ส้มจีน-ส้มไทย : คู่แข่ง…คู่ค้า

ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปี และเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 นี้ ผลไม้นับว่าเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาจัดเป็นกระเช้าของขวัญ และนำมาไหว้เจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคล ผลไม้ยอดนิยมส่วนใหญ่จะเป็นส้ม ตั้งแต่ปี 2546 ไทยนำเข้าส้มจากจีนมากเป็นอันดับหนึ่งของไทย จากที่จีนเคยครองอันดับสามรองจากออสเตรเลียและสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเขตเสรีทางการค้าระหว่างไทย-จีน ซึ่งส่งผลให้ราคาส้มในตลาดประเทศไทยมีแนวโน้มถูกลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ส้มในประเทศมีราคาถูกลงส่วนหนึ่งก็เนื่องจากมีการขยายการปลูกส้มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่ส้มในประเทศมีราคาถูกลงทำให้ผู้ประกอบธุรกิจส้มรายใหญ่หันไปเพิ่มการส่งออก แต่จีนก็เป็นคู่แข่งสำคัญที่น่าจับตามองในการขยายตลาดส่งออกส้มของไทย

ส้มจากจีน…ไทยนำเข้าอันดับหนึ่ง

การนำเข้าส้มของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้าส้มขยายตัวอย่างชัดเจนในช่วงปี 2546 อันเป็นผลมาจากการเปิดเขตเสรีการค้าไทย-จีน และการที่ปริมาณผลผลิตส้มของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้จีนเริ่มขยายตลาดส่งออกส้ม โดยตลาดเป้าหมายหลักคือ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คุ้นเคยกับส้มรสชาติแบบเอเชีย คาดว่ามูลค่าการนำเข้าส้มของไทยในปี 2547 เท่ากับ 44 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2546 ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 37.27 ล้านบาทแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 ประเภทของส้มที่นำเข้าร้อยละ 70 เป็นการนำเข้าส้มเปลือกบาง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นการนำเข้าส้มเขียวหวาน โดยจีนนับว่าเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนตลาดถึงร้อยละ 88.1 ของมูลค่าการนำเข้า ซึ่งการนำเข้าส้มจากจีนมีการขยายตัวอย่างโดดเด่นตั้งแต่ปี 2546 ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งนำเข้าส้มที่สำคัญของไทยแทนที่ออสเตรเลียและสหรัฐฯ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ส้มของจีนบางส่วนนั้นยังคงมีการลักลอบนำเข้าผ่านทางชายแดน ดังนั้นคาดการณ์ว่าปริมาณส้มของจีนที่เข้ามาในตลาดไทยนั้นมีปริมาณมาก ซึ่งนับว่าส่งผลอย่างมากต่อราคาส้มในประเทศไทย โดยราคาส้มในประเทศนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตส้มในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ราคาส้มที่มีแนวโน้มตกต่ำลงเป็นไปตามการคาดการณ์ของผู้ค้าและชาวสวนส้มเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เนื่องจากมีการขยายการปลูกส้มกันมาก โดยเฉพาะส้มสายน้ำผึ้ง โดยมีราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจ แต่เกษตรกรรายย่อยไม่มีการควบคุมคุณภาพในการปลูกและการเก็บ ทำให้ส้มที่จำหน่ายได้ราคาตกต่ำและไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด ในขณะที่ส้มจากผู้ปลูกส้มรายใหญ่ที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดนั้นยังคงจำหน่ายได้ในราคาดี ดังนั้นทางออกของเกษตรกรรายย่อยคือ การเร่งปรับกลยุทธ์ในการควบคุมคุณภาพเพื่อให้จำหน่ายสินค้าให้ได้ราคา และเร่งพิสูจน์หรือหาทางให้ผู้บริโภคยอมรับ ส่วนเกษตรกรรายใหญ่อาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากการที่ส้มมีมากเกินความต้องการของตลาด เนื่องจากคนไทยบางส่วนหันไปบริโภคส้มจากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่า ปัจจุบันผู้ผลิตส้มรายใหญ่ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพ ซึ่งในอนาคตคาดว่าราคาส้มน่าจะอยู่ที่ระดับกิโลกรัมละ 20 บาท จากในปัจจุบันราคาประมาณ 35-40 บาท ซึ่งในเวลานั้นผู้ผลิตส้มรายใหญ่ก็จะยังได้กำไรเนื่องจากผลผลิตเฉลี่ยได้ไร่ละ 8-9 ตัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ผลิตส้มรายย่อยที่ผลิตได้เพียงไร่ละประมาณ 5-6 ตันเท่านั้น

ส้มจากจีน…คู่แข่งในการขยายตลาดส่งออกส้มของไทย

ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตส้มรายใหญ่ของโลกคือ สเปน บราซิล สหรัฐฯ และโมร็อคโค แต่ในส่วนของภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนียประเทศคู่แข่งสำคัญในการผลิตส้มของไทยคือ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ช่องว่างของตลาดเอเชียคือ ส้มรสชาติแบบเอเชีย ที่มีทั้งความหวาน หอม และอมรสเปรี้ยว แตกต่างจากส้มจากตะวันตกที่มีรสเปรี้ยวนำ แต่มีผิวและสีสวย ซึ่งตลาดบางตลาดจึงต้องการส้มรสชาติแบบเอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายตลาดของส้มจากไทย ซึ่งการเร่งขยายตลาดส่งออกส้มเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ที่นิยมส้มเปลือกบางโดยเฉพาะ
คาดว่ามูลค่าส่งออกส้มของไทยในปี 2547 ขยายตัวอย่างมากเป็น 54 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2546 ที่มีมูลค่าการส่งออกส้มเพียง 16.7 ล้านบาทแล้วเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.3 และในปี 2548 คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากส้มของจีน โดยประเภทส้มที่ไทยส่งออกมากคือ ส้มเขียวหวาน ตลาดหลักยังคงเป็นตลาดในเอเชีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

ตลาดที่ไทยมุ่งหวังที่จะขยายการส่งออกส้มต่อไปคือ ตลาดประเทศต่างๆที่มีชาวเอเชียอพยพไปตั้งรกรากอยู่ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา เป็นต้น สำหรับตลาดในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และแคนาดา ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยเพิ่งบุกเบิกการส่งออกส้มในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยใช้กลยุทธ์เจาะตลาดเองโดยตรง

กล่าวคือ เดินทางไปติดต่อยังผู้นำเข้าของที่นั่น นำตัวอย่างให้ดูแล้วก็ได้รับคำสั่งซื้อมา สาเหตุที่เน้นเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเขตร้อนชื้น อายุของต้นส้มจะไม่ยืนและให้ผลผลิตไม่ดีเท่าผลผลิตส้มในเขตภาคเหนือของไทย อย่างไรก็ตามราคาส้มที่ส่งออกนั้นได้กำไรน้อยกว่าขายภายในประเทศ แต่ผู้ประกอบการธุรกิจสวนส้มจำเป็นต้องมีปริมาณในการส่งออกเพื่อให้เกิดตลาดใหม่ ทั้งนี้เพื่อรองรับตลาดภายในที่คาดการณ์ว่าในอนาคตราคาจะค่อนข้างผันผวนกล่าวคือ ทั้งจากปัญหาผลผลิตมากเกินความต้องการ และการเข้ามาแย่งตลาดในประเทศของส้มจากจีน อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2546 จีนระบายส้มออกสู่ต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ระยะยาวจีนจะเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกส้มของไทย ทั้งในตลาดเอเชีย และตลาดที่ไทยกำลังจะขยายการส่งออกส้ม

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯคาดการณ์ว่าปัจจุบันไทยมีเนื้อที่ปลูกส้มประมาณ 500,000 ไร่ ปริมาณผลผลิตส้มแต่ละปีประมาณ 4 ล้านตัน โดยแหล่งปลูกสำคัญอยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ สุโขทัย และน่าน ซึ่งประเภทของส้มนั้นแยกเป็นส้มบางมดประมาณร้อยละ 70 และส้มสายน้ำผึ้งหรือส้มโชกุนประมาณร้อยละ 30 ต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตส้มที่ตกกิโลกรัมละ 18 บาท

ในขณะที่ปัจจุบันธุรกิจสวนส้มของไทยยังคงมีการขยายพื้นที่ปลูก ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับสภาพตลาดก็คือ ต้องเร่งสร้างยี่ห้อสินค้าให้ติดตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของส้มจากไทย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การขยายตลาดส่งออกประสบความสำเร็จ รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกส้มพันธุ์ดีและมีคุณภาพ เนื่องจากส้มไทยยังสามารถแข่งกับส้มจีนได้ด้วยคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

บทสรุป

ส้มนับว่าเป็นหนึ่งในผลไม้ยอดนิยมทั้งในการจัดกระเช้าผลไม้ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปี และในช่วงเทศกาลตรุษจีนก็ถือว่าส้มเป็นหนึ่งในผลไม้มงคลที่ขาดไม่ได้สำหรับการไหว้เจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งส้มยังเป็นผลไม้ยอดนิยมของคนไทยอีกด้วย ประเด็นที่น่าสนใจคือ จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งส้มเข้ามาในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2546 อันเป็นอานิสงส์จากข้อตกลงการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกส้มในไทยก็มีการขยายสวนส้มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณส้มในประเทศเพิ่มขึ้น จนส่งผลให้ราคาส้มมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจสวนส้มรายใหญ่จึงเริ่มขยายตลาดส่งออกส้ม ทั้งนี้เพื่อรองรับกับปริมาณส้มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดในประเทศทั้งจากผู้ผลิตรายย่อย และส้มที่นำเข้าจากจีน

อย่างไรก็ตามคาดว่าการส่งออกส้มของไทยจะเผชิญการแข่งขันกับจีน เนื่องจากปริมาณการผลิตส้มของจีนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลจีนวางเป้าหมายว่าในปี 2555 จีนจะเป็นแหล่งผลิตส้มที่สำคัญที่สุดในเอเชีย และจีนก็ขยายตลาดส่งออกส้ม โดยตลาดเป้าหมายส่งออกของจีนคือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่มีชาวเอเชียไปอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่มากไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และแคนาดา ดังนั้นการแข่งขันในตลาดส่งออกส้มก็จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส้มของไทยต้องเน้นการสร้างตรายี่ห้อเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของส้มไทยในตลาดโลก รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกส้มพันธุ์ดี เนื่องจากคุณภาพของส้มจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเจาะขยายตลาดส่งออก