ธุรกิจพระเครื่องปี’48 : มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท

ความนิยมในการสะสมพระเครื่องทำให้เกิดธุรกิจให้เช่า(ขาย)หรือรับเช่า(ซื้อ)พระเครื่อง-พระบูชาอย่างกว้างขวาง และมีธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกหลากหลายธุรกิจ ความเฟื่องฟูและซบเซาของวงการพระเครื่องนั้นค่อนข้างจะผูกติดหรือไปในทิศทางเดียวกันกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ วงการพระเครื่องฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2546 และในปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2548 วงการพระเครื่องยังคงมีแนวโน้มคึกคักอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากราคาพระเครื่องเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพระกรุและพระเครื่องยอดนิยมต่างๆ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคล รวมทั้งการจัดประกวดพระเครื่องที่เกิดขึ้นกันแทบทุกสัปดาห์ ธุรกิจแผงพระที่เริ่มมีผู้คนคึกคักมากขึ้น และบรรดาผู้ประกอบธุรกิจแผงพระเริ่มขยายธุรกิจมากขึ้น โดยการเปิดกิจการในหลายพื้นที่ รวมทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่มีนักลงทุนชาวต่างประเทศหันมาสนใจเช่าพระเครื่องและวัตถุมงคลจากไทยเพื่อนำไปให้เช่าต่อสำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่องและวัตถุมงคลของไทยในต่างประเทศ หรือทำเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวในต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจพระเครื่องและหลากธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีเม็ดเงินหมุนเวียนคล่องตัวมากขึ้น

สถานการณ์ในวงการพระเครื่องในปี 2547 ราคาพระเครื่องมีการปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพระชุดยอดนิยมปรับราคาขึ้นถึงร้อยละ 40 และมีความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ขายก็ไม่สามารถหาของมาให้ลูกค้าได้ตามความต้องการ เนื่องจากในปัจจุบันพระชุดยอดนิยมได้หายไปจากสนามพระ ทำให้พระเครื่องระดับรองๆ เช่น พระชินราชอินโดจีน(ปี 2485) ของวัดสุทัศน์ พระเครื่องเมืองกำแพงเพชรพิมพ์นาง เป็นต้น หรือพระเครื่องของบรรดาเกจิอาจารย์ที่มีประสบการณ์อัศจรรย์ปรากฎอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนืองๆ เช่น หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เป็นต้น รวมทั้งพระเครื่องรูปหลวงปู่ทวดที่ปลุกเสกโดยหลวงปู่พิม วัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานีในยุคหลังๆ หรือพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่ปลุกเสกโดยอาจารย์นอง วัดทรายขาว ซึ่งพระเครื่องเหล่านี้เริ่มเป็นที่เสาะแสวงหาของนักสะสมพระเครื่อง ทำให้ราคาพระเครื่องเหล่านี้มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพระเครื่องเหล่านี้ยังมีปริมาณเพียงพอที่จะมีการหมุนเวียนอยู่ในตลาดพระเครื่องอีกด้วย โดยในวงการพระเครื่องเรียกพระเครื่องเหล่านี้ว่า “พระมีอนาคต” อย่างไรก็ตามเมื่อพระเครื่องชุดใดเริ่มเป็นที่นิยมในวงการพระเครื่อง ก็จะมีพวกมือผีปลอมพระเครื่องชุดดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันทำได้ใกล้เคียงอย่างมาก ถ้าไม่ชำนาญจริงแล้วก็จะโดนหลอกได้ง่าย โดยพระปลอมเหล่านี้นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ราคาค่าเช่าบูชาพระเครื่องไม่เปลี่ยนแปลงหวือหวามากนัก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าเม็ดเงินในธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในปี 2548 นี้สูงถึงเกือบ 20,000 ล้านบาท และธุรกิจเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะยังมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 10-20 ต่อปี

ราคาพระเครื่อง…พุ่งขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

ราคาพระเครื่องในปัจจุบันมีการปรับฐานลงมากตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ยกเว้นพระเครื่องในกลุ่มพระเครื่องยอดนิยมและพระเครื่องในกลุ่มพระเบญจภาคี รวมทั้งพระเครื่องของหลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ที่สร้างก่อนปี 2512 ด้วยที่ราคามีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องตามพระเครื่องหลวงปู่ทวดยอดนิยม การปรับลดลงของราคาพระเครื่องนี้นับว่าส่งผลดีต่อนักนิยมสะสมพระเครื่องที่พอจะมีเงินเหลืออยู่บ้าง โดยมีการกว้านเก็บพระหลักและพระสวยไว้รอเวลาที่เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งอาจจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ราคาพระหลักและพระสวยมีแนวโน้มขยับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอปรกับมีชาวต่างประเทศเข้ามาทุ่มเงินเช่าพระหลัก ทั้งพระเบญจภาคี พระยอดนิยม รวมทั้งพระเครื่องของเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ส่วนพระใหม่ราคายังคงเป็นราคาเดียวกับที่ออกมาจากวัดเป็นส่วนใหญ่ นอกจากพระเครื่องรุ่นนั้นเป็นที่นิยมหรือบางครั้งศูนย์พระเครื่องที่รับจองพระเครื่องมีการตัดหรือกักตุนพระเครื่องโดยเก็งว่าจะมีการแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่อง ก็อาจจะทำให้ราคาพระใหม่ปรับขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตามราคาพระเครื่องยกเว้นพระใหม่นั้นไม่มีราคาที่แน่นอน โดยมีหลากหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องกล่าวคือ การหายาก-ง่าย ความนิยม สภาพของพระเครื่องหรือความสมบูรณ์ของพระเครื่อง ความพึงพอใจของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ดังนั้นราคาของพระเครื่องที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพระต่างๆนั้นถือเป็นเกณฑ์ในเบื้องต้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับฐานะผู้เป็นเจ้าของพระเครื่ององค์นั้นด้วย โดยถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปพระเครื่ององค์นั้นอาจจะมีราคาถูกมากหรือไม่มีราคาเลย แต่ถ้าเจ้าของเป็นผู้ชำนาญการหรือผู้มีชื่อเสียงในวงการก็อาจจะมีราคาสูงมากจนคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ธุรกิจพระเครื่อง…มูลค่าเกือบสองหมื่นล้านบาท

ธุรกิจพระเครื่องนั้นมีเม็ดเงินหมุนเวียนในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล โดยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสร้างพระ ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่อง ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจรับจำนำพระเครื่อง และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจหนังสือพระ ธุรกิจรับจ้างอัดกรอบพระหรือเลี่ยมพระ เป็นต้น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิยมพระเก่าหรือพระใหม่มีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน คาดว่าเม็ดเงินในธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในปี 2548 นี้สูงถึงเกือบ 20,000 ล้านบาท และธุรกิจเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะยังมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 10-20 ต่อปี

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องแยกเป็นดังนี้

1.ธุรกิจการสร้างพระ

ในกระบวนการสร้างพระเครื่องนั้นต้นทุนการผลิตแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัสดุมวลสาร ปริมาณการสร้างแต่ละครั้ง วิธีการสร้าง ขนาดของพระเครื่องที่จะสร้าง การประกอบพิธีพุทธาภิเษก และการโฆษณาประชาสัมพันธ์การสร้างพระเครื่องในแต่ละรุ่น กล่าวคือ การสร้างพระเครื่องนั้นจะแยกเป็นเนื้อผง และเนื้อโลหะ โดยแยกรายละเอียดของต้นทุนการสร้างพระ ดังนี้

– การสร้างพระเครื่องเนื้อผง
ค่าแกะบล็อคแม่พิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังสำหรับเป็นแบบพิมพ์ กด หรือปั๊มพระเครื่องไม่เกิน 4,000 บาท อัตรานี้ขึ้นอยู่กับฝีมือของช่างด้วย โดยถ้าเป็นช่างฝีมือดีราคาค่าแกะบล๊อกจะสูงขึ้นเป็น 5,000-6,000 บาท ค่าเนื้อพระรวมทั้งค่าจ้างแรงงานสำหรับพระเครื่องทุกขนาด 1-2 บาทต่อองค์ ซึ่งอัตราต้นทุนที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น ถ้าใช้เนื้อวัสดุที่หายากหรือเป็นที่นิยมราคาที่ให้บูชาก็จะสูงขึ้นอีก

-การสร้างพระเครื่องเนื้อโลหะ
ต้นทุนค่าบล๊อกประมาณ 5,000-7,000 บาททั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือการแกะบล๊อกของช่างเช่นเดียวกับพระเนื้อผง ค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆขึ้นอยู่กับเทคนิคการสร้างกล่าวคือ ถ้าเป็นการสร้างแบบปั๊มสำหรับเนื้อทองแดงขนาดใบมะขามต้นทุนประมาณ 2-3 บาทต่อองค์ เนื้อนว(เนื้อทองแดงผสมเงินและทองคำ)ต้นทุนประมาณ 5-10 บาทต่อองค์ เนื้อเงินต้นทุนประมาณ 50 บาทต่อองค์ ส่วนเนื้อทองคำนั้นแล้วแต่น้ำหนักของพระเครื่อง โดยเฉลี่ยที่มีการสร้างพระเครื่องเนื้อโลหะนั้นต้นทุนประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อองค์ ทั้งนี้ต้นทุนจะเปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประเภทของเนื้อโลหะที่ใช้และลักษณะการสร้าง โดยการสร้างแบบเหรียญ ต้นทุนค่าบล็อคจะเท่าๆกับการสร้างแบบพระเนื้อผง ซึ่งต้นทุนเฉลี่ยต่อเหรียญสำหรับเนื้อทองแดงประมาณ 3-5 บาท การสร้างแบบหล่อ ถ้าใช้เทคนิคการหล่อแบบเก่าหรือที่เรียกกันว่าเทมือ หรือแบบเบ้าทุบนั้นราคาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเป็นการหล่อแบบใด พระเครื่ององค์เดียวหรือที่เรียกว่าช่อเดี่ยว และการหล่อแบบได้พระเครื่องหลายองค์ต่อการเทแบบแต่ละครั้ง ต้นทุนจะตกประมาณ 700-800 บาทต่อองค์ ส่วนถ้ามีการใช้เทคนิคการหล่อแบบสมัยใหม่หรือที่เรียกกันว่าหล่อเหวี่ยงหรือแบบฉีด ต้นทุนสำหรับพระกริ่งตกประมาณ 200 บาทต่อองค์สำหรับเนื้อโลหะทั่วๆไป

จะสังเกตเห็นได้ว่าต้นทุนในการสร้างพระนั้นไม่ได้สูง แต่เมื่อเทียบกับราคาพระเครื่องในท้องตลาดแล้วแตกต่างกันอย่างมากกล่าวคือ พระเครื่องเนื้อทองแดงสำหรับปรกใบมะขามราคาสูงถึง 20-30 บาทต่อองค์ เนื้อนวโลหะราคาสูงกว่า 100 บาทต่อองค์ เนื้อเงิน 200-300 บาทต่อองค์ เนื้อทองคำราคา 3,000-3,500 บาทต่อองค์(เนื้อทองคำประมาณ 2 กรัมต่อองค์ ซึ่งคิดราคาทองที่บาทละ 7,900 บาท โดยทองคำ 1 บาท น้ำหนัก 15.2 กรัม) พระเครื่องที่เป็นเหรียญราคา 50 บาทขึ้นไป พระเครื่องเนื้อโลหะที่หล่อเทคนิคเก่าราคา 2,000-3,000 บาทขึ้นไป ส่วนพระเครื่องเนื้อโลหะที่หล่อแบบเทคนิคใหม่ราคา 1,500-2,000 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาดังกล่าวนี้เป็นราคาทั่วๆไป ยังไม่ได้รวมในกรณีที่พระเครื่องรุ่นนั้นเกิดเป็นที่นิยมราคาจะถีบตัวขึ้นอีกหลายเท่าตัว ดังนั้นธุรกิจรับสร้างพระนั้นนับว่าเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล

อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายของธุรกิจสร้างพระนั้นต้นทุนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนค่าสร้างพระเท่านั้น ค่าใช้จ่ายส่วนที่สำคัญคือ

– ค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีพุทธาภิเษก
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบพิธีที่จัด กล่าวคือ ถ้าเป็นพิธีโบราณเต็มรูปแบบนั้นต้องมีพระระดับเกจิอาจารย์เจ้าของพระเครื่องชุดนั้น 1 รูป พระเกจิอาจารย์นั่งปรก 4 ทิศ พระระดับทั่วไปอีก 32 รูป และพระสำหรับสวดชัยมงคลคาถาอีก 108 รูป ซึ่งค่านิมนต์พระระดับเกจิอาจารย์นั้นสูงถึงประมาณ 20,000 บาทต่อรูป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางและชื่อเสียงของพระเกจิอาจารย์นั้นๆ และค่านิมนต์พระทั่วๆไปประมาณ 1,000 บาทต่อรูป นอกจากนี้ยังต้องมีค่าเครื่องบวงสรวงประเภทบายศรี หัวหมู ขนมต้มแดงต้มขาว และอื่นๆ ตกประมาณ 10,000 บาท และค่าใช้จ่ายสำหรับพราหมณ์ในการวางฤกษ์ ดังนั้นการสร้างพระในปัจจุบันไม่ค่อยมีการทำพิธีเต็มรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบพิธีแบบจัดสร้างโดยปลุกเสกเดี่ยว กล่าวคือ มีพระเกจิอาจารย์เพียงรูปเดียว และพระทั่วๆไปอีกเท่าใดก็ได้แต่ต้องเป็นจำนวนคี่ ทำให้ค่าใช้จ่ายในขั้นตอนนี้เหลือเพียง 1 ใน 10 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการทำพิธีแบบโบราณ อย่างไรก็ตาม วิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สำหรับผู้สร้างพระที่สร้างจำนวนไม่มากนัก คือ การขอนำพระเข้าพิธีพุทธาภิเษกร่วมกับผู้สร้างรายอื่นๆ ซึ่งทางวัดจะคิดค่าใช้จ่ายตามน้ำหนัก โดยส่วนใหญ่จะตกประมาณกิโลกรัมละ 500 บาท แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก

– ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้นับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หรือกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งโดยปกติในการสร้างพระเครื่องแต่ละครั้งจะมีการตั้งงบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ประมาณ 300,000-400,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีวิธีการจ่ายใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ จ่ายเป็นเงิน หรือจ่ายเป็นพระเครื่อง ซึ่งในกรณีที่จ่ายเป็นพระเครื่องนั้นจะมีการคิดราคาพระเครื่องครึ่งราคาของราคาที่ให้เช่า วิธีนี้เป็นที่นิยมมากเนื่องจากผู้ที่ให้เนื้อที่โฆษณานั้นได้กำไรมากกว่า

กระบวนการสร้างพระเครื่องนั้นอาจดำเนินการโดยคณะกรรมการวัดเอง หรือคณะกรรมการที่เป็นคนภายนอกวัดที่อาสาเข้ามารับการจัดสร้างพระเครื่อง โดยอาจแบ่งผลประโยชน์ส่วนหนึ่งเป็นค่าดำเนินการ ซึ่งการจัดสร้างพระเครื่องโดยการดำเนินการของคณะกรรมการวัดมักประสบปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องมีการจ่ายล่วงหน้า ส่วนการสร้างพระเครื่องที่ดำเนินการโดยคนนอกนั้นอัตราเสี่ยงของวัดนั้นไม่มี เนื่องจากผู้จัดสร้างเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ดังนั้นหากการจัดสร้างไม่ประสบผลสำเร็จผู้จัดสร้างจะเป็นผู้แบกรับภาระขาดทุนทั้งหมด โดยมากการแบ่งผลประโยชน์จะอยู่ในอัตราที่ตกลงกัน เช่น วัดร้อยละ 60 และคณะกรรมการที่ดำเนินการจัดสร้างร้อยละ 40 หรือคนละครึ่ง หรือแบ่งพระเครื่องไปจำหน่ายตามสัดส่วนผลประโยชน์ที่ตกลงกันไว้ แต่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ร่วมกัน

2.ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่องในประเทศ

การสังสรรค์ในหมู่นักสะสมพระเครื่องจนก่อกำเนิดเป็นตลาดพระเครื่องนั้นจุดประกายขึ้นจากร้านกาแฟซึ่งอยู่ติดกับวัดศิริอำมาตย์ หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ การซื้อขายแลกเปลี่ยนพระเครื่องเมื่อประมาณปี 2496 มีการเปิดวางพระเครื่องเพื่อเช่าบูชาในบริเวณใต้ต้นมะขามหน้าศาลแพ่งเดิมซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสนามหลวง แล้วจึงมีการขยายไปยังวัดมหาธาตุ ไปจนถึงท่าพระจันทร์ จนกระทั่งในปัจจุบันกระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าชั้นนำเริ่มตั้งแต่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าในปี 2530 ซึ่งเป็นแห่งแรกที่นำศูนย์พระเครื่องเข้าไปตั้งในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากการจะไปหาสถานที่ที่กว้างๆอย่างท่าพระจันทร์ หรือวัดราชนัดดานั้นหาได้ยากมาก ปัจจุบันเจ้าของตึกได้ขายกิจการไปแล้ว ศูนย์พระเครื่องจึงต้องมีการขยับขยายไปอยู่ที่อื่น และห้างสรรพสินค้ามีความสะดวกหลายอย่าง โดยเฉพาะเป็นสถานที่ปรับอากาศ เหมาะสำหรับการนั่งดูพระเครื่องซึ่งต้องอาศัยความใจเย็น และในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากพระเครื่องเป็นวัตถุมงคลที่มีค่าและราคาสูง ปัจจุบันมีการพัฒนาในวงการพระเครื่องอีกระดับหนึ่งคือ การนำระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้ในวงการพระเครื่อง โดยมีชมรมพระเครื่องมณเฑียรพลาซ่าเป็นผู้บุกเบิก ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพระเครื่องของเมืองไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งความต้องการจัดเก็บข้อมูลพระเครื่องให้เป็นระบบโดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการรวบรวม โดยมีการสร้างโฮมเพจในอินเตอร์เน็ตในด้านข้อมูลเกร็ดความรู้ วิธีพิจารณาพระเครื่อง แถมบริการตรวจสอบพระทางอินเตอร์เน็ตอีกด้วย นับว่าเป็นก้าวใหม่ของวงการพระเครื่อง ทั้งยังเป็นแนวทางส่งเสริมให้พระเครื่องของไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในต่างประเทศอีกด้วย

“การเช่าพระ”เริ่มแรกทีเดียวเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนพระเครื่องกับพระเครื่องด้วยกัน หากพระเครื่ององค์ใดมีมูลค่าสูงกว่าองค์ที่นำมาแลก อาจจะมีการเพิ่มพระเครื่องให้อีกองค์หนึ่งหรือสององค์ตามแต่ความพอใจของผู้แลกเปลี่ยน ระยะหลังเปลี่ยนเป็นการเพิ่มชดเชยด้วยเงิน จนพัฒนามาเป็นการซื้อขาย หรือที่เรียกกันตามภาษานักสะสมพระเครื่องว่า “เช่าพระ” ซึ่งเมื่อเกิดธุรกิจเช่าพระขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระเครื่องไม่ค่อยอยู่ในมือของนักสะสมพระเครื่องนานนัก

แผงพระในปัจจุบันมีการพัฒนาจากเดิมมากกล่าวคือ ในสมัยก่อนแผงพระที่ตั้งให้บุคคลทั่วไปเช่าบูชาจะไม่มีอะไรมากนัก กล่าวคือ มีเพียงโต๊ะ(ที่นับจำนวนได้) เก้าอี้นั่งสำหรับตัวเอง (บางแห่งก็มีเก้าอี้ให้ลูกค้าอีก 2-3 ตัว) และตู้อลูมิเนียมแบบมีฝาปิด-เปิดได้เพียง 2-3 ตู้เท่านั้น ต่อมามีการพัฒนาตู้ใส่พระเครื่องขึ้นมา คือมีการติดไฟส่องสว่างให้เห็นพระเครื่องที่ใส่ไว้ในตู้ (ตู้เป็นตู้กระจกด้านบนและด้านล่างเป็นตู้ทึบสำหรับใส่หนังสือหรืออุปกรณ์อื่นๆตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล) ในปัจจุบันแผงพระและศูนย์พระเครื่องมีอยู่ถึงกว่า 5,000 แผงทั่วประเทศ โดยอยู่ในกรุงเทพฯกว่า 3,000 แผง ทั้งนี้เป็นแหล่งที่เป็นที่รู้จักได้แก่ ศูนย์พระเครื่องที่ท่าพระจันทร์ วัดราชนัดดา สวนจตุจักร ศูนย์พระเครื่องที่เดอะมอลล์ท่าพระ ศูนย์พระเครื่องที่เดอะมอลล์บางกะปิ ห้างน้อมจิตต์ สาขาบางกะปิ ห้างบางลำภูสรรพสินค้า เป็นต้น

3.ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่องในต่างประเทศ

ในปัจจุบันธุรกิจการตั้งศูนย์พระเครื่องไม่ได้มีแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ยังมีการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น รวมไปถึงประเทศทั้งในเอเชียเอง โดยเฉพาะไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ในยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในแหล่งที่เป็นชุมชนของคนเอเชียที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ จากการสอบถามชาวต่างประเทศหลายรายผู้ที่ใช้วัตถุมงคลติดตัวทำให้ทราบได้ว่าในตอนแรกนั้นส่วนใหญ่มักจะแขวนติดตัว เนื่องจากเห็นว่าสวยดีจึงใช้เป็นเครื่องประดับ แต่บางรายเมื่อมีประสบการณ์อันเหลือเชื่อกับวัตถุมงคลนั้นๆก็มักจะเผยแพร่ต่อโดยการเช่าบูชาไปให้ญาติมิตรใช้ติดตัวกันต่อๆไป ทำให้นักธุรกิจชาวต่างประเทศบางรายเปิดศูนย์พระเครื่องขึ้นในเมืองที่อาศัยอยู่เพื่อรับจองพระและให้เช่าบูชาพระเครื่องและวัตถุมงคลของเกิจอาจารย์ต่างๆในเมืองไทย รวมทั้งอุปกรณ์การสะสมพระเครื่องต่างๆ โดยมาเช่าบูชาหรือซื้อหาอุปกรณ์เหล่านี้ไปจากเมืองไทย ส่วนมากมักจะรวบรวมใบสั่งจำนวนหนึ่งแล้วจะเดินทางมาทำการซื้อหาในเมืองไทย และส่วนมากในการเดินทางมามักจะมีการติดต่อผ่านล่ามในเมืองไทยมาก่อนล่วงหน้า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการศูนย์แต่ละแห่งจะเดินทางมาประเทศไทยประมาณเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย ในแต่ละครั้งมักจะเข้ามาพักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2-3 วัน ซึ่งก็นับส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยด้วย

การที่ชาวต่างประเทศรู้จักพระเครื่อง/วัตถุมงคลต่างๆของประเทศไทยเป็นอย่างดี เนื่องจากการโฆษณาในหนังสือพระเครื่องฉบับต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า 40 ฉบับแล้ว ยังมีโอกาสได้ข้อมูลจากทางเว็บไซด์ต่างๆของพระเครื่อง(ซึ่งบางเว็บไซด์นำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ) อีกทางหนึ่งด้วย การที่มีเว็บไซด์เกี่ยวกับพระเครื่องนี้ทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจเรื่องราวของพระเครื่อง/วัตถุมงคล รวมทั้งชีวประวัติของบรรดาเกจิอาจารย์ดีขึ้น ปัจจุบันธุรกิจพระเครื่องยังกระจายตัวไปยังตลาดประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ที่มีแผงพระอยู่กว่า 300 แผง มาเลเซียมีแผงพระอยู่เกือบทุกรัฐ โดยแต่ละรัฐจะมีแผงพระ 2-3 แผงเป็นอย่างน้อย เป็นต้น

นอกจากนี้ในปัจจุบันนักธุรกิจไต้หวันเริ่มเข้ามาบุกตลาดพระเครื่อง/เครื่องลางในเมืองไทย โดยเริ่มต้นด้วยการรุกตลาดภาพพิมพ์ 3 มิติ ทั้งภาพพระพุทธรูป เทวรูป และพระสงฆ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการพระเครื่อง โดยมีการติดต่อผ่านศูนย์พระเครื่องเป็นช่องทางในการวางจำหน่าย นอกเหนือจากการเปิดบู๊ธแสดงสินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยมีการตกลงแบบการพิมพ์ และจำนวนที่แน่นอนแล้วจึงจะมีการจัดพิมพ์ โดยมีการพิมพ์ตัวเลขลำดับการพิมพ์กำกับไว้ด้วยเพื่อป้องกันการปลอมแปลง แล้วนำไปให้พระเกจิอาจารย์ปลุกเสก และประทับตราวัดไว้ที่ด้านหลังภาพ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตเครื่องรางเช่น แหวน กระจกเหลี่ยม เหรียญ เป็นต้นแต่ยังคงอิงคตินิยมของจีนไว้ คาดว่าอีกไม่นานจะมีนักลงทุนอีกหลายประเทศเข้ามาบุกตลาดพระเครื่อง/เครื่องลางของไทย

4.ธุรกิจโฆษณา

วัดต่างๆที่สร้างพระเครื่องโดยมุ่งเน้นไปที่การหารายได้นำไปบำรุงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น โดยใช้สื่อทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มักจะนิยมเผยแพร่ข่าวสารโดยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันคาดว่าธุรกิจพระเครื่องจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในวงการโฆษณาสูงถึง 100-200 ล้านบาทต่อปี โดยแยกเป็นการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันสัปดาห์ละกว่า 3 ล้านบาท และในหนังสือพระประมาณ 3 ล้านบาทต่อฉบับต่อปี

5.ธุรกิจรับจำนำพระเครื่องหรือธนาคารพระเครื่อง

ธุรกิจนี้เป็นทางเลือกในยุคเศรษฐกิจซบเซาของบรรดานักสะสมพระดีๆ พระสวยๆ และพระที่หายาก ซึ่งผู้เป็นเจ้าของย่อมเสียดายถ้าต้องขายไปเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด แม้ว่าธุรกิจรับจำนำพระเครื่องจะมีมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนักจนกระทั่งถึงยุควิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งปริมาณความต้องการใช้เงินที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับส่งผลทำให้ธุรกิจรับจำนำพระเครื่องขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเซียนพระหรือนักเล่นพระเครื่องต่างหันเหมาทำธุรกิจนี้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากหากผู้เป็นเจ้าของมาไถ่ถอนไม่ทัน โอกาสที่คนรับจำนำจะได้ของดีราคาถูกนั้นอยู่ในเกณฑ์สูง

การรับจำนำพระเครื่องเริ่มจากการเจรจาตกลงและตรวจสอบพระว่าเป็นของแท้หรือเปล่า แล้วจึงจะมีการตีราคาพระ ซึ่งราคาในการรับจำนำจะไม่ใช่ราคาเต็มเท่ากับราคาพระเครื่องนั้นในท้องตลาด โดยทั่วไปราคารับจำนำจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50-60 แต่กฎเกณฑ์นี้ก็ไม่แน่นอนเสมอไป โดยเฉพาะกับพระยอดนิยมและหายากอย่างพระชุดเบญจภาคี และบรรดาพระกรุเก่าๆทั้งหลาย ซึ่งราคารับจำนำจะไม่ค่อยต่างจากราคาในตลาดมากนัก แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพของพระเครื่องด้วย หลักเกณฑ์ในการรับจำนำพระเครื่องนั้นจะแตกต่างจากหลักเกณฑ์ของโรงรับจำนำ คือ ทันทีที่มีการเจรจาตกลงกันเรียบร้อยว่าจะมีการรับจำนำ ผู้ที่รับจำนำจะหักดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนทันที ในขณะที่โรงรับจำนำจะคิดดอกเบี้ยเมื่อเวลานำเงินมาถ่ายคืนเท่านั้น ส่วนระยะเวลาในการรับจำนำขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างเจ้าของพระและผู้รับจำนำ ซึ่งบางรายอาจจะจำนำในระยะสั้นเพียงแค่ 1 เดือน แต่บางรายก็อาจจำนำติดต่อกันนานกว่า 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของพระมีความเดือดร้อนในเรื่องการเงินมากน้อยเพียงใด แหล่งรับจำนำพระเครื่องมีทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่ในกรุงเทพฯจะเป็นแหล่งใหญ่

หลักที่สำคัญของผู้ที่ประกอบธุรกิจรับจำนำพระเครื่องคือ ต้องดูพระเป็น นอกจากนี้แล้วยังต้องแม่นยำในเรื่องราคา ต้องรู้ว่าในขณะนั้นพระเครื่ององค์นั้นๆมีราคาซื้อขายในท้องตลาดเท่าใด ถ้าไม่เช่นนั้นก็อาจจะได้พระปลอม หรือมีการตีราคาสูงกว่าราคาในตลาด ส่วนในกรณีที่ผู้รับจำนำไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นพระแท้หรือไม่ หรือเจ้าของพระไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคย ก็จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อรับประกันความปลอดภัย เช่น การทำหนังสือสัญญาที่ออกให้ในรูปของการกู้ยืมเงิน หรือการเซ็นเช็คล่วงหน้าค้ำประกันไว้

6.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ได้แก่ ธุรกิจทำกรอบพระ(ราคาจำหน่ายกรอบละ 50-200 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำกรอบและขนาดของพระเครื่อง) เลี่ยมพระ(ราคาประมาณองค์ละ 100-150 บาท) รวมทั้งหนังสือพระที่มีจำหน่ายในปัจจุบันประมาณ 40 ฉบับ โดยหนังสือพระเหล่านี้อยู่ได้ด้วยโฆษณาต่างๆเกี่ยวกับพระเครื่อง ซึ่งจากการสอบถามบรรดาผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องแล้วปรากฏว่าหนังสือพระนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ หนังสือพระที่จะมีการนำเสนอราคากลางหรือราคาตลาดของพระเครื่องแต่ละรุ่น ซึ่งนิยมเรียกกันในหมู่นักเลงพระว่า หั่งเช้งพระเครื่อง โดยยอดจำหน่ายหนังสือพระเครื่องประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ธุรกิจรับจำนำพระเครื่องเฟื่องฟู หนังสือพระอีกประเภทหนึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับวิชาการด้านพระเครื่องโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของผู้นิยมอ่านหนังสือพระเครื่องในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเริ่มที่จะหันไปซื้อหนังสือพระมือสอง หรือหนังสือพระเล่มเก่าๆ เนื่องจากยังสามารถอ่านไว้ประดับความรู้ได้โดยข้อมูลยังไม่ล้าสมัย

ในช่วงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ธุรกิจรับถ่ายภาพพระเครื่องเริ่มเฟื่องฟู มีผู้รับถ่ายภาพพระเครื่องกระจายอยู่ตามศูนย์พระเครื่องต่างๆทั่วประเทศ ค่าบริการขึ้นกับชื่อเสียงของช่างภาพและสถานที่เป็นหลัก (ราคาอยู่ในระหว่าง 40-50 บาทต่อภาพ) ภาพถ่ายพระเครื่องนั้นมีการนำไปใช้งานหลายด้านคือ ใช้ในการนำเสนอ โดยใช้เป็นภาพประกอบบทความ ใช้ประกอบในการเสนอให้เช่า(ขาย)พระเครื่อง ใช้ประกอบการขอรับใบรับรองว่าพระเครื่ององค์นั้นแท้หรือไม่ ใช้ประกอบใบประกาศของงานประกวดพระเครื่อง-พระบูชา และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในกรณีที่พระเครื่ององค์นั้นถูกโจรกรรม เนื่องจากพระเครื่อง-พระบูชาแต่ละองค์นั้นมักจะมีตำหนิที่แตกต่างกันพอที่ให้ผู้ชำนาญแยกแยะได้

ธุรกิจการจัดประกวดพระนับว่าเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการจัดประกวดพระเครื่องนั้นมีการจัดเพียงเดือนละครั้ง แต่ในปัจจุบันมีการจัดกันแทบทุกอาทิตย์ และมีการพัฒนาโดยมีธุรกิจต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง จำนวนรายการพระเครื่องที่เข้าประกวดก็เพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน จากที่เคยมีการส่งเข้าประกวดเพียง 20-30 รายการเท่านั้น ในช่วงแรกๆที่มีการจัดประกวดนั้นมีการจัดเก็บค่ารายการหรือสปอนเซอร์เพื่อบรรจุพระเครื่องเข้าประกวด แต่ปัจจุบันการจัดเก็บค่ารายการนั้นไม่ค่อยมีแล้ว แต่เป็นการคัดเลือกจากกลุ่มหรือคณะของผู้จัดการประกวดเป็นหลัก

ปัจจุบันการประกวดแต่ละครั้งมีพระเครื่องไม่น้อยกว่า 1,500 รายการ (บางงานอาจจะมากถึง 3,000 รายการ)ทั้งนี้เพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจการจัดประกวดพระเครื่องนั้นแยกออกได้เป็นดังนี้ ด้านรายรับมาจากค่าผ่านประตูปกติจะเก็บประมาณ 20 บาทต่อคน ค่าแผงจรเก็บประมาณโต๊ะละ 150 บาท ค่าส่งพระเข้าประกวดประมาณองค์ละ 200-500 บาท และเงินบริจาคซึ่งได้จากคณะกรรมการและแผงจร ส่วนในด้านค่าใช้จ่ายนั้นแยกเป็นค่าเลี้ยงรับรองกรรมการ(จัดก่อนวันงานประกวด 1 วัน) ค่าเช่าสถานที่ ค่าอาหารเลี้ยงกรรมการและสื่อมวลชน ค่าถ่ายภาพพระเครื่องและใบประกาศ ค่าของรางวัล และค่าพิมพ์แผ่นพับเพื่อประชาสัมพันธ์งานประกวด ซึ่งคณะผู้จัดการประกวดพระเครื่องต้องมีการยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่าย(ยกเว้นเงินบริจาค)ส่งให้กับสมาคมผู้นิยมพระเครื่อง-พระบูชาไทยรับทราบ ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการและเพื่อประกอบการพิจารณาในการขออนุญาตจัดงานประกวดพระเครื่องครั้งต่อไป

นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่องและอยู่ควบคู่กับวงการพระเครื่องมานานแล้ว คือ อุปกรณ์การสะสม เช่น ตลับใส่พระ สร้อยคอ แหนบแขวนพระ กล่องใส่พระ รวมทั้งร้านทองรูปพรรณต่างๆที่รับเลี่ยมพระ และจำหน่ายกรอบพระ ตลอดจนร้านจำหน่ายเครื่องเงินที่รับทำกรอบพระและตลับใส่พระเครื่อง แม้แต่ช่างไม้ที่รับทำฐานรองพระบูชา ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่อง และมีแนวโน้มเติบโตควบคู่กับไปธุรกิจพระเครื่องด้วยเช่นกัน

บทสรุป

ธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องนับว่าเป็นธุรกิจหนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามอง หลังจากในปี 2546 ที่ธุรกิจเหล่านี้มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และในปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2548 วงการพระเครื่องยังคงมีแนวโน้มคึกคักอย่างต่อเนื่อง หลายปัจจัยที่ชี้ชัดได้ว่าธุรกิจเหล่านี้กลับเข้ามาอยู่ในยุคเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่งกล่าวคือ ราคาพระเครื่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคล รวมทั้งการจัดประกวดพระเครื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ ธุรกิจแผงพระที่เริ่มมีผู้คนคึกคักมากขึ้น และบรรดาผู้ประกอบธุรกิจแผงพระเริ่มขยายธุรกิจมากขึ้น โดยการเปิดกิจการในหลายพื้นที่ รวมทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่มีนักลงทุนชาวต่างประเทศหันมาสนใจเช่าพระเครื่องและวัตถุมงคลจากไทยเพื่อนำไปให้เช่าต่อสำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่องและวัตถุมงคลของไทยในต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจพระเครื่องและหลากธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีเม็ดเงินหมุนเวียนคล่องตัวมากขึ้น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าเม็ดเงินในธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในปี 2548 นี้สูงถึงเกือบ 20,000 ล้านบาท และธุรกิจเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะยังมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 10-20 ต่อปี

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากคือ ธุรกิจพระเครื่องนั้นไม่ได้เฟื่องฟูเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์นั้นก็มีแผงพระเครื่องด้วย โดยในมาเลเซียมีแผงพระอยู่เกือบทุกรัฐ โดยแต่ละรัฐจะมีแผงพระ 2-3 แผงเป็นอย่างน้อย ส่วนในสิงคโปร์มีแผงพระอยู่กว่า 300 แผง นอกจากนี้ในไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ในยุโรป และสหรัฐฯโดยเฉพาะในแหล่งที่เป็นที่ชุมชนของคนเอเชียที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่มีแนวโน้มว่าจะมีการตั้งแผงพระ เนื่องจากพระเครื่องนั้นเป็นที่นิยมในกลุ่มคนต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซด์ ซึ่งบางเว็บไซด์ก็เป็นภาษาอังกฤษ และการเผยแพร่ข้อมูลของหนังสือพระเครื่องที่มีอยู่ถึง 40 ฉบับในปัจจุบัน ทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจเรื่องราวของพระเครื่อง รวมทั้งชีวประวัติของบรรดาเกจิอาจารย์ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนชาวไต้หวันเริ่มเข้ามารุกธุรกิจพระเครื่อง โดยเริ่มต้นจากธุรกิจภาพถ่ายสามมิติ และการผลิตเครื่องรางของขลังแบบจีน ซึ่งทำให้เล็งเห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจพระเครื่อง/เครื่องลางของขลังในเมืองไทย