การลงทุนของภาคเอกชนในปี 2548 …ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่แวดล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยง

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2548 นี้ โดยภาพรวมมีแนวโน้มที่การลงทุนจะเข้ามาเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Investment-driven growth) โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่นำหน้ากิจกรรมเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าจะเข้ามาช่วยชดเชยการบริโภคและรายได้สุทธิจากการส่งออกสินค้าและบริการระหว่างประเทศที่มีทิศทางที่ชะลอตัวลง กิจกรรมการลงทุนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี คาดว่าจะมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.98 ล้านล้านบาทในปี 2548 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาปีฐาน ที่ร้อยละ 14.3 เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากปี 2547 ที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 13.6 แรงผลักดันที่สำคัญในการกระตุ้นภาคการลงทุนในช่วงปีนี้จะมาจากด้านการลงทุนของภาครัฐซึ่งมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากการดำเนินการในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่

สำหรับการลงทุนในภาคเอกชนซึ่งมีความสำคัญคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของการลงทุนของทั้งประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงปี 2548 ยังมีความต่อเนื่อง แม้จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงแต่ยังมีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมมีระดับการใช้กำลังผลิตที่สูงขึ้น การเข้ามาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมทั้งผลกระตุ้นจากโครงการลงทุนของภาครัฐต่อภาคอุตสาหกรรม แต่สำหรับการลงทุนในด้านการก่อสร้างคาดว่าจะชะลอตัวลงในอัตราที่เร่งกว่าภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูความเสียหายจากธรณีพิบัติในภาคใต้ เช่นการสร้างบ้านพักชั่วคราวและถาวรให้แก่ผู้ประสบภัย การซ่อมแซมหรือก่อสร้างใหม่ในส่วนของโรงแรม รีสอร์ท และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ น่าเป็นสิ่งที่เข้ามาสนับสนุนการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2548 การลงทุนในภาคเอกชนจะมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านล้านบาทในปี 2547 มีอัตราการขยายตัว ณ ราคาปีฐานที่ร้อยละ 12.5 ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2547 ที่คาดว่าขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5

อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการลงทุนสูงในช่วงปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจด้านพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก และปิโตรเคมี ส่วนธุรกิจบริการเป็นสาขาที่มีแนวโน้มการลงทุนดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศอันมีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตจากการเกษตรก็เป็นสาขาที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆในโลก แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจทรงตัวในระดับสูงต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอีก ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ภาคธุรกิจยังเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แนวโน้มการชะลอตัวของการบริโภคและการส่งออก ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติใน 6 จังหวัดในภาคใต้ สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาวะภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงเชิงลบต่อภาวะอุปสงค์และต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนในระยะข้างหน้า

สำหรับผลในระยะปานกลาง วัฏจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุนสามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ โดยการลงทุนของรัฐบาลในด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานนั้นจะเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เป็นการสนับสนุนและจูงใจให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน จากประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ที่สูงขึ้น นอกจากนี้แล้วการลงทุนของภาคเศรษฐกิจหนึ่งยังจะสร้างอุปสงค์ในภาคเศรษฐกิจอื่นๆตามมา

อย่างไรก็ตาม วัฏจักรเศรษฐกิจที่นำโดยการลงทุนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้ ถ้าหากการลงทุนนั้นขาดความสมดุลระหว่างองค์ประกอบต่างๆในระบบเศรษฐกิจ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การลงทุนจนเกินขนาดซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะอุปทานล้นเกิน (Oversupply) หรือเมื่อความต้องการเงินทุนสูงขึ้นรวดเร็วอาจส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินหรืออัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ในกรณีที่ความต้องการเงินทุนสูงเกินระดับเงินออมในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจต้องหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ถ้าหากระดับหนี้ต่างประเทศสูงเกินไปก็อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

การบริหารจัดการเศรษฐกิจภายใต้วัฏจักรการลงทุนจึงควรต้องดูแลให้การลงทุนเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และไม่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพในระยะยาว โครงการการลงทุนไม่ว่าในภาคเอกชนหรือภาครัฐจึงควรต้องมีการจัดลำดับความสำคัญและช่วงเวลาของโครงการลงทุนไม่ให้กระทบต่อสถานะทางการเงิน มีการบริหารช่องทางในการระดมทุน และการบริหารประสิทธิภาพของการลงทุนและผลตอบแทนของโครงการลงทุนมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด