ชาวอิตาเลียนเป็นผู้ที่นิยมใช้ดอกไม้ตกแต่งสถานที่ตามวาระต่างๆค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันชาวอิตาเลียนยังนิยมใช้ดอกไม้สดซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขเป็นของขวัญและของฝาก และนิยมนำดอกไม้ประดิษฐ์มาเป็นวัสดุตกแต่งห่อของขวัญของประดับของชำร่วยสำหรับเทศกาลต่างๆด้วย โดยอิตาลีนับเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถหาซื้อดอกไม้สด หรือต้นไม้ได้จากร้านแผงลอยตามมุมถนนทั่วไปและมักจะเปิดให้บริการจนดึก นอกจากนี้ร้านค้าดังกล่าวบางแห่งก็มีดอกไม้ประดิษฐ์วางจำหน่ายด้วย ซึ่งดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ที่ใช้ภายในประเทศมีทั้งที่ผลิตเองภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าดอกไม้ประดิษฐ์ในอิตาลีส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 เป็นการนำเข้าโดยผู้นำเข้าแล้วกระจายสินค้าต่อไปยังร้านค้าปลีก ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นการนำเข้าตรงโดยผู้ค้าปลีกค้าส่งและร้านค้าที่จำหน่ายงานฝีมือและหัตถกรรม สำหรับฤดูกาลสั่งซื้อดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ของชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่คือเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปีเพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาลคริสมาสต์ และเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ สำหรับเทศกาลอีสเตอร์และวันวาเลนไทน์
ทั้งนี้ตามรายงานของ Global Trade Atlas พบว่าในช่วงเดือนมกราคม –กันยายน 2547 อิตาลีนำเข้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์จากทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 58.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากจีนคิดเป็นมูลค่า 49.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 84.83 ของมูลค่าการนำเข้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์โดยรวมของอิตาลีในช่วงเวลาดังกล่าว ตามมาด้วยฮ่องกง(สัดส่วนร้อยละ 6.45 ) และเยอรมนี(สัดส่วนร้อยละ 2.57 )
สำหรับการค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ระหว่างไทยกับอิตาลี พบว่า ปี 2547 นับเป็นปีแรกในรอบ 6-7 ปีที่สินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ไทยไปยังตลาดอิตาลีมีอัตราการเติบโตเป็นบวกหรือเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้อิตาลีนำเข้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์จากไทยลดน้อยถอยลงตามลำดับ จากมูลค่า 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2542 เหลือเพียงมูลค่า 0.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2546 โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2547 อิตาลีนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยคิดเป็นมูลค่า 0.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546 และสินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ของไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 5 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 1.33
นอกจากนี้อิตาลียังเป็นเพียงหนึ่งในสี่ประเทศคู่ค้า 10 อันดับแรกของไทยเท่านั้นที่ไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าประเภทนี้เพิ่มขึ้น สำหรับประเภทสินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2547 พบว่าเป็นดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ที่ผลิตจากวัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช่พลาสติก อาทิเช่นผ้าไหม ใบยางพารา และผ้าอื่นๆ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่า 0.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546 และไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 5 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 1.14 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ที่ผลิตจากวัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช่พลาสติกในตลาดอิตาลี
ส่วนดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากพลาสติกที่อิตาลีนำเข้าจากไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.5 ของมูลค่าการนำเข้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ไทยโดยรวมก็เพิ่มขึ้นเช่นกันในระดับร้อยละ 150.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546 และไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 5 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 2.22 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ที่ผลิตจากพลาสติกในตลาดอิตาลี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ของไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดอิตาลีมากขึ้นตามลำดับจะเป็นสินค้าคุณภาพสูงโดยเฉพาะดอกไม้ที่ผลิตจากผ้าไหมที่มีราคาค่อนข้างแพงและดูแลยากที่มักนิยมใช้เพื่อการตกแต่งในสถานที่โอ่อ่าอย่างห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเป็นส่วนใหญ่ แต่หากเปรียบเทียบกับสินค้าจากจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และศรีลังกา ที่พบว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุที่ดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยาก อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าของไทย
สินค้าดอกไม้ประดิษฐ์จากไทยจึงค่อนข้างจำกัดในวงแคบกว่าโดยเปรียบเทียบ และเมื่อพิจารณาจากค่าดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบหรือ RCA(Revealed Comparative Advantage ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนถึงขีดความสามารถของสินค้าแต่ละประเภทของประเทศใดประเทศหนึ่งที่ส่งไปจำหน่ายในตลาดใดตลาดหนึ่ง โดยหากค่า RCA มีค่ามากกว่า 1 แสดงว่าสินค้าของประเทศนั้นมีความสามารถโดยเปรียบเทียบในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดนั้นๆ) ที่พบว่าสินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ไทยในตลาดอิตาลีในช่วง 9 เดือนแรกปี 2547 มีค่า RCA เท่ากับ 2.93 ขณะที่ในปี 2546 ค่า RCA ของสินค้าประเภทนี้ของไทยในตลาดอิตาลีมีค่าเท่ากับ 3.43 และในปี 2545 ค่า RCA เท่ากับ 5.61 ส่วนปี 2544 ค่า RCA เท่ากับ 5.96 รวมถึงส่วนแบ่งตลาดของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2547 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 1.33 ซึ่งแม้ว่าเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 1.25 ในปี 2546 และไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 5 แต่สัดส่วนดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าส่วนแบ่งตลาดที่ไทยเคยสามารถครองสัดส่วนในระดับร้อยละ 5.4 ในปี 2542
ขณะที่คู่แข่งที่ครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ในตลาดอิตาลีอันดับ 1-4 อย่างจีน ฮ่องกง เยอรมนี และฝรั่งเศส กลับสามารถรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยระดับอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าและส่วนแบ่งตลาดของสินค้าประเภทนี้ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2547 จึงมีความเป็นไปได้ว่าศักยภาพการแข่งขันของสินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ของไทยในอิตาลีน่าจะยังมีโอกาสที่ดีในอนาคต แต่ขณะเดียวกันต้องเผชิญสถานการณ์การแข่งขันที่สูงมากขึ้นด้วย
ตารางที่ 1 RCA ของแหล่งนำเข้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ 10 ประเทศแรกของอิตาลี
ประเทศ 2544 2545 2546 ม.ค-ก.ย. 2547
1. จีน 30.71 26.37 24.01 19.16
2. ฮ่องกง 15.02 30.53 30.40 30.45
3. เยอรมนี 0.16 0.13 0.10 0.15
4. ฝรั่งเศส 0.12 0.13 0.13 0.13
5. ไทย 5.96 5.61 3.43 2.93
6. ออสเตรีย 0.54 0.46 0.31 0.45
7. เนเธอร์แลนด์ 0.20 0.28 0.14 0.13
8. ศรีลังกา 5.62 5.01 6.12 7.46
9. ฟิลิปปินส์ 2.29 4.18 3.16 7.06
10.อินโดนีเซีย 0.26 0.78 0.38 0.50
ที่มา : Global Trade Atlas
รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
หมายเหตุ : RCA = สัดส่วนการนำเข้าสินค้า Y ต่อการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของประเทศ B จากประเทศ A สัดส่วนการนำเข้าสินค้า Y ต่อสัดส่วนการนำเข้าทั้งหมดของประเทศ B จากทุกประเทศ หากค่า RCA มีค่ามากกว่า 1 แสดงว่าสินค้าของประเทศ A มีความสามารถโดยเปรียบเทียบในการแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศ B
ดังนั้นเพื่อขยายตลาดและรักษาโอกาสที่อิตาลีเริ่มหันมาสนใจสินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์จากไทยให้เพิ่มขึ้นในปี 2548 และให้มีความต่อเนื่องแบบยั่งยืน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวทางการปรับปรุงที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการได้แก่
– ผู้ประกอบการดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ควรเร่งพัฒนาความแข็งแกร่งโดยอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐควบคู่กันไปโดยเฉพาะในด้านการเงินทั้งในส่วนการให้ความรู้ในด้านการบริหารการเงินและการหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการซื้อวัตถุดิบสำหรับการผลิต และเพื่อการขยายตลาดและเสริมสภาพคล่องให้มากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการ และการบริหารต้นทุนการผลิตอย่างเป็นระบบด้วย
– การนำเสนอสินค้าดอกไม้ที่มีความหลากหลายและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ให้แก่ตลาด อีกทั้งยังเป็นการสร้างความแตกต่างจากสินค้าของประเทศคู่แข่งได้ด้วย ทั้งนี้ควรเน้นการผลิตที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแนวใหม่ให้ดูเป็นธรรมชาติเหมือนจริงมากขึ้น เช่นการผลิตจากใบยางพารา ใบไม้หรือกิ่งไม้แห้งที่ทำจากใบมะพร้าว รวมถึงที่ทำจากป่าน เป็นต้น เพราะตลาดอิตาลีนิยมของเหมือนจริงค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสีสัน หรือรูปทรง
– การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการผลิตควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อก่อให้เกิดมาตรฐานการผลิตในลักษณะที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ประกอบการผลิตดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ของไทยจำนวนไม่น้อยยังเผชิญกับปัจจัยภายในอย่างความรู้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และคุณภาพการผลิตที่ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควรไม่ว่าจะเป็นด้านสี หรือขนาดที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรต้องเร่งปรับตัวโดยด่วนก่อนที่สินค้าประเภทนี้ของไทยจะสูญเสียโอกาสทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคตท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะทั้งจากคู่แข่งรายเดิมและผู้ส่งออกรายใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหันมาให้ความสำคัญต่อการนำหรือผลิตคิดค้นเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างจริงจัง
– ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐควรเร่งศึกษาถึงความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มลูกค้า รวมถึงความเคลื่อนไหวของคู่แข่ง ทั้งนี้เพื่อนำผลของการศึกษามาพัฒนารูปแบบของสินค้าให้เป็นไปตามกระแสแฟชั่นและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอิตาลี อีกทั้งการศึกษายังจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดทำแผนการตลาดในอนาคตได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะในส่วนของการกำหนดสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะแก่สภาพสังคม วัฒนธรรมและความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรหันมาให้ความสำคัญต่อบรรจุหีบห่อมากขึ้นโดยเฉพาะหีบห่อสำหรับดอกไม้ประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องประดับตกแต่งกาย เพราะคนอิตาเลียนนอกจากจะให้ความใส่ใจต่อการแต่งตัวแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามด้วย
– ส่งเสริมการขายด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศอิตาลีอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อเจาะตลาดแนะนำผลิตภัณฑ์คุณภาพให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคที่นิยมสินค้าคุณภาพสูง และมีกำลังซื้อ โดยเน้นให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างในการใช้ประโยชน์จากการลงทุนซื้อดอกไม้ประดิษฐ์ไทยกับดอกไม้สดให้ชัดเจนมากขึ้น
– ขยายช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยในส่วนของดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ระดับราคาไม่สูงมากควรเน้นการขยายตลาดในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าส่ง แผงลอยตามท้องตลาด ตลาดนัด และสวนที่ขายต้นไม้ประดับและดอกไม้สด เป็นต้น ขณะที่สินค้าดอกไม้ประดิษฐ์ราคาแพงที่มักทำจากผ้าไหมควรพยายามนำเสนอเพื่อวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านขายดอกไม้ของตกแต่งเฉพาะดอกไม้ รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มโรงแรมผ่านบรรดาสถาปนิก หรือนักออกแบบตกแต่งภายในด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน รายงานว่าเศรษฐกิจของอิตาลีจะทรงตัว และมีการขยายตัวไม่มากนักนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป และประมาณการอัตราเงินเฟ้อของอิตาลีในปี 2548 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งจะมีผลให้ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนมีความวิตกต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและส่งผลโดยตรงต่อการผลิตทางอุตสาหกรรมและการจ้างงานในประเทศในปี 2548 แต่สินค้าดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ของไทยในตลาดอิตาลีในปี 2548 ยังน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงวิกฤตมาแล้วในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เพราะสินค้าดอกไม้ประดิษฐ์ไทยมีความหลากหลายและสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
ด้วยจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้นตามแรงสนับสนุนของภาครัฐในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ อีกทั้งความต้องการของตลาดอิตาลีโดยเฉพาะในกลุ่มห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารที่ทำงานที่มักต้องใช้ดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์เป็นจำนวนมากและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพื่อให้ชนิดและสีสันของดอกไม้สอดคล้องกับฤดูกาลหรือช่วงเทศกาลต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาการผลิตเพื่อการส่งออกของไทยก็ต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคตที่ไม่เฉพาะตลาดอิตาลีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านฝีมือการผลิต เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย การนำเสนอสินค้าในรูปแบบที่ควรมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อสนองตอบความต้องการตลาดลูกค้ากำลังซื้อสูง หรือการปรับตัวด้านโครงสร้างการผลิตเพื่อให้คุณภาพและราคาสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม รวมถึงกลยุทธ์การตลาดที่ต้องเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับภาวะการแข่งขันทั้งจากคู่แข่งขันรายเดิมในตลาดโลกและประเทศผู้ส่งออกรายใหม่ที่น่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ตารางที่ 2. แหล่งนำเข้าสินค้าดอกไม้ประดิษฐ์ของอิตาลี
มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนแบ่งตลาด : ร้อยละ
ประเทศ 2542 2543 2544 2545 2546 ม.ค.-ก.ย. 2547 2542 2543 2544 2545 2546 ม.ค.-ก.ย. 2547
1. จีน 48.82 52.20 52.44 48.15 58.05 49.43 83.36 84.69 86.86 83.76 86.87 84.83
2. ฮ่องกง 1.98 2.74 1.36 2.86 3.77 3.76 3.38 4.45 2.25 4.98 5.64 6.45
3. เยอรมนี 1.13 1.28 1.72 1.28 1.16 1.50 1.92 2.08 2.84 2.23 1.74 2.57
4. ฝรั่งเศส 0.65 0.69 0.78 0.88 0.98 0.81 1.12 1.12 1.29 1.54 1.46 1.39
5. ไทย
อัตราการขยายตัว % 3.16
na 1.78
(-43.7) 1.18
(-33.5) 1.08
(-8.7) 0.83
(-22.8) 0.78
(54.55) 5.40
na 2.89
(-46.5) 1.96
(-32.1) 1.88
(-4.2) 1.25
(-33.6) 1.33
(42.5)
6. ออสเตรีย 0.38 0.56 0.79 0.73 0.59 0.66 0.66 0.91 1.32 1.27 0.88 1.13
7. เนเธอร์แลนด์ 0.78 0.88 0.70 0.90 0.54 0.39 1.33 1.42 1.16 1.57 0.81 0.67
8. ฟิลิปปินส์ 0.19 0.11 0.09 0.13 0.12 0.26 0.32 0.19 0.15 0.22 0.17 0.44
9. ศรีลังกา 0.04 0.03 0.10 0.08 0.14 0.18 0.06 0.04 0.16 0.13 0.22 0.31
10.อินโดนีเซีย 0.02 0.01 0.06 0.17 0.10 0.12 0.04 0.02 0.10 0.30 0.15 0.21
รวม 57.15 60.28 59.22 56.26 66.28 57.89 97.59 97.81 98.09 97.88 99.19 99.33
อื่นๆ 1.42 1.36 1.16 1.23 0.54 0.38 2.41 2.19 1.91 2.12 0.81 0.67
มูลค่ารวม 58.57 61.64 60.38 57.49 66.82 58.27 100.0 100.0 100.0 100.0 100.0 100.0
ที่มา : Global Trade Atlas
รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด