9 มีนาคม 2548 – ในโอกาสที่ประเทศไทยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วย จริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม ศกนี้ ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ตามคำเชิญขององค์การยูเนสโกที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเวทีส่งเสริมการพัฒนาจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์แะเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมีหัวข้อในการสัมมนาว่า “Ethics of Science and Technology”
การประชุมครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และเยาวชนของประเทศไทยเราจำนวน 32 คน ได้มีโอกาสเสนอแนวคิดเรื่องจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย โดยได้ทำการคัดเลือกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
นายธนากร พละชัย ผู้อำนวยการ สำนักผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “ในวงการอื่น ๆ อาจจะมีการพูดคุยเรื่องจริยธรรมกันบ้าง แต่ในวงการวิทยาศาสตร์เองโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นั้นยังไม่เคยคุยกันเลย ขณะเดียวกันในสังคมปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่อยู่ภายใต้ฐานความรู้ knowledge based society หรือบรรทัดฐานของสังคม หากว่าคนรุ่นนี้ใช้ความรู้ที่มีโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมก็ย่อมส่งผลกระทบถึงสังคมวงกว้าง ดังนั้นคณะอนุกรรมการจัดประชุมเยาวชน ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้จัดการคัดเลือกเยาวชนเพื่อเป็นตัวแทนขึ้นมา มีเยาวชนจำนวน 70 คน อายุระหว่าง 17-30 ปี เข้าร่วมงาน โดยได้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาเข้ากลุ่ม แสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบในการใช้ความรู้โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมในระดับหมู่บ้าน ระดับประเทศและระดับนานาชาติ และพวกเขา และหาข้อสรุปหาบรรทัดฐาน ก่อนที่จะไปพูดในที่ประชุมในวันที่ 25 มีนาคม ศกนี้”
นายวัชระ ศรีสวัสดิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเซนต์โดมินิก สมาชิกโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพในโครงการเด็กและเยาวชนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กล่าวว่า “คำว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตัดสินได้ว่าอะไรถูกหรือผิดไปเลย เราต้องระดมสมองช่วยกันตัดสินในหลาย ๆ เรื่อง ผมคิดว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีเปลี่ยนความคิดได้หลากหลายมุมมอง รวมทั้งยังเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในการบอกเล่าประสบการณ์ให้ต่างประเทศได้รับทราบ ขณะเดียวกันก็จะได้มุมมองใหม่ ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ได้ด้วย”
นางสาวนิตยา นามวงษ์ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว วิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์สามารถช่วยได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การใช้ชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยว การส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้คนเราหันมาสนใจว่าเราควรจะทำเพื่อประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม หรือว่าควรจะพัฒนาโลกโดยที่คำนึงถึงจริยธรรมควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น เราทราบกันดีว่าน้ำมัน มีประโยชน์แต่ขณะเดียวกันก็ทำลายโอโซนชั้นบรรยากาศของโลก หรือทางการแพทย์ การทำโคลนนิ่งมนุษย์มีกฏหมายมารองรับหรือไม่ว่าควรจะได้รับอนุญาตก่อน แต่อย่างไรก็ตามคิดว่าควรจะมีการครอบคลุมทางกฏหมายให้มากที่สุด
สำหรับการมาร่วมเป็นตัวแทนเยาวชนในครั้งนี้ นางสาวนิตยากล่าวสรุปว่า “รู้สึกดีใจ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบทำกิจกรรม การมาครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ที่เรียนสาขาต่างกันไป อยากจะให้มีการจัดในลักษณะอย่างนี้อีก เพราะจะช่วยให้ปลูกฝังจริยธรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มากขึ้น และคิดว่าจะนำแนวคิดและความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ในวิทยาลัยได้รับทราบต่อไป”
นายวัฒนา อัจฉริยะโพธา นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ให้ความเห็นว่า “วิทยาศาตร์และเทคโนโลยีกับจริยธรรมนั้นเป็นสิ่งควบคู่กัน แต่คนเราไม่ได้นำมาใช้พร้อมกัน แยกส่วนในการใช้ จึงเกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ขึ้น เช่น เวปไซด์อนาจาร การละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ก็ผู้เกี่ยวข้องและรัฐบาลต้องหาทางแก้ไข”
แม้งานสัมมนาครั้งนี้จะจบลง แต่มิตรภาพระหว่างเยาวชนกลุ่มนี้กำลังเบิกบาน พวกเขาจะเป็นกลุ่มที่นำเอาความคิดด้านจริยธรรมไปนั่งพูดคุยกันอีก และนำความคิดนั้นสู่เพื่อน ๆ ในสังคมวงกว้าง โดยมีความหวังที่ดีว่า คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีจะสร้างสรรค์ประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม