ปริมาณความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษของไทยและของโลกในปี 2548 มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเมื่อเทียบกับปี 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของไทยในส่วนของตลาดในประเทศแต่สำหรับตลาดส่งออกนั้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากตลาดจีนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคและนำเข้าเยื่อกระดาษรายใหญ่ของโลกยังคงไม่สามารถผลิตเยื่อกระดาษให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ส่งผลทำให้ยังคงมีความต้องการนำเข้าเยื่อกระดาษอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษยังมีปัจจัยเสี่ยงที่พึงระวังในปี 2548 ที่สำคัญนั่นคือปัญหาภัยแล้งในปี 2548 ที่รุนแรงกว่าปี 2547 ที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตเยื่อกระดาษเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก ประการสำคัญ ผลจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2548 ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศมีการปรับขึ้นตาม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะมีผลกระทบต่อภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยแล้วยังส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเยื่อกระดาษปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านการขนส่งวัตถุดิบไม้ประเภทต่างๆสู่โรงงาน รวมทั้งการขนส่งเยื่อกระดาษสำเร็จรูปจากโรงงานไปสู่ผู้ใช้
อุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษของไทยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 6 รายมีกำลังผลิตทั้งสิ้นประมาณ 1.2-1.3 ล้านตัน โดยในปี 2547 ที่ผ่านมาปริมาณการผลิตเยื่อกระดาษมีทั้งสิ้นประมาณ 932,074 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับปี 2546 ทั้งนี้เยื่อกระดาษที่ผลิตได้จะถูกใช้ภายในประเทศประมาณร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือร้อยละ 30 จะส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ
สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในปี 2548 สามารถแยกออกได้เป็นตลาดในประเทศและตลาดส่งออก รายละเอียดดังนี้
– ตลาดเยื่อกระดาษในประเทศ
ผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2548 เผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการอาทิ ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาไข้หวัดนก ปัญหาในภาคใต้ ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาทางด้านการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐ และญี่ปุ่น จะเป็นปัจจัยส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยชะลอการเติบโตลงจากร้อยละ 6.2 ในปี 2547 ลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.2 ในปี 2548 ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษที่ชะลอตัวลงในส่วนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งภาคธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั้งในส่วนของนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้สำหรับการหีบห่อสินค้าที่จำหน่ายในประเทศและสินค้าเพื่อการส่งออกอาทิ กล่องกระดาษแข็ง กล่องกระดาษลูกฟูก เป็นต้น ทั้งนี้ในปี 2547 ที่ผ่านมาปริมาณการจำหน่ายเยื่อกระดาษของผู้ประกอบการในประเทศมีทั้งสิ้นประมาณ 632,665 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับปี 2546 ในขณะที่ปี 2548 นี้คาดว่าอัตราการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายเยื่อกระดาษจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ
– ตลาดต่างประเทศ
สำหรับในส่วนของตลาดเยื่อกระดาษในต่างประเทศนั้น คาดว่าผลจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ขยายตัวในอัตราลดลงจากร้อยละ 5 ในปี 2547 ลงมาเหลือร้อยละ 4.3 ในปี 2548 อันเป็นผลมาจากปัญหาราคาน้ำมันที่ผันผวนไม่แน่นอน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์ของโลกชะลอตัวลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระทบต่ออุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของไทยที่ยังคงต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเพื่อระบายผลผลิตส่วนเกินที่มีคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 โดยในปี 2547 ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกเยื่อกระดาษไปต่างประเทศปริมาณ 167,478 ตันคิดเป็นมูลค่า 3,005.8 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคเยื่อกระดาษรายใหญ่ของโลกรวมทั้งเป็นตลาดส่งออกเยื่อกระดาษรายใหญ่อันดับหนึ่งของไทย ยังคงมีความต้องการใช้เยื่อกระดาษเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายตัว ค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากปริมาณการผลิตเยื่อกระดาษของจีนยังคงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้อันมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับจีนยังมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเยื่อกระดาษอาทิ ไม้โตเร็วประเภทยูคาลิปตัสและไผ่ ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีกว่าจะเพิ่มพื้นที่ เพาะปลูกให้เพียงพอกับความต้องการในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในประเทศ ทำให้จีนยังคงมีความจำเป็นต้องนำเข้าเยื่อกระดาษจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากถึงปีละกว่า 7.3 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,567.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่านำนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 และร้อยละ 33.9 ตามลำดับ
ซึ่งส่วนใหญ่จีนจะนำเข้าเยื่อกระดาษจากแคนาดา(ร้อยละ 22.1) อินโดนีเซีย(ร้อยละ 16.8) รัสเซีย(ร้อยละ 12.2) บราซิล(ร้อยละ 11.0) สหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 10.6) ชิลี(ร้อยละ 9.5) รวมทั้งไทย(ร้อยละ 0.9) ดังนั้นจีนจึงถือเป็นตลาดส่งออกเยื่อกระดาษที่สำคัญของโลกที่ประเทศผู้ส่งออกเยื่อกระดาษทั้งของไทยและประเทศคู่แข่งมุ่งหวังเข้าไปเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้นในภาวะที่ความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษในส่วนอื่นๆของโลกชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 2548 อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ผู้ประกอบการพึงระวังโดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน จากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเบนซินในประเทศมีการปรับขึ้นไปแล้วหลายครั้งนับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับในส่วนของราคาน้ำมันดีเซลเองภาครัฐก็ได้มีการปรับเพดานราคาขายปลีกขึ้นอีก 60 สตางค์ต่อลิตรเป็น 15.19 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ภายหลังจากที่ตรึงราคาไว้ที่ 14.59 บาทต่อลิตรมาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 ซึ่งโดยภาพรวมแล้วการที่ราคาจำหน่ายน้ำมันมีการปรับขึ้นไปจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในสองส่วนใหญ่ๆคือผลกระทบต่อภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยและต่อเนื่องไปถึงปริมาณความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษที่จะชะลอตัวลง
ในขณะที่ผลกระทบในส่วนที่สองคือผลกระทบทางด้านต้นทุนการผลิตเยื่อกระดาษที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านการขนส่งวัตถุดิบไม้ประเภทต่างๆป้อนโรงงานซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปของราคาไม้ที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายให้โรงงานเยื่อกระดาษ รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งเยื่อกระดาษสำเร็จรูปไปยังผู้ซื้อ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการปรับขึ้นราคาเยื่อกระดาษในปี 2548 โดยในปี 2547 ราคาเยื่อกระดาษที่ผลิตในประเทศอยู่ที่ระดับประมาณ 18,000-19,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับขึ้นราคาจำหน่ายเยื่อกระดาษในปี 2548 จะเป็นการปรับตามต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะเป็นการปรับขึ้นเพราะความต้องการเยื่อกระดาษมีมากทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับผลประโยชน์จากราคาที่ปรับขึ้นมากนัก
ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาทางด้านภัยแล้ง เนื่องจากเยื่อกระดาษเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก ฉะนั้นวิกฤติการภัยแล้งในปี 2548 ที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าปี 2547 ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละเขื่อนและแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อยกว่าทุกปี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตของโรงงานเยื่อกระดาษทั้งในส่วนของผู้ประกอบการเยื่อกระดาษที่ต้องพึ่งพาน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติรวมทั้งผู้ประกอบการเยื่อกระดาษที่มีการสร้างบ่อเก็บกักน้ำของตนเองที่อาจจะขาดแคลนน้ำเช่นเดียวกันเนื่องจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน
ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ คาดว่าอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของไทยจะยังคงประสบปัญหาทางด้านการขาดแคลนวัตถุดิบต่อเนื่องจากปี 2547 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะวัตถุดิบประเภทไม้ยูคาลิปตัสซึ่งมีปัญหาการแย่งรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสของภาคอุตสหากรรมต่างๆอยู่เสมอจนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเยื่อกระดาษปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าราคาไม้ ยูคาลิปตัสในปี 2548 จะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูงใกล้กับระดับราคาในปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 900-1,000 บาทต่อตัน
กล่าวโดยสรุปแล้วอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในปี 2548 มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาทางด้านปริมาณความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษที่ชะลอตัวลงทั้งตลาดในและต่างประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ผลจากปริมาณความต้องการนำเข้าเยื่อกระดาษของจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกเยื่อกระดาษรายใหญ่อันดับหนึ่งของไทยที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูงเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นปัจจัยช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของไทยและของโลกที่มีต่ออุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของไทยให้ลดลงได้ระดับหนึ่ง