เหตุการณ์ไม่คาดฝันจากแผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ถล่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และพม่า รวมทั้งประเทศแถบเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา และ หมู่เกาะมัลดีฟส์ นับว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญๆ หลายแห่ง สำหรับประเทศไทย จังหวัดทางภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบเสียหาย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนอง และสตูล ล้วนแต่เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม มีชื่อเสียง รวมทั้งเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และทำรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมาก
เหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้ส่งผลกระทบกระเทือนขวัญและกำลังใจของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเอเชีย รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศพื้นที่เสียหายในระยะเบื้องต้นของปี 2548 แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยจะสามารถระดมกำลังกันช่วยฟื้นฟูเขตพื้นที่เสียหายและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศอย่างแข็งขัน ซึ่งน่าจะช่วยให้วิกฤตการณ์ต่างๆ คลี่คลายลงเป็นลำดับ เหตุการณ์วิปโยคครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่น่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก แต่ก็เป็นบทเรียนที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้ตระหนักถึงอันตรายดังกล่าว และหามาตรการป้องกันเพื่อบรรเทาความเสียหายลง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปี 2548 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปี 2547 ส่วนใหญ่เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปีระกามีทิศทางที่อ่อนกำลังลงเล็กน้อยอยู่ที่อัตราประมาณ 4% เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 5% ในปี 2547 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2548 ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปัจจัยภายในภูมิภาคอาเซียน จะพบว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง และความร่วมมือของอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค นับเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนในรอบปีที่ผ่านมาและในปี 2548 ยังคงอยู่ในเกณฑ์สดใส ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 5.5% ในปี 2548 เทียบกับปี 2547 ซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ยราว 6.5%
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2548 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ แต่คาดว่า สมาชิกอาเซียนทั้งสองประเทศจะสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวม ทั้งนี้ ประเทศทั้งสองที่ได้รับภัยจากคลื่นยักษ์ยังมิได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2548 ขณะเดียวกันสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่ปลอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยประคับประคองการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนในรอบปีนี้
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินปัจจัยบวกที่สนับสนุนเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2548 แต่ขณะเดียวกันอาเซียนยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจอาเซียน
ในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียนชั้นนำ 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2548 ของสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอลง ยกเว้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องดีขึ้น โดยเวียดนามครองแชมป์เศรษฐกิจเติบโตสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อัตราขยายตัว 7.5% ในปี 2548 เทียบกับอัตรา 7.2% ในปี 2547 ทางด้านมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและไทย คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตรา 4.5%-6.0% ในปี 2548 เทียบกับอัตราขยายตัวประมาณ 5%-7% ในปี 2547
สำหรับสมาชิกอาเซียนที่คาดว่าจะประสบภาวะเศรษฐกิจผันผวนมากที่สุดในปี 2548 ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอัตราเติบโตจะชะลอลงเหลือ 4.5% เทียบกับอัตราขยายตัวที่สูงถึง 8.3% ในปี 2547 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตจากฐานที่ต่ำในปี 2546 ประกอบกับคาดว่าในปี 2548 สิงคโปร์อาจได้ผลกระทบโดยตรงจากการที่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและวิทยาการระดับสูงของโลกเข้าสู่วงจรช่วงขาลง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นของสิงคโปร์
จากการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน (ยกเว้น บรูไนฯ และพม่าที่ไม่มีข้อมูล) ของธนาคารโลกในเดือนพฤศจิกายน 2547 พบว่าการเติบโตเศรษฐกิจอาเซียนยังคงดี แม้ส่วนใหญ่การเติบโตจะชะลอตัวลง โดยในปี 2547 การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนยังคงแข็งแกร่ง โดยสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตของ GDP 8.3% นับว่าสูงที่สุดของประเทศอาเซียน ตามมาด้วยเวียดนาม (7.2%) มาเลเซีย (7%) และไทย (6.5%) และในปี 2548 แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนชะลอตัวลง ยกเว้น อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว ที่การเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้น อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน
ประเทศ 2546 2547 * 2548 **
1. เวียดนาม 7.2 7.2 7.5
2. มาเลเซีย 5.3 7.0 6.0
3. ไทย 6.8 6.5 5.8
4. อินโดนีเซีย 4.5 4.9 5.4
5. สิงคโปร์ 1.1 8.3 4.5
6. ฟิลิปปินส์ 4.7 5.4 4.5
ที่มา : World Bank : East Asia Update : November 2004
หมายเหตุ : * ประมาณการ ** คาดการณ์
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจอาเซียน 2548 สรุปได้ดังนี้
1. การส่งออกอาเซียนเข้มแข็ง
* แนวโน้มการส่งออกของอาเซียนปี 2548 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากปี 2547 เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะคาดว่าความต้องการภายในกลุ่มสมาชิกอาเซียนจะอยู่ในระดับสูง ทำให้สินค้าส่งออกของอาเซียนยังคงขยายตัวได้ดี โดยพึ่งพาการส่งออกซึ่งกันและกัน ช่วย ชดเชยกับการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านอกกลุ่มที่อาจจะชะลอลงในปี 2548 เช่น การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น
การส่งออกของอาเซียนช่วงกว่า 10 ปีมานี้ (2536-2546) ขยายตัว 108.28% จาก 206,637 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 430,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกภายใน อาเซียนด้วยกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 23% ของการส่งออกทั้งหมดของอาเซียน และการส่งออกภายในอาเซียนกันเองเพิ่มขึ้นกว่า 128% ในช่วง 10 ปีมานี้ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าขยายตัวของการส่งออกทั้งหมดของอาเซียน
ประเทศคู่ค้าที่อาเซียนส่งออกมากที่สุด คือ สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 14% ตามมาด้วยประเทศสหภาพยุโรป 15 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 13.22% ญี่ปุ่น (11.7%) และจีน (6.27%) เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นถึง 496% ในช่วง 10 ปีนี้ จาก 4,528.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2536 เป็น 26,999.12 ในปี 2546 และมีแนวโน้มว่าการส่งออกของอาเซียนไปจีนจะเพิ่มขึ้นจากการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนด้านการค้าสินค้าที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2548
– ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2547 อัตราการขยายตัวของยอดรวมการส่งออกของ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกของอินโดนีเซียขยายตัวสูงถึง 41.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2546 มาเลเซีย (28.8%) สิงคโปร์ (27%) ไทย (18.8%) ฟิลิปปินส์ (8.4%) ไทย (18.8%) และสิงคโปร์ (27%) คาดว่าการส่งออกของอาเซียนในปี 2548 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และค่าเงินสกุลอาเซียนที่แข็งขึ้น ทำให้สินค้าส่งออกมีความได้เปรียบลดลง ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกของอาเซียนในปี 2548 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากมีปัจจัยที่ช่วยประคับประคองแต่ความต้องการภายในภูมิภาคเอเชียที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้สินค้าส่งออกของอาเซียนยังคงขยายตัวได้ดีนอกจากนี้ สินค้าการส่งออกของอาเซียน สรุปได้ดังนี้ : –
+ อานิสงส์ FTA อาเซียนมีนโยบายขยายความเชื่อมโยงกับประเทศคู่ค้าเจรจานอกกลุ่มอาเซียน –อาทิ อาเซียนและจีนได้ลงนามความตกลงเปิดเสรีการค้าสินค้า ในเดือนพฤศจิกายน 2547 โดยจะเริ่มลดภาษีสินค้าในวันที่ 1 กรฎาคม 2548และเริ่มลดภาษีสินค้า 1 กรกฎาคม 2548 คาดว่าการโดยจะจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกันจะบรรลุเป้าหมายโดยภาษีสินค้าเหลือ 0% ในปี 2553 นับว่าเป็นการสร้างตลาดที่มีประชากรรวมกันถึงราว 2,000 ล้านคน ดังนั้น สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของอาเซียนมีโอกาสขยายไปจีนได้มากขึ้นจากการลดภาษีสินค้าของจีน ส่วนการเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุนของอาเซียน-จีนอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา
+ นอกจากนี้ อาเซียนตั้งเป้าหมายเจรจาจัดทำ FTA กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่ค้าเหล่านั้นในระยะยาว
* แนวโน้มการส่งออกของลาวและเวียดนามสดใส – จากสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป สำหรับเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้เวียดนามไม่ได้สิทธิจากการยกเลิกโควตาสิ่งทอของ WTO ในวันที่ 1 มกราคม 2548 อย่างไรก็ตามเวียดนามหนึ่งในสมาชิกอาเซียนได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ทำให้เวียดนามสามารถส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหภาพยุโรปได้อย่างเสรี ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 และ เวียดนามมีเป้าหมายเจรจากับสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปถือเป็นตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มใหญ่ของเวียดนามเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าหมายในการเข้าเป็นสมาชิก WTO ภายในปี 2548 ซึ่งมีความสำคัญต่อเวียดนาม เพราะจะไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขโควตาทางการค้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
2. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสดใส
การเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียนและการปรับปรุงบรรยากาศด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่องหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2541 ทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเข้ามาในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จาก 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2545 เป็น 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 และคาดว่าการ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของกลุ่มอาเซียนจะมีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 ทั้งนี้ ภาคบริการเป็นตัวดึงดูด FDI ที่สำคัญของภูมิภาค โดยสัดส่วน FDI ในภาคบริการได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความมั่นคงของการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างต่อเนื่องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะแม้จะเกิดโรคระบาดซาร์ช่วงต้นปี 2546 แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอาเซียน เพราะ FDI ในบรูไน สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ FDI ใน อินโดนีเซียที่เคยลดลงช่วงปี 2542-2544 ได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2545-2547 และคาดว่าแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ หลังจากการเลือกตั้งของอินโดนีเซียในเดือนกันยายน 2547 ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีผู้นำคนใหม่ ได้แก่ นายสุสิโล บัมบัง ยูโดโยโน คาดว่าจะส่งเสริมให้บรรยากาศการลงทุนในอินโดนีเซียฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียจำเป็นต้องปรับปรุงบรรยากาศทางการลงทุนของอินโดนีเซียที่ยังคงอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยเฉพาะการเร่งรัดการจัดตั้งธุรกิจในอินโดนีเซียให้เร็วขึ้นจากเดิมที่ใช้เวลาถึง 151 วัน เทียบกับมาเลเซียใช้เวลา 30 วัน ไทย 33 วัน ฟิลิปปินส์ 50 วัน และเวียดนาม 56 วัน
นอกจากนี้ ปัจจัยจากการที่อาเซียนจัดทำ FTA ทั้งระดับภูมิภาคและทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการเปิดเสรีด้านการลงทุน การลดอุปสรรคจากกฎระเบียบต่างๆ จะทำให้บรรยากาศทางการลงทุนของอาเซียนดีขึ้น และดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่อาเซียนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รายงานของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า ประเทศอาเซียนยังต้องปรับปรุงบรรยากาศทางการลงทุนในหลายๆ ด้าน เช่น ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและกฎระเบียบในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ การปรับปรุงด้านธรรมาภิบาลและโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคและการเงินในฟิลิปปินส์และกัมพูชา การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในมาเลเซียซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้นและผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
3. การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ – การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ของภาครัฐของประเทศอาเซียนมีส่วนช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนในปี 2548 ก่อให้เกิดรายได้และจ้างงานในประเทศ และถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนในอนาคต โดยประเทศอาเซียนมีโครงการลงทุนของภาครัฐสำคัญ เช่น
– ไทยมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิขั้นสุดท้าย โครงการก่อสร้างโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มเติม รวมทั้งการก่อสร้างถนนและสะพานต่างๆ
– มาเลเซียมีนโยบายสานต่อโครงการ “Multimedia Super Corridor” โดยมีแผนที่จะสร้างเมืองไซเบอร์เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ
– ฟิลิปปินส์มีนโยบายก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ร่วมทุนต่างชาติ ได้แก่ โครงการเกี่ยวกับระบบชลประทาน การสร้างเครือข่ายถนน ท่าเรือ สะพาน การจัดการน้ำ ระบบน้ำทิ้ง ตลอดจนการก่อสร้างสถานีส่งกระแสไฟฟ้า
– เวียดนามมีนโยบายใช้เงินลงทุนของภาครัฐในโครงการก่อสร้างพื้นฐาน โดยมีแผนจะสร้างทางด่วนหลายสายเชื่อมจังหวัดสำคัญทั่วประเทศเข้าด้วยกัน รวมทั้งมีแผนการสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น ศูนย์ผลิตหินแร่อะลูมิเนียม และโรงงานผลิตซีเมนต์
– อินโดนีเซียมีนโยบายเพิ่มการลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอในประเทศ
ปัจจัยลบที่ต้องพึงระวังปัจจัยที่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียน
ปัจจัยเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2548 มีดังนี้
– การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น บวกกับความผันผวนของราคาน้ำมันโลกและอัตราดอกเบี้ยเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของอาเซียนอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ชะลอตัวลงด้วย ประกอบกับปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแรงลงด้วย ดังนี้
– สหรัฐฯ ประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณอย่างมหาศาล รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะลดชะลอลงจาก 3.9% ในปี 2547 เป็น 3.5% ในปี 2548 และจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศอาเซียนส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น (ยกเว้นเงินริงกิตของ มาเลเซีย ที่ผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ในอัตรา 3.8 ริงกิตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ทำให้สินค้าส่งออกของอาเซียนส่วนใหญ่มีราคาสูงขึ้นในสายตาของผู้ซื้ออเมริกัน กระทบต่อความสามารถในการส่งออกของอาเซียนไปยังตลาดสหรัฐฯ
– การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน รัฐบาลจีนออกมาตรการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2548 ที่อัตรา 8% ลดลงจากอัตราการเติบโต 9% ในปี 2547 และ 9.1% ในปี 2546 อีกทั้งมีเป้าหมายลดการขยายตัวของการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีนจะใช้มาตรการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความต้องการบริโภคภายในของจีนยังคงขยายตัวต่อไป นอกจากนี้ แนวโน้มที่จีนจะปรับค่าเงินหยวนช่วงครึ่งปีหลัง 2548 จะทำให้ค่าเงินของประเทศอาเซียนแข็งขึ้นด้วย ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของอาเซียนจะสูงขึ้น
– ญี่ปุ่น เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤตราคาน้ำมันแพง เพราะญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศทั้งหมด กำลังประสบปัญหาเงินฝืด และขณะเดียวกันปัญหาหนี้ภาครัฐจำนวนมาก จะส่งผลบั่นทอนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2548ชะลอตัวลงจากปี 2547 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่า GDP ของญี่ปุ่นจะเติบโตลดชะลอลงจากอัตราเฉลี่ยประมาณ 4.3% ในปี 2547 เหลือราว 1.8% ในปี 2548
– มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศพัฒนาแล้ว – อาเซียนเผชิญกับ มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น แรงกดดันจากระดับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด มาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้ ทำให้สินค้าส่งออกของอาเซียนเข้าสู่ตลาดประเทศเหล่านี้ได้ยากลำบากขึ้น โดยประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป มีแนวโน้มใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง
– สหรัฐฯ ประสบปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างมาก จึงคาดว่า สหรัฐฯ จะใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีเพื่อลดการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ โดยในปี 2547 สหรัฐฯ เก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (AD) สินค้ากุ้งนำเข้าจากประเทศ ผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของโลก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย บราซิล เอควาดอร์ รวมทั้งอาเซียน 2 ประเทศ ได้แก่ ไทย และเวียดนาม
– สหภาพยุโรปได้ออกสมุดปกขาวว่าด้วยเคมีภัณฑ์ ระเบียบว่าด้วยเศษซากของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และการจำกัดการใช้สารอันตราย และสมุดปกเขียวว่าด้วยนโยบายและป้องกันผลกระทบทางลบของสินค้าทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม โดยกฎระเบียบของสหภาพยุโรปเหล่านี้จะเริ่มใช้ปลายปี 2548 หรืออย่างช้าในปี 2549 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอาเซียนไปตลาดยุโรป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
– การสิ้นสุดโควตาสิ่งทอขององค์การการค้าโลก (Multi-Fibre Agreement : MFA) ในวันที่ 1 มกราคม 2548 มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน เพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และมีแนวโน้มว่าการส่งออกสิ่งทอของอาเซียนจะเสียเปรียบในการส่งออกสิ่งทอกับประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่างจีน อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ โดยเฉพาะจีนที่มีศักยภาพและมีความพร้อมทุกด้านทั้งวัตถุดิบ เครือข่ายการขนส่งทางบกและทางน้ำ รวมถึงการกระจายสินค้า ทำให้จีนเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอครบวงจร อีกทั้งยังเป็นแหล่งดึงดูดบริษัทสิ่งทอต่างชาติให้เข้าไปการลงทุนในจีนด้วยผลิตของบริษัทต่างชาติ ในช่วง 11 เดือนแรก 2547 การลงทุนโดยรวมของต่างชาติในจีนเพิ่มขึ้นถึง 22% เป็นมูลค่า 57,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ค่าแรงจีนคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของค่าแรงในอินโดนีเซีย หรือ 1 ใน 4 ของค่าแรงมาเลเซียและฟิลิปปินส์ จากการสำรวจของสมาพันธ์สหภาพแรงงานเสรีระหว่างประเทศ (ICFTU) อินโดนีเซียอาจสูญเสียงาน 1 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ผลการศึกษาขององค์การการค้าโลก คาดว่าการยกเลิกโควตาสิ่งทอจะทำให้จีนและอินเดียมีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า โดยเฉพาะจีนจะมีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโลกเพิ่มจาก 16% ในปี 2546 เป็นกว่า 50% ในปี 2550 ขณะที่บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศละตินอเมริกาจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลง
– ธุรกิจท่องเที่ยวสะดุด จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และพม่า โดยอินโดนีเซียและไทยได้รับผลเสียหายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึงกว่า 105,000 คน ในรัฐอาเจะห์ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราซึ่งเป็นที่เกิดเหตุของแผ่นดินไหวจนเกิดเป็นคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในไตรมาสแรกของปี 2548 จากการชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยว เพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามคาดว่าผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียจะไม่มากนัก เพราะเกาะสุมาตราที่ถูกทำลายเสียหายไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของอินโดนีเซีย และรายได้จากการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของ GDP ทั้งนี้ อินโดนีเซียคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะบาหลี และเกาะลอมบอค ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอินโดนีเซีย และไม่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติสึนามิ โดยคาดว่านักท่องเที่ยว ต่างชาติที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในอินโดนีเซียปี 2548 ไม่น่าจะต่ำกว่า 4 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2547 ที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว 4.12 ล้านคน
สำหรับไทยมีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 5,000 คน ใน 6 จังหวัดทางภาคใต้ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย โดยเป็นแหล่งทำรายได้จากการท่องเที่ยวราว 35-40% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติถูกทำลายอย่างหนัก คาดว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2547 ถึงไตรมาสแรกของปี 2548 และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติให้เสร็จสมบูรณ์ถึงกว่า 1 ปี ทั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วน 5-6% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะหันไปเที่ยวจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกฝั่งอ่าวไทยแทน ภาคใต้ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไทยไม่ถูกกระทบมากนัก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังไม่ได้ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวปี 2548 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย 13.38 ล้านคน ในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10% รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงหวังว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาโดยเร็ว
นอกจากนี้ การที่กลุ่มอาเซียนกระตือรือร้นในการสร้างระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิริมฝั่งทะเลอันดามัน ก็คาดว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะยาว ทำให้แหล่งท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบมหาสมุทรอินเดียยังคงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับนักท่องเที่ยวในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอาเซียนมีประมาณกว่า 40 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวภายในอาเซียนกันเอง คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวเดินทางมาอาเซียนทั้งหมด โดยรายได้จากการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 4-5% ของ GDP
– ประเด็นที่น่าจับตามองอีกประการหนึ่ง ก็คือ คู่แข่งด้านการท่องเที่ยว – อาเซียนยังเผชิญความท้าทายจากแหล่งท่องเที่ยวคู่แข่งภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮ่องกง ซึ่งมีปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลาย ในปี 2548 คาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางมาฮ่องกงมากขึ้น เพราะการเปิดสวนสนุกดิสนีย์แลนด์แห่งใหม่ที่ฮ่องกง ในเดือนกันยายน 2548 นับเป็นแห่งที่ 2 ในของเอเชียนอกจากถัดจากญี่ปุ่น รวมทั้งผลดีจากค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่อ่อนลงตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะการผูกติดค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐฯ จึงถือว่าฮ่องกงเป็นคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของอาเซียน นับว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับเป้าหมายของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาฮ่องกงมีจำนวนถึง 20 ล้านคน คิดเป็น 3 เท่าของจำนวนประชากรของชาวฮ่องกง เป็นตัวมีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตถึง 7.5% ในปี 2547 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปีมานี้ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวมากกว่าครึ่งหนึ่งในปี 2547 มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากปักกิ่งได้ผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางมาฮ่องกง
* เหตุการณ์ความไม่สงบจากปัจจัยทางการเมือง/สังคม/ภัยธรรมชาติของประเทศอาเซียน แนวโน้มของปัจจัยทางการเมือง สังคม และภัยธรรมชาติที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน สรุปได้ดังนี้
– ล่าสุดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียทำให้เกิดคลื่นยักษ์ถล่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และพม่า คาดว่าจะส่งกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้ในระยะสั้น รวมทั้งต้องใช้งบประมาณเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติซึ่งถูกทำลายไปให้กลับมาสวยงามเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาท่องเที่ยวเป็นปกติ เพราะเหตุแผ่นดินไหวเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และประเทศที่ได้รับภัยพิบัติครั้งนี้เตรียมจัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
– ไทยประสบปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ และทางการไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิดต่อไปในปี 2547 ตลอดจนประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองในช่วงต้นปีและผลการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2548
– ฟิลิปปินส์ประสบภัยจากพายุหมุ่ยฟ้าในช่วงปลายปีเดือนพฤศจิกายน 2547 มีผลให้มี ผู้เสียชีวิต และคาดว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องแก่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในช่วงต้นปี 2548
– พม่าประสบเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ถูกนานาประเทศคว่ำบาตรจากเพื่อกดดันรัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางอองซานซูจี การปลดนายพลขิ่นยุ่นซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีพม่าที่สนับสนุนแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างกะทันหัน ในปี 2547 ตลอดจนปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ
– อินโดนีเซียเป็นประเทศเป้าหมายในการก่อการร้ายข้ามชาติ โดยประสบเหตุการณ์ถูกลอบวางระเบิดตามสถานทูตของประเทศตะวันตกเป็นระยะๆ
สรุป
อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่ยังคงเติบโตในปี 2548 จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้ด้วยดี ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในปี 2548 ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก จากการเปิดเสรีทางการค้าพหุภาคี (WTO) และทวิภาคี (FTA) ทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งไทยต้องแข่งขันทางการค้า และเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางกระแสกีดกันทางการค้าหลากหลายรูปแบบ และเป็นที่น่าสังเกตว่าจีนกำลังเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย จากศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนที่โดดเด่น เพราะเป็นตลาดกำลังซื้อมหาศาล และต้นทุนค่าแรงที่ถูก รวมทั้งเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาค ดังนั้น การที่อาเซียนจัดทำเขตการค้าเสรีกับจีนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของอาเซียนในเวทีโลก ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยและอินโดนีเซียต้องเร่งฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนเศรษฐกิจมาโดยตลอด โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนอาเซียนให้ท่องเที่ยวอย่างมีความสุขและปลอดภัย