กุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ : ผลกระทบจากอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(AD)

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯประกาศผลอัตราตอบโต้การทุ่มตลาดหรือภาษีเอดีขั้นสุดท้ายของกุ้งที่นำเข้าจากไทย บราซิล เอกวาดอร์ และอินเดีย สำหรับไทยคำตัดสินของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯครั้งนี้เปลี่ยนแปลงจากอัตราภาษีเอดีขั้นต้นที่ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 โดยยืนยันให้เก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งจากไทยระหว่างร้อยละ 5.79-6.82 ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราภาษีขั้นต้นแล้วแม้ว่าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของไทยนั้นลดลงค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับจีน เวียดนามและบราซิลที่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และยังดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะอินเดียและเอกวาดอร์ เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าไทย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ การประกาศผลการตัดสินขั้นสุดท้ายของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศภายในวันที่ 31 มกราคม 2548 ว่าการทุ่มตลาดกุ้งนั้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งภายในของสหรัฐฯหรือไม่ และสหรัฐฯจะประกาศผลทั้งหมดและอัตราภาษีอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งถ้าสหรัฐฯยังยืนยันอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายก็จะทำให้ภาวะการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯเปลี่ยนแปลง ผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ความผันผวนของตลาดกุ้งในสหรัฐฯในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2548-2552) อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกกุ้งของไทยคงต้องติดตามเกี่ยวกับการยื่นฟ้องความไม่เป็นธรรมในการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่อองค์การการค้าโลก เนื่องจากคำตัดสินขององค์การการค้าโลกก็จะเป็นอีกความหวังในการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ

ผลกระทบภาษีเอดี…ไทยยังคงได้เปรียบคู่แข่งสำคัญ

ผลจากการประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ สำหรับประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อถูกไต่สวนการทุ่มตลาดกุ้งทั้ง 6 ประเทศมีดังนี้

อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งของสหรัฐฯ
(ร้อยละ)
ประเทศ อัตราภาษีขั้นสุดท้าย* อัตราภาษีขั้นต้น** การเปลี่ยนแปลง
อัตราประกาศ อัตราเฉลี่ย อัตราประกาศ อัตราเฉลี่ย
ไทย 5.79-6.82 6.31 5.50-10.25 7.88 -1.57
เอกวาดอร์ 2.35-4.48 3.42 6.03-9.35 7.69 -4.27
เวียดนาม 4.13-25.76 14.95 2.11-19.60 10.86 +4.09
อินเดีย 5.02-13.42 9.22 3.56-27.49 15.53 -6.31
บราซิล 9.69-97.80 53.75 8.41-67.80 38.11 +15.64
จีน 7.67-112.81 60.24 0.04-98.34 49.19 +11.05
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

หมายเหตุ : *อัตราภาษีขั้นสุดท้ายจะใช้บังคับตั้งแต่มกราคม 2548-ธันวาคม 2552 เป็นอัตราประกาศของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งต้องรอประกาศอัตราภาษีอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2548
**อัตราภาษีขั้นต้นใช้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2547

ซึ่งอัตราภาษีขั้นสุดท้ายที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศนั้นต้องรอขั้นตอนของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศประกาศผลการตัดสินขั้นสุดท้ายว่าการทุ่มตลาดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯหรือไม่ในวันที่ 31 มกราคม 2548 และจะมีการประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548

อย่างไรก็ตามถ้าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบต่อสถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯดังนี้

1.ผู้ส่งออกไทยยังแข่งขันได้เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม จากผลของอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในขั้นสุดท้ายของกุ้งทุกประเทศที่อยู่ในข่ายถูกไต่สวนการทุ่มตลาด จะเห็นว่าไม่กระทบการส่งออกกุ้งไทย แม้ว่าเมื่อเทียบกับอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นต้นแล้ว อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของไทยนั้นลดลงค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับจีน เวียดนามและบราซิลที่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และยังดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะอินเดีย เนื่องจากอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเฉลี่ยขั้นสุดท้ายของอินเดียนั้นยังสูงกว่าไทย ส่วนเอกวาดอร์นั้นแม้ว่าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเฉลี่ยขั้นสุดท้ายจะต่ำกว่าไทย และเป็นประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่ถูกไต่สวนการทุ่มตลาดทั้งหมด แต่เอกวาดอร์ก็มีผลผลิตกุ้งภายในประเทศเฉลี่ยเพียง 40,000-50,000 ตันต่อปีเท่านั้น ทำให้สามารถขยายการส่งออกโดยอาศัยความได้เปรียบในอัตราภาษีได้ไม่มากนัก

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากศักยภาพด้านอื่นๆแล้วไทยยังคงมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งขัน กล่าวคือ ประเภทและขนาดของกุ้งที่ไทยส่งออกมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อขายในตลาดที่แตกต่างกัน โดยไทยส่งทั้งกุ้งกุลาดำและกุ้งขาวในลักษณะเป็นกุ้งต้มจัดใส่ถาดแช่แข็งไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยตรง รวมทั้งการเลี้ยงกุ้งและขบวนการแปรรูปกุ้งของไทยนั้นมีมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะเป็นโอกาสทำให้ไทยสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดกุ้งสหรัฐฯได้ในอนาคต โดยเข้าไปทดแทนประเทศคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราที่สูง

2.ความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ส่งออกรายใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน ในการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันในแต่ละบริษัท อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่เรียกเก็บนี้สามารถแบ่งบริษัทผู้ส่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายแยกตามขนาดบริษัทส่งออก
(ร้อยละ)
ประเทศ ไทย อินเดีย บราซิล เอกวาดอร์ จีน เวียดนาม
ผู้ส่งออก
ขนาดใหญ่ 5.79-6.82 5.02-13.42 9.69-97.80 2.35-4.48 7.67-84.93 4.13-25.76
ผู้ส่งออกขนาดกลาง-เล็ก 6.03 9.45 10.40 3.26 112.81 25.76
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

สำหรับในกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่นั้นบริษัทผู้ส่งออกบางรายของเอกวาดอร์ เวียดนาม และอินเดียยังมีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่ำกว่าไทย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าผู้นำเข้ากุ้งในสหรัฐฯอาจจะยังคงนำเข้ากุ้งจากบริษัทส่งออกรายใหญ่ของประเทศเหล่านี้ ในขณะที่บริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ของจีนนั้นมีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายสูงกว่าไทย ดังนั้นจึงประเมินได้ว่าบริษัทผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของไทยได้รับผลดีจากการประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้าย

ส่วนในกลุ่มบริษัทอื่นๆซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทส่งออกขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของผู้ส่งออกไทยนั้นถือว่าได้เปรียบอย่างมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่ถูกไต่สวนเพื่อเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด เนื่องจากมีเพียงผู้ส่งออกของเอกวาดอร์เท่านั้นที่มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วยคือ ผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดเล็กต้องประสบปัญหาในการส่งออก เนื่องจากสหรัฐฯจะนำมาตรการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก (Customs and Border Protection Commissioner : CBP)มาใช้ ภายใต้กฎหมาย Continued Dumping and Subsidy Offset Act หรือ Byrd Amendment ทำให้บริษัทผู้นำเข้ากุ้งสหรัฐฯที่ต้องการนำเข้ากุ้งจากประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดจะต้องวางพันธบัตรค้ำประกันไว้กับศุลกากรสหรัฐฯก่อนถึงจะสามารถนำเข้ากุ้งได้ โดยมีแนวโน้มว่าผู้นำเข้าสหรัฐฯจะให้บริษัทผู้ส่งออกในไทยหรือผู้ส่งออกไทยที่ไปตั้งบริษัทนำเข้ากุ้งในสหรัฐฯรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มนี้เอง ซึ่งเงินค้ำประกันจะคำนวณจากอัตราภาษีทุ่มตลาดของประเทศนั้น โดยคิดจากมูลค่านำเข้ากุ้งย้อนหลัง 1 ปี ซึ่งการเรียกเก็บเงินค้ำประกันนี้ต้องนำเงินสดไปวางไว้ นับว่าเป็นภาระอย่างมากสำหรับบริษัทผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดเล็ก ในขณะที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยมีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แล้ว

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อให้เห็นภาพการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯให้ชัดเจนขึ้น ก็คือ บริษัทที่อยู่ถูกไต่สวนเพื่อเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของประเทศคู่แข่งในการส่งออกกุ้งของไทยนั้นมีสัดส่วนการส่งออกเท่าใดเมื่อเทียบกับการส่งออกกุ้งทั้งหมดของประเทศนั้น เนื่องจากอาจจะเป็นไปได้ว่าผู้นำเข้ากุ้งของสหรัฐฯจะหันไปนำเข้ากุ้งจากบริษัทส่งออกกุ้งที่ไม่ถูกไต่สวนเพื่อเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดก็ได้

3.จับตาประเทศคู่แข่งที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่จะถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด โดยเฉพาะอินโดนีเซีย จากสถิติการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯในระหว่างปี 2544-2546 สหรัฐฯนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซียเป็นอันดับ 7 โดยสหรัฐฯนำเข้าจากไทยมากที่สุด รองลงมาได้แก่ เวียดนาม จีน อินเดีย เม็กซิโก และเอกวาดอร์ ในปี 2546 สหรัฐฯนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากอินโดนีเซีย 47.76 ล้านปอนด์(21.71 ล้านตัน) มูลค่า 168.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเด็นที่น่าติดตามคือ เดิมนั้นอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่ม 11 ประเทศที่สหรัฐฯเปิดการไต่สวนเพื่อเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด แต่ในที่สุดอินโดนีเซียก็หลุดจากข้อกล่าวหา เท่ากับว่าในปีนี้ถือว่าเป็นโอกาสทองของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของอินโดนีเซียไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศที่สหรัฐฯนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์อันดับต้นๆล้วนแต่อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกสหรัฐฯไต่สวนเพื่อเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น

นอกจากประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับตลาดสหรัฐฯคือ การนำเข้ากุ้งขนาดใหญ่และเล็กของสหรัฐฯเริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยประเทศที่ครอบครองตลาดกุ้งขนาดใหญ่ในสหรัฐฯคือ อินเดีย บังคลาเทศ ไทย และเวียดนาม ส่วนกุ้งขนาดเล็กประเทศที่ครอบครองตลาดคือ เอกวาดอร์ เวเนซูเอลา ไทย และบราซิล ในขณะที่สหรัฐฯนำเข้ากุ้งขนาดกลางมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศที่ครอบครองตลาดกุ้งขนาดกลางในสหรัฐฯคือ ไทย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก นอกจากนี้สินค้ากุ้งแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกุ้งแปรรูปอื่นๆทั้งในลักษณะแช่แข็งและไม่ได้แช่แข็ง(Shrimp Frozen Other Preparations และ Others Preparations Non-frozen) และ กุ้งคลุกขนมปัง(Breaded Frozen) ส่วนกุ้งที่ปอกเปลือกการนำเข้ามีแนวโน้มลดลง

ส่งออกปี’48 …ปัจจัยพึงระวัง

คาดว่าปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยในปี 2548 เท่ากับ 400,000 ตัน เมื่อเทียบกับในปี 2547 ที่มีปริมาณการผลิต 325,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกุ้งต่างๆหันไปส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงกุ้ง โดยคาดการณ์ว่าราคากุ้งจะมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการส่งออกที่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้น โดยคาดว่าในปี 2548 การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 – 260,000 ตัน มูลค่า 960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วคาดว่าทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และ 10.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งอาจจะสูงกว่านี้ เนื่องจากปัจจัยที่น่ากังวลคือ การประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯโดยภาพรวมแล้วไม่กระทบต่อการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยมากนัก รวมทั้งยังมีปัจจัยบวกจากการคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีของสหภาพยุโรป และการแข่งขันเพื่อดึงส่วนแบ่งตลาดส่งออกในญี่ปุ่นกลับคืนมา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอนาคตการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ยังสดใส

– ตลาดอียู…ผู้ส่งออกกุ้งของไทยกำลังรอการพิจารณาคืนสิทธิจีเอสพี เนื่องจากอียูกำลังทบทวนการคืนสิทธิพิเศษดังกล่าวให้กับกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งอียูจะให้สิทธิพิเศษในรอบใหม่ตั้งแต่กลางปี 2548-2558 ซึ่งตามวิธีคำนวณใหม่มูลค่าส่งออกกุ้งของไทยไปอียูมีน้อยมาก และมีส่วนแบ่งไม่ถึงร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งไปอียูจากทุกประเทศที่ได้รับจีเอสพี หากอียูคืนสิทธิจีเอสพีกุ้งให้กับไทยได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมาก ทำให้อียูจะกลับมาเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่สำคัญเช่นเดียวกับก่อนปี 2541 เนื่องจากกุ้งไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดนี้มาตั้งแต่ปี 2541 ทำให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยของอียูลดลงจาก 192 ล้านยูโร ในปี 2541 เหลือเพียง 5 ล้านยูโร ในปี 2546 หรือลดลงมากกว่าร้อยละ 90 ถ้าอียูคืนจีเอสพีให้ไทยจะส่งผลให้เพิ่มยอดการส่งออกกุ้งไทยได้อีกมาก การส่งออกกุ้งไทยไปอียูจะเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 ตันต่อปี จากปัจจุบันที่มีการส่งออกไปยังอียูเพียง 5,000 ตันเท่านั้น

เนื่องจากอียูเรียกเก็บภาษีนำเข้ากุ้งไทยในอัตราสูงถึงร้อยละ 12 สำหรับกุ้งสดและร้อยละ 20 สำหรับกุ้งแปรรูป ในขณะที่ประกาศว่าจะยังคงให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีกับคู่แข่งสำคัญของไทย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย โดยคงภาษีนำเข้ากุ้งสดจากอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และกุ้งแช่แข็งร้อยละ 7.5 นับว่าเป็นโอกาสของอินโดนีเซียในการขยายการส่งออก รวมทั้งการที่สหภาพยุโรปมีมติยกเลิกการห้ามนำเข้ากุ้งจากจีน ซึ่งทางสหภาพยุโรปเคยตรวจพบสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์กุ้งจากจีน ส่งผลให้จีนกลับมาเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหภาพยุโรปอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้คู่แข่งขันสำคัญของการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหภาพยุโรปคือ ประเทศในแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอาเจนตินา บราซิล เอกวาดอร์ โมร็อคโค และโคลัมเบีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ครองสัดส่วนอยู่ในอันดับต้นๆของการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหภาพยุโรป การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดอียูมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งทางอียูตัดจีเอสพีผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทย ปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดอียูมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1-2 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมด

ประเด็นที่น่าสนใจคือ คู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหภาพยุโรปนั้นเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐฯกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราที่สูงกว่าไทย ดังนั้นประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะหันมาเจาะขยายตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในตลาดนี้ อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดอียูเพิ่มขึ้นของผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์นั้นคงต้องผลักดันให้ทางอียูทบทวนการให้ จีเอสพี ทั้งนี้ต้องมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งถ้าอัตราภาษีนำเข้าของไทยลดลงเทียบเท่ากับอินโดนีเซียแล้ว สถานการณ์การส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดอียูของไทยจะมีแนวโน้มสดใสขึ้น

– ตลาดญี่ปุ่น…เร่งดึงส่วนแบ่งตลาดกลับคืน การเจาะขยายตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยนั้นต้องพิจารณาแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ ตลาดญี่ปุ่นเริ่มมีความต้องการกุ้งขนาดกลางเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ต้องการเพียงกุ้งขนาดใหญ่ อันเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในญี่ปุ่นต้องการกุ้งขนาดกลางเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำซูชิและเทมปุระ รวมทั้งผู้บริโภคในญี่ปุ่นเริ่มนิยมบริโภคกุ้งขนาดกลางมากขึ้นด้วย นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าตลาดญี่ปุ่นเริ่มนำเข้ากุ้งแปรรูปเพิ่มขึ้น และสัดส่วนการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง โดยเฉพาะกุ้งคลุกขนมปังป่น ซูชิ และผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปประเภทอื่นๆ

ในช่วงปี 2547 ตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มการนำเข้ากุ้งเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกุ้งที่ญี่ปุ่นนำเข้าเพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นกุ้งจากอินเดีย เวียดนาม และจีน ทำให้อินโดนีเซียและเวียดนามนั้นเป็นแหล่งนำเข้ากุ้งที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยทั้งสองประเทศครองสัดส่วนตลาดมากกว่าร้อยละ 40 ของปริมาณการนำเข้ากุ้งทั้งหมดของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตามองคือ บรา-ซิลเริ่มเป็นคู่แข่งที่มาแรงในตลาดญี่ปุ่น แม้ว่ากุ้งส่วนใหญ่ของบราซิลจะส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปมากกว่าก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องติดตามผลกระทบจากการประกาศภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบวกและผลลบมาถึงการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นด้วย กล่าวคือการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะลดลง เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้ทั้งสองประเทศหันไปส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯมากขึ้น ในขณะที่ประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในสหรัฐฯจะหันมาจับตลาดญี่ปุ่นทดแทน

ปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ 53,000-54,000 ตัน มูลค่า 60,000-70,000 ล้านเยน( 550-642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยไทยนั้นติดอันดับ 5 ของแหล่งนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และจีนตามลำดับ เดิมนั้นญี่ปุ่นเคยนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์จากไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่หลังจากเกิดภาวะโรคระบาดในพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้ง ทำให้ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าจากอินโดนีเซียและเวียดนามมากขึ้น สำหรับกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยที่ส่งไปยังตลาดญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่เป็นกุ้งปอกเปลือกและมีหาง(Peeled Tail-on) ซึ่งคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกกุ้งประเภทนี้คือ เวียดนาม

สำหรับปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในระยะยาว รัฐบาลก็ได้มุ่งเน้นไปที่การเร่งพัฒนาบนพื้นฐานความเป็นจริงและหวังจะให้ไทยกลับมาเป็นอันดับ 1 เรื่องผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงให้ได้ หลังจากถูกจีนแซงหน้าตั้งแต่ปี 2546 โดยกรมประมงได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2548 ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปดำเนินการ และเพิ่มการศึกษาวิจัยเพื่อให้สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้ สำหรับนโยบายเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก คือการกำหนดยุทธศาสตร์กุ้งและผลิตภัณฑ์(ปี 2547-2551) กำหนดเป้าหมายผลผลิตกุ้งในปี 2551 จะมีปริมาณ 481,250 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 100,800 ล้านบาท ขณะที่ผลที่จะได้รับจากยุทธศาสตร์คือ การขยายพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมอีกประมาณ 50,000 ไร่ กำหนดสัดส่วนการผลิตกุ้งกุลาดำต่อกุ้งขาวแวนนาไมเป็น 30:70 กำหนดสัดส่วนการผลิตกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 12 เพื่อมุ่งตลาดเฉพาะ

บทสรุป

อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกกุ้งไทยไม่มากนัก แม้ว่าผู้ส่งออกกุ้งขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยนั้นยังคงได้รับประโยชน์ รวมทั้งเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขันแล้วนับว่าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบศักยภาพในด้านการผลิตและการแปรรูปกุ้งที่ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาด รวมถึงความหลากหลายในประเภทของผลิตภัณฑ์กุ้งที่ส่งออกนั้นทำให้ผู้ส่งออกของไทยอยู่ในฐานได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ

เมื่อปัจจัยที่น่ากังวลในเรื่องอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯนั้นส่งผลในเชิงบวกต่อการส่งออกของไทย และผู้ส่งออกของไทยยังมีความหวังในการคืนจีเอสพีสำหรับการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรป รวมทั้งการเจาะขยายตลาดญี่ปุ่นเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้คาดการณ์ว่าอนาคตการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยยังคงสดใสอย่างต่อเนื่อง