่ 19 ของโลก ในจำนวนนี้เป็นปริมาณสินค้าเพื่อการส่งออก (Total outbound and transit) กว่า 5.5 แสนตันต่อปี ส่วนในด้านมูลค่านั้น ประมาณว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าส่งออกของไทย หรือประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปีเป็นการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเชื่อว่าสัดส่วนนี้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ

ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดน่านฟ้าเสรี และการส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในปี 2548 นี้ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ย่อมจะทำให้บทบาทของการขนส่งสินค้าทางอากาศของไทยขยายตัวอย่างมากในอนาคต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และจากศักยภาพดังกล่าวจึงได้ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจการบินหรือสายการบินต่างๆให้ความสนใจจะดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งสายการบินใหม่ๆ เพื่อจะให้บริการแบบแอร์ คาร์โกที่รับขนส่งสินค้าล้วนๆขึ้นมาโดยเฉพาะ อาทิ เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการลงนามร่วมทุนระหว่างบริษัท ซีทีไอ โฮลดิ้ง จำกัดของไทย และสายการบินแควนตัสของออสเตรเลีย เพื่อจัดตั้งสายการบินชื่อ ไทยแอร์คาร์โก้ เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศล้วนๆ (All-cargo airline service)เป็นรายแรกของไทย โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการประมาณกลางปี 2548 นอกจากนี้ ก็มีข่าวว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีแผนจะร่วมทุนกับผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งสายการบินที่เป็นแอร์ คาร์โกเช่นเดียวกันในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีความเห็นว่า ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศไม่เพียงมีความสำคัญในตัวเองในฐานะที่สามารถตอบสนองต่อเงื่อนไขของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว แม่นยำ และไว้ใจได้เท่านั้น แต่ธุรกิจนี้ยังมีบทบาทในฐานะที่เป็นหนึ่งในกลไกหลัก ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นต่อระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ในการช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการค้าของโลก