นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศที่ผู้แทนจากประเทศไทย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้รับการเสนอชื่อจากนายโคฟี อานัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) หลังจากที่การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ของ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ จะหมดวาระลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2548
โดย ดร.ศุภชัย จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการอังค์ถัด สืบต่อจากนายรูเบนส์ ริกูเปโร ชาวบราซิล ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 2538 และกำลังจะหมดวาระลงในช่วงกลางปีนี้ หากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อข้อเสนอของนายโคฟี อานัน ดร.ศุภชัย จะได้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติและมีบทบาทที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศอีกวาระหนึ่ง
การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ของดร.ศุภชัย รวมเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2545 ถือเป็นผู้อำนวยการคนที่ 7 ของ WTO นับว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ทำให้การเจรจาการค้าพหุภาคีเกิดผลคืบหน้าด้านการเปิดเสรี (Liberalization) และด้านกฎระเบียบทางการค้า (Rules Making) รวมทั้งการผลักดันให้การเจรจาเปิดเสรีการค้าเป็นไปอย่างเป็นธรรม (Free and Fair Trade)
ซึ่งนับว่าเป็นงานที่ยาก และมีความท้าทายมาก เพราะ WTO ในปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสมาชิกถึง 148 ประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการประนีประนอมท่ามกลางผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของประเทศประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาที่มีท่าทีเจรจาการค้าที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่มีความยากลำบาก เพราะต้องเผชิญกับการต่อต้านของประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องการปกป้องภาคเกษตรภายในประเทศ
แม้ว่าการเจรจาการค้าพหุภาคีของ WTO รอบปัจจุบัน หรือ การเจรจารอบโดฮา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2545 ไม่สามารถเจรจาสิ้นสุดลงได้ในวันที่ 1 มกราคม 2548 ตามกำหนดเวลาเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ (การเจรจารอบอุรุกวัยซึ่งเป็นการเจรจาการค้าโลกรอบก่อนหน้านี้ใช้เวลาเจรจายาวนานถึง 8 ปี) แต่ประเทศสมาชิกสามารถได้ผลสรุปแผนการดำเนินงานของการเจรจารอบโดฮาที่เรียกว่า “July Package” ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานเปิดเสรีด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าบริการ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการให้ได้ผลสรุปของการเจรจารอบโดฮาต่อไป
ความสำคัญของอังค์ถัดต่อประเทศกำลังพัฒนา & ประเทศยากจน
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีฐานะเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นในปี 2507 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกจาก ทุกภูมิภาคทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 192 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน โดยไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง วัตถุประสงค์การจัดตั้งอังค์ถัด เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน และการพัฒนาให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมให้ประเทศเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกอย่างเท่าเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่อังค์ถัดก่อตั้งขึ้นมา ได้มีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกทุก 4 ปี รวมมีการประชุมทั้งหมด 11 ครั้ง โดยหมุนเวียนประเทศกำลังพัฒนาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมตามภูมิภาคต่างๆ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 10 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 นับว่าอังค์ถัดเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนา เพราะประเทศกำลังพัฒนาใช้เวทีอังค์ถัดเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการค้า การลงทุน เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
การประชุมของอังค์ถัดในแต่ละครั้งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน เพราะเป็นการเสนอความเห็น/ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งประเทศสมาชิกได้รับทราบข้อเสนอแนะจากการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนโดยอังค์ถัดและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรับปรุงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งการตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหาทางสังคมที่มาพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศเหล่านี้ควรเตรียมรับมือ และข้อควรระวังต่างๆ ของนโยบาย/มาตรการที่อาจเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศ
* ไทยกับ UNCTAD
ไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 ในปี 2543 ณ กรุงเทพฯ โดยในการประชุมครั้งนั้นได้ข้อสรุปที่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ได้แก่
1) ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งแสดงฉันทามติของสมาชิกว่าจะร่วมมือกันในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อทำให้ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ได้รับประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัตน์ในด้านการค้า การลงทุน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถบรรเทาผลกระทบด้านลบของกระบวนการโลกาภิวัตน์ได้
2) แผนปฏิบัติการกรุงเทพ (Bangkok Plan of Action) เป็นแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ นโยบายและมาตรการในการดำเนินนโยบายด้านการค้า การเงิน การลงทุน และการพัฒนาที่ประเทศสมาชิกเห็นชอบร่วมกัน ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
– การประเมินผลกระทบด้านบวกและด้านลบของโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ
– การประมวลพัฒนาการของความร่วมมือ/พันธกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญๆ เช่น การเจรจาการค้าพหุภาคีของ WTO และการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา เป็นต้น
– การให้ความสนับสนุนมาตรการและการริเริ่มของความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เช่น การเปิดเสรีตลาดทุนอย่างระมัดระวัง เพื่อทำให้ระบบการค้าพหุภาคีเป็นประโยชน์ร่วมกันของ ทุกประเทศ
– การให้ความสำคัญกับกิจกรรม 4 สาขาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. การพัฒนาการลงทุน
2. การพัฒนาวิสาหกิจและเทคโนโลยี
3. การค้าสินค้าและบริการ
4. โครงสร้างพื้นฐานด้านบริการเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ ทางการค้า รวมทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนา
ผลประโยชน์ของไทยจากการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 คือ ไทยและอังค์ถัดบรรลุข้อตกลงร่วมกันในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development : ITD) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันดังกล่าวได้เปิดดำเนินการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมทั้งทักษะการเจรจาการค้าระหว่างประเทศแก่บุคลากรของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เพื่อกำหนดและดำเนินนโยบายให้สามารถรับมือและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ โดยการจัดสัมมนา อบรม และทำการวิจัย รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน
* UNCTAD ครั้งล่าสุดปี 2547 & สานต่อการพัฒนา
บราซิลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 11 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 13-18 มิถุนายน 2547 โดยที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ปฏิญญากรุงเทพ และแผนปฏิบัติการกรุงเทพ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สมาชิกเห็นพ้องกันว่า แม้หลายประเทศได้มีความร่วมมือในเวทีระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค และทวิภาคี แต่ควรเป็นไปเพื่อสนับสนุนระบบพหุภาคี ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของประเทศกำลังพัฒนา เพราะเป็นการผนึกกำลังสร้างอำนาจต่อรองของประเทศกำลังพัฒนาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม เป็นระบบ และมีความต่อเนื่อง
ประเด็นข้อคิดเห็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาในการนำไปพัฒนาประเทศ มีดังนี้
1. การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศกำลังพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ควรดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาทางสังคมควบคู่ไปด้วย เช่น การส่งเสริมด้านการศึกษา และเครือข่ายรองรับด้านสังคม เป็นต้น
2. การกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคและยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศในเอเชียช่วยส่งเสริมบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียในเวทีเศรษฐกิจโลกให้โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเพิ่มประสิทธิผล การสร้างงาน และการแก้ปัญหาความยากจน
ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกายึดมั่นแนวทางการบริหารเศรษฐกิจตาม “ฉันทามติแห่งวอชิงตัน” (Washington Consensus) ซึ่งส่งผลให้ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด ทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยทั่วไปในประเทศละตินอเมริกาค่อนข้างสูง และประเทศเหล่านี้พึ่งพาเงินทุนต่างชาติมากเกินไป จนทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไม่มั่นคง ดังนั้นรัฐบาลละตินอเมริกาจึงควรยืดหยุ่นการดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ และทบทวนการปฏิบัติตามพันธกรณี/กฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าและการเงินระหว่างประเทศ
3. ประเทศกำลังพัฒนาควรอาศัยโอกาสการขยายตัวของตลาดภายใต้การเปิดเสรีทางการค้า ในการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันเพื่อการส่งออก รัฐบาลควรสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง กฎระเบียบที่โปร่งใส ความเป็นประชาธิปไตย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการขนส่ง ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ สร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัท/ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจภายในประเทศกับหุ้นส่วนจากต่างชาติ และการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ global supply chain
4. ประเทศกำลังพัฒนาควรสนับสนุนการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาที่เน้นการพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้มีความคืบหน้าการเปิดเสรีทางการค้าที่เป็นธรรมแก่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น อาทิ การค้าสินค้าเกษตร การเปิดตลาดสำหรับสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา การเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
5. ประเทศกำลังพัฒนาควรเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และป้องกันไม่ให้ช่องว่างในการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
6. ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพื่อรองรับการค้าที่จะขยายตัว ทั้งการขนส่งทางบก น้ำ และอากาศ โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือและนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรี สำหรับการดำเนินโยบายด้านศุลกากรควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ลดขั้นตอนของกระบวนการทางศุลกากรให้รวดเร็วขึ้น และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อสร้างการบริการอย่างเป็นระบบ
ผู้แทนไทยใน UNCTAD : ผลต่อประเทศไทย
บทบาทและหน้าที่ของอังค์ถัดในฐานะที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศยากจน ซึ่งเน้นการส่งเสริมการค้า และพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศกำลังพัฒนา&ประเทศยากจนในการเข้ามีส่วนร่วมในระบบการค้าของโลกอย่างเป็นธรรม การที่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ในฐานะผู้แทนประเทศไทย จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการอังค์ถัด ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญเช่นนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จะส่งผลดีต่อ ดังนี้
* สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย
การที่ผู้แทนจากประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งในองค์การระหว่างประเทศ อย่างผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และสร้างผลงานที่ทำให้การเจรจาพหุภาคีคืบหน้าต่อไปได้ ทำให้เป็นที่รู้จักของประเทศนานาประเทศ หากผู้แทนจากประเทศไทยได้รับตำแหน่งเลขาธิการอังค์ถัดอีกวาระหนึ่งจะเป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้แทนจากประเทศไทยจะสามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการอังค์ถัดให้สำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรเพื่อการค้าและการพัฒนาที่เน้นความสำคัญและช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างดี
นอกจากนี้ ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยและประเทศไทย รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนไทยในการศึกษาหาความรู้ ใส่ใจในการศึกษาระดับสูง เพื่อให้ก้าวสู่ ตำแหน่งอันทรงเกียรติในระดับระหว่างประเทศเช่นนี้
* ผลักดันผลประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน
แม้อังค์ถัดจะไม่ได้เป็นองค์กรที่มีอำนาจเหมือนองค์การการค้าโลกที่ประเทศสมาชิกมีข้อผูกพัน (Commitment) ที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของข้อตกลงต่างๆ ภายใต้ WTO แต่อังค์ถัดเป็นเวทีระหว่างประเทศที่มีสมาชิกถึง 192 ประเทศ ซึ่งมากกว่าสมาชิกของ WTO และสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา&ประเทศยากจน ประเทศเหล่านี้ใช้เวทีอังค์ถัดหารือ/แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัย การช่วยเหลือด้านวิชาการ และทางเทคนิค เช่น การพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาความรู้/ทักษะด้านการเจรจาการค้า ซึ่งมีความสำคัญต่อไทยและประเทศกำลังพัฒนา/ยากจนอื่นๆ ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อมิให้เสียเปรียบประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของอังค์ถัดในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเหล่านี้ ให้อยู่ในระบบสังคมและการค้าโลกได้อย่างเป็นธรรม ดังนั้น การดำรงตำแหน่งเลขาธิการอังค์ถัดของผู้แทนจากประเทศไทยซึ่งเข้าใจปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา&ประเทศยากจนเป็นอย่างดี จะสามารถผลักดันให้การทำงานเกิดผลเป็นรูปธรรม และสร้างความเป็นธรรมให้กับประเทศกำลังพัฒนา&ประเทศยากจนได้มากขึ้น
* ส่งเสริมบทบาทสถาบัน ITD สร้างชื่อเสียงให้ไทย
นับตั้งแต่จัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (ITD) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศไทยในปี 2545 ซึ่งเป็นการริเริ่มจากการประชุมอังค์ถัดที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2543 ได้มีบทบาทสำคัญโดยร่วมกับอังค์ถัดและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การอบรม และศึกษาวิจัย โดยเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและการค้าให้กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ ITD ได้จัดการอบรมเรื่องการค้าและการแข่งขันระหว่างประเทศ (International Trade and Competition Course) ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2548 ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับไทยในฐานะที่เป็นประเทศริเริ่มจัดตั้งสถาบันนี้ร่วมกับองค์ถัด ดังนั้น การที่ผู้แทนจากประเทศไทยเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการอังค์ถัด คาดว่าจะส่งเสริมบทบาทและภารกิจของสถาบันฯ ให้รุดหน้า เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า บทบาทในตำแหน่งเลขาธิการอังค์ถัดเป็นตำแหน่งในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญ เพราะเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และต้องการความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน ในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ ซึ่งมั่นใจว่า เลขาธิการคนใหม่จะนำพาอังค์ถัดในการสร้างผลงานเพื่อประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา/ประเทศยากจนโดยรวม รวมทั้งไทย เพื่อให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้วได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจต่อคนไทยและชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป