ดอลลาร์ท้าทาย…ปัจจัยเสี่ยงขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนล้า เมื่อเทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ เนื่องจากตลาดเงินยังคงสนใจเกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ และกระแสข่าวเกี่ยวกับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มีแนวคิดที่จะลดสัดส่วนการถือเงินดอลลาร์ในเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยหันไปถือสกุลเงินตราสำคัญอื่นๆแทน ขณะเดียวกัน เงินเยนญี่ปุ่นมีค่าเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบตลอดสัปดาห์ ณ อัตรา 104 เยน/ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ ได้รับแรงหนุนเล็กน้อยจากถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลัง นาย Gordon Brown ซึ่งสะท้อนภาพเศรษฐกิจอังกฤษเข้มแข็ง เพื่อต้อนรับการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในเดือนพฤษภาคม ศกนี้ สำหรับตลาดทองคำต่างประเทศ ยังคงได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ เป็นผลจากแรงซื้อของนักลงทุนที่มองว่าตลาดเงินได้เทขายเงินดอลลาร์ออกไปเป็นจำนวนมากแล้วในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้าหลังจากมีการประกาศยอดขาดดุลการค้าเดือนมกราคมเป็นมูลค่าสูงถึง 58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีการช้อนซื้อเงินดอลลาร์เก็บไว้ในช่วงค่าเงินลดต่ำลงมากที่สุด เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินดอลลาร์มีค่าเข้มแข็งเมื่อเทียบกับเงินเยนด้วย ถึงแม้จะมีรายงานปรับตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสที่สุดท้ายของปี 2547 จากอัตราติดลบ 0.1% เป็นอัตราขยายตัว 0.1% ก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น เงินเยนไม่ได้รับผลดีจากข่าวที่ว่านายกรัฐมนตรีจีน Wen Jiabao อาจสร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาดเงิน โดยการตัดสินใจปรับค่าเงินหยวนเมื่อใดก็ได้

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ รายงานการซื้อหลักทรัพย์สหรัฐฯโดยนักลงทุนต่างประเทศเดือนมกราคมเป็นมูลค่าสูงถึง 91.5 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับจำนวนเงินที่ซื้อในเดือนธันวาคม 60.7 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นมูลค่าสูงและช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับยอดเงินทุนไหลเข้าสหรัฐฯ เพราะที่ผ่านมาตลาดเงินเกรงว่ายอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯอาจมีเงินทุนไหลเข้ามาเจือจุนไม่เพียงพอ แต่ปรากฏว่ามูลค่าเงินไหลเข้าเดือนมกราคมอยู่ในระดับสูงกว่ายอดขาดดุลการค้าในเดือนเดียวกัน จึงช่วยระงับความวิตกในตลาดเงินลงบ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์กลับมีค่าทรุดต่ำลงในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแถลงว่ายอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าสูงถึง 187.9 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 181.9 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดขาดดุลทั้งปี 2547 เป็นจำนวนเงิน 665.9 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นยอดขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ของประเทศสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มของราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ประชุมโอเปกมีมติให้เพิ่มปริมาณการผลิตแล้วก็ตาม นับเป็นชนวนที่กระตุ้นให้นักลงทุนหวั่นไหวเกี่ยวกับยอดขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯมากขึ้น เพราะสหรัฐฯเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแสดงความคิดเห็นของรัฐมนตรีเศรษฐกิจประเทศยูเครน นาย Serhiy Teriokhin ที่ว่ายูเครนอาจพิจารณาปรับสัดส่วนเงินดอลลาร์ในเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยมีแผนจะถือเงินยูโรมากขึ้น จึงเป็นข่าวที่สนับสนุนให้เงินยูโรเข้มแข็ง เช่นเดียวกับรายงานข่าวที่ว่าธนาคารกลางยุโรปเริ่มโอนเอียงที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนกันยายน ศกนี้

ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์มีค่ากระเตื้องขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่นักลงทุนได้พากันเทขายตราสารหนี้ของบรรดาประเทศเกิดใหม่ (emerging economies) และหันไปลงทุนถือหลักทรัพย์สหรัฐฯมากขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯคึกคักอีกครั้ง

เงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่าอ่อนแอในตอนแรกเป็นผลจากนักลงทุนแห่กันซื้อเงินดอลลาร์กลับคืน หลังจากเทขายไปเป็นจำนวนมากก่อนหน้านั้น นักลงทุนจึงต้องการปรับพอร์ตเพื่อการลงทุนอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าเงินปอนด์ฟื้นตัวในเวลาต่อมา เมื่อรัฐมนตรีคลังอังกฤษได้รายงานเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอังกฤษในช่วงการแถลงงบประมาณประจำปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยระบุว่าขณะนี้เศรษฐกิจอังกฤษเข้มแข็งยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ 1701 อีกทั้งยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ก็อยู่ในเกณฑ์สดใส แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถผลักดันค่าเงินปอนด์สูงขึ้นกว่าระดับเฉลี่ย 1.9260 ดอลลาร์/ปอนด์

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ยังคงเคลื่อนไหวสวนทิศทางกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำลดต่ำลงในช่วงต้นสัปดาห์ เมื่อมีการซื้อเงินดอลลาร์กลับมาเป็นจำนวนมาก แต่ราคาทองคำก็สามารถฟื้นตัวได้อีกรอบในตอนกลางสัปดาห์ อยู่ที่ราคาเฉลี่ยราว 443 ดอลลาร์/ออนซ์ เพราะตลาดเงินได้รับข่าวร้ายเรื่องยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสหรัฐฯและราคาน้ำมันแพง ทำให้ความต้องการถือทองคำเป็นหลักประกันเงินเฟ้อมากขึ้น แต่ราคาทองคำทรุดต่ำลงในที่สุด โดยหล่นต่ำกว่าแนวต้าน 440 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์เข้มแข็งขึ้นช่วงท้ายสัปดาห์

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2548 เทียบกับวันที่ 17 มีนาคม 2548 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.3373 ดอลลาร์/ยูโร (1.3381 ดอลลาร์/ยูโร) 104.92 เยน (104.55 เยน) และ 1.9139 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.9251 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2548 เท่ากับ 442.05 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 439.25 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548