17 กุมภาพันธ์ 2548 – สายการบิน แควนตัส ประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรกก่อนหักภาษีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2547 ด้วยยอดเงิน 18, 640.30 ล้านบาท (601.3 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น 13.4 เปอร์เซ็นต์ และมีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเป็นเงิน 14,210.40 ล้านบาท (458.4 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 28.1 เปอร์เซ็นต์
ในการนี้ คณะกรรมการบริหารสายการบินได้ประกาศเงินปันผลกลางปีเป็นเงิน 3.10 บาท (10 เซ็นต์) ต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.62 บาท (2 เซ็นต์) ต่อหุ้น
นางมากาเร็ท แจ็คสัน ประธานสายการบิน แควนตัส เปิดเผยว่า “แควนตัสยังคงทำกำไรอย่างต่อเนื่องการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเปลี่ยนนโยบายการจ่ายเงินปันผล สะท้อนความมั่นใจของคณะกรรมการบริหารในความสามารถของสายการบิน และยังช่วยในเรื่องเงินสดหมุนเวียนในอนาคต เราเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นในการให้รางวัลแก่ผู้ถือหุ้นโดยการจ่ายเงินปันผล ขณะที่ยังคงลงทุนเพื่ออัตราการเติบโตต่อไป”
ทางด้าน มร. เจ๊ฟ ดิ๊กสัน ประธานกรรมการบริหาร สายการบิน แควนตัส เปิดเผยว่า แควนตัสยังคงสร้างความเติบโตในการดำเนินธุรกิจและผลงาน ขณะที่การดำเนินงานยังมีผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนคือ
• ความแข็งแกร่งของธุรกิจการบินภายในประเทศซึ่งสามารถทำรายได้ถึง 12,093.10 ล้านบาท (390.1 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) เพิ่มขึ่นจากปีก่อนหน้า 2,052.20 ล้านบาท (66.2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) หรือคิดเป็น 20.5 เปอร์เซ็นต์
• รายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลจากการนำเครื่องบิน แอร์บัส เอ330 มาให้บริการในเส้นทางภูมิภาคและการติดตั้งเก้าอี้ชั้นธุรกิจ “สกายเบ้ด” ที่สามารถปรับนอนได้
• การดำเนินธุรกิจด้วยแผนการจัดเก็บภาษีน้ำมัน (เซอร์ชาร์ทค่าน้ำมัน) ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
• การลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 4.0 เปอร์เซ็นต์ ไม่รวมการเปลี่ยนแปลงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
• การเติบโตของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ (คาร์โก้) ด้วยการให้บริการเพิ่มขึ้น
มร. ดิ๊กสัน กล่าวว่า “ความสำเร็จของธุรกิจการบินเส้นทางภายในประเทศแสดงถึงการวางกลยุทธ์ของสายการบินในการเชื่อมเครือข่ายและขีดความสามารถ ขณะที่ยังสามารถยืนหยัดด้านการบริการสำหรับลูกค้าตลาดต่าง ๆ นอกจากนั้น การเปิดตัวสายการบินเจ็ทสตาร์ในเดือนพฤษภาคม 2547 เป็นไปเกินคาด โดยเจ๊ทสตาร์จะยังคงให้บริการในตลาดด้านท่องเที่ยวภายในประเทศต่อไป ด้วยฝูงบินแอร์บัส เอ320 ลักษณะที่นั่งชั้นเดียว”
มร. ดิ๊กสัน กล่าวต่อไปว่า “สำหรับตลาดต่างประเทศยังคงมีการแข่งขันอย่างดุเดือด เน้นการตัดราคาในการนี้แควนตัสมีกลยุทธ์ที่จะเพิ่มปริมาณที่นั่งในตลาดต่างประเทศหลัก ๆ แม้ว่าอัตราการเติบโตด้านรายได้จะไม่สัมพันธ์กับจำนวนที่นั่ง แต่ด้วยการแนะนำบริการที่นั่งชั้นธุรกิจ “สกายเบ้ด” ใหม่เสริมให้ผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจในลำดับต่อมา
“ความแข็งแกร่งเชิงกลยุทธ์ในแบรนด์ของเรา ด้วยการแนะนำที่นั่งชั้นธุรกิจ “สกายเบ้ด” รวมทั้งการเปิดให้บริการไปอินเดียและจีน การให้บริการในเส้นทางใหม่ไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษผ่านฮ่องกง ยังคงช่วยก่อให้เกิดการกระตุ้นในตลาดต่อไป อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องมีการปรับปรุงด้านราคา เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ที่เป็นสายการบินในเครือหรือที่มีภาครัฐเป็นเจ้าของ” มร. ดิ๊กสัน กล่าวเสริม
มร. ดิ๊กสัน กล่าวว่า “แควนตัสยังคงยึดมั่นในเรื่องการสร้างโอกาสทางการแข่งขัน เราต้องการเสรีในการเติบโตทางธุรกิจ และการยอมรับ อย่างไรก็ตามในเรื่องระบบทวิภาคี การดำเนินธุรกิจการบินมีความสลับซับซ้อน และไม่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในการแข่งขันสำหรับตลาดที่สาม เว้นเสียแต่มีการดำเนินการด้านเสรีนิยมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามแควนตัสได้ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสร้างอัตราการเติบโตให้แก่สายการบิน ในการนี้ได้มีการจัดแผนการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถช่วยประหยัดเงินในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาถึง 7,595 ล้านบาท (245 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) และมั่นใจว่าจะสามารถประหยัดเงินทั้งปีได้ถึง 15,500 ล้านบาท (500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) ตลอดระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า เราจะทบทวนในเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการวางแผนไว้ว่าควรจะเดินหน้าต่อไป หรือว่าควรจะปรับเปลี่ยนใหม่”
มร. ดิ๊กสัน กล่าวต่อไปว่า แควนตัสยังคงมุ่งเน้นดำเนินงานเพิ่มผลกำไร โดยในระยะเวลา 8 ปีที่ ผ่านมาได้มีการจ้างงานเพิ่มมากกว่า 10,000 อัตรา ในการนี้ ทางสายการบินฯ จะพยายามหาแนวทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมในซึ่งแตกต่างจากสายการบินอื่นทั่วไป อีกทั้งยังจะหาแหล่งบริการอื่น ๆ ที่เหมาะสมจากทั่วโลก ขณะเดียวกันยังคงสร้างความเติบโตของธุรกิจที่มีฐานอยู่ในประเทศออสเตรเลียต่อไป ตัวอย่างเช่น การเปิดสำนักงานลูกเรือแห่งใหม่จำนวน 400 คน ที่มีฐานอยู่ที่กรุงลอนดอนปลายเดือนนี้
รายได้ของธุรกิจทั้งหมด
ผลประกอบการครึ่งปีแรกสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2547 เป็นเงินรวม 198,400 ล้านบาท (6,400 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย) เพิ่มขึ้น 19,505.20 ล้านบาท (629.2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) หรือ 10.8 เปอร์เซ็นต์จากครึ่งแรกปีก่อนหน้า โดยไม่รวมความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ดังนั้นผลประกอบการเพิ่มขึ้นทั้งหมด 20,853.70 ล้านบาท (672.7 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) หรือ 11.6 เปอร์เซ็นต์
รายได้สุทธิจากผู้โดยสารเป็นเงิน 155,000 ล้านบาท (5.0 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย) โดยในการนี้เป็นค่าภาษีน้ำมัน (เซอร์ชาร์ทค่าน้ำมัน) ที่เพิ่มเข้ามา 11,246.80 ล้านบาท (362.8 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) หรือ 7.9 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น รายได้ผู้โดยสารต่อตารางกิโลเมตรเพิ่มขึ้น 8.6 เปอร์เซ็นต์
รายได้ที่ไม่ได้มาจากผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 22.4 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มเข้ามา นอกจากนั้นยังมีค่าเซอร์ชาร์ทน้ำมันของสินค้าขนส่งทางอากาศ การเติบโตของตลาดทัวร์ต่างประเทศ อัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
ค่าใช้จ่าย
รวมค่าใช้จ่ายเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นราว 10.6 เปอร์เซนต์ หรือ 17,304.20 ล้านบาท (558.2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) เป็น 179,800 ล้านบาท (5,800 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) อัตราที่เพิ่มเข้ามาเกิดจากอัตราน้ำมันที่สูงขึ้นคิดเป็นเงินถึง 5,059.20 ล้านบาท (163.2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) ในส่วนค่าใช้จ่ายด้านเครื่องบินเพิ่มขึ้น 10.4 เปอร์เซนต์ หรือ 3,580.50 ล้านบาท (115.5 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) เนื่องจากอัตราค่าจอดเครื่องบิน และค่าบิน ตลอดจนค่ารักษาความปลอดภัย และค่าดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้น