เวียดนามประกาศปรับลดค่าเงินร้อยละ 2 เริ่มมีผลในวันที่ 18 สิงหาคม 2553 นี้ ส่งผลให้ค่าเงินด่องอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 18,932 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการปรับลดค่าเงินด่องเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 10 เดือน จากครั้งที่ 2 ที่ลดลงร้อยละ 3.4 มาอยู่ที่ 18,544 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และครั้งแรกปรับลดลงร้อยละ 5.4 มาอยู่ที่ 17,961 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2552 นับว่าค่าเงินด่องของเวียดนามได้อ่อนค่าลงมาแล้วร้อยละ 10.8 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทางการเวียดนามยังคงระดับการเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยให้ขึ้น-ลง (Trading Band) ได้ร้อยละ 3 เช่นเดิม สาเหตุสำคัญของการปรับลดค่าเงินของเวียดนามอีกครั้งยังคงเป็นปัญหาการขาดดุลการค้าที่พุ่งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ส่งผลกดดันต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนาม และกดดันให้ค่าเงินด่องอ่อนค่า ทำให้การรักษาเสถียรภาพค่าเงินด่องของทางการเวียดนามลำบากมากขึ้นด้วยเงินสำรองต่างประเทศที่ค่อนข้างจำกัด อีกสาเหตุหนึ่งคาดว่า เนื่องจากทางการเวียดนามต้องการรักษาความแตกต่างของค่าเงินด่องในตลาดมืดและอัตราแลกเปลี่ยนของทางการไม่ให้ห่างกันมากนัก หลังจากที่อัตราแลกเปลี่ยนด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ของ 2 ตลาดเริ่มห่างกันมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม โดยเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดมืดในวันที่ 17 สิงหาคม อยู่ที่ 19,280-19,320 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เสถียรภาพด้านต่างประเทศของเวียดนามได้รับแรงกดดันจากปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นผลจากการขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรัง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจเวียดนาม ทั้งนี้ ในวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติงส์ ได้ปรับลดอันดับเครดิตเวียดนามลง 1 ขั้นจาก ‘BB-’ สู่ ‘B+’ ซึ่งต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (Below Investment Grade) ถึง 4 ขั้น เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ และความกังวลถึงสถานะการเงินในต่างประเทศของเวียดนาม รวมถึงความอ่อนแอของระบบธนาคาร ซึ่งการลดอันดับเครดิตของเวียดนามอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการระดมทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมจากต่างประเทศที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ สรุปประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนี้
? แม้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 ในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 (YoY) จากที่เติบโตร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่ 1/2553 (YoY) หลังจากที่เวียดนามต้องประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่ำที่สุดในไตรมาสที่ 1/2552 โดยอัตราเติบโตเหลือร้อยละ 3.1 จนส่งผลให้เศรษฐกิจในปี 2552 เติบโตเหลือร้อยละ 5.3 เป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้มาจากการเติบโตของภาคก่อสร้างและภาคบริการที่ขยายตัวร้อยละ 9.89 และร้อยละ 7 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (YoY) ตามลำดับ รวมทั้งภาคส่งออกที่กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวร้อยละ 9 ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างเรื้อรังยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อเศรษฐกิจเวียดนาม โดยการขาดดุลการค้าของเวียดนามกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม มูลค่าขาดดุลการค้า 1,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากปรับลดลงติดต่อกัน 2 เดือนก่อนหน้า เหลือร้อยละ 741.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน และ 870.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้มูลค่าขาดดุลการค้าในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากยอดขาดดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ขาดดุลสูงขึ้นด้วย โดยคาดว่ามูลค่าขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามในปีนี้อาจยังอยู่ในระดับสูงราวร้อยละ 10 ต่อจีดีพี
? มูลค่าขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้นของเวียดนาม ส่งผลกดดันต่อเงินสำรองต่างประเทศที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่องในปีนี้ จากที่อยู่ระดับ 16.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2552 คิดเป็นมูลค่านำเข้า 2.5 เดือน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าเงินสำรองต่างประเทศของเวียดนาม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 มีแนวโน้มปรับลดลง โดยคิดเป็นมูลค่านำเข้าเหลือราว 7 สัปดาห์เท่านั้น ขณะที่หนี้ต่างประเทศของเวียดนามอาจปรับสูงขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้มูลค่าหนี้ต่างประเทศปรับสูงขึ้น จากหนี้ต่างประเทศที่มีมูลค่า 27.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามที่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในปีนี้ น่าจะช่วยพยุงเสถียรภาพด้านต่างประเทศไว้ได้ระดับหนึ่ง โดยมูลค่า FDI ของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 6 (YoY)
? แม้การปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามอาจช่วยให้การส่งออกของเวียดนามเติบโตดีขึ้นเนื่องจากขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ปรับสูงขึ้น หลังจากที่การส่งออกของเวียดนามเติบโตชะลอเหลือร้อยละ 20 ในเดือนกรกฎาคม (YoY) เป็นการเติบโตชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่การนำเข้าของเวียดนามอาจปรับสูงขึ้นตามมูลค่านำเข้าที่สูงขึ้นจากการปรับลดค่าเงินโดยเฉพาะสินค้าที่เวียดนามจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อใช้ในภาคการผลิต หลังจากที่การนำเข้าของเวียดนามได้เติบโตชะลอลงในเดือนกรกฎาคมเหลือร้อยละ 9.9 ถือเป็นการชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน โดยคาดว่าการนำเข้าในปีนี้ยังคงขยายตัวในระดับสูงกว่าการเติบโตของการส่งออกที่ยังมีปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวอย่างอ่อนแรง โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของเวียดนามในกลุ่มจี 3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ดุลการค้าของเวียดนามยังคงขาดดุลอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 26.4 (YoY) ขณะที่การส่งออกในช่วงเดียวกันขยายตัวร้อยบะ 17.5 (YoY)
? แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แม้เงินเฟ้อของเวียดนามมีทิศทางชะลอลง โดยเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 8.19 (YoY) เป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 หลังจากที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอ่อนตัวลง ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงยังช่วยให้ทางการเวียดนามยังคงรักษาการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ โดยทางการเวียดนามยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 หลังจากปรับขึ้นจากร้อยละ 7 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี 2552 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้แม้ว่าจะยังไม่มั่นคงนัก ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และการปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามลงร้อยละ 2 ในครั้งนี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเนื่องจากราคาสินค้านำเข้าที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าทุน ที่เวียดนามยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งของเวียดนามที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเพื่อส่งออก
? เป้าหมายการเร่งปล่อยสินเชื่ออาจส่งผลให้ภาคธนาคารของเวียดนามอยู่ในภาวะอ่อนแอ การปล่อยสินเชื่อของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เติบโตร้อยละ 10.5 สูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2553 ที่สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 3.3 แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าที่ทางการเวียดนามตั้งเป้าหมายให้สินเชื่อเติบโตร้อยละ 25 ในปีนี้ การที่ทางการเวียดนามได้ผลักดันให้ธนาคารปล่อยเงินกู้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันการเงินในเวียดนาม ธนาคารกลางของเวียดนามได้ประกาศในเดือนพฤษภาคม 2553 ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเพิ่มสัดส่วนความเพียงพอของเงินทุน (Capital Adequacy Ratio) จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 9 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ คาดว่าสัดส่วนความเพียงพอของเงินทุนที่สูงขึ้นน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบธนาคารในเวียดนาม แม้ว่าสถาบันการเงินจะประสบความลำบากมากขึ้นในการเพิ่มสัดส่วนความเพียงพอของเงินทุนตามที่ธนาคารกลางเวียดนามกำหนดไว้ และอาจส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบให้หมุนเวียนช้าลงในระยะต่อไป
สรุป แม้เศรษฐกิจเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามอาจยายตัวราวร้อยละ 6.5 ในปีนี้ จากที่เติบโตร้อยละ 6.1 ในช่วงครึ่งปีแรก (YoY) โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกที่ยังเติบโตต่อไปได้แม้ว่าน่าจะยังขยายตัวไม่สูงนักตามเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงยังช่วยสนับสนุนการส่งออกอีกทางหนึ่ง ส่วนเศรษฐกิจภายในยังได้แรงหนุนจากการนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของทางการเวียดนามที่ส่งผลให้ภาคก่อสร้างและภาคบริการยังเติบโตได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายหลายด้านที่อาจส่งผลต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจเวียดนาม ได้แก่ เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังเป็นผลมาจากปัญหาการขาดดุลการค้าที่ยังคงถูกกดดันจากการนำเข้าที่คาดว่ายังคงขยายตัวสูงกว่าภาคส่งออก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกดดันต่อค่าเงินด่อง และทำให้เงินสำรองต่างประเทศปรับลดลง รวมถึงเสถียรภาพด้านราคาที่มาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคาดว่ายังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตได้ต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยไปเวียดนามยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากที่เติบโตร้อยละ 36 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่เป็นที่ต้องการของเวียดนามยังขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ/ส่วนประกอบ และรถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะเดียวกัน การปรับลดค่าเงินด่องในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของเวียดนามในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอีก จากเดิมที่สินค้าส่งออกของเวียดนามมีศักยภาพการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญที่เป็นคู่แข่งกับเวียดนามในตลาดโลก ได้แก่ ข้าว ยางพารา อาหารทะเล- แปรรูป สิ่งทอ/เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า คาดว่าภาคส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของเวียดนามที่รุนแรงขึ้นในตลาดโลก ในภาวะที่ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปีนี้