แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2548 … ปัจจัยลบเพิ่มขึ้น แต่ยังได้แรงหนุนจากวัฏจักรการลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยและปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อภาวะอุตสาหกรรมของไทยในปี 2548 โดยสรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมในปี 2548 คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไทยยังได้รับผลบวกจากวัฏจักรการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ณ ราคาคงที่ (ปีฐาน 2531) จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0 ชะลอลงจากปี 2547 ที่คาดว่าขยายตัวประมาณร้อยละ 7.9 ระดับการผลิตที่ยังคงเพิ่มขึ้นคาดว่าจะผลักดันให้อัตราการใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นมามีระดับโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 76.2% ในปี 2548 จากระดับเฉลี่ย 72.7% ในปี 2547 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าในช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ

ในด้านการส่งออก คาดว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2548 จะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 12 ชะลอลงค่อนข้างมากจากปี 2547 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 23.5 จากการอ่อนตัวของการเพิ่มขึ้นของระดับราคาเป็นสำคัญ

ในด้านอุปสงค์ภายในประเทศ ความเชื่อมั่นต่อการบริโภคยังคงเผชิญปัจจัยลบจากทิศทางราคาน้ำมันในประเทศ อัตราดอกเบี้ย และเหตุการณ์ภัยพิบัติจากสึนามิ แต่ความต่อเนื่องของการเติบโตด้านการลงทุนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอุปสงค์ต่อสินค้าประเภททุน นอกจากนี้ยังจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนรวมถึงการจ้างงานในธุรกิจที่รองรับกิจกรรมด้านการลงทุนซึ่งจะเป็นแรงเหวี่ยงกลับไปสู่การบริโภคได้ สำหรับสถานการณ์คลื่นยักษ์สึนามิแม้จะเกิดความเสียหายรุนแรงแต่อาจมีอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งโดยรวมแล้วคงจะส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมเล็กน้อย

สำหรับในตลาดต่างประเทศ การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2548 คาดว่าจะเผชิญปัจจัยลบที่สำคัญจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปและจีน การแข็งค่าของค่าเงินบาทอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไม่มากเท่ากับภาวะอุปสงค์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีโอกาสได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับปัจจัยทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐนั้น ผลในด้านดีอาจจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะช่วยชะลอจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการนำเข้าของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงวัฏจักรการลงทุนซึ่งมีการพึ่งพาการนำเข้าสูงถึงประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุนโดยรวม สำหรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อภาคการส่งออกคาดว่าไม่รุนแรงนัก เนื่องจากที่ผ่านมาหากพิจารณาดัชนีค่าเงินบาทโดยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญพบว่าค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลง เนื่องจากเงินบาทอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเยนและยูโร ซึ่งผู้ส่งออกอาจปรับตัวโดยกำหนดราคาเป็นสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์ หรือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน

ประเด็นสำคัญอีกประการที่น่าจะมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมในช่วงปี 2548 คือเริ่มต้นเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศและครอบคลุมสินค้าจำนวนมากขึ้น ได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ไทย-อินเดีย อาเซียน-จีน ซึ่งผลดีคือการลดภาษีภายใต้ FTA จะช่วยขยายการส่งออกของไทยในตลาด 3 ประเทศดังกล่าวซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของการส่งออกโดยรวมของไทย อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่จะได้รับอาจถูกจำกัดด้วยสภาพการแข่งขันและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ยังคงมีอยู่

นอกจากนี้ การเปิดเสรีจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ จากการเข้ามาตีตลาดของสินค้านำเข้าราคาถูก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตในประเทศจะต้องหาแนวทางปรับตัวต่อผลที่จะเกิดขึ้น อาทิ การหาแนวทางลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและความยึดถือในตราสินค้าโดยเน้นการออกแบบ ดีไซน์ หรือประสิทธิภาพการใช้งานที่สูงกว่า รวมทั้งการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นต้น นอกจากนี้ การออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะพิจารณาเพื่อรักษาสถานะทางการแข่งขัน โดยเฉพาะในสินค้าที่ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคา

นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2547 ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับผลจากปัจจัยลบรุมล้อมหลายด้าน อุปสงค์ในประเทศมีทิศทางที่ชะลอตัวตามภาวะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงเนื่องจากปัญหาเช่น ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบนำเข้า สถานการณ์ไข้หวัดนกและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ในภาคการส่งออกแม้ว่าโดยภาพรวมมีอัตราการเติบโตสูง แต่อุตสาหกรรมส่งออกบางประเภทได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบจากภาคเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภาวะแห้งแล้ง รวมทั้งผลจากมาตรการทางการค้า เช่น การไต่สวนการทุ่มตลาดกุ้งของสหรัฐ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางที่ชะลอตัวลง

ปัจจัยลบภายในประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา คาดว่ายังจะมีผลต่อเนื่องไปถึงปี 2548 ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกที่เป็นแรงผลักดันสำคัญในปี 2547 คงจะอ่อนแรงลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมในปี 2548 จะมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่อ่อนตัวลงจากปี 2547 ตามภาวะอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไทยยังได้รับผลบวกจากวัฏจักรการลงทุนซึ่งแม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นส่งผลให้การลงทุนโดยรวมจะยังคงเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางอุตสาหกรรมไทยและแนวโน้มของอุตสาหกรรมในปี 2548 รวมถึงผลจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่สร้างความเสียหายแก่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางอุตสาหกรรมในปี 2548

– อุปสงค์ภายในประเทศ

* ตลาดผู้บริโภคในประเทศ
ตลาดผู้บริโภคในประเทศในปี 2548 มีโอกาสได้รับแรงสนับสนุนมาจากการปรับเพิ่มรายได้และผลตอบแทนการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งผลจากการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นต่อการบริโภคยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากทิศทางราคาน้ำมันในประเทศ อัตราดอกเบี้ย ในด้านราคาน้ำมัน ในกรณีถ้ารัฐบาลมีการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลในช่วงไตรมาสที่ 2 ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนแม้จะไม่รุนแรงเท่ากับในปีที่ผ่านมา ถ้าราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลทะยอยปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในด้านอัตราดอกเบี้ย น่าจะมีผลไปสู่อุปสงค์ต่อสินค้าคงทน เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงอยู่แล้ว เนื่องจากตลาดเริ่มอิ่มตัวหลังจากเร่งตัวไปมากจากแรงกระตุ้นด้านมาตรการของรัฐและอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

* การลงทุน
อุปสงค์ในประเทศน่าจะได้รับแรงหนุนจากการลงทุนที่คาดว่าจะยังรักษาระดับการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจยังมีความต้องการลงทุนในระดับสูงแม้คาดว่าการขยายตัวจะชะลอลงจากปีก่อน ในส่วนของภาครัฐ คาดว่าการลงทุนจะเร่งตัวขึ้นจากการทะยอยดำเนินการตามแผนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีส่วนเสริมการลงทุนภาคเอกชน และกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจที่รองรับกิจกรรมด้านการลงทุนรวมถึงการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นแรงเหวี่ยงกลับไปช่วยกระตุ้นการบริโภคได้

* ปัจจัยอื่นๆ
นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว สถานการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เข้าถล่มจังหวัดท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามันทางภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน และคาดว่าธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวอาจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมบางประเภทอาจได้รับประโยชน์จากการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น และการจับจ่ายสินค้าเพื่อชดเชยทรัพย์สินที่สูญเสียไป ซึ่งโดยรวมแล้วคงจะส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมเล็กน้อย

ทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ผลในด้านหนึ่งจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะช่วยชะลอจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ขณะเดียวกันในวัฏจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุน ค่าเงินบาทที่แข็งน่าจะช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจในการนำเข้าสินค้าประเภททุน เนื่องจากโครงสร้างการลงทุนของประเทศมีการพึ่งพาการนำเข้าสูงถึงประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุนโดยรวม

สำหรับปัจจัยในประเทศที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ เป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตในประเทศจะต้องหาแนวทางปรับตัวต่อผลที่จะเกิดขึ้นจากการเริ่มต้นเขตการค้าเสรี หรือ FTA และการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ซึ่งจะทำให้สินค้าจากต่างประเทศมีราคาต่ำลง โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ปัจจุบันแม้ว่าการเริ่มต้น FTA จะจำกัดอยู่เพียงสินค้าบางประเภท แต่มีผู้ผลิตสินค้าไทยในธุรกิจจำนวนไม่น้อยต้องประสบกับการถูกตีตลาดจากสินค้าจีน เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่ผู้ค้าปลีกจะหันไปจัดซื้อสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่าที่ผลิตในประเทศซึ่งจะทำให้มีกำไรและเข้าถึงผู้บริโภคดีกว่า

– ตลาดต่างประเทศ

การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2548 คาดว่าจะเผชิญปัจจัยลบที่สำคัญจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า ส่วนการแข็งค่าของค่าเงินบาทอาจส่งผลกระทบไม่มากนัก ขณะที่อาจมีปัจจัยสนับสนุนจากข้อตกลงการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ

ในปี 2548 เศรษฐกิจประเทศชั้นนำของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศคู่ค้าหลัก รวมทั้งลดความร้อนแรงของการพุ่งขึ้นของระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

แนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ (ร้อยละ)
ภูมิภาค 2547 2548
สหรัฐ 4.4 3.5
ญี่ปุ่น 3.9 1.5
ยูโรโซน 1.8 1.7
จีน 9.3 8.0
เอเชียแปซิฟิค 5.0 3.1
ที่มา : Consensus forecast

สำหรับ ปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ถ้าพิจารณาจากช่วงต้นปี 2545 ถึงสิ้นสุดปี 2547 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่หากพิจารณาดัชนีค่าเงินบาทถ่วงน้ำหนักตามโครงสร้างการค้า (Trade weighed index) ซึ่งเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลสำคัญที่ไทยมีการค้าระหว่างประเทศด้วย โดยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการค้ากับประเทศนั้นๆ พบว่าแท้จริงแล้วค่าเงินบาทได้มีการอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 6 ส่วนสำคัญเนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยนและยูโร นั่นหมายถึงว่าผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนในระดับปัจจุบันต่อการส่งออกอาจไม่ใช่ปัญหาหลัก ผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบน่าจะเป็นผู้ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐหรือสินค้าที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีนซึ่งค่าเงินผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์ด้วยความเป็นไปได้สูงขึ้นว่าจีนจะดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าเงินต่อความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจีนได้ระดับหนึ่ง

ในช่วงปี 2548 ผลของการลดภาษีภายใต้ FTA จะมีขอบเขตกว้างขวางขึ้น จากการเริ่มต้นเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศและครอบคลุมสินค้าจำนวนมากขึ้น ได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งเป็นข้อตกลงในระดับครอบคลุมเบ็ดเสร็จเป็นครั้งแรก โดยเริ่มต้น 1 มกราคม 2548 (มีสินค้าที่ออสเตรเลียจะลดภาษีให้กับไทย 6101 รายการ) ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ซึ่งมีสินค้าที่เร่งลดภาษีเบื้องต้น (EHP) 82 รายการ เริ่มต้นลดภาษีตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 และข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน จะเริ่มต้นลดภาษีสำหรับสินค้าปกติ (Normal track) ลงเหลือไม่เกิน 20% ครอบคลุมสินค้าส่วนใหญ่ (ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวซึ่งกำหนดเพดานไม่เกิน 400 รายการ และไม่เกิน 10% ของมูลค่านำเข้า) ภายใน 1 กรกฎาคม 2548 หลังจากลดภาษีนำร่องในกลุ่มสินค้าเกษตรบางรายการไปแล้ว คาดว่าการลดภาษีภายใต้ FTA ในช่วงปี 2548 จะมีผลต่อสินค้าส่งออกของไทยในตลาด 3 ประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของการส่งออกโดยรวมของไทย ซึ่งมีโอกาสที่กลุ่มสินค้าเหล่านี้จะขยายตลาดได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่จะได้รับอาจถูกจำกัดด้วยสภาพการแข่งขันและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ยังคงมีอยู่

แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2548 ขยายตัวชะลอลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ากิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมในปี 2548 จะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ณ ราคาคงที่ (ปีฐาน 2531) จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0 ชะลอลงจากปี 2547 ที่คาดว่าขยายตัวประมาณร้อยละ 7.9 ขณะที่มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรม ณ ราคาปีปัจจุบันคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 9.3 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.2 ในปี 2547

ในด้านการส่งออก แม้ว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเริ่มต้นแผนการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาขยายกำลังผลิตขนาดใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา เช่นในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัจจัยด้านลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศชั้นนำของโลก คาดว่าจะส่งผลให้มีการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศคู่ค้า รวมทั้งปัจจัยด้านราคาที่มีส่วนสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของการส่งออกในช่วงปีที่ผ่านมา น่าจะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อีกไม่มากนัก คาดว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2548 จะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 12 ชะลอลงค่อนข้างมากจากปี 2547 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 23.5 จากการอ่อนตัวของการเพิ่มขึ้นของระดับราคาเป็นสำคัญ ขณะที่ในด้านปริมาณคาดว่าอาจชะลอลงเล็กน้อยโดยขยายตัวประมาณร้อยละ 7 จากในปี 2547 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.8

ระดับการผลิตที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคาดว่าจะผลักดันให้อัตราการใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีระดับโดยเฉลี่ยตลอดปี 2548 ที่ประมาณ 76.2% จากระดับเฉลี่ย 72.7% ในปี 2547 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าในช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ โดยระหว่างปี 2538-2539 อัตราการใช้กำลังการผลิตมีค่าเฉลี่ยที่ 75% ระดับการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นสัญญาณว่าจะมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าการลงทุนใหม่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะ 3 ปี ข้างหน้า เนื่องจากระดับการใช้กำลังผลิตในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีการปรับตัวคืบหน้าในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งในปี 2548 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเต็มประสิทธิภาพ (ใช้เกณฑ์อัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับ 75% ขึ้นไป) คาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของอุตสาหกรรมโดยรวม สะท้อนถึงความต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งอุตสาหกรรมบางประเภทได้เริ่มมีการลงทุนไปแล้ว และเมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมในระยะ 3 ปีข้างหน้า พบว่า ความต้องการลงทุนจะกระจายตัวไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่จะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเต็มประสิทธิภาพจะมีสัดส่วนสูงขึ้นมาเป็นเกือบร้อยละ 70 ของอุตสาหกรรมโดยรวมภายในปี 2550 (คำนวณภายใต้สมมติฐานที่ยังไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น)

กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนในภาคเอกชนในระยะอันใกล้ ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี กระดาษ ผลิตภัณฑ์เหล็กบางประเภท เช่น เหล็กแผ่น โดยมีปัจจัยที่ผลักดันการลงทุนจากการที่อุตสาหกรรมเหล่านี้มีอัตราการใช้กำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูง และการเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการลงทุนใหม่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินยังมีระดับสูง เช่น น้ำตาล สับปะรดกระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องรับโทรทัศน์ เหล็กลวด ยาสูบ สุรา เป็นต้น

สรุปและข้อคิดเห็น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยและปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อภาวะอุตสาหกรรมของไทยในปี 2548 โดยสรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมในปี 2548 คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไทยยังได้รับผลบวกจากวัฏจักรการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ณ ราคาคงที่ (ปีฐาน 2531) จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0 ชะลอลงจากปี 2547 ที่คาดว่าขยายตัวประมาณร้อยละ 7.9 ระดับการผลิตที่ยังคงเพิ่มขึ้นคาดว่าจะผลักดันให้อัตราการใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นมามีระดับโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 76.2% ในปี 2548 จากระดับเฉลี่ย 72.7% ในปี 2547 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าในช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ

ในด้านการส่งออก คาดว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2548 จะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 12 ชะลอลงค่อนข้างมากจากปี 2547 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 23.5 จากการอ่อนตัวของการเพิ่มขึ้นของระดับราคาเป็นสำคัญ

ในด้านอุปสงค์ภายในประเทศ ความเชื่อมั่นต่อการบริโภคยังคงเผชิญปัจจัยลบจากทิศทางราคาน้ำมันในประเทศ อัตราดอกเบี้ย และเหตุการณ์ภัยพิบัติจากสึนามิ แต่ความต่อเนื่องของการเติบโตด้านการลงทุนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอุปสงค์ต่อสินค้าประเภททุน นอกจากนี้ยังจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนรวมถึงการจ้างงานในธุรกิจที่รองรับกิจกรรมด้านการลงทุนซึ่งจะเป็นแรงเหวี่ยงกลับไปสู่การบริโภคได้

สำหรับสถานการณ์คลื่นยักษ์สึนามิแม้จะเกิดความเสียหายรุนแรงแต่อาจมีอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งโดยรวมแล้วคงจะส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมเล็กน้อย สำหรับในตลาดต่างประเทศ การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2548 คาดว่าจะเผชิญปัจจัยลบที่สำคัญจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปและจีน การแข็งค่าของค่าเงินบาทอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไม่มากเท่ากับภาวะอุปสงค์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีโอกาสได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับปัจจัยทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐนั้น ผลในด้านดีอาจจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะช่วยชะลอจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการนำเข้าของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงวัฏจักรการลงทุนซึ่งมีการพึ่งพาการนำเข้าสูงถึงประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุนโดยรวม สำหรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อภาคการส่งออกคาดว่าไม่รุนแรงนัก เนื่องจากที่ผ่านมาหากพิจารณาดัชนีค่าเงินบาทโดยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญพบว่าค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลง เนื่องจากเงินบาทอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเยนและยูโร ซึ่งผู้ส่งออกอาจปรับตัวโดยกำหนดราคาเป็นสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์ หรือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน

ประเด็นสำคัญอีกประการที่น่าจะมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมในช่วงปี 2548 คือเริ่มต้นเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศและครอบคลุมสินค้าจำนวนมากขึ้น ได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ไทย-อินเดีย อาเซียน-จีน ซึ่งผลดีคือการลดภาษีภายใต้ FTA จะช่วยขยายการส่งออกของไทยในตลาด 3 ประเทศดังกล่าวซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของการส่งออกโดยรวมของไทย อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่จะได้รับอาจถูกจำกัดด้วยสภาพการแข่งขันและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ การเปิดเสรีจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ จากการเข้ามาตีตลาดของสินค้านำเข้าราคาถูก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตในประเทศจะต้องหาแนวทางปรับตัวต่อผลที่จะเกิดขึ้น อาทิ การหาแนวทางลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและความยึดถือในตราสินค้าโดยเน้นการออกแบบ ดีไซน์ หรือประสิทธิภาพการใช้งานที่สูงกว่า รวมทั้งการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นต้น นอกจากนี้ การออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะพิจารณาเพื่อรักษาสถานะทางการแข่งขัน โดยเฉพาะในสินค้าที่ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคา