12 มกราคม 2548 – กลุ่มอุตสากรรมเซรามิกไทย และสมาพันธ์เซรามิกแห่งอาเซียน ผนึกกำลังจัดงานแสดงสินค้าเซรามิก อาเซียน CICA 2005 เพื่อสร้างเวทีทางการค้าระดับอาเซียน พัฒนาศักยภาพและความแข็งแกร่งในเวทีโลก ส่วนไทยกำหนดยุทธศาสตร์เซรามิกตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นการตกแต่งบ้านของเอเซีย และเป็นเบอร์ 1 ในตลาดอาเซียน เพิ่มมูลค่าส่งออกอีกไม่น้อยกว่า 50% มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท ในปี 2550
นายพิชิต ไม้พุ่ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า อุตสากรรมเซรามิกจัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญที่ภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริม เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับ อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ การแพทย์ และรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเซรามิกยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีประวัติศาสตร์ และฐานการผลิตในประเทศมานาน ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ การผลิตจะใช้พลังงานและแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่เดิมเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ และทดแทนการนำเข้า ต่อมาได้พัฒนา เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องจนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเซีย สามารถส่งออกและทำรายได้ให้กับประเทศสูงถึงปีละกว่า 20,000 ล้านบาท
โดยสินค้าสำคัญที่ผลิตในกลุ่มนี้ ได้แก่ ถ้วยชาม กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ ของชำร่วยและเครื่องประดับ และลูกถ้วยไฟฟ้า เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีสูง ผลิตเพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดใหญ่อยู่ในจังหวัดสระบุรี ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและของชำร่วยเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานและความสามารถในการออกแบบ ผู้ผลิตกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ที่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ เช่น จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ สมุทรสาคร ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม จะเน้นผลิตเพื่อการส่งออก
โดยในปี 2547 การผลิตกระเบื้องเซรามิกปูพื้น บุผนัง ในประเทศ มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 157 ล้านตารางเมตร โดยมีความต้องการในตลาดประมาณ 114 ล้านตารางเมตร และคาดว่าปริมาณการความต้องการในปี 2548 มีถึง 123 ล้านตารางเมตร มีปริมาณการส่งออกประมาณ 23 ล้านตารางเมตร คิดเป็นมูลค่า 3,500 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ในอัตราร้อยละ 20 และการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 160,000 ตัน หรือประมาณ 13.5 ล้านชิ้น มีปริมาณการส่งออกประมาณ 74,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,500 ล้านบาท โดยในภาพรวมของปี 2547 การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 21,900 ล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีความสำคัญกับการส่งออกคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องสุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และของชำร่วยเครื่องประดับ
สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมเซรามิคของไทย ในปี 2548 จะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนของการนำเข้ามาใช้ภายในประเทศ โดยเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีคุณภาพดี ราคาสูง ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตในประเทศ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซรามิกทนไฟ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และโมเสค เป็นต้น ขณะเดียวกัน การส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร มาเลเซีย เยอรมนี ออสเตรเลีย แคนาดา ลาว ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นต้น คาดว่า ในปี 2548 จะมีการเติบโตของอุตสาหกรรมเซรามิกอีกกว่า 7-8% รวมมูลค่ากว่า 23,500 ล้านบาท
ดร.สมชัย ว่องอรุณ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมเซรามิกแห่งอาเซียน กล่าวว่า อุตสาหกรรมเซรามิกของไทยมีวิวัฒนาการมาจากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทำแทนการนำเข้า มาเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกมาขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในตลาดระดับกลาง ยกเว้น กระเบื้องปูพื้นบุผนัง และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ที่ผู้ผลิตรายใหญ่มีการส่งออกในตลาดระดับกลางถึงระดับบน ซึ่งผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่ของไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขัน มีชื่อเสียงในเวทีโลก ได้รับการยอมรับทั้งในด้านคุณภาพของสินค้าที่ดี มีมาตรฐาน และฝีมือที่ไม่ด้อยไปกว่าใคร โดยประเทศคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาค คือ ประเทศจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทั้งในส่วนของค่าจ้างแรงงาน ค่าพลังงาน และอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ทำให้ได้เปรียบทางด้านราคา แต่ไทยเราได้เปรียบในด้านรูปแบบและคุณภาพของสินค้าที่เหนือกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัยในระยะยาว ผู้ผลิตของไทยจะต้องเร่งพัฒนาความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างตราสินค้า หรือ Brand Name ของตนเองด้วย ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า
สำหรับแนวทางการพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเซรามิกไทย ให้มีศักยภาพสามารถทัดเทียมสู่ตลาดโลกได้ ผู้ผลิตของไทยจะต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และสามารถเข้าใจตลาด มีการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจแก่ลูกค้า ได้รับการยอมรับ และมีชื่อเสียงทั้งในด้านคุณภาพ บริการ และตราสินค้า รวมทั้งจำเป็นต้องพัฒนาด้านวัตถุดิบและอุตสาหกรรมสนับสนุน กระบวนการผลิต/เทคโนโลยีการผลิต พัฒนากำลังคน การศึกษาทั้งในระยะสั้นและยาว และเครือข่ายสถาบันเฉพาะทาง พัฒนาด้านการตลาดและส่งเสริมการส่งออก และพัฒนาการรวมกลุ่มวิสาหกิจอุตสาหกรรมเซรามิกไทย เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มระหว่างผู้ประกอบการเซรามิก ตลอดจนธุรกิจที่เชื่อมโยงและสนับสนุนให้มีศักยภาพมากขึ้น
นายสุจินต์ พิทักษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากการที่อุตสาหกรรมเซรามิกรับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานหรืออุตสาหกรรมสนับสนุนเพื่อใช้ในอุตสหากรรมอื่น ๆ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากการใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากภายในประเทศ และมีการใช้แรงงาน ฝีมือค่อนข้างมาก ซึ่งภาครัฐเองก็เล็งเห็นความสำคัญและพยายามให้การสนับสนุนให้เกิดการเติบโต ทางกลุ่มอุตสาหกรรมจึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เซรามิก SME โดยมีเป้าหมายคือ คุณภาพและรูปแบบที่เป็นหนึ่งในอาเซียน (Best Quality and Design in ASEAN) ในปี 2550 โดยมียุทธศาสตร์สำคัญคือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมในด้าน คุณภาพ (Quality), รูปแบบ (Design), บริการ(Service), ชื่อเสียง(Reputation) และตราสินค้า (Brand Name) และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด อันได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่าง มีการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ มีการสร้างช่องทางการตลาดให้เพิ่มขึ้น และการพัฒนาแนวความคิดให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นการตกแต่งบ้านของเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% หรือมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาทในปี 2550 โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10%
นายโชคชัย เลิศเธียรดำรง ประธานคณะกรรมการจัดงาน CICA 2005 เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของการจัดงานว่า CICA 2005 หรือ งานแสดงเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ สัมมนาวิชาการ และการประชุมเพื่ออุตสาหกรรม เซรามิกแห่งอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาให้เซรามิก เป็นทรัพยากรทางเลือกทดแทนทรัพยากรชนิดอื่นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี อุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องใน อุตสาหกรรมเซรามิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งการแนะแนวทางการลงทุนในสาขาต่างๆ ด้วยการจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากวัสดุเซรามิกหลากชนิด นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมเซรามิกและที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอาเซียนให้สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ ภายในงานยังเป็นศูนย์รวมความรู้ อันได้แก่ การสัมมนา การประชุมเชิงวิชาการ และการเสวนา อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนและการสร้างองค์ความรู้ในกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้แสดงผลิตภัณฑ์ และผู้ชมงาน ทั้งยังมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกไปสู่การเป็นสถาบันระดับประเทศ โดยการกำหนดทิศทางการพัฒนา นโยบาย สิทธิพิเศษในการลงทุน ภาษี และกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค และนำเสนอต่อรัฐบาล และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก CICA ด้วยการจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การประชุม ประจำปี การอบรม สัมมนา เป็นต้น
โดยกลุ่มเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมเซรามิคและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและนานาชาติ, วิศวกรโยธา, เครื่องกล, สิ่งแวดล้อม, วิศวกรที่ปรึกษา, สถาปนิก, ภูมิสถาปนิก, นักธุรกิจก่อสร้างทุกแขนง, ผู้รับช่วงงานก่อสร้าง, นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, นักออกแบบตกแต่งภายใน, ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง, หน่วยงานและสถาบันภาครัฐ, นักวิชาการและประชาชนผู้สนใจ
“งาน CICA2005 นับเป็นงานแสดงผลิตภัณฑ์และเวทีการค้าเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิคที่มุ่งตอบสนองความต้องการของธุรกิจต่างๆ ได้ครอบคลุมและครบครันที่สุด อาทิ งานวัสดุ งานตกแต่งภายนอกและภายใน งานหล่อและหลอม เคลือบผิว เคมี ฯลฯ โดยมุ่งเน้นในการสร้างเวทีทางการค้าระดับอาเซียนเพื่อก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในกลุ่มนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านเซรามิก เพื่อการใช้และบริหารทรัพยากรเซรามิคให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งเล็งผลให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นสถาบันระดับชาติในอนาคต จึงขอถือโอกาสเชิญชวนผู้ที่สนใจทุกท่านเข้าร่วมงานในวันที่ 8-10 เมษายนศกนี้” นายโชคชัยกล่าวในที่สุด
อนึ่ง งาน CICA2005 หรืองานแสดงเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ สัมมนาวิชาการ และการประชุมเพื่ออุตสาหกรรมเซรามิกแห่งอาเซียน จะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2548 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี