ทองคำ….อีกทางเลือกในการออมที่ไม่ควรมองข้าม

ทองคำ (Gold) เป็นโลหะมีค่าชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มโลหะประเภทเดียวกับเงิน แพลทินัม และโรเดียม โดยเป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติซึ่งค่อนข้างหายาก และมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่มีความคงทนต่อการเกิดปฏิกิริยาสูง และไม่เกิดออกซิไดซ์กับอากาศ จึงทำให้ทนต่อการผุกร่อน และสามารถเก็บรักษาโดยคงรูปลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้นาน ประกอบกับทองคำมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถปลอมแปลงได้ง่ายๆ จึงถูกนิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับ อีกทั้งยังเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยหน่วยของน้ำหนักทองคำที่ใช้ทั่วไปคือ กรัม และออนซ์ ส่วนในประเทศไทยนิยมใช้หน่วยน้ำหนักเป็นบาท โดยหนึ่งบาทมีค่าเท่ากับ 15.2 กรัม หรือ ประมาณ 0.5 ออนซ์

ทั้งนี้ การซื้อทองคำถือเป็นการออมในรูปแบบหนึ่งที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยลักษณะการซื้อขายในประเทศไทยจะเป็นไปในรูปแบบ Over the counter market (OTC) คือ ซื้อขายโดยผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันเองโดยไม่ได้ผ่านตลาดการค้า และมีการแลกเปลี่ยนสินค้า (Physical products) เกิดขึ้นจริง ณ.ราคาซื้อ –ขายที่กำหนดในแต่ละวัน โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ ได้แก่ บุคคลทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการซื้อขายทองรูปพรรณ ในรูปแบบของเครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยคอ, กำไล, ต่างหู ฯลฯ เพื่อสวมใส่เอง หรือเป็นของกำนัลในเทศกาลต่างๆ มากกว่าที่จะนิยมซื้อในรูปของทองคำแท่ง ซึ่งแตกต่างจากลักษณะการซื้อขายทองคำในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่จะมีทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อย มีการซื้อขายทั้งที่มีการส่งมอบในปัจจุบันกับการซื้อขายผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีการตกลงที่จะส่งมอบในอนาคตในวันที่กำหนด และมีรูปแบบในการซื้อขายที่มีความหลากหลายมากกว่า โดยอาจจะอยู่ในรูปทองคำแท่ง, เหรียญทองคำ, ตั๋วทองคำ (Gold Certificate) , สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า และออปชั่นที่มีสินค้าอ้างอิงคือทองคำ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทองคำเป็นทางเลือกในการออมอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เมื่อพิจารณาถึงข้อดีต่างๆในการซื้อทองคำ เช่น

– เป็นรูปแบบการออมที่มีความปลอดภัย อันเป็นผลมาจากการที่ราคาทองคำไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ หรือการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผลประกอบการของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ทำให้ทองคำเป็นที่นิยมของนักลงทุนในยามที่เกิดสงครามหรือเหตุการณ์ก่อการร้าย ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาทองคำในตลาดโลกมักจะปรับตัวสูงขึ้น

– มีราคาซื้อขายที่ประกาศให้ทราบอย่างแน่ชัดในแต่ละวัน ทั้งนี้ สมาคมค้าทองได้มีการประกาศราคาซื้อขายทองคำ ทั้งทองคำแท่ง และทองรูปพรรณในช่วงเช้าของแต่ละวัน (ประมาณ 9.30 น.) โดยราคาที่ได้จะเป็นราคาที่อ้างอิงจากราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งอยู่ในรูปดอลลาร์ฯ/ออนซ์ และนำมาเเปลงให้อยู่ในรูปในรูปเงินบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว เพื่อให้ร้านค้าทองในประเทศนำไปใช้เป็นราคามาตรฐานในการซื้อขาย ณ.วันนั้น การที่มีราคากำหนดไว้อย่างชัดเจน จึงเป็นการขจัดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาทองคำในระหว่างวัน

– เป็นการรักษาความมั่งคั่งให้กับผู้ถือครองในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการเปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำกับ อัตราเงินเฟ้อ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยได้คำนวณดัชนีราคาทองคำ จากราคาทองคำโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน และกำหนดให้ปี 1999 เป็นปีฐานเปรียบเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วพบว่า การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำจะมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ยกเว้นในช่วงกลางปี 1999 ซึ่งราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงตามทิศทางของราคาทองคำในตลาดโลกในขณะนั้น ซึ่งได้ลดลงสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณทองในตลาดโลกที่ผลิตได้จากเหมืองต่างๆ ประกอบกับการที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆในยุโรปหลายประเทศ เช่น อังกฤษ, เบลเยี่ยม, เนเธอร์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์ ได้ขายทุนสำรองในรูปทองคำที่ตนเองถือครองอยู่ออกมาอย่างมาก

– มีสภาพคล่องสูง ทองคำมีสภาพคล่องสูงกว่าแร่โลหะอื่นๆทั่วไป เนื่องจากทองคำ ทั้งทองคำแท่ง และทองรูปพรรณสามารถนำไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายผ่านทางร้านค้าทองทั่วไปในราคารับซื้อซึ่งได้กำหนดไว้ในแต่ละวัน

– มีความเป็นอิสระจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ของผลตอบแทนที่ได้จากทองคำกับหุ้น, พันธบัตร และเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในแต่ละเดือนตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามีค่าความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ในระดับต่ำ โดยค่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนจากการซื้อทองคำ กับการซื้อหุ้น (SET Index) อยู่ที่ –0.04 , ผลตอบแทนจากทองคำกับพันธบัตร (Thai BDC Total Return Gov. Bond Index) อยู่ที่ 0.045 และผลตอบแทนจากทองคำกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยเฉลี่ยทุกประเภทของธนาคารพาณิชย์ (Weighted Average Deposit rates) อยู่ที่ 0.03 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวเป็นอิสระจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ประเภทต่างๆเหล่านั้น ทำให้ทองคำเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนแทนที่การลงทุนในหุ้น หรือ ตราสารหนี้ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง คือการซื้อทองถือเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนยามที่คาดว่าอัตราผลตอบแทนจากตลาดหุ้นหรือ ราคาพันธบัตรมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง

ในการคำนวณหาอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการซื้อทอง เปรียบเทียบกับช่องทางอื่นๆในการออม ทั้งการลงทุนในหุ้น, พันธบัตร และเงินฝากธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ปี 1999 จนถึง 2004 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตว่า การซื้อทองให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.5 ซึ่งสูงกว่าการซื้อพันธบัตรและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์โดยเฉลี่ยที่ให้ผลตอบแทนที่ร้อยละ 6.82 และร้อยละ 2.38 แต่น้อยกว่าการลงทุนในหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ร้อยละ 20.29 ในขณะเดียวกัน การซื้อทองมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ปานกลาง คือมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในพันธบัตร และเงินฝาก แต่น้อยกว่าการลงทุนในหุ้น จึงน่าจะเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงมากเท่ากับการซื้อหุ้น แต่ต้องการผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในพันธบัตร และเงินฝาก

เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการซื้อทองคำ กับ หลักทรัพย์ประเภทต่างๆ

Year Gold Stock
(SET Index) Bond
(Thai BDC Total Return Index) Weighted Average
Deposit rate CPI
(1998 =100)
1999 Return 3.88% 35.11% 7.73% 4.02% 0.3%
STD/Mean Return 5.83% 13.23% 1.86% 0.07%
2000 Return 6.60% -46.00% 14.29% 3.29% 1.6%
STD/Mean Return 2.39% 19.03% 3.91% 0.05%
2001 Return 4.42% 11.70% 8.33% 2.58% 1.7%
STD/Mean Return 3.66% 6.05% 2.35% 0.06%
2002 Return 20.34% 16.81% 10.18% 2.16% 0.6%
STD/Mean Return 4.12% 6.73% 3.97% 0.07%
2003 Return 10.64% 119.66% -2.47% 1.32% 1.8%
STD/Mean Return 3.48% 23.73% 2.71% 0.27%
2004 Return 5.13% -15.53% 2.86% 0.94% 2.7%
STD/Mean Return 4.27% 6.87% 1.01% 0.01%
Average Return 6 Yrs. 8.50% 20.29% 6.82% 2.38% 1.45%
Average Standard Deviation 6 Yrs. 3.96% 12.61% 2.63% 0.09%
Source: CEIC, Thai BDC และ คำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจซื้อทองคำนั้น ควรจะต้องคำนึงถึงต้นทุนในด้านอื่นๆ ที่จะตามมา
อันได้แก่

– ต้นทุนในการเก็บรักษา เนื่องจากในการตกลงซื้อขายทองคำจะมีการแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดขึ้นจริง แตกต่างจากการลงทุนในหุ้น ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีการแลกเปลี่ยนจริงเกิดขึ้นก็ได้ เนื่องจากนักลงทุนสามารถนำไปฝากไว้ที่ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้นๆ มักจะเปิดบัญชีไว้กับศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหลักทรัพย์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ และลดปัญหาเรื่องใบหลักทรัพย์สูญหาย ชำรุด หรือปลอมแปลง ในขณะที่การซื้อทองคำผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาเอง หรือหากเกรงการสูญหาย หรือ ลักขโมยก็สามารถจะนำไปฝากไว้กับธนาคารซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเก็บรักษาให้กับธนาคาร

– ส่วนต่างของราคาซื้อขาย โดยปกติแล้ว ราคารับซื้อและราคาขายของทองคำแท่งจะมีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 100 บาท โดยราคาขายจะสูงกว่าราคารับซื้อ ส่วนการขายทองคำรูปพรรณนั้น ร้านค้าทองต่างๆจะบวกเพิ่มค่ากำเหน็จไปในราคาขายด้วย ซึ่งแต่ละร้านจะมีการคิดค่ากำเหน็จที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแบบ และน้ำหนักของทองคำ แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทขึ้นไปต่อเส้น นอกจากนั้น ในการรับซื้อทองมักจะมีการหักค่าเสื่อมจากราคาทองรูปพรรณที่รับซื้ออีกด้วย

– การถือครองทองคำไม่ได้มีการระบุกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ทำให้มีความเสี่ยงจากการถูกลักขโมยและนำไปขายต่อได้ แตกต่างกับการซื้อพันธบัตรที่ต้องมีการระบุชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพันธบัตร หรือ การซื้อหุ้นที่จะต้องมีการเปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์ ทำให้การแอบอ้างความเป็นเจ้าของในหลักทรัพย์ทำได้ยาก

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดราคาทองคำในประเทศนั้น ได้แก่ ราคาทองคำในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับส่งออก (โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา การนำเข้าทองคำมีการขยายตัวในสัดส่วนที่มากที่สุดในบรรดากลุ่มสินค้านำเข้าทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.ถึงร้อยละ 143 และเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 431 เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ

ประกอบกับการที่ราคาทองในเดือน ม.ค.ได้ปรับตัวลดลง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 424 ดอลลาร์/ออนซ์ จากระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีที่ประมาณ 450 ดอลลาร์/ออนซ์ในเดือน ธ.ค. จึงทำให้มีการซื้อทองคำเพื่อกักตุน เพราะคาดว่าราคาทองอาจจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค.ขาดดุลถึง 942 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการขาดดุลมากที่สุดในรอบ 7 ปี 9 เดือน) ราคาทองในประเทศไทยจึงมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองในตลาดโลกโดยตลอด โดยค่าความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำในประเทศและราคาทองคำในตลาดโลกในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานั้นสูงถึง 0.96 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกจากในปัจจุบัน จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ทองคำเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการออมที่
น่าสนใจ โดยปัจจัยที่ช่วยหนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก น่าจะได้แก่

– ความต้องการซื้อทองคำแทนที่การลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯ เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯจะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้ อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ซึ่งสังเกตได้จากการอ่อนตัวลงของดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯ (US$ Trade Weighted Index)ในช่วงที่ผ่านมา ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดนั้น สหรัฐฯขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 3/2004 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.58 ของจีดีพี จากร้อยละ 4.7 ของจีดีพีในปี 2003 และขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2004 (สิ้นสุดเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา)ที่ 412.6 พันล้านดอลลาร์ฯหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากการขาดดุลที่ 377.1 พันล้านดอลลาร์ฯในปีงบประมาณก่อนหน้า

ซึ่งการที่คาดว่าเงินดอลลาร์ฯอาจจะอ่อนลงได้อีกนั้นอาจจะเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯหันไปให้น้ำหนักกับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ รวมไปถึง ทองคำซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าแทน โดยข้อมูลล่าสุดจาก World Gold Council ได้ระบุว่า ในปี 2004 นั้น ความต้องการซื้อทองคำได้ในโลกอยู่ที่ประมาณ 3,484 ตันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.2 จาก 3,221 ตันในปี 2003

– ปริมาณทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจาก

– ปริมาณทองคำที่ผลิตได้จากเหมืองต่างๆซึ่งเริ่มลดลง สืบเนื่องมาจากช่วงระหว่างปี 1997 – 2002 ซึ่งราคาทองคำในตลาดโลกได้ลดลงอย่างมาก โดยอยู่ที่ประมาณ 250 – 350 ดอลลาร์/ออนซ์ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อทำการสำรวจแหล่งแร่ทองคำ, สร้างเหมืองใหม่ๆ และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น การที่ระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่เริ่มสำรวจหาแหล่งผลิตทองไปจนถึงทำการผลิตจนได้ทองคำออกมานั้นค่อนข้างนาน โดยมีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี ทำให้กำลังการผลิตทองคำที่มีในปัจจุบัน ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะรองรับความต้องการซื้อทองที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ในปี 2004 ปริมาณทองคำที่ผลิตจากเหมืองต่างๆอยู่ที่ประมาณ 2,034 ตันลดลงจากปี 2003 ซึ่งผลิตได้ 2,313 ตันถึงร้อยละ 12

– The 2nd Central Bank Gold Agreements: CBGA (2) ทั้งนี้ ข้อตกลงร่วมกันฉบับล่าสุดระหว่างธนาคารกลางของประเทศต่างๆ 15 ประเทศในยุโรป (รวมธนาคารกลางยุโรป และไม่รวมประเทศอังกฤษ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2004 จนถึง 26 ก.ย. 2009 ได้กำหนดให้ธนาคารเหล่านั้นขายทองคำออกมาได้สูงสุดไม่เกินปีละ 500 ตัน และยอดขายรวมตลอด 5 ปีข้างหน้า ไม่เกิน 2,500 ตัน โดยข้อตกลงฉบับใหม่นี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อตกลงฉบับแรก (CBGA 1) ซึ่งได้หมดอายุลงเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้ความต้องการถือครองทองคำเพื่อทดแทนการลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางเหล่านั้นขายทองคำออกมาน้อยกว่า 500 ตันต่อปีตามที่ได้ระบุในข้อตกลง อันจะส่งผลให้ปริมาณทองคำที่จะออกสู่ตลาดโลกลดลงไปมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยมีความเป็นไปได้มากที่สถานการณ์ดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อพิจารณาจากปริมาณทองคำที่ออกขายโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆในโลกในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 19.4 จากปี 2003

ปริมาณและความต้องการทองคำในตลาดโลกระหว่างปี 2001 – 2004 หน่วย: ตัน
2001 2002 2003 2004 % change 2004 / 2003
Total Mine supply 2,470 2,179 2,313 2,034 -12.1
Official sector sales 527 545 617 497 -19.4
Old gold scrap 708 835 944 829 -12.2
Total Supply 3,705 3,560 3,875 3,360 -13.3
Total Demand 3,753 3,413 3,221 3,484 8.2
Source: WGC

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของปริมาณทองคำในตลาดโลกในปีนี้คงจะต้องขึ้นอยู่กับผลการประชุมระหว่าง IMF กับรัฐมนตรีคลังในกลุ่มประเทศจี 7 ในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งทาง IMF จะนำเสนอรายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำทองคำที่ IMF มีอยู่มาช่วยชำระหนี้ให้ประเทศที่ยากจนว่าจะมีข้อสรุปเช่นใด ซึ่งหากว่าในการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปให้ขายทองคำออกมา ก็จะกดดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง แต่หากว่าที่ประชุมเลือกที่จะใช้วิธีการอื่นในการช่วยชำระหนี้ เช่น การปรับมูลค่าราคาทองคำที่ IMF ถือครองซึ่งในปัจจุบันซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่าราคาตลาดให้สอดคล้องกับมูลค่าในปัจจุบัน และนำมูลค่าทางบัญชีที่เพิ่มขึ้นไปช่วยชำระหนี้ให้ประเทศที่ยากจน ก็ย่อมจะไม่กระทบต่อปริมาณทองคำที่แท้จริงในท้องตลาด ดังเช่นวิธีแรก

นอกจากราคาทองคำในตลาดโลกแล้ว ปัจจัยทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในประเทศ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกถูกกำหนดในรูปของเงินดอลลาร์ฯ การอ่อนค่าลงของดอลลาร์ฯเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่างประเทศสกุลใดสกุลหนึ่งนั้น จะทำให้ราคาทองคำในรูปของสกุลเงินนั้นๆถูกลงได้ ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นในรูปเงินดอลลาร์ฯ กับราคาทองที่ลดลงเมื่อแปลงให้อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น ซึ่งหากว่าผลของการเพิ่มขึ้นของราคาทองในตลาดโลกมากกว่าผลกระทบทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ย่อมจะส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนวณหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินบาท กับราคาทองคำในประเทศตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมาและพบว่ามีการปรับตัวไปในทิศทางตรงข้ามกัน โดยในช่วงเวลาที่เงินดอลลาร์ฯอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น ราคาทองคำในประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยค่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาท/ดอลลาร์ฯและราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ -0.29

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การซื้อทองคำในประเทศไทยสามารถจะเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต นอกจากการเป็นเครื่องประดับ ซึ่งคงจะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทั้งภาครัฐและเอกชนในด้านต่างๆ เช่น

– การเพิ่มสภาพคล่องและปริมาณการซื้อขายทอง โดยการสนับสนุนให้นักลงทุนสถาบันต่างๆเข้ามามีบทบาท ทั้งการเป็นผู้ซื้อ และผู้ขาย จากในปัจจุบันที่การซื้อขายจะอยู่แต่ในกลุ่มรายย่อย ซึ่งจะต้องมีการอำนวยความสะดวกในการซื้อขาย โดยวางระบบซื้อขายให้เป็นมาตรฐาน และสนับสนุนให้มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย, ดูแลการชำระบัญชี , รับฝากและส่งมอบทองคำ เช่นในต่างประเทศ

– การส่งเสริมให้มีการออกตราสารต่างๆที่อ้างอิงกับทองคำเพิ่มมากขึ้น เช่น ตั๋วทองคำ หรือ หุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีผลตอบแทนอิงกับราคาทอง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการเก็บรักษาทองคำจริง ตลอดจน การผลักดันให้ทองคำเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายในตลาดล่วงหน้าได้ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ (โดยในปัจจุบัน ยังไม่มีการอนุญาตให้ซื้อขายตั๋วทองเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ แต่การออกหุ้นกู้ที่มีทองคำเป็นหลักประกัน หรือหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาทองนั้นสามารถกระทำได้)

