ไต้หวันกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจชั่วคราว

4 มีนาคม 2548 – เลแมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก เผยว่า ดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไต้หวันบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไต้หวันกำลังอยู่ในภาวะการชะลอตัวลง โดยดัชนีดังกล่าวซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันมาเป็นระยะเวลา 1 ไตรมาสเริ่มลดบทบาทลงในเดือนพฤษภาคม 2547 ขณะที่ข้อมูลล่าสุดประจำเดือนธันวาคม 2547 ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด

ทั้งนี้ ไต้หวัน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 เป็นร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ซึ่งเลแมน บราเดอร์ส ประเมินว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะลดลงเหลือร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 และร้อยละ 3.1 ในไตรมาส 1 ปี 2548 โดยการชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลจากปัจจัยสำคัญหลายประการ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ความต้องการในการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงทั่วโลก ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไต้หวันในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโรคซาร์ส อย่างไรก็ตาม เลแมน บราเดอร์ส ยังคงเชื่อว่า เศรษฐกิจของไต้หวันจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 2 นี้ โดยจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2548 ร้อยละ 5

แม้ว่าปัญหาบางประการข้างต้นจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอีก 3 ประการที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของไต้หวัน ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งกับประเทศจีน สกุลเงินไต้หวันที่มีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง และสภาพคล่องภายในประเทศที่เหมาะสม

– ย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศจีน

แม้ว่าจะมีระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน แต่ระบบเศรษฐกิจของไต้หวันมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น
กับระบบเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกทั้งหมดของไต้หวันไปยังจีน
(รวมทั้งผ่านฮ่องกง) เพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่า จาก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2540 เป็น 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 ส่งผลให้จีนเป็นตลาดรายใหญ่ที่สุดของไต้หวันแทนสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นตลาดรายใหญ่ในปี 2546 และการส่งออกไปจีนมีสัดส่วนร้อยละ 28 ของการส่งออกทั้งหมดของไต้หวันในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ มูลค่าการลงทุนของไต้หวันเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตสินค้าที่ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการในประเทศจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2540 เป็น 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 (กรณีประเมินมูลค่าการลงทุนอย่างไม่เป็นทางการจะมีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งการลงทุนดังกล่าวเริ่มให้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ โดยเป็นผลจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจีนที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การว่าจ้างประเทศอื่นๆ ให้เป็นผู้ผลิตของไต้หวันก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าไปเปิดโรงงานในจีน โดยการผลิตสินค้าที่ใช้ชิ้นส่วนนำเข้าจากไต้หวันและผลิตให้มีมูลค่าเพิ่ม อาทิ เซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งจะมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าการผลิตในไต้หวัน ส่งผลให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในตลาดโลกเป็นสินค้าที่ส่งออกจากประเทศจีน และทำให้จีนเสียเปรียบดุลการค้าให้กับไต้หวันมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ซึ่งจากจำนวนบริษัทส่งออกชั้นนำ 100 แห่งของจีน จะมีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สูงถึง 19 แห่ง ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นและเกาหลีเข้าถือหุ้นในบริษัทของจีนเพียงรายละ 8 แห่งเท่านั้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความต้องการของตลาดโลกซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการชะลอตัวลงในปีนี้ ทำให้เลแมน บราเดอร์ส คาดการณ์ว่า ไต้หวันจะได้รับส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มสูงขึ้น โดยการส่งออกของไต้หวันคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในตัวเลขสองหลัก

ไต้หวันยังได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงถ่วงน้ำหนักด้วยดุลการค้า ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในระยะยาวร้อยละ 13

นอกจากนี้ การที่ไต้หวันใช้ประเทศจีนเป็นฐานในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศซึ่งทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำนั้น ส่งผลให้บริษัทของไต้หวันมีความสามารถในการแข่งขันในตลาด รวมถึงประเทศจีน แต่ประโยชน์ของการใช้ประเทศจีนเป็นฐานการผลิตดังกล่าวยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างครบถ้วน เนื่องจาก ข้อมูลดังกล่าวไม่เคยปรากฏอยู่ในรายงานข้อมูลทางการค้าของไต้หวัน

– สภาพคล่องอย่างพอเพียง

ภายใต้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้นกับจีน ทำให้เศรษฐกิจของไต้หวันมีความแข็งแกร่ง โดยมีสภาพคล่องในระดับที่เหมาะสม อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดต่ำลงเกือบถึงระดับต่ำสุด(อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดใหม่ คือ ร้อยละ 1.75) และหลังจากการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะเงินเฟ้อ ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งต้นทุนการกู้ยืมต่ำนี้เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้มีการกู้ยืมเพิ่มขึ้น โดยธนาคารในไต้หวันซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงจากร้อยละ 8.0 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2545 เหลือร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่ 4ของปี 2547 ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือน ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 18 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

การเติบโตของสินเชื่อจึงเป็นแรงกระตุ้นการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไต้หวัน ซึ่งซบเซามานานเกือบทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ไต้หวันยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านลบอื่นๆ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอีกรอบ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่าง รัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลไต้หวัน ขณะที่ปัจจัยด้านบวก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไต้หวันซึ่งหากเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินสกุลไต้หวันแข็งค่าขึ้น สำหรับตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันมียอดซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 18 วันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2548 สูงกว่ายอดซื้อสุทธิทั้งหมดตลอดทั้งเดือนมกราคมและธันวาคม ที่ผ่านมา