บทนำ
เศรษฐกิจจีนในปี 2547 เริ่มต้นด้วยความร้อนแรงหลังจากที่เติบโตในอัตราสูงถึงร้อยละ 11.5 เมื่อปี 2546 ทำให้ธุรกิจหลายประเภท เช่น ยานยนต์ เหล็ก อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เริ่มส่งสัญญาณฟองสบู่เนื่องจากภาวะอุปทานขยายตัวในอัตราสูงกว่าภาวะอุปสงค์เป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางการจีนจึงได้เริ่มออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุมการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของจีนเริ่มลดลงเป็นลำดับ และส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อค่อย ๆ ผ่อนคลายลง โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนได้ขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างชัดเจนในเดือนตุลาคม 2547 เหลือเพียงร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 5 ในช่วงเดือนก่อน ๆ
คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2547 จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 9.0-9.5 จากนั้นจะปรับเข้าสู่สมดุลในปี 2548 โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 9.0-9.5 มีแนวโน้มว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจีนจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.5-8.5 ตลอดช่วงเวลานี้ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจของจีน
ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวด้วย
เศรษฐกิจจีนปี 2547 : นโยบายคุมเข้มภาวะฟองสบู่
การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรงของจีนในปี 2546 ส่งผลให้ภาวะราคาสินค้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (อันเป็นผลมาจากความสามารถในการลดต้นทุนการผลิตของจีน) เปลี่ยนกลับมาเป็นภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2546 และต้นปี 2547 ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ยุคสภาวะฟองสบู่ โดยราคาสินค้าประเภทอาหาร วัตถุดิบและพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2547 ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.2 และดัชนีราคาผู้ผลิตก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.8 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ความร้อนแรงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ทางการจีนพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล โดยหาทางลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ ทางการจีนจึงออกพันธบัตรเพื่อมาดูดซับสภาพคล่องในระบบและออกมาตรการทางเศรษฐกิจอีกหลายประการ เช่น เพิ่มเงินสำรองของสถาบันการเงิน ยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ และคุมปริมาณสินเชื่อที่ให้กับอุตสาหกรรมบางประเภท นอกจากนี้ National Development and Reform Commission (NDRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวางแผนเศรษฐกิจของจีนยังได้ระงับโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมย่อยประเภทต่าง ๆ ถึง 359 ประเภท เช่น เหล็ก และอะลูมิเนียม ยิ่งไปกว่านั้น ทางการจีนยังได้ออกมาตรการเสริมอื่น ๆ เช่น การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินมิให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหลายประเภท เป็นต้น มาตรการเหล่านี้ได้ช่วยชะลอการลงทุนและการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลง จนทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลดลงจากร้อยละ 9.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 เหลือร้อยละ 9.1 ในช่วงไตรมาสที่ 3
การคุมปริมาณสินเชื่อของทางการจีนทำให้การขยายตัวของสินเชื่อลดลงจากร้อยละ 25 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 ลดลงเหลือร้อยละ 7 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวลดลงจากร้อยละ 48 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 เหลือเพียงร้อยละ 29 ในช่วงไตรมาสสามของปี 2547 นอกจากนี้ มูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 14.2 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2546 เหลือร้อยละ 10.9 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายพื้นที่ของจีนที่การลงทุนยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างไร้สมดุลย์เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกอปรกับนโยบายเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่น แต่ทางการจีนพยายามหลีกเลี่ยงแนวทางการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อของประเทศเนื่องจากเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องการควบคุมเท่านั้น แต่จะส่งผลเสียต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กตลอดจนอุตสาหกรรมส่งออกอีกด้วย
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังอาจส่งผลให้ภาระหนี้เสียของระบบธนาคารเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าทางการจีนจะประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.27 เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากเพิ่มเป็นร้อยละ 5.58 และ 2.25 ตามลำดับ แต่ก็เป็นการปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยมิให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อมากเกินไป โดยทางการจีนจะพยายามหลีกเลี่ยงมิให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนำไปสู่การไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศมากเกินไปจนเป็นการกดดันอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นในที่สุด
แม้ว่าทางการจีนจะออกมาตรการเพื่อควบคุมสภาพคล่องในระบบและควบคุมโครงการลงทุนใหม่ ๆ จำนวนมาก แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เนื่องจากการบริโภคในประเทศของจีนปีนี้ยังขยายตัวต่อเนื่องในอัตราสูง โดยการค้าปลีกยังขยายตัวในอัตราร้อยละ 10 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อันเป็นผลมาจากรายได้ภาคชนบทที่เพิ่มขึ้นและขยายตัวร้อยละ 11.4 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาธัญพืชที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ ภาคบริการยังเติบโตด้วยอัตราร้อยละ 8.5 ในช่วง 9 เดือนแรก และกำไรของภาคอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39.7 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2547 คิดเป็นจำนวน 110 พันล้านดอลลาร์ โดยอุตสาหกรรมโลหะ เหมืองแร่ และเคมีภัณฑ์ต่างมีกำไรเพิ่มขึ้นมากขึ้น
นอกจากการบริโภคในประเทศแล้ว การค้าระหว่างประเทศยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนในปี 2547 โดยการส่งออกของจีนขยายตัวถึงร้อยละ 34..6 ในช่วง 9 เดือนแรก อันเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้าตามข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลกยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ปริมาณการค้าของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลกลางจีนได้แก้กฎหมายถึง 2,000 ฉบับและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนต้องแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ถึง 200,000 ข้อ ทำให้การค้า-การลงทุนขยายตัวอย่างมาก โดยสินค้านำเข้าไม่เพียงเพิ่มขึ้นเฉพาะสินค้าที่นำมาผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่สินค้านำเข้าเพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวจีนเองก็เพิ่มขึ้นมากจนคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้านำเข้าทั้งหมด
โดยน้ำมัน วัตถุดิบ โลหะและเครื่องจักรกลเป็นสินค้านำเข้าหลัก ทั้งนี้ จีนต้องนำเข้าน้ำมันถึง 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำมันที่บริโภคทั้งหมดและในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้จีนใช้จ่ายเงินเพื่อการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 คิดเป็นมูลค่า 20.2 พันล้านดอลลาร์ การนำเข้าสินค้าทั้งเพื่อการผลิตเป็นสินค้าส่งออกและเพื่อการบริโภคในประเทศดังกล่าวทำให้ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้จีนนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39.9 คิดเป็นมูลค่า 412.8 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าการนำเข้าในปี 2547 จะมีมูลค่ารวมถึง 550-560 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30-35
ตารางที่ 1: ประมาณการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2547-48
2547 2548
ประชากร (ล้านคนl) 1,300 1,307
GDP 1,590 1,777
GDP (อัตราเพิ่ม) 9.0-9.5% 8.0-8.5%
รายได้ต่อหัวของประชากร (US$) 1,223 1,359
การส่งออก (US$ bil) 570-580 690-700
การส่งออก (อัตราเพิ่ม) 30-35% 20-22%
การนำเข้า (US$ bil) 550-560 640-650
การนำเข้า (อัตราเพิ่ม) 30-35% 10-15%
อัตราเงินเฟ้อ 4.0-4.5% 2.0-3.0%
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (US$ bil) 545 700
การส่งออกที่น่าพอใจ กอปรกับการลงทุนจากต่างประเทศและรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนในปี 2547 มีแนวโน้มเกินดุล ทั้งนี้มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เป็นจำนวน 58 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ แซงหน้ามูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นในปี 2546 ที่จำนวน 53 พันล้านดอลลาร์ ในด้านการท่องเที่ยว จีนมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 12.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากช่วงเดือนกันของปีก่อน คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนในปี 2547 จะเกินดุลถึง 32-33 พันล้านดอลลาร์หรือราวร้อยละ 2 ของ GDP นอกจากนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 15 พันล้านดอลลาร์ในปี 2547 ทำให้มียอดสะสมเพิ่มขึ้น 110 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้คิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 514.5 พันล้านดอลลาร์ จากตัวเลขต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น คาดว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0-9.5 ในปีนี้
ในเรื่องการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ทางการจีนกำลังวางรากฐานสำหรับการแปรรูปและเปิดเสรีระบบธนาคารเพื่อรองรับการแข่งขันจากธนาคารต่างประเทศ โดยในช่วงต้นปี 2547 ทางการจีนได้อัดฉีดเงินทุนจำนวน 80 พันล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มทุนและแก้ปัญหาหนี้ให้กับธนาคารรายใหญ่ของรัฐ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มทุนให้กับ Bank of China (BOC) และ China Construction Bank (CCB) ผ่านหน่วยงานด้านการลงทุนที่จัดตั้งโดยรัฐชื่อ Central Huijin Investment อีกด้วย ทำให้สัดส่วนหนี้ไม่ก่อรายได้ของธนาคารยักษ์ใหญ่ของจีนลดลงอย่างมากจากร้อยละ 20.4 เมื่อสิ้นปี 2546 เป็นร้อยละ 15.6 เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ของปี 2547 (อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างชาติเชื่อว่าตัวเลขหนี้เสียของทางการจีนต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยตัวเลขไม่เป็นทางการอาจอยู่ในราวร้อยละ 30-35) นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ทางการจีนยังได้แปรรูป BOC และ CCB ให้เป็นบรรษัทเพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าหลังการแปรรูปดังกล่าวแล้วทางการจีนจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารเหล่านี้ ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการสร้างหลักประกันว่าธนาคารดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากทางการจีนต่อไป
แนวโน้มเศรษฐกิจจีนปี 2548 : มุ่งเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
นโยบายลดอัตราการเจริญเติบโตแบบไม่สมดุลในปี 2547 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจมหภาคของจีนปรับตัวเข้าสู่การเจริญเติบโตแบบยั่งยืนในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.5-8.5 โดยปี 2548 จะเริ่มเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเศรษฐกิจจีนจะถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคในประเทศคู่กับการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2548 จะลดลงมาเหลือร้อยละ 2.0-3.0 เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารและสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากพื้นที่การเกษตรที่ลดลงและการอพยพเข้าสู่เมืองของเกษตรกรในระยะหลายปีข้างหน้า นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานของจีนก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากโครงสร้างตลาดแรงงานที่อุปทานแรงงานอายุ 18-25 ปีลดลง ทำให้ต้องจ้างแรงงานที่มีอายุมากขึ้นซึ่งคนเหล่านี้มีภาระครอบครัวและต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ซึ่งนทางกลับกันค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้การบริโภคในประเทศขยายตัวมากขึ้น
ในปี 2548 ธนาคารกลางของจีนจำเป็นต้องติดตามควบคุมภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงว่าทางการจีนอาจผ่อนคลายมาตรการทางการเงินลงในช่วงต้นปีเพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก ก่อนที่จะหันมาคุมสภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2548 อีกเพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อโดยจีนอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อยในปี 2548 แม้ว่าในระยะยาวจีนมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ทางการจีนน่าจะใช้การปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยมุ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของการส่งออก คาดว่าแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการนำระบบตะกร้าเงินสกุลสำคัญของประเทศคู่ค้ามาใช้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนแบบคงที่ ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายเพดานอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเป็นลำดับจนนำไปสู่การลอยตัวของค่าเงินหยวนในอีกหลายปีข้างหน้า ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจจีนกลับสู่เสถียรภาพในปี 2548-49 ก็มีความเป็นไปได้มากว่าจีนจะหันมากำหนดค่าเงินหยวนโดยใช้ระบบตะกร้าเงินและขยายเพดานการเคลื่อนไหวค่าเงินหยวนให้เปลี่ยนแปลงได้ในระยะแรกประมาณร้อยละ 1-3 จากค่ากลางที่กำหนด
ในปี 2548 คาดว่าการลงทุนในจีนจะขยายตัวลดลง โดยภาคการผลิตจะเติบโตลดลงจากร้อยละ 17 เหลือร้อยละ 10 และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจะเพิ่มเพียงร้อยละ 8-10 อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐจะเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากจีนกำลังประสบปัญหาคอขวดโดยเฉพาะปัญหาไฟฟ้าดับในเขตอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียงและฟูเจี้ยน ทำให้มีการลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าถึง 1.5 แสนเมกะวัตต์ในปัจจุบันซึ่งจะเปิดดำเนินการในปี 2550-52 สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ คาดว่าในปี 2548 เงินลงทุนจะยังคงหลั่งไหลเข้ามาในจีนด้วยมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 6 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับ 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2547 เนื่องจากจีนมีแผนเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลายอุตสาหกรรม ทำให้รัฐวิสาหกิจของจีนต่างมองหาพันธมิตรจากต่างชาติเพื่อขยายการลงทุนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของภาคอุตสาหกรรมจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 6 ในปี 2548 ส่วนราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ตัวเลขดังกล่าวจะไม่กระทบต่ออัตราค่าจ้างและรายได้ของชาวจีน เนื่องจากรายได้ของคนในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงจะถูกเสริมโดยรายได้ภาคชนบทที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การค้าปลีกยังคงเพิ่มในอัตราร้อยละ 9-10 ในปีหน้า
ในด้านการค้า คาดว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียที่จะชะลอตัวลงในปี 2548 จะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของจีนขยายตัวในอัตราที่ลดลงเช่นกัน โดยการนำเข้าจะลดลงเหลือร้อยละ 10-15 ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 20 ทำให้จีนยังคงเกินดุลการค้าในปีหน้า ทั้งนี้ การยกเลิกโควต้านำเข้าสิ่งทอขององค์การการค้าโลกในปี 2548 จะทำให้จีนสามารถเพิ่มการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอจำนวนมาก โดยประเมินกันว่าจีนมีศักยภาพที่จะเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกจากร้อยละ 17 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 50 เว้นแต่สหรัฐฯ และยุโรปจะใช้มาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศโดยนำ Safeguard Measures มาใช้ โดยทั่วไปคาดว่าการนำเข้าสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกลเพื่อการผลิตสำหรับส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่สินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบและเครื่องจักรกลเพื่อการบริโภคในประเทศจะขยายตัวช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนสินค้าแร่โลหะและเคมีภัณฑ์จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุด
ในปี 2548-49 จีนจะผ่อนคลายข้อกำหนดเรื่องการค้าและการลงทุนในภาคบริการจำนวนมากตามข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลก โดยเฉพาะธุรกิจการเงินการธนาคาร ประกันภัย ธุรกิจขนส่ง โทรคมนาคม ค้าปลีก สื่อสารมวลชน และบริการทางวิชาชีพ ส่วนการเปิดเสรีด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์คงต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากจีนยังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างวิสาหกิจขนาดใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะธนาคารของรัฐ ในทางกลับกัน จีนจะอนุญาตให้กองทุนบำเหน็จบำนาญและบริษัทประกันภัยสามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยแนวทางดังกล่าวเริ่มต้นในปีที่ผ่านมาเมื่อทางการจีนอนุญาตให้ผู้ส่งออกสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้นแทนที่จะต้องนำมาแลกเป็นเงินหยวน รวมทั้งเพิ่มจำนวนเงินที่นักท่องเที่ยวจีนสามารถนำออกไปใช้จ่ายในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกราว 150 พันล้านดอลลาร์ในปี 2548
ในปี 2548 ภาคเศรษฐกิจสำคัญที่จะเติบโตในอัตราสูงคือภาคเกษตร ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญหลายประเภทของจีนจะขยายตัวลดลง โดยเกษตรกรจะเปลี่ยนจากการปลูกธัญพืชมาเป็นการทำปศุสัตว์และปลูกผัก-ผลไม้มากขึ้น สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คาดว่าที่อยู่อาศัยราคาแพงในเมืองใหญ่จะชะลอตัวเนื่องจากอุปทานที่จะออกมาสู่ตลาดจำนวนมากในปี 2548 ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 15 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 10 ในปี 2548 เช่นเดียวกับความต้องการสินค้าเหล็กและน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 9-10 ในปีหน้า ส่วนยอดขายรถยนต์ในปี 2548 จะเพิ่มขึ้นในอัตราเพียงร้อยละ 14 เทียบกับร้อยละ 17 ในปี 2547 ซึ่งลดลงมากจากอัตรากว่าร้อยละ 40 ในปี 2546 ทำให้โรงงานรถยนต์ในจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะกดดันต่อผลกำไรและราคาหุ้นของบริษัทรถยนต์ในจีน
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงของจีนในปี 2548 อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการว่างงานซึ่งเป็นความกังวลของรัฐบาลจีนว่าปัญหาดังกล่าวอาจสร้างปัญหาทางสังคมและสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศได้ ที่ผ่านมาจีนประสบความสำเร็จในการคุมตัวเลขการว่างงานให้อยู่ในระดับร้อยละ 4.0-4.3 ของประชากรวัยแรงมานับแต่ปี 2543 แต่เนื่องจากฐานประชากรที่ใหญ่จำนวนคนว่างงานในแต่ละปีจึงมากกว่า 10 ล้านคน จึงคาดว่าทางการจีนอาจใช้นโยบายทางการคลังเพื่อกระตุ้นการสร้างงานให้เพิ่มมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปีหน้า
เศรษฐกิจจีนปี 2548 กับผลกระทบต่อไทย
แนวโน้มทางเศรษฐกิจจีนในปี 2548 ที่ชะลอตัวลงแต่มีเสถียรภาพมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อไทยทั้งทางบวกและลบ ดังนี้
1. โดยภาพรวม เศรษฐกิจจีนที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยรวม ไทยในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญรายหนึ่งย่อมจะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของจีนในอัตราร้อยละ 7.5-8.5 ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของจีนจะส่งผลดีทั้งในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวกับไทย ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจจีนประสบปัญหาก็จะส่งผลกระทบในทางลบกับเอเชียและไทยอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นตลาดอันดับ 4 ของไทย และไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนอันดับหนึ่งของจีนในกลุ่มอาเซียน
2. ในด้านการค้า ช่วงหนึ่งปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงในปี 2548 จะทำให้การนำเข้าของจีนขยายตัวในอัตราที่ลดลงชัดเจนโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้นการส่งออกไปจีนที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 30 ในปี 2548 อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการส่งออกไปจีนในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2547 ยังขยายตัวได้เพียงร้อยละ 27 เท่านั้น เมื่อการนำเข้าจากตลาดโลกของจีนลดลงจากร้อยละ 30-35 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 10-15 ในปี 2548 การนำเข้าจากไทยจึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างชัดเจน หากจะมองย้อนกลับไปในปี 2546 เทียบกับปี 2547 การส่งออกของไทยไปจีนได้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 60 เหลือเพียงประมาณร้อยละ 27-30 เท่านั้น (กระแสทรรศน์ปีที่ 10 ฉบับที่ 1686)
3. ในด้านการลงทุน นโยบายส่งเสริมการลงทุนนอกประเทศของจีนรวมทั้งการอนุญาตให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่เพิ่มวงเงินลงทุนในต่างประเทศได้ อาจเป็นแรงกระตุ้นให้จีนลงทุนในต่างประเทศเพื่อแสวงกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ซึ่งไทยเป็นประเทศแนวหน้าประเทศหนึ่งที่จีนมุ่งขยายการลงทุนเพื่อใช้เป็นฐานกระจายสินค้าอุตสาหกรรมไปยังเขตการค้าเสรีอาเซียน แนวโน้มนี้เริ่มชัดเจนขึ้นในปี 2547 เมื่อโครงการที่จีนขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในรอบ 8 เดือนแรกมีมูลค่า 2,337 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าโครงการขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2546 ทั้งปี (กระแสทรรศน์ปีที่ 10 ฉบับที่ 1663) ดังนั้น หากไทยดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนของจีน ก็เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนของจีนในไทยจะเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป
4. ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน หากจีนสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจได้ดังที่คาดการณ์ไว้ก็มีแนวโน้มที่จะนำเอาระบบตะกร้าเงินมาใช้และเพิ่มเพดานความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นกว่าปัจจุบันและเป็นผลดีกับค่าเงินสกุลอื่นของเอเชียรวมทั้งเงินบาท ซึ่งขณะนี้แข็งค่าขึ้นมากเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินหยวน ทำให้การส่งออกของไทยเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังนั้น ค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นจะช่วยลดความได้เปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของจีนและฮ่องกงลงได้ในระดับหนึ่ง
5. การเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้นโดยเฉพาะภาคบริการของจีนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของไทยเข้าไปลงทุนมากขึ้น ซึ่งในปี 2547 หลายบริษัทของไทยก็ได้ประกาศนโยบายขยายการลงทุนเข้าไปในจีนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
สรุป
ปี 2547 เป็นปีที่จีนผู้นำจีนรุ่นที่ 4 ถูกท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ร้อนแรง แต่จีนก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมภาวะฟองสบู่และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวนท่ามกลางกระแสกดดันให้จีนลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงปลายปี 2547 สัญญาณทางเศรษฐกิจก็เริ่มปรากฏชัดว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนตัวลงโดยไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปัญหาการว่างงานหรืออุตสาหกรรมการส่งออก แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจีนที่จะรักษาการเติบโตอย่างมั่นคงในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าในอัตราร้อยละ 7.5-8.5 ภายใต้เงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ระบบภาษี การเปิดเสรีการค้าและบริการ การปฏิรูปภาคการเกษตร การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะการค้า การลงทุนระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวด้วย