– การประชาสัมพันธ์ การทำการตลาดและสนับสนุนให้เห็นถึงข้อดีของการลงทุนในทองคำเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ทั้งหุ้น, หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน ล้วนแล้วแต่มีการประชาสัมพันธ์ และมีการแข่งขันกันทำการตลาดเพื่อดึงดูดนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการลงทุนในทองคำยังมีอยู่ค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการซื้อทองคำจะเป็นช่องทางการลงทุนที่มีความน่าสนใจตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนเช่นเดียวกันกับการลงทุนในตราสารประเภทอื่นๆ ซึ่งนักลงทุนควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ทองคำถือเป็นการออมในรูปแบบหนึ่งที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยการซื้อขายทองในประเทศไทยจะเป็นไปในลักษณะการซื้อขายโดยผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันเองไม่ได้ผ่านตลาดการค้า และมีการแลกเปลี่ยนสินค้า (Physical products) เกิดขึ้นจริง ณ.ราคาซื้อ –ขายที่กำหนดในแต่ละวัน โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ คือ บุคคลทั่วไป และจะเป็นการซื้อขายทองรูปพรรณ ในรูปของเครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยคอ, กำไล, ต่างหู ฯลฯ เพื่อสวมใส่เอง หรือเป็นของกำนัลในเทศกาลต่างๆ มากกว่าที่จะนิยมซื้อในรูปของทองคำแท่ง ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศที่การซื้อขายส่วนใหญ่จะกระทำโดยนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อย และมีการซื้อขายทั้งที่ส่งมอบในปัจจุบันกับการซื้อขายผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และมีความหลากหลายของสินค้ามากกว่า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทองคำเป็นทางเลือกในการออมอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เมื่อพิจารณาถึงข้อดีต่างๆของการซื้อทองคำ เช่น เป็นรูปแบบการออมที่มีความปลอดภัย, มีราคาซื้อขายที่ประกาศให้ทราบอย่างแน่ชัดในแต่ละวัน, เป็นการรักษาความมั่งคั่งให้กับผู้ถือครองในระยะยาว จากการเปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำกับอัตราเงินเฟ้อ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้พบว่า การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำจะมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ยกเว้นในช่วงกลางปี 1999, มีสภาพคล่องสูง เนื่องจากทองคำ ทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณสามารถนำไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายผ่านทางร้านค้าทองทั่วไปในราคารับซื้อซึ่งได้กำหนดไว้ในแต่ละวัน, มีความเป็นอิสระจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ของผลตอบแทนที่ได้จากทองคำกับหุ้น, พันธบัตร และเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในแต่ละเดือนตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมาและพบว่ามีค่าความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ทองคำเป็นอีกทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในยามที่คาดว่าอัตราผลตอบแทนจากตลาดหุ้นหรือ ราคาพันธบัตรมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจซื้อทองคำนั้น ควรจะต้องคำนึงถึงต้นทุนในด้านอื่นๆ เช่น ต้นทุนในการเก็บรักษา เนื่องจากการซื้อขายทองคำจะมีการแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดขึ้นจริง แตกต่างจากการลงทุนในหุ้น ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีการแลกเปลี่ยนจริงเกิดขึ้นก็ได้ ทำให้ผู้ซื้อทองจะต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาเอง หรือหากเกรงการสูญหาย หรือโดนลักขโมยก็อาจจะนำไปฝากไว้กับธนาคารแต่ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเก็บรักษาเพิ่ม, ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขาย โดยปกติแล้ว ราคารับซื้อและขายออกของทองคำแท่งจะมีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 100 บาท โดยราคาขายจะสูงกว่าราคารับซื้อ

ส่วนการขายทองคำรูปพรรณนั้น ร้านค้าทองต่างๆจะบวกเพิ่มค่ากำเหน็จไปในราคาขายด้วย โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทขึ้นไปต่อเส้น นอกจากนั้น ในการรับซื้อทองมักจะมีการหักค่าเสื่อมจากราคาทองรูปพรรณที่รับซื้ออีกด้วย, การถือครองทองคำไม่ได้มีการระบุกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ทำให้มีความเสี่ยงจากการถูกลักขโมยและนำไปขายต่อได้ แตกต่างกับการซื้อพันธบัตรที่ต้องมีการระบุชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพันธบัตร หรือ การซื้อหุ้นที่จะต้องมีการเปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์ ทำให้การแอบอ้างความเป็นเจ้าของในหลักทรัพย์ทำได้ยาก

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดราคาทองคำในประเทศนั้น ได้แก่ ราคาทองคำในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาทองคำในประเทศมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองในตลาดโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกจากระดับปัจจุบัน จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ทองคำเป็นทางเลือกหนึ่งในการออมที่น่าสนใจ โดยปัจจัยที่ช่วยหนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ได้แก่ ความต้องการซื้อทองคำแทนที่การลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯ เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯจะยังคงดำเนินต่อไป จากความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนหันไปให้น้ำหนักกับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ รวมไปถึง ทองคำมากขึ้น

โดยข้อมูลล่าสุดจาก World Gold Council ได้ระบุว่า ในปี 2004 นั้น ความต้องการซื้อทองคำได้ในโลกอยู่ที่ประมาณ 3,484 ตันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.2 จาก 3,221 ตันในปี 2003, ปริมาณทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจาก ปริมาณทองคำที่ผลิตได้จากเหมืองต่างๆซึ่งเริ่มลดลง โดยในปี 2004 ปริมาณทองคำที่ผลิตจากเหมืองต่างๆอยู่ที่ประมาณ 2,034 ตันลดลงจากปี 2003 ซึ่งผลิตได้ 2,313 ตันถึงร้อยละ 12 นอกจากนั้น ข้อตกลงระหว่างธนาคารกลางของประเทศต่างๆ 15 ประเทศในยุโรป (The 2nd Central Bank Gold Agreements: CBGA 2) ได้กำหนดให้ธนาคารเหล่านั้นสามารถขายทองคำได้สูงสุดไม่เกินปีละ 500 ตัน และยอดขายรวมตลอด 5 ปีข้างหน้า (2005-2009) ไม่เกิน 2,500 ตัน

อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ความต้องการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางเหล่านั้นจะขายทองคำน้อยกว่าที่ระบุในข้อตกลง โดยทองคำที่ออกขายโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆในโลกในปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 19.4 จากปี 2003 อย่างไรก็ตาม ทิศทางของปริมาณทองคำในตลาดโลกในปีนี้คงจะต้องขึ้นอยู่กับผลการประชุมระหว่าง IMF กับรัฐมนตรีคลังในกลุ่มประเทศจี 7 ในเดือน เม.ย.นี้ เกี่ยวกับการนำทองคำของ IMF มาช่วยชำระหนี้ให้ประเทศที่ยากจนว่าจะมีข้อสรุปเช่นใด ซึ่งหากว่าการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปให้ IMF ขายทองคำออกมา ก็อาจจะกดดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงได้

ในส่วนของปัจจัยทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกถูกกำหนดในรูปของเงินดอลลาร์ฯ การอ่อนค่าลงของดอลลาร์ฯ จะทำให้ราคาทองคำในสกุลเงินนั้นๆถูกลงได้ ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างราคาทองคำในตลาดโลกในรูปเงินดอลลาร์ฯที่เพิ่มขึ้นกับราคาทองที่ลดลงเมื่อแปลงให้อยู่ในรูปเงินบาทว่าผลกระทบด้านใดจะมากกว่า ซึ่งจากการคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินบาท กับราคาทองคำในประเทศตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมานั้นพบว่า ในช่วงเวลาที่เงินดอลลาร์ฯอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น ราคาทองคำในประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การซื้อทองคำในประเทศไทยสามารถจะเป็นรูปแบบการลงทุนประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต นอกจากการเป็นเครื่องประดับ ทั้งนี้ คงจะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทั้งภาครัฐและเอกชนในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มสภาพคล่องและปริมาณการซื้อขายทอง โดยการสนับสนุนให้นักลงทุนสถาบันต่างๆเข้ามามีบทบาท ทั้งการเป็นผู้ซื้อ และผู้ขาย จากในปัจจุบันที่การซื้อขายจะอยู่แต่ในกลุ่มรายย่อย, การส่งเสริมให้มีการออกตราสารต่างๆที่อ้างอิงกับทองคำ เช่น ตั๋วทองคำ หรือ หุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีผลตอบแทนอิงกับราคาทอง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการเก็บรักษาทองคำจริง ตลอดจน การผลักดันให้ทองคำเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายในตลาดล่วงหน้าได้ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ, การประชาสัมพันธ์ การทำการตลาดและสนับสนุนให้เห็นถึงข้อดีของการลงทุนในทองคำเพิ่มมากขึ้น โดยการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ทั้งหุ้น, หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน ล้วนแล้วแต่มีการประชาสัมพันธ์ และมีการแข่งขันกันทำการตลาดเพื่อดึงดูดนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการลงทุนในทองคำยังมีอยู่ค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การซื้อทองคำจะเป็นช่องทางการลงทุนที่มีความน่าสนใจ แต่ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนเช่นเดียวกันกับการลงทุนในตราสารประเภทอื่นๆ ซึ่งนักลงทุนควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